ยังไม่ทันที่ข่าวการเลือกนายกฯ ครั้งที่ 3 จะซาไป ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศมานานเกือบ 20 ปีก็ประกาศว่าจะกลับบ้านในวันที่ 10 ส.ค.นี้
ย้อนกลับไปอาทิตย์ที่แล้ว พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพิ่งเชิญอดีตพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์มาพูดคุยหาทางออกในการจัดตั้งรัฐบาล ความจริงคล้ายกำลังคลี่คลายตัว จิ๊กซอว์กำลังถูกต่อลงทีละตัว และข่าวลือสลายขั้วความขัดแย้ง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่างเพื่อไทยและกลุ่มอำนาจเก่าก็ดูเหมือนเป็นไปได้ขึ้นทุกที
The MATTER ได้พูดคุยกับกลุ่ม ‘คนเสื้อแดง’ ที่มักถูกโยงว่าเป็นมวลชลของพรรคเพื่อไทยถึงข่าวดังกล่าว อะไรคือสิ่งที่พวกเขาอยากเห็น-ไม่อยากเห็นในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ และถ้ามันเกิดขึ้น จะส่งผลอย่างไรบ้าง
บก.ลายจุด – ปัญหาใหญ่คือความรับผิดชอบทางการเมือง
สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด หนึ่งในคนเสื้อแดงยุคแรกๆ ที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหารปี 2549 เริ่มต้นด้วยสิ่งที่เขาอยากเห็นที่สุดในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ คือให้ 8 พรรคร่วมจับมือกันให้มั่น และหาทางผ่านปราการ สว.ให้ได้ แต่ถ้าข่าวลือการสลายขั้วการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเกิดขึ้นจริง พรรคเพื่อไทยจะต้องอธิบายกับมวลชนที่เลือกตัวเองให้ได้ว่าทำไมถึงตัดสินใจแบบนั้น มิฉะนั้น อาจทำให้ประชาชนสูญเสียศรัทธาต่อพรรค
ถ้าจะปรับจุดยืนมันต้องมีชุดคำอธิบายว่า ทำไมถึงจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่เป็นตามที่ 8 พรรคการเมืองอธิบายไว้ ปัญหาใหญ่คือการอธิบายความไปถึงผู้สนับสนุนที่เคยเลือก มิฉะนั้น จะเกิดการสูญเสียความศรัทธาและความไว้วางใจ และจะปรากฏชัดอย่างเป็นรูปธรรมในการเลือกตั้งครั้งหน้า
เขามองว่าชุดคำอธิบายว่าสถานการณ์การเมืองบีบบังคับ เป็นเหตุผลที่พอฟังได้ แต่ยังไม่เพียงพอ ควรมีทางออกอื่นเพิ่มเติม เช่น เป็นรัฐบาลเฉพาะกาลช่วงหนึ่ง และลาออกเมื่อ สว.หมดอำนาจเพื่อให้เลือกนายกฯ ใหม่
บก.ลายจุดเสนอเพิ่มเติมว่า 8 พรรคร่วมยังไปต่อด้วยกันได้ หากดำเนินแนวทางการสู้ด้วยมาตรา 3 ตามรัฐธรรมนูญซึ่งเนื้อหาสรุปว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และรัฐสภาต้องปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ แล้วการที่ สว.โหวตไม่รับรองนายกฯ ตามเสียงมติของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ ถือว่าเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญหรือไม่
“คำถามพ่วงท้าย เขาบอกเพียงแต่ว่าให้โหวตนายกฯ ในสภา แต่มันโหวตได้แค่รับ เพราะถ้าไม่รับจะขัด ม.3 ทันที เพราะเมื่ออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ในเมื่อประชาชนเลือกแล้ว การมาอ้างว่าตัวเองมาจากคำถามพ่วงท้าย (ม.272) ต้องถูกพิสูจน์ว่า เมื่อสองมาตรานี้ขัดแย้งกัน คำตอบมันอยู่ที่ไหน” บก.ลายจุดกล่าวต่อว่า “ผมสู้ว่า สว.ไม่มีสิทธิโหวตไม่รับ”
บก.ลายจุดทิ้งท้ายความกังวลเรื่องหนึ่งคือ “ความแตกแยกในฝ่ายประชาธิปไตย” ซึ่งเขามองว่าเกิดขึ้น 2 ระดับคือ พรรคการเมืองและมวลชน โดยเฉพาะฝั่งมวลชนซึ่งเขามองว่าทำให้เสียบรรยากาศและสร้างความร้าวฉานระหว่างกัน
“ที่ผมกังวลคือ ความสามัคคี เพราะในระบอบประชาธิปไตยเอกภาพของประชาชนสำคัญมาก” บก.ลายจุดทิ้งท้าย
เสื้อแดงคนสุดท้าย – เพื่อไทยบทเรียนเยอะ อย่าผิดเหมือนเดิม
ถึงแม้ ผุสดี งามขำ หรือเสื้อแดงคนสุดท้ายจะปรากาศตัวว่าไม่ใช่คนเสื้อแดงอีกต่อไปแล้ว แต่คงยากที่จะปฏิเสธว่าเธอคือหนึ่งในมวลชนคนเสื้อแดงที่เข้มข้น และหนักแน่นในอุดมการณ์ที่สุดคนหนึ่ง ดั่งที่เธอตัดสินใจนั่งอยู่หน้าเวทีราชประสงค์เป็นคนสุดท้าย ท่ามกลางห่ากระสุนจากฝ่ายความมั่นคง
“ช่วงเลือกตั้งก็มีการบอกว่าคนเสื้อแดงต้องเลือกเพื่อไทย แต่การทำงานของเพื่อไทยบางอย่างเราไม่โอเค ถ้าบอกว่าคนเสื้อแดงต้องเลือกเพื่อไทย เราไม่เป็นก็ได้ เราเป็นชาวบ้านธรรมดาที่อยากเลือกใครก็เลือกดีกว่า” ผุสดียอมรับว่าในรอบนี้เธอตัดสินใจเลือกพรรคก้าวไกล เพราะต้องการให้มีการแก้ไข ม.112 ตามระบบรัฐสภา
เธอกล่าวว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่เธออยากเห็นคือ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคร่วมอีก 6 พรรคกอดคอไปด้วยกัน เพื่อที่จะได้แก้กฎหมายต่างๆ ให้เป็นสากลมากขึ้น โดยเฉพาะ ม.112
“เพื่อไทยมีประสบการณ์ทางการเมือง ก้าวไกลมีแรงหนุนจากคนหนุ่มสาว ถ้าเอาส่วนดีมาประกบกันน่าจะดีกว่าต่างคนต่างทำ” ผุสดีกล่าวต่อ “เราไม่อยากให้พรรคไหนรวมกับเผด็จการ เพราะกลัวจะเป็นหอกข้างแคร่และทำลายรัฐบาลเอง การเมืองมันไม่มีมิตรและศัตรูถาวร แต่เราอยากให้รวมกันและไม่ให้ศัตรูเข้ามาทิ่มแทงได้”
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในการจัดตั้งรัฐบาล ผุสดีก็จะยอมรับทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่เพื่อไทยรวมกับพรรคการเมืองที่มีที่มาจาก คสช.
“ทุกคนก็เหมือนเด็กนักเรียน ก้าวไกลลองผิดลองถูกและรับบทเรียนไป แต่เพื่อไทยมีบทเรียนเยอะแล้วยังผิดเหมือนเดิม ก็ไม่ว่าอะไรเขาแล้วล่ะ ให้เขาทำไปเถอะ” ผุสดีตัดพ้อก่อนกล่าวต่อว่าในกรณีแบบนั้น ขอให้พรรคก้าวไกลถอยมาเป็นฝ่ายค้านจะดีกว่า
เมื่อถามต่อว่าถ้าพรรคเพื่อไทยสามารถแก้ปัญหาปากท้องให้คนไทยได้ มองว่าจะทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนรับได้กับการผสมพันธุ์ข้ามขั้วเช่นนี้ไหม
คุณฟังนะ เพื่อไทยเนี่ยไม่สงสัยเรื่องทำเศรษฐกิจหรอก แต่เศรษฐกิจดีทุกครั้งใครรวย ประชาชนแค่ตั้งไข่ได้ก็จะถูกหยิบฉวยทุกอย่าง แล้วคนที่รวยแท้จริงคือกลุ่มเผด็จการเก่าๆ เท่ากับเพื่อไทยสร้างความมั่นคงมากขึ้น แต่ประชาชนอ่อนแอลงทุกครั้ง
ผุสดีทิ้งท้ายถึงสิ่งที่กังวลที่สุดว่าไม่ใช่เรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลหรือย้ายขั้ว แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างแฟนคลับของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ซึ่งกำลัง “ฟัดกันจมเขี้ยว”
“ที่ไม่อยากเห็นคือ ติ่งของก้าวไกลและเพื่อไทยกำลังซัดกันจมเขี้ยว เราแสดงเจตจำนงค์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ แต่ไม่ควรจิกหัว สส.ที่เราเลือก เราควรคอยดูว่าเขามีอุปสรรคอย่างไร เราก็เป็นฝ่ายหนุน ไม่ใช่ว่าเขาจะเลี้ยวซ้ายไม่ได้ ต้องเลี้ยวขวา บางอย่างเราต้องให้เกียรติคนที่เราเลือกไป” ผุสดีกล่าว
ธิดา ถาวรเศรษฐ – ใครคือมิตรแท้ และศัตรูถาวร
ธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธาน นปช.ระหว่างปี 53 – 57 มองว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้คือ ‘ชัยชนะครั้งใหญ่’ ของประชาชนผู้รักประชาธิปไตยเหนือฝั่งจารีตนิยมเผด็จการ “พรรคการเมือง 2 พรรค (เพื่อไทยและก้าวไกล) มีหลังผิงคือประชาชนที่ใหญ่โตอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ในอดีตอย่างมากก็ครึ่งต่อครึ่ง แต่ตอนนี้มัน 80 ต่อ 20 มันเป็นชัยชนะของประชาชนในระบบการต่อสู้รัฐสภา” ธิดากล่าว
เมื่อถามถึงข่าวลือการรวมขั้วระหว่างพรรคเพื่อไทยและเหล่าพรรครัฐบาลสมัยที่แล้ว ในฐานะนักเคลื่อนไหว เธอเตือนให้ระวัง เพราะมันอาจหมายถึงการสูญพันธุ์ของพรรคเพื่อไทยเลยก็เป็นได้
“ไม่อยากเห็นพรรคเพื่อไทยข้ามขั้ว เพราะจะทำให้ชัยชนะของประชาชนกลายเป็นความพ่ายแพ้ นี่เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เขาเลือกพรรคเพื่อไทยเพราะเขาเชื่อมั่นว่าเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย” ธิดากล่าวต่อ “ถ้าคุณข้ามขั้วหรือย้ายจุดยืน เราจะมีรัฐธรรมนูญของประชาชนไหม เราจะปฏิรูปโครงสร้างต่างๆ ได้ไหม ถ้าครึ่งหนึ่งของพลังฝ่ายประชาธิปไตยย้ายจุดยืน มันจะเข้าข่ายหลอกประชาชนไหมล่ะ”
พวกคