ยังจำภาพของเมืองในช่วงเวลาเร่งด่วน ที่รถเมล์และรถไฟฟ้ามีผู้โดยสารเต็มคันรถ และบนถนนมีรถเต็มไปหมดได้ไหม?
ตอนนี้เราไม่ได้เห็นภาพแบบนั้นแล้ว เพราะวิกฤต COVID-19 ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของคนเมืองจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากแต่เดิมต้องตื่นเช้าเพื่อรีบไปเรียนหรือทำงาน กลายเป็นออกจากบ้านน้อยลง อยู่บ้านกันมากขึ้น และหลายคนทำงานหรือเรียนจากบ้าน ดังนั้น จากเมืองที่เคยคึกคัก เต็มไปด้วยผู้คน เราก็เห็นภาพถนนโล่งๆ พื้นที่กว้างๆ ไม่มีการเคลื่อนไหวแทน
แต่คำถามที่สำคัญ คือ ถ้าสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติแล้ว เราจะปลอดภัยจากโรคระบาดมากแค่ไหน เมื่อเราอาจต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบเบียดเสียดเดิม ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้อย่างเหมาะสม และทำให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสครั้งใหม่
The MATTER ได้พูดคุยกับ อ.พนิต ภู่จินดา จากภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อหาคำตอบว่าปัญหาความไม่ปลอดภัยจากโรคระบาดที่คนเมืองกำลังเผชิญอยู่ ควรจะแก้ไขอย่างไร?
ทำไมการระบาดของ COVID-19 ถึงรุนแรงในชุมชนเมือง?
งานวิจัยจากสหรัฐฯ ที่ศึกษาการระบาดของ COVID-19 ในพื้นที่ต่างๆ พบว่า มีพื้นที่ทั้งหมด 4 รูปแบบที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ได้แก่
เมืองที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในระดับโลก เช่น นิวยอร์ก ลอนดอน รวมไปถึงกรุงเทพฯ เนื่องจากมีชาวต่างชาติมากหน้าหลายตาเดินทางเข้ามาในพื้นที่เหล่านี้และทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องความแออัดและกิจกรรมต่างๆ มาก
พื้นที่ต่อมา คือ เมืองที่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น อู่ฮั่น ดีทรอยต์ โดยเกิดการแพร่ระบาดผ่านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่อยู่รวมตัวกัน เวลามีผลผลิตแล้ว ต้องส่งต่อไปผลิตในอีกโรงงานหนึ่ง ดังนั้น เมื่อคนส่งสินค้าติดเชื้อ ก็สามารถเกิดการแพร่กระจายได้
อีกพื้นที่หนึ่ง คือ แหล่งท่องเที่ยวระดับโลก เช่น เทือกเขาร็อกกี ของสหรัฐฯ ที่มีคนต่างถื่นเข้ามาแพร่เชื้อ รวมไปถึงเกิดการรับเชื้อ และส่งต่อไปตามบ้านเกิดของตัวเอง
พื้นที่สุดท้าย คือ พื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดสูง เป็นพื้นที่ขนาดเล็กหรือพื้นที่ปิดล้อม เช่น เรือสำราญ พื้นที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา หรือลัทธิต่างๆ ส่วนของบ้านเรา คือ สนามมวยลุมพินี
กรุงเทพฯ มีพื้นที่ประเภทนี้ 3 ใน 4 คือ เป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจระดับโลก เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก อีกทั้งมีพื้นที่ปิดล้อมด้วย ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดการระบาดเยอะ
ความแออัดส่งผลให้การระบาดรุนแรงขึ้นไหม?
สิ่งที่เราต้องคิดก็ คือ ความแออัดเป็นต้นทางการแพร่ระบาดของเชื้อโรค เช่น สนามมวย สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ทุกประเทศถึงพยายามงดกิจกรรมรวมตัวคนจำนวนมาก แต่ความแออัด และความหนาแน่นสูงไม่ใช่คำเดียวกัน
ความหนาแน่นสูง คือ การทำให้โครงสร้างพื้นฐานให้บริการได้แบบคุ้มประโยชน์ เช่น มีถนนที่ได้มาตรฐานและมีขนาดเหมาะสมให้รถดับเพลิงหรือรถฉุกเฉินวิ่งเข้าไปในพื้นที่ได้ มีระบบไฟฟ้าและน้ำปะปาที่เพียงพอต่อการใช้งาน มีเกณฑ์มาตรฐานในการระบายอากาศและการรักษาความปลอดภัยที่ดี
แต่ความแออัดเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความหนาแน่นสูง มันคือการขาดระเบียบและไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพออันจะทำให้คนมีสุขอนามัยที่ดี ยกตัวอย่างเช่น สนามมวย ที่ขาดระยะห่างระหว่างบุคคลที่เหมาะสม คนอยู่กันอย่างหนาแน่น พื้นที่ที่เป็นจุดสัมผัส เช่น ราวบันได ไม่ได้รับการทำความสะอาดที่เหมาะสม ความแออัดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้วในเมืองใหญ่
เมืองต่างๆ ของโลกผ่านเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคและภัยพิบัติมาได้หลายครั้ง และสิ่งที่ทำให้เมืองเหล่านั้นผ่านวิกฤตมาได้ คือ การพัฒนาสุขอนามัยที่ดี อย่าง อังกฤษ เคยเกิดโรคระบาดใหญ่ครั้งหนึ่ง ปัญหาของเขา คือ ประชาชนคิดว่าความแออัดเป็นปัญหา คนรวยที่อาศัยอยู่ในกรุงลอนดอน ณ เวลานั้น ได้ย้ายไปอยู่ชานเมืองหรือชนบท โรคจึงยิ่งกระจายไปในวงกว้างมากขึ้น
แต่สุดท้ายอังกฤษพ้นจากการระบาดของโรคห่าหรือท้องร่วงมาได้ เพราะได้ทำความสะอาด ระบบท่อระบายน้ำที่มีหนู แมลงสาบ หรือความแออัดที่ไม่สะอาด จนสะอาดเรียบร้อย
การยกเลิกกิจกรรมต่างๆ จะกลายเป็นต้นทุนที่สูงเกินกว่าที่ประชาชนจะรับไหว หากคิดว่าการย้ายไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่มีความหนาแน่นต่ำ แล้วสามารถแก้ปัญหาได้ หลายประเทศคงไม่พยายามให้คนรีบกลับมาทำธุรกิจตามเดิม
ในช่วงแรกที่เกิดวิกฤต COVID-19 คนยังยอมรับการรักษาระยะห่างทางสังคมอยู่ เว้นที่นั่งได้ เวลาขึ้นรถเมล์หรือรถไฟฟ้า แต่ในระยะยาว อาจต้องมีการคิดค่าโดยสารเพิ่มขึ้น 2 เท่า เพราะรับคนได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น คำถามคือ ประชาชนจะจ่ายตรงนั้นไหวไหม? นั่นคือสิ่งที่เราเห็นอยู่
ปัญหาความแออัดของเมืองควรแก้อย่างไรดี?
ถนนหลายเส้นที่เราเห็นในทุกวันนี้ ในย่านสำเพ็ง ถ.เยาวราช เกิดจากการตัดถนนใหม่ เพราะเดิมแถวนั้นมีลักษณะเป็นบล็อกขนาดใหญ่ และกลางบล็อกเป็นชุมชนแออัดที่มีบ้านหลังเล็ก และมีปัญหาเวลาเกิดไฟไหม้
วิธีแก้ปัญหาในตอนนั้น คือ การตัดถนนที่ได้มาตรฐานเข้าไปในชุมชน สามารถเอาน้ำปะปา รถดำเพลิง เข้าไปช่วยเหลือในยามฉุกเฉินได้ ถนนที่อยู่ในย่านเหล่านั้น จึงล้วนเกิดจากแก้ปัญหาภัยพิบัติของเมือง เพื่อเอาโครงสร้างพื้นฐานเข้าไปในพื้นที่ และลดความแออัด นั่นคือสิ่งที่ประเทศไทยเคยทำมาก่อน
ณ เวลานี้ สิ่งที่เราควรทำ คือ การออกแบบย่านต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพในการรองรับระยะห่างที่เหมาะสมมากขึ้น แต่เราไม่ได้เตรียมตัวเลย เช่น ลิฟท์ที่อยู่ในอาคารมีขนาด 1.4 เมตร x 1.6 เมตร พอระยะห่างที่ปลอดภัย คือ 1 เมตรครึ่ง – 2 เมตร ก็แสดงว่าเข้าไปยืนได้คนเดียว ถ้าเกิดเป็นอาคารที่มีตั้งแต่ 8 ชั้นขึ้นไป ข้างบนมีคนอยู่เยอะ ในอาคารมีลิฟท์แบบนี้อยู่ 2 ตัว พอลิฟท์ขึ้นได้แค่คนเดียว มันก็จบ
เราไม่ได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ให้รองรับการเว้นระยะห่างทางสังคม นี่คือสิ่งที่เราจะต้องแก้ปัญหา และปรับตัวเองให้สามารถรองรับตรงนี้ได้
การที่คนหลั่งไหลเข้ามาในเมืองใหญ่ ส่งผลต่อความแออัดด้วยหรือไม่?
ไม่เป็นปัญหา ถ้าคนเหล่านั้นลงทะเบียนอย่างถูกต้อง กรุงเทพฯ สามารถรองรับคนได้มากกว่านี้ พื้นที่ 1,500 ตารางกิโลเมตรของกรุงเทพฯ หักพื้นที่ถนน และอื่นๆ เหลือ 1,000 ตารางกิโลเมตร ถ้าตอนนี้เรามีประชากร 10 ล้านคน มันแค่ประมาณ 8 คนต่อไร่ เพราะฉะนั้นความหนาแน่นต่ำมาก เมื่อเทียบกับมหานครอื่น
สิ่งที่เราจะต้องคิด คือ กรุงเทพฯ มีความหนาแน่นต่ำ แต่ไม่รู้ว่าประชากรในเมืองมีจำนวนเท่าไหร่ งบประมาณทั้งการพัฒนาและการป้องกันต่างๆ ที่มาลงในทุกจังหวัด ต้องนับตามหัวประชากร
ชนบทและพื้นที่เกษตรกรรมมีประชากรในทะเบียนมากกว่าที่อื่นๆ ในขณะที่เมืองใหญ่ จะมีประชากรจริง มากกว่าประชากรที่อยู่ในทะเบียนค่อนข้างมาก วิธีการแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด คือ ย้ายทะเบียนบ้านให้ถูกต้อง เราจะได้มีฐานข้อมูลที่ถูกต้อง งบประมาณก็จะเป็นไปตามความต้องการจริง
ถ้าอย่างนั้น การลดจำนวนคนในเมือง จะช่วยลดการระบาดหรือเปล่า?
ตอนนี้ประชากรที่อยู่ในกรุงเทพฯ ชั้นใน และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เช่น เขตพระนคร – สัมพันธวงศ์ ลดลงทุกปี และไปเพิ่มขึ้นในพื้นที่ชานเมือง แต่ปัญหาเรื่องสุขอนามัยก็ไม่ได้ลดลง
เพราะว่าประชากรในเมืองลดลง แต่อาจไปรวมตัวกันที่ใดที่หนึ่งแทน
ผมยืนยันเสมอว่าตัวเลขประชากรของกรุงเทพฯ และเมืองต่างๆ ของไทย ไม่ได้มีประชากรมากกว่ามหานครต่างๆ ของโลก แต่เราขาดการออกแบบเมืองที่ดี ที่ได้มาตรฐาน ที่ทำให้มีสุขอนามัยที่ดี
ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่มีประชากรมากหรือน้อย เพราะตามมาตรฐานโลก ประชากรกรุงเทพฯ ถือว่าต่ำมาก แต่เรามีการจัดการเมืองที่ไม่ดีต่างหากที่ทำให้เป็นปัญหา
การออกแบบเมืองที่ดีจะทำให้คนปลอดภัยจากโรคระบาดได้อย่างไรบ้าง?
การทำให้ถนนที่กว้างได้มาตรฐานและมีความสอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ พอเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน รถดับเพลิงที่มีขนาดเหมาะสมก็สามารถเข้าไปดับเพลิงได้ จะเห็นว่ากฎหมายผังเมืองกรุงเทพฯ จะบอกว่า ถ้าจะสร้างอาคารสูงเกิน 8 ชั้น หรือสูงเกิน 23 เมตรขึ้นไป จะต้องอยู่ติดกับถนนสาธารณะที่มีเขตทางไม่แคบกว่า 10 เมตร เพื่อให้รถดับเพลิงขนาดใหญ่สามารถ 2 คัน สามารถสวนกันและเข้าไปดับเพลิงได้
ถนนมาพร้อมกับสาธารณูปโภคที่อยู่ใต้ดิน บนดิน หรือ ลอยฟ้า เช่น ระบบไฟฟ้า น้ำปะปา ระบบสื่อสาร ระบบบำบัดน้ำเสีย ขนาดของถนนกับขนาดของโครงสร้างพื้นฐานจึงต้องสอดคล้องกัน กล่าวคือ พอถนนมีความกว้างและขนาดใหญ่ ท่อระบายน้ำ ระบบไฟฟ้า ปะปา ก็ต้องมากตามไปด้วย การใช้ประโยชน์ที่ดินขนาดใหญ่ก็ต้องให้มีความหนาแน่นสูงให้สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่ลงไป เมื่อโครงสร้างพื้นฐานไปตามถนน และเรามีถนนน้อย แสดงว่าเรามีโครงสร้างพื้นฐานที่ได้มาตรฐานน้อยกว่ามาตรฐานโลกที่ควรจะมี
วิธีการก็คือจะทำยังไงให้โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้กระจายเข้าไปในพื้นที่ ในมาตรฐานโลก ถนนกว้างๆ มีโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบไฟฟ้าและน้ำปะปา แต่ไม่ให้รถยนต์วิ่ง ให้ขนส่งมวลชนวิ่งอย่างเดียวก็มี
พอเราไม่ได้คิดว่า เวลาทำถนน คือ การเอาโครงสร้างพื้นฐานเข้าไปไปใกล้เรามากขึ้น เอารถไฟฟ้าเข้าไปใกล้บ้านมากขึ้น เราก็เลยไม่มีถนนที่ดี ไม่มีระบบสุขอนามัยหรือระบบสาธารณูปโภคที่จะเข้าไปทำให้สะอาด ระบายน้ำได้ดี มีน้ำสะอาดใช้ เอารถขยะเข้าไปจัดเก็บขยะได้
ถ้าโจทย์คือการกระจายโครงสร้างพื้นฐานให้เข้าถึงทุกคน เราจะทำอย่างไรได้บ้าง?
ที่ผมบอกว่า ถนนคือตัวนำทุกอย่าง ถนนนำความช่วยเหลือเข้าไป นำโครงสร้างพื้นฐานเข้าไป เรามีถนนน้อยเมื่อเทียบกับมาตรฐานโลก ทำให้เรามีความแออัด เพราะว่าถนนเป็นตัวลดความแออัดด้วย ยิ่งเรามีถนนมากเท่าไหร่ ระยะห่างระหว่างอาคารก็จะยิ่งถูกแบ่งมากขึ้น ระบบท่อปะปา ขนส่งมวลชนเข้าไปใกล้ตัวเรามากขึ้น
แต่หลายคนไม่ยอมเปลี่ยนที่ดินให้มาเป็นถนน รัฐก็ไม่ยอมเปลี่ยนเช่นกัน จริงๆ พื้นที่ที่เป็นของรัฐฯ มีเยอะแยะเลย และสามารถเอามาทำเป็นพื้นที่ถนน ที่อาจไม่ให้รถส่วนตัววิ่ง หรือ ให้รถส่วนตัววิ่งน้อยมากก็ได้ แต่รัฐไม่เคยเป็นตัวอย่างที่ดี
สิ่งที่เราต้องทำ คือ เราจะทำยังไงให้เรามีพื้นที่หรือโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับความหนาแน่นสูงโดยไม่แออัดได้
คนเมืองกลุ่มไหนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเวลาเกิดโรคระบาด?
คนที่เดือดร้อนที่สุดสำหรับบ้านเรากลับไม่ใช่คนที่มาจากต่างจังหวัด เพราะว่าเขาสามารถกลับบ้านได้ แต่คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ คนจนเมืองที่เป็นลูกจ้างรายวัน ถ้าธุรกิจเขาปิดลง นายจ้างเขาหยุดกิจการ หรือ ลดคน เขาก็ไม่มีพื้นที่เกษตรกรรมให้กลับไป
ตอนนี้มหานครต่างๆ ของโลกก็กำลังเจอปัญหานี้ โดยเฉพาะมหานครที่เจริญแล้ว เพราะมีสัดส่วนของคนจนเมืองที่มาจากพื้นที่ชนบทน้อย และได้พัฒนาจนประชากรเมืองเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว
คนจนเมืองที่เป็นลูกจ้างรายวันหรือรายสัปดาห์ จึงได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 มากที่สุด
โรคระบาดทำให้เราเห็นว่าเมืองมีปัญหาด้านไหนบ้าง?
ปัญหาเรื่องฐานข้อมูล เราไม่มีข้อมูลเพียงพอ เพราะไม่เคยเก็บข้อมูลที่ตรงกัน เช่น เรื่องเงินเยียวยา 5,000 บาท ฐานข้อมูลของคนหนึ่งคนที่อยู่คนละกระทรวงกันไม่เหมือนกัน
สมมติว่า ถ้าภูมิลำเนาของคุณอยู่ในพื้นที่ชนบท แล้วพ่อแม่ของคุณลงทะเบียนเป็นเกษตรกรไว้ ก็จะได้รับความช่วยเหลือในฐานะเกษตรกร เพราะเวลากระทรวงเกษตรเขาให้ความช่วยเหลือเขาให้เป็นครัวเรือน เพราะการเกษตรใช้แรงงานคนจำนวนมาก
แต่คุณไม่ได้อยู่บ้าน คุณเข้ามาในเมือง เป็นพ่อค้าแม่ค้าตามตลาดนัด คุณไปทำประกันสังคมที่กระทรวงแรงงาน คุณเป็นแรงงาน เวลาคุณไปเปิดบัญชีธนาคาร ไม่มีช่องให้กรอกว่าเป็นพ่อค้าแม่ค้า คุณอาจคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของกิจการ หรือทำธุรกิจส่วนตัว
พอคุณขอสิทธิ 5,000 บาท รัฐก็เอาข้อมูลของคุณมาดู ปรากฎว่า คุณเป็นเกษตร เป็นเจ้าของกิจการ คุณก็ไม่ได้ นี่คือฐานข้อมูลที่เป็นปัญหา เพราะว่าไม่ได้แจ้งข้อมูลที่ถูกต้อง รัฐก็มีฐานข้อมูลที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างตรงประเด็น
เรื่องถนนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานถูกพูดถึงมาเป็น 20 – 30 ปีแล้ว แต่ก็ไม่มีการแก้ไข
ปัญหาโรคระบาดหรือปัญหาเมืองที่เกิดขึ้นในเมืองขนาดใหญ่ ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาได้โดยที่ไม่เฉือนเนื้อหรือว่ายอมเจ็บตัว แก้ปัญหารถติด ถ้าคุณบอกว่าไม่ยอมตัดถนนเพิ่ม หรือเปลี่ยนจากนั่งรถยนต์ส่วนตัวมาใช้ขนส่งมวลชน คุณไม่มีทางแก้ไขได้
เหตุการณ์ในครั้งนี้จะทำให้เมืองของเราเปลี่ยนไปยังไงบ้าง?
ในช่วงต้นคนอาจไปซื้อที่ดินแถบชานเมืองมากขึ้น แต่สุดท้ายแล้วพอถึงจุดหนึ่งก็จะแบกรับค่าเดินทางไม่ไหว เพราะ รถติดเหมือนเดิมแล้ว
ในช่วงที่เกิดวิกฤต COVID-19 สิ่งแรกที่รัฐทำคือออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ พอไม่ได้พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน มันก็เป็นเหมือนเดิม เวลา COVID-19 จบมันจบจริงๆ คือ รอการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายแล้วก็จบ คนกลับมาใช้ชีวิตแบบเดิม
วิกฤตในครั้งนี้ทำให้นิยามการออกแบบเมืองที่ดีเปลี่ยนไปบ้างไหม?
ถ้าศึกษาการระบาดใหญ่ครั้งที่ผ่านมาของโลก สิ่งที่เขาพัฒนา คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านสุขอนามัย อย่างโรคอหิวา สิ่งที่เขาพัฒนาจากตรงนั้น คือ ท่อระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย พัฒนาสถานรักษาพยาบาล รวมไปถึงการคัดกรองโรคและการรักษาโรคให้ดีขึ้น
ส่วนเรื่องการทำให้ขนส่งมวลมีความหนาน้อยลงไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นไหม มันอาจอยู่ได้ไม่นาน ก็ต้องกลับไปเป็นเหมือนเดิม
ตอนนี้เป็นโอกาสของรัฐไทยที่จะพัฒนาด้านสาธารณสุข การคมนาคมขนส่ง โดยอ้างเหตุผลเพื่อให้สามารถรับมือกับ Social Distancing ได้อย่างเหมาะสม