‘เศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อถดถอย พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป’
ข้างต้นเป็นปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้หลายธุรกิจต้องจำใจปิดตัวลง แม้แต่ห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ที่เปิดตัวมานานหลายปีก็ไม่รอดพ้นวิกฤตเหล่านี้ อย่างล่าสุด ‘ตั้งฮั่วเส็ง’ สาขาธนบุรี ที่ออกมาประกาศปิดกิจการไม่มีกำหนด เนื่องจากการไฟฟ้าขอยุติการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่อาคาร
ซึ่งปรากฏการณ์ข้างต้นไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่ก็ถือเป็นแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ ที่ทำให้ผู้คนหวนกลับมาตั้งคำถามว่า สาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไร และหลังจากนี้ธุรกิจห้างฯ ที่ไม่ใช่เบอร์ใหญ่จะหมดไปในอีกนานหรือเปล่า
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม The MATTER ขอชวนทุกคนไปย้อนดูห้างในตำนาน ที่ใครหลายคนอาจคุ้นชื่อหรือแม้แต่เคยไปแวะเวียน ว่ามีห้างฯ อะไรบ้างที่ปิดตัวลงไปแล้วบ้าง
*เนื้อหาเป็นเพียงการยกตัวอย่างบางส่วน
1. ตั้งฮั่วเส็ง สาขาธนบุรี ประกาศปิดตัวไม่มีกำหนด หลังเปิดทำการมาตั้งแต่ปี 2534 เนื่องจากห้างฯ ได้รับหนังสือแจ้งจากการไฟฟ้านครหลวง เรื่องขอยุติการจ่ายกระแสไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน เป็นต้นไป ทั้งนี้ บริษัทอยู่ในระหว่างดำเนินการแก้ไขและเจรจากับผู้ร่วมทุนใหม่ ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จ ก็จะเร่งกลับมาเปิดบริการอีกครั้ง
2. โรบินสัน ศรีนครินทร์ (Robinson) เปิดให้บริการวันสุดท้ายเมื่อ 20 สิงหาคม 2567 หลังให้บริการมายาวนานถึง 30 ปี ซึ่งห้างฯ ดังกล่าวตั้งอยู่ภายในศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ซึ่งเท่ากับว่าขณะนี้โรบินสันที่ยังเปิดให้บริการอยู่มีเพียง 3 สาขาเท่านั้น ได้แก่ สุขุมวิท บางรัก และลาดกระบัง
3. เมอร์รี่คิงส์ (Merry Kings) มี 6 สาขา ได้แก่ วังบูรพา (ปี 2527-2553), สะพานควาย (ปี 2528-2545), วงเวียนใหญ่ (ปี 2529-2550), รังสิต (ปี 2536-2547), ปิ่นเกล้า (2531-2546) และ บางใหญ่ (ปี 2539-2554)
ทั้งนี้ หนึ่งในสาขาที่ผู้คนจะคุ้นชินมากที่สุดคือ เมอร์รี่คิงส์วงเวียนใหญ่ เพราะด้วยความจุดเด่นของห้างฯ ที่ส่วนใหญ่จะตกแต่งด้วยกระจก แต่ถึงกระนั้นเมอร์รี่คิงส์หลายสาขาต้องทยอยยุติกิจการลง ด้วยหลากหลายสาเหตุทั้งการแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้น และการประสบปัญหาสภาพคล่องทางธุรกิจ รวมถึงรับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ปี 2540
4. นิวเวิลด์ (New World) ห้างฯ ยักษ์ใหญ่ย่านบางลำพู ที่มีจุดขายคือ ‘ลิฟต์แก้ว’ ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2526 โดยธุรกิจดำเนินผ่านไปด้วยดี จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2548 เกิดเหตุการณ์สิ่งของปลูกสร้างที่กำลังถูกรื้อถอนถล่มลงมา จนมีผู้เสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก 7 ส่งผลให้หลังจากนั้นห้างฯ ก็ปิดตัวลงอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2548 ด้วยปัญหาด้านการเงิน
ระหว่างที่รอการรื้อถอน พื้นที่ห้างที่มีสภาพร้าง ได้เกิดน้ำขังที่ชั้นล่างของห้างฯ และกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง รวมถึง มีผู้คนแถวนำปลาไปปล่อย จนปลามีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนสถานที่แห่งนี้ถูกตั้งฉายานามว่า ‘วังมัจฉาใต้ห้างร้าง’ แต่หลังจากนั้น สำนักงานเขตพระนคร ประกาศสั่งปิดตึกอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2557 พร้อมทั้งมีปฏิบัติการขนย้ายปลา และสูบน้ำออกเพื่อหยุดยั้งไม่ให้คนเดินทางเข้ามาให้อาหารปลาในพื้นที่แห่งนี้
5. ไทย ไดมารู (Thai Daimaru) ห้างสรรพสินค้าสัญชาติญี่ปุ่น ที่มีการติดตั้ง ‘บันไดเลื่อน’ เป็นที่แรกในประเทศไทย โดยห้างฯ ดังกล่าวเดิมทีตั้งอยู่บริเวณเซ็นทรัลเวิลด์ ก่อนจะย้ายมาตั้งที่พื้นที่ตรงข้าม หรือ บริเวณ Big C สาขาราชดำริในปัจจุบัน ไทย ไดมารู เริ่มให้บริการเมื่อ 10 ธันวาคม 2507 และปิดกิจการไปตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2543
เพราะไม่อาจสู้กับปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ภาวะที่ราคาสินทรัพย์ ไม่ว่าจะอสังหาริมทรัพย์ หรือหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นกว่าราคาตามจริง จนท้ายที่สุดก็จะระเบิดออกมา ทำให้ราคาสินทรัพย์ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ต่อมาคือวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ปี 2540 ที่เศรษฐกิจไทยเข้าขั้นวิกฤต เงินเฟ้อพุ่งขึ้น 8% กิจการล้มจำนวนมาก คนตกงาน และส่วนใหญ่จำเป็นต้องขายทรัพย์สินเพื่อมาใช้หนี้ โดยปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้ ไทย ไดมารู ต้องปิดตัวลงอย่างถาวรในอีก 3 ปีต่อมา
6. โตคิว (TOKYU) ห้างฯ ที่ตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้ามาบุญครอง (MBK) ปิดกิจการถาวร เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2564 หลังอยู่คู่ MBK มาถึง 35 ปี หรือ ตั้งแต่ปี 2528 สาเหตุสำคัญที่ต้องปิดตัวลง สืบเนื่องมาจากวิกฤตการเงิน และการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบ แต่ไทยถือว่าได้รับกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์และปิดประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย
7. กาดสวนแก้ว ศูนย์การค้าชื่อดังที่อยู่คู่กับชาวเชียงใหม่ มาตั้งแต่ 25 กุมภาพันธ์ 2535 แต่จำเป็นต้องปิดตัวลงเมื่อ 1 กรกฎาคม 2565 จากภาวะเศรษฐกิจและผลกระทบจากช่วงโรคระบาด แม้ว่าห้างฯ จะอัดแน่นไปด้วยร้านค้า ร้านอาหาร และโรงภาพยนตร์ ก็ตาม
8. คลังพลาซ่า (Klang Plaza) นครราชสีมา ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของชาวอีสานและโคราช ประกาศปิดกิจการเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2565 ซึ่งสร้างความตกอกตกใจให้กับผู้คนไม่น้อย เพราะเป็นห้างฯ ที่เปิดมายาวนานถึง 36 ปี หรือตั้งแต่ปี 2529 ทั้งนี้ ผลกระทบสำคัญก็หนีไม่พ้นการระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจซบเซาเป็นวงกว้าง
ดังนั้น อาจจะพูดได้ว่าสาเหตุการปิดตัวลงของห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในตลอดหลายปีที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 และปัญหาเรื่องโรคระบาด แต่นอกเหนือจากวิกฤตเหล่านี้ ยังมีความเห็นมากมายที่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เพราะห้างฯ ไม่ปรับตัวตามความต้องการของกลุ่มคนรุ่นใหม่
ท้ายที่สุดแล้ว วงการธุรกิจค้าปลีกในไทย แบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ
- กลุ่มห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า เช่น เซ็นทรัล เดอะมอลล์ เมกะบางนา
- กลุ่มดิสเคาท์สโตร์ เช่น โลตัส บิ๊กซี
- ซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น ท็อปส์
- กลุ่มร้านสะดวกซื้อ เช่น 7/11
ที่ผ่านมา มีการวิเคราะห์กันว่า สภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้คนมีกำลังซื้อถดถอย ก็ส่งผลต่อสถานการณ์ของห้างฯ ต่างๆ ด้วยเช่นกัน ขณะที่หลายๆ ห้างฯ ขนาดใหญ่ก็มีกลยุทธ์ต่างๆ เพื่ออยู่รอด รวมถึงการพยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามา หลังจากที่ผ่านช่วงโรคระบาดมากันได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังมีห้างฯ เก่าที่ยังคงเปิดบริการอยู่ เช่น ไนติงเกล-โอลิมปิก, ตั้งฮั่วเส็ง สาขาบางลำพู และพาต้า ปิ่นเกล้า หากใครอยากสัมผัสบรรยากาศเก่าๆ ก็สามารถไปเยี่ยมเยือนสถานที่เหล่านี้ได้