“หากห้างฯ สามารถปรับตัว หาช่องว่างทางการตลาด และสามารถเข้าใจบริบทนิสัยที่แท้จริงของคนในพื้นที่ ก็จะพอสู้กับห้างรายใหญ่ได้’
10 กันยายน ที่ผ่านมา เป็นวันที่ ตั้งฮั่วเส็ง สาขาธนบุรี ประกาศปิดตัวไม่มีกำหนด ปรากฏการณ์นี้ได้สร้างความตกอกตกใจให้กับใครหลายๆ คน โดยเฉพาะชาวฝั่งธน เพราะห้างสรรพสินค้าดังกล่าวถือเป็นห้างฯ เก่าชื่อดัง ที่เปิดทำการมาตั้งแต่ปี 2534
อย่างไรก็ดี มีห้างในตำนานอีกมากมายที่ปิดตัวไปก่อนหน้านี้ เช่น โตคิว เมอร์รี่คิงส์ หรือกาดสวนแก้ว ศูนย์การค้าชื่อดังของเชียงใหม่ ที่ต่างทยอยปิดตัวแบบไม่มีวันกลับ จนเกิดคำถามขึ้นมาว่า หลังจากนี้ธุรกิจห้างสรรพสินค้าไทย จะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร?
The MATTER จึงพูดคุยกับ ผศ.จิตตาภรณ์ ศรีบุญจิตต์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจและหาคำตอบว่า ‘ธุรกิจห้าง’ หลังจากนี้จะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด
ปัจจัยเศรษฐกิจเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ห้างฯ ปิดตัว?
นักวิชาการด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บอกว่า ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจในภาพรวมก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง เพราะต่อให้เศรษฐกิจดี แต่ถ้าไม่มีอำนาจในการต่อรองในการควบคุมต้นทุน ก็ลำบากเหมือนกันสำหรับศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า ที่มีสาขาเดียวหรือน้อยสาขา
อ.จิตตาภรณ์ ขยายความว่า เนื่องจากต้นทุนของห้างฯ รายเล็ก ไม่อาจที่จะสู้กับห้างฯ ยักษ์ใหญ่ที่มีหลายสาขาได้ เพราะกลุ่มเหล่านี้สามารถดีลกับ supplier ซื้อสินค้าในราคาเหมา และเป็นล็อตใหญ่ ที่ต้นทุนถูกกว่ามาก
ฉะนั้นแล้วทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจ ต้นทุน และการเข้ามาของสินค้าออนไลน์ ล้วนส่งผลกระทบต่อธุรกิจห้างฯ ยกตัวอย่างในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ห้างฯ เซ็นทรัลก็ค่อนข้างลำบากไม่ต่างกับห้างฯ ที่ยังเปิดทำการในตอนนั้น
แต่เซ็นทรัลปรับตัวในรูปแบบอื่นด้วย อย่างเริ่มผลิตสินค้าเอง (ผลิตเองตั้งแต่ก่อนวิกฤตการเงินปี 40) เริ่มขายอาหารภายใต้แบรนด์ของตัวเอง รวมถึงซื้อแฟรนไชส์ด้วย พยายามเป็นศูนย์รวม ต่างกับธุรกิจห้างฯ ส่วนใหญ่ในขณะนั้นที่เน้นการซื้อมาขายไป
“ผู้ที่เป็นเจ้าของศูนย์การค้าหรือห้างฯ ที่ให้ความสำคัญกับการซื้อมาขายไปเป็นหลัก ก็จะลำบากเพราะว่ามีรายได้จากแค่ส่วนต่างของสินค้าที่ซื้อมาขายไปเท่านั้น ตรงกันข้ามกับบางเจ้าที่เริ่มปรับตัวสร้างธุรกิจของตัวเอง ที่ผลิตและขายเอง ทั้งยังปรับตัวเรื่องดีไซน์ตึกและฟอร์แมต ให้ห้างฯ น่าเดินยิ่งขึ้น”
ออนไลน์ทดแทนไม่ได้ทุกอย่าง บางอย่างห้างฯ ยังตอบโจทย์
