สปอตไลต์ (พร้อมด้วยเสียงวิจารณ์) สาดส่องไปยังแอพพลิเคชั่น ‘หมอชนะ’ หลายครั้งต่อหลายครั้ง ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ทั้งที่แอพฯนี้เกิดจาก ‘ความตั้งใจดี’ ของทีมอาสาสมัครที่อยากใช้ความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีมาช่วยในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งกำลังเป็นวิกฤตของประเทศและของโลกในช่วงเวลานั้น
ทว่าหลังเปิดตัวไปในเดือนเมษายน พ.ศ.2563 ไม่เพียงแอพฯจะไม่ได้รับการโปรโมตจากภาครัฐ ซึ่งหันไปส่งเสริมให้ประชาชนใช้แอพฯ ‘ไทยชนะ’ แทน ในช่วงที่เริ่มคลายล็อกดาวน์ครั้งแรก ปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2563
เมื่อจะหันมาชักชวนให้ประชาชนมาใช้แอพฯหมอชนะ ต้นปี พ.ศ.2564 คำเชื้อเชิญจากภาครัฐก็กลับใช้ท่าทีเชิง ‘ข่มขู่’ ว่า ใครไม่โหลดไปใช้อาจมีความผิดถึงติดคุก จนหลายๆ คนต่อต้าน
ถึงจะกลับลำแก้ข่าวในภายหลังว่าไม่ได้บังคับให้ใช้ ก็ไม่ทันต่อการแก้ไขภาพจำที่ไม่ดีต่อตัวแอพฯนี้ไปแล้ว
หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีการประกาศจากทีมอาสาสมัครที่ร่วมพัฒนาแอพฯนี้ว่า จะส่งมอบให้ภาครัฐดูแลแทนทั้ง 100% ภายในสิ้นเดือนมกราคม พ.ศ.2564 ท่ามกลางกระแสข่าวว่ามี ‘ผู้ใหญ่’ ในกระทรวงดิจิจัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมบางคน พยายามกดดันเพื่อขออำนาจในการควบคุมแอพฯนี้ทั้งหมด ไม่รวมถึงการใส่เกียร์ว่างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคติดต่อ
นั่นคือเรื่องราวฉากหน้าของแอพฯหมอชนะ ที่เริ่มจากความตั้งใจดี แต่สุดท้าย กลับไปตกอยู่ท่ามกลางความชุลมุนในการจัดการปัญหา COVID-19 ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีเรื่องของ ‘การเมือง’ เข้ามาเกี่ยวข้อง
อีกประเด็นที่หลายๆ คนยังไม่ได้ตั้งคำถามกันนัก ก็คือแล้วประสิทธิภาพของแอพฯหมอชนะ จะมีประโยชน์ต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 มากน้อยแค่ไหน เพียงใด จะกลายเป็น ‘ยาวิเศษ’ ในการป้องกันโรคได้หรือไม่
สารพัดคำถามเกี่ยวกับแอพฯหมอชนะ และเรื่องราวแวดล้อม พา The MATTER ไปพูดคุยกับ นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ นักวิชาการด้านสารสนเทศสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเคยมีส่วนร่วมต่อแอพฯที่ภาครัฐใช้เพื่อควบคุมโรค COVID-19 ทั้ง ‘ไทยชนะ-หมอชนะ’ เพื่อขอคำอธิบาย ทั้งเบื้องหลังและเบื้องหลัง (เท่าที่จะเล่าได้) ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
*หมายเหตุ: การพูดคุยกับ นพ.นวนรรนเกิดขึ้นก่อนจะมีข่าวเรื่องผู้ใหญ๋ในกระทรวงดิจิทัลฯ พยายามเข้ามาแทรกแซงทีมผู้พัฒนาแอพฯ
ที่มาของแอพฯ กับข้อเสนอ ‘บังคับ’ ประชาชนใช้
แอพฯหมอชนะ เป็นผลงานร่วมระหว่างกลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ Code for Public, กลุ่มผู้เชี่ยวชาญซอฟต์แวร์-วิเคราะห์ข้อมูลชื่อ ‘กลุ่มช่วยกัน’ โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรธุรกิจ และสถาบันการศึกษาจำนวนหนึ่ง เปิดตัวต่อสาธารณชนไปเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2563 โดยมีพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ มาร่วมงานแถลงข่าวด้วย
นพ.นวนรรน ซึ่งเคยไปร่วมให้ความเห็นต่อทีมงานผู้พัฒนาแอพฯหมอชนะในช่วงต้น เล่าให้ฟังว่า หมอชนะเกิดจากความร่วมมือของคนหลากหลายวงการที่มาจับมือกับภาครัฐ ตั้งแต่ช่วงที่รัฐบาลเริ่มประกาศล็อกดาวน์ใหม่ๆ โดยตนเข้าไปร่วมให้ความคิดเห็นช่วงกลางเดือนเมษายน พ.ศ.2563 ซึ่งในบางวงประชุมมี รมว.ดิจิทัลฯ เข้าร่วมด้วย
“โดยหลักการ แอพฯแบบหมอชนะ ซึ่งเป็นแอพฯประเภท contact tracing จะใช้ได้ดี ต้องมีคนมาร่วมใช้เยอะๆ ก็มีไอเดียจากคนงานบางคน เสนอในเชิงบังคับให้ประชาชนมาร่วมใช้ เช่น ใครไม่ใช้จะถูกตัดสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือใช้เป็น passport ในการเข้าอาคารหรือผ่านด่านตรวจ ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าในเชิงเทคโนโลยียังมีข้อจำกัดอยู่”
นพ.นวนรรนเล่าต่อว่า แม้ภายหลังจะมีคนบอกว่า ข้อเสนอเรื่องการบังคับให้คนใช้จะเป็นเพียงแนวคิดของบางคน ไม่ใช่ข้อสรุปจากผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด แต่เท่าที่ร่วมประชุมอยู่ด้วยราวหนึ่งสัปดาห์ก็พบว่า ไอเดียในการจะบังคับให้ประชาชนใช้แอพฯนี้ยังมีอยู่ เลยประกาศถอนตัวออกมา เพราะส่วนตัวเห็นว่า แอพฯไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญที่จะใช้ในการจัดการโรคระบาด หากเทียบกับการใช้วิธีทางการแพทย์ที่ใช้ควบคุมโรค ทั้ง t-test t-tracing i-isolate และ t-treatment
“ในเมื่อมันมีความสำคัญไม่มาก การจะไปใช้ยาแรง จะทำให้เกิดผลกระทบสูง ผมเลยร่วมประชุมกับเขาสัปดาห์กว่าๆ แล้วถอนตัวออกมา” นพ.นวนรรนเล่าถึงเหตุการณ์ที่ไปมีส่วนร่วมกับแอพฯหมอชนะในช่วงเวลาสั้นๆ
อย่างไรก็ตาม ผู้เกี่ยวข้องกับแอพฯหมอชนะหลายคนก็เคยออกมาแสดงจุดยืน หลัง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวว่า ใครไม่โหลดแอพฯนี้จะมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยต่างยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับการ ‘บังคับใช้’ อยากให้เป็นลักษณะการ ‘สมัครใจใช้’ มากกว่า
แต่ในหมู่ผู้เกี่ยวข้องจะรู้กันว่า ข้อเสนอเรื่องการ ‘บังคับใช้’ นั้นมาจากตัวแทนของฝ่ายใดเป็นหลัก
จุดเด่นของหมอชนะ คือเรื่อง privacy
สิ่งที่หลายๆ คนเป็นห่วงเรื่อง ‘ข้อมูลส่วนบุคคล’ (privacy) หลุด กลับไม่ใช่สิ่งที่ นพ.นวนรรนมองว่า ‘น่าเป็นห่วง’ สำหรับแอพฯหมอชนะ ที่เขาบอกว่า กลับกันต้องชื่นชมเรื่องความพยายามปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล โดยทีมผู้พัฒนาแอพฯ ซึ่งใช้หลักคิด Privacy by Design
ทั้งการไม่เก็บชื่อ-นามสกุล แต่ให้ข้อมูลจากเครื่องเป็น anonymous ID, แม้แอพฯจะขอให้ถ่ายรูปเพื่อยืนยันการเป็นเจ้าของเครื่อง แต่รูปที่ว่าจะเก็บไว้ในเครื่องไม่ได้ไปอยู่ในเซิร์ฟเวอร์กลาง, การกำหนดให้เก็บข้อมูลไว้แค่ 60 วันแล้วทำลายทิ้งอัตโนมัติ, การเปิด open source ให้คนเข้ามาช่วยรีวิวโค้ดของแอพฯ ซึ่งมีคนเข้าไปดู ก็พบว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง, ที่สุดแล้วยังมีฟังก์ชั่น kill switch คือหากเกิดกรณีไม่ชอบมาพากล สามารถรีเซ็ตทุกอย่างได้ทันที
“ทั้งเวอร์ชั่นแรกจนถึงเวอร์ชั่นปัจจุบัน ผมเข้าไปดูรายละเอียดข้อมูลที่หมอชนะขอ และเมื่อได้คุยกับทีมงาน ก็พบว่าทุกๆ ข้อมูลที่ขอมีความจำเป็นและสมเหตุสมผลทั้งหมด ประเด็นเรื่อง privacy จึงไม่ใช่สิ่งที่ผมเป็นกังวล เพราะทีมผู้พัฒนาให้ความสำคัญมาตั้งแต่ต้น”
หลักการทำงานของแอพฯหมอชนะ นอกจากแบบสอบถามเพื่อประเมินความเสี่ยงของผู้ใช้งาน (ซึ่งตอนนี้แอพฯได้ถอนฟีเจอร์นี้ออกไปแล้ว) ยังจะใช้ GPS กับ bluetooth เก็บข้อมูลการเดินทางของเจ้าของมือถือเครื่องนั้นๆ เพื่อดูว่ามีใครอยู่ใกล้บ้าง โดยจะเก็บข้อมูลแบบอัตโนมัติ และหากพบภายหลังว่าเจ้าของเครื่องนั้นๆ เป็นผู้ป่วย COVID-19 จะได้แจ้งเตือนผู้ที่เคยอยู่ใกล้ซึ่งถือเป็นผู้มีความเสี่ยงสูงให้มาพบแพทย์
นอกจากนี้ แอพฯหมอชนะ ยังกำหนดให้ใช้วิธีสแกน QR code เช่นเดียวกับแอพฯไทยชนะ ได้อีกด้วย
แม้ในหลักการน่าจะช่วยในการติดตามผู้มีความเสี่ยงสูงว่าอาจติดเชื้อ แต่ นพ.นวนรรนชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของการใช้ฟังก์ชั่น bluetooth ว่ามีวิธีหลบเลี่ยงอย่างไรบ้าง เช่น คนที่รู้ว่าตนเองจะไปในที่ที่มีความเสี่ยงสูงก็อาจจะปิด bluetooth แล้วอ้างว่าแบตเตอรี่มือถือใกล้จะหมด หรือบางคนอาจจะมีมือถือมากกว่าหนึ่งเครื่อง เป็นต้น
แต่ประเด็นเรื่อง ‘จุดอ่อน’ ดังกล่าว ยังอาจไม่ใหญ่โตเท่า ‘ข้อเสีย’ ทางเทคโนโลยี ที่ท้ายสุดแล้วไม่เพียงแอพฯหมอชนะอาจไม่ช่วยคุม COVID-19 ได้เท่าที่คิด ยังอาจสร้างผลกระทบมุมกลับอย่างคาดไม่ถึง
ประโยชน์ที่อาจสร้างปัญหา (มากกว่า)
“หมอชนะไม่ใช่ silver bullet เป็นทางออกที่สำคัญยิ่งยวด ที่จะช่วยควบคุมโรค COVID-19”
คือคำที่ นพ.นวนรรนพูดย้ำอยู่หลายครั้ง ก่อนจะขยายความว่า แอพฯหมอชนะอาจจะช่วยได้บ้าง หากรัฐส่งเสริมให้ประชาชนมาใช้ก่อนหน้านี้ จนจำนวนผู้ใช้มีมากเพียงพอ (ซึ่งเขาบอกว่า ต้องอยู่ในระดับ 50-60% ของประชากรทั้งหมด) แต่การติดตามผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ ก็ยังจำเป็นต้องใช้วิธีการสอบสวนโรคแบบดั้งเดิมอยู่
ในทางกลับกัน ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยี ทั้ง GPS ที่ใครเคยใช้กูเกิลแม็พส์จะรู้ว่ามีความคลาดเคลื่อนในหลักหลายสิบเมตร ส่วน bluetooth ก็มีระยะสัญญาณหลายสิบเมตร ทั้งสองอย่างนี้อาจทำให้ ‘กวาด’ ผู้ที่อยู่ใกล้กับผู้ป่วยว่าเป็น ผู้มีความเสี่ยงสูงทั้งหมด ทั้งที่คนๆ นั้น อาจดูแลตัวอย่างอย่างดี ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ อยู่หลังฉากกั้น หรืออยู่ห่างเป็นสิบๆ เมตร แต่กลับจะต้องกักตัวเอง 14 วันหรือเข้าพบแพทย์ สร้างภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ไปจนถึงภาระต่องบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด
นพ.นวนรรนยกตัวอย่าง กรณีใน จ.ฉะเชิงเทรา ที่คนจำนวนมากได้รับข้อความแจ้งเตือนจากแอพฯหมอชนะ พร้อมคำแนะนำให้ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน 14 วันว่า เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดจากข้อจำกัดของเทคโนโลยีที่ทำให้ ‘กวาด’ คนจำนวนมากเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง โดยไม่ใส่ใจรายละเอียดการใช้ชีวิตของแต่ละคน
แต่ใช่ว่า แอพฯหมอชนะจะไม่มีประโยชน์เอาเสียเลย นพ.นวนรรนเสนอว่า หากใช้ ‘เฉพาะพื้นที่’ แลกกับ ‘เงื่อนไข’ อะไรบางอย่าง เช่น ให้นักธุรกิจหรือนักท่องเที่ยวไม่ต้องกักตัว 14 วัน สามารถไปยังบางพื้นที่ได้แต่ต้องเปิดใช้งานแอพฯนี้โดยตลอด รวมถึงให้คนในพื้นที่นั้นๆ ต้องเปิดใช้งานแอพฯนี้ด้วย แลกกับการมีรายได้ การทำให้เศรษฐกิจกลับคืนมา แบบนี้จะสมเหตุสมผล
“แต่การนำมาใช้กับคนทั้งประเทศ ยังไม่เห็นตัวอย่างจากประเทศใดเลยว่า ใช้แอพฯแบบ contact tracing แล้วจะช่วยให้ควบคุมการแพร่ของโรค COVID-19 ได้จริง อย่างมีนัยสำคัญ ผมมองว่าที่ผ่านมาเป็นเรื่องของการพีอาร์มากกว่าจะใช้ได้ผลจริง”
แพทย์ผู้มีความรู้ด้านไอทีด้วยรายนี้มองว่า ส่วนตัวคิดว่าแอพฯ ที่มีฟังก์ชั่นแบบแอพฯ ‘ไทยชนะ’ หรือให้เช็กอินสถานที่ ทั้งผ่าน QR Code หรือเซ็นชื่อ จะมีประโยชน์ต่อการติดตามสอบสวนโรคมากกว่า เห็นได้จากตัวอย่างจากกรณี จ.ระยอง แม้พอเวลาผ่านไป คนก็การ์ดตก ใช้บ้างไม่ใช้บ้าง อันนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้
ส่วนปัญหาเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลในแอพฯไทยชนะ (ที่ประชาชนทั่วไปต้องใช้ชื่อ-นามสกุล และเบอร์โทรศัพท์ ส่วนร้านค้าก็จะรู้จำนวนผู้ที่มาใช้บริการผ่านการเช็กอิน) นพ.นวนรรนซึ่งเคยร่วมคณะทำงานธรรมาภิบาลข้อมูลแอพฯไทยชนะ ระบุว่า จากการสอบถามผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะตัวแทนจากธนาคารกรุงไทยที่เป็นผู้พัฒนา ให้คำยืนยันว่าจะไม่มีการนำข้อมูลที่ได้ไปใช้เพื่อประโยชน์ขององค์กร และผู้ที่จะเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ก็มีเพียงกรมควบคุมโรคเท่านั้น หากกรมควบคุมโรคไม่อนุมัติ ทีมจากธนาคารกรุงไทยก็ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของประชาชนและร้านค้าได้
จึงคิดว่า พอจะมั่นใจได้ในระดับหนึ่ง
บทสรุปการใช้เทคโนโลยีมาช่วยคุมโรค
เฟซบุ๊กเพจของทีม Code for Public หนึ่งในผู้ร่วมพัฒนาแอพฯหมอชนะ ได้โพสต์ข้อความลงในเพจว่า จะส่งมอบการควบคุมดูแลแอพฯนี้ให้กับภาครัฐ ภายในสิ้นเดือนมกราคม พ.ศ.2563 หลังจากปรับปรุงเรื่องการกินแบตเตอรี่ กินดาต้า และทำการอัพเดตแอพฯเป็นครั้งสุดท้าย
แต่ทีมผู้พัฒนาแอพฯหมอชนะเดิม จะเดินหน้าพัฒนา open source ตัวเดิมต่อไปภายใต้ชื่อ SQUID (ซึ่งเป็นชื่อเดิมก่อนเปลี่ยนมาเป็นหมอชนะภายหลัง อ่านเกร็ดท้ายบทความประกอบ)
เราถามว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับแอพฯหมอชนะที่มีกระแสข่าวเรื่องการเมืองแทรกแซง หรือการไปบังคับให้ประชาชนใช้ จนเกิดกระแสต่อต้านแอพฯจะเป็นบทเรียนให้กับคนจากภาคเอกชน ‘เข็ดขยาด’ ที่จะมาช่วยเหลือภาครัฐเวลาเกิดปัญหาใดๆ ในอนาคตหรือไม่?
นพ.นวนรรนมองว่า ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของแต่ละคน แต่โดยทั่วไป คนในภาคเอกชนหรือคนจากสายไอทีจะมีพลังงานสูงมาก และอยากทำอะไรให้เกิดประโยชน์กับประเทศ เพียงแต่อย่างใดลองฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ มากขึ้น เพราะไม่มีใครที่จะรู้ทุกเรื่อง เช่นถ้ามาออกแบบแอพฯเกี่ยวกับการควบคุมโรค ก็ควรจะฟังผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ให้มากขึ้น จะได้เข้าใจธรรมชาติของโลก healthcare ด้วย
“อีกอันคือความรู้สึกเป็น ‘เจ้าข้าวเจ้าของ’ คือธรรมชาติของคนพัฒนาเทคโนโลยี จะมีอารมณ์ร่วม ผูกพันกับสิ่งที่สร้างมาก อยากให้มันเกิดประโยชน์ อยากให้มีคนใช้เยอะๆ จนบางครั้งอาจทำให้เราตาบอดในบางกรณี เพราะมันก็คล้ายๆ กับแม่รักลูก ก็ต้องพยายามดันลูกสุดชีวิต โดยที่ลูกคนนี้ไม่ได้ช่วยอะไรในบางเงื่อนไขเลย หรือบางเงื่อนไขมันเกิดโทษด้วยซ้ำไป ในแง่นี้ ผมว่าต้องคุยกันเยอะๆ ฟังกันเยอะๆ มีความผูกพันบ้าง พอถึงจุดหนึ่งก็วางอัตตา วางความผูกพันนั้นลง”
นักวิชาการด้านสารสนเทศสุขภาพรายนี้ กล่าวสรุปเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับแอพฯหมอชนะ ด้วยคำว่า ‘เสียดาย’
เสียดายที่ หากรัฐใช้วิธีค่อยๆ สื่อสารชักชวนให้คนมาใช้แอพฯหมอชนะ แทนที่จะใช้ท่าทีเชิงบังคับ ถึงตอนนี้ก็น่าจะมีคนหันมาใช้เป็นจำนวนมาก และก็น่าจะทำให้พบคนที่เสี่ยงติดเชื้อได้บ้าง แต่พอไปเริ่มจากการบังคับ ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีคนใช้มากน้อยแค่ไหน ต่อให้มีคนบางส่วนอยากช่วย แต่คนจำนวนไม่น้อยเลยที่กังวล กลัว ต่อต้าน ยิ่งคนที่ต่อต้านรัฐบาล ยิ่งแล้วใหญ่
น่าเสียดาย…
[ เกร็ดประกอบบทความ: ที่มาชื่อแอพฯ ‘หมอชนะ’ มาจากไหน? หนึ่งในทีม Code for Public เล่าที่มาของชื่อแอพฯนี้ซึ่งใช้เวลาในการเขียนโค้ดเพียง 30 ชั่วโมงให้ทันกับการรับมือโรคระบาดในช่วงเวลานั้น โพสต์เล่าว่า เดิมแอพฯนี้จะใช้ชื่อว่า ‘SQUID’ ที่ย่อมาจาก Simple Quick ID ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น ‘Thai Alert’ ต่อมามีผู้เสนอเปลี่ยนเป็นชื่อ ‘ดอกเตอร์พิชิต’ เพราะเป้าหมายคืออยากให้แอพฯช่วยหมอพิชิตโรค แต่เท่าที่ลองเซอร์เวย์ก็พบว่า คนจะรู้สึกเชื่อมโยงกับจ่าพิชิต เจ้าของเพจ Drama Addict จึงเปลี่ยนมาเป็น ‘หมอชนะ’ ในท้ายสุด ]