อ.จิตตาภรณ์ กล่าวว่า หากลองสังเกตจะเห็นว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ห้างฯ หลายแห่งได้ทำการปิดปรับปรุงชั่วคราว พอเปิดอีกทีเราจะเห็นสัดส่วนของร้านอาหาร ร้านตัดผม ร้านนวดมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นร้านอาหาร
ซึ่งร้านเหล่านี้ผู้คนไม่สามารถบริโภคผ่านออนไลน์ได้ อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าอาหารจะบริโภคทางออนไลน์ได้ แต่ผู้คนก็ยังต้องการเข้าสังคม ทำกิจกรรม และมีประสบการณ์ในสถานที่ใหม่ๆ
นี่คือปัจจัยที่ทำให้ห้างฯ ในปัจจุบันที่ปรับปรุงใหม่หรือเพิ่งเปิดตัวมักจะมีฟอร์แมตเช่นนี้ และลดปริมาณพื้นที่ที่ขายสินค้าที่สามารถซื้อผ่านออนไลน์ได้ “ยอดขายของ food delivery ลดลงมาก หากเทียบกับในช่วงการระบาดของ COVID-19” เธอระบุ
สอดคล้องกับการประเมินของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่พบว่า รายได้จากค่าจัดส่งอาหารไปยังที่พักหมุนเวียนในระบบโดยเฉลี่ยประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี (ระหว่างปี 2563 -2565) อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา กลุ่มผู้ให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พักเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น เนื่องด้วยหลายสาเหตุ แต่หนึ่งในนั้นคือ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
อาจารย์พูดเพิ่มว่า นี่เป็นดัชนีที่ชี้ให้เห็นว่า ยังมีคนจำนวนหนึ่ง ที่ยังใช้บริการ food delivery เพื่อความสะดวกสบาย แต่จะไม่เทียบเท่ากับกลุ่มคนที่เลือกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน
“เพราะฉะนั้นการซื้อของผ่านออนไลน์ สำหรับอาจารย์มองว่ายอดขายก็ยังดีอยู่ ไม่ได้แย่ แต่ถามว่าถ้าเทียบระหว่างและหลังโรคระบาด ยอดการสั่งอาหารลดลงเป็นอย่างมาก ซึ่งแปลว่าเจ้าของศูนย์การค้าที่มีร้านอาหารมาเช่าเป็นจำนวนมากค่อนข้างจะขายดี ดังนั้นหากไม่ปรับให้มีพื้นที่ขายอาหารมากขึ้น ผู้ประกอบการห้างฯ นั้นๆ ก็จะลำบากอยู่เหมือนกัน”
ต้นทุน อำนาจในการต่อรอง ทำเล ปัจจัยที่ชี้ขาดชะตาของห้างฯ
อาจารย์ชี้ว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ศูนย์การค้าและห้างฯ ปิดตัวลงคือ ต้นทุนและอำนาจในการต่อรอง เธอขยายความหมายของอำนาจในการต่อรองว่า
“ถ้าไม่มีอำนาจ เวลาจะซื้อสินค้า ก็จะได้ราคาที่แพงกว่าชาวบ้าน (ยักษ์ใหญ่) หรือถ้าต้องการให้ร้านอาหารดังๆ มาเปิด ห้างฯ ที่มีต้นทุนและหลายสาขาจะมีอำนาจในการต่อรองมากกว่า”
สาเหตุต่อมาคือ การไม่มีที่จอดรถหรือติดกับแนวรถไฟฟ้า เช่น ตั้งฮั่วเส็งทั้ง 2 สาขา ที่ไม่ติดกับอะไรเลย โดยเฉพาะสาขาบางลำพูที่แม้แต่ที่จอดรถก็ไม่มี ทำให้ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวหรือคนที่อยู่ละแวกนั้นเท่านั้น
ทั้งนี้ต่อให้ห้างฯ ติดกับแนวรถไฟฟ้า มีที่จอดรถ แต่ดีไซน์ และการวาง lay out ของส่วนผสมผู้เช่า (tenenist) ไม่ดี บางทีก็แย่เหมือนกัน ดังนั้นธุรกิจห้างฯ จะรอดหรือไม่รอดขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย
“หากสามารถปรับตัว หาช่องว่างทางการตลาดได้ เข้าใจบริบทนิสัยที่แท้จริงของคน ในจังหวัดตัวเอง ธุรกิจก็จะรอดต่อไปได้”
รัฐสามารถช่วยพลิกแพลง-ลดภาษีให้กับธุรกิจรายย่อย
อาจารย์จิตตาภรณ์ มองว่า สำหรับตอนนี้คิดว่ารัฐบาลต้องช่วยประชาชนก่อน การแบ่งเบาค่าน้ำค่าไฟ หรือการพยุงให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ไปต่อได้ แต่ถามว่าพอจะมีทางที่จะทำให้ห้างฯ เก่าที่ยังเหลืออยู่ไปต่อได้ไหม อาคารและชื่อห้างฯ หรือศูนย์การค้าอาจจะอยู่รอดได้ แต่ว่า รูปแบบ (format) ต้องเปลี่ยน
เพราะจะขายเสื้อผ้า จานชาม ตามเดิมเพื่อไปชนกับห้างฯ ใหญ่ไม่ได้แล้ว แต่อาจปรับเป็นแหล่งรวมสินค้า OTOP ไทย ที่ทัวร์นักท่องเที่ยวทุกทัวร์ต้องลง เพื่อซื้อป๊อกกี้ไทย อาทิ รสลาบ รสต้มย้ำกุ้ง อย่างนี้จะทำให้พออยู่รอดได้
เธอทิ้งท้ายว่า การที่จะให้รัฐบาลลดหย่อนภาษีให้แก่ห้างฯ หรือศูนย์การค้ารายใหญ่ดั้งเดิม เพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้ไปต่อได้เป็นไปได้ยาก แต่รัฐบาลสามารถช่วยร้านค้ากลุ่ม SME ได้ เช่น ร้านโชวห่วย ร้านขายของชำ เพราะธุรกิจคนไทยส่วนใหญ่เป็น SME
“ที่ผ่านมาภาครัฐมักจะออกนโยบายว่าด้วยเรื่องภาษีนิติบุคคล ภาษีรายปีที่ต้องจ่ายเงิน ซึ่งถ้าเป็น SME จะอยู่ที่ 15% ขณะที่มหาชนหรือยักษ์ใหญ่จะอยู่ที่ 20% ซึ่งไม่แย่ แต่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหลายเจ้าก็ไปไม่รอด เนื่องจากเงินทุนหมุนเวียนชักหน้าไม่ถึงหลัง”
SME ต้องจ่ายภาษีให้รัฐบาลต่อเดือนถึง 2 ตัว ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% (VAT) และ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (หัก 3%) “รัฐบาลชอบมองว่าธุรกิจเหมือนมนุษย์กินเงินเดือน ที่ฝนตกแดดออกได้เงินเท่ากันทุกเดือน ซึ่งไม่ใช่เพราะบางธุรกิจขายดีบางช่วงเวลาเท่านั้น แต่กลับหักเขาทุกเดือน”
อาจารย์ย้ำว่า pain point สำคัญของ SME คือเงินทุนหมุนเวียน และเสนอให้รัฐต้องลดภาษี 3% เพราะภาษีทั้ง 2 ตัว รวมกันเท่ากับ 10% ขายของ 100 บาท แต่ได้เงินจริง 90 บาท แทนที่จะเอา 10% ไปจ่ายดอกเบี้ยหนี้ หรือภาระอื่นๆ แต่กลับต้องไปจ่ายให้กับรัฐบาลทุกเดือนแทน เธอเสนอว่า ควรเอาเรื่องภาษีไปคุยทีเดียวปลายปีได้ไหม พอให้ประชาชนมีลมหายใจสัก 12 เดือน
จากบทสัมภาษณ์นี้ อาจจะสะท้อนให้เราเห็นได้ว่า เศรษฐกิจที่ไม่ดี กำลังซื้อถดถอย พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อาจเป็นปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ห้างฯ หลายเจ้าจำเป็นต้องปิดตัวไป แม้ ‘การปรับตัว’ จะถือหนึ่งในหัวใจสำคัญในการอยู่รอด โดยเฉพาะกับห้างฯ และศูนย์การค้าในต่างจังหวัดที่รายใหญ่ยังเข้าไปไม่ถึง
แต่การปรับตัวเช่นนั้น ก็ถือว่ามีต้นทุนที่สูงและไม่ใช่ว่าทุกห้างฯ จะสามารถมีกำลังเพียงพอที่จะปรับตัวต่อไปไหว ท่ามกลางยุคสมัยที่เศรษฐกิจมีปัญหา และพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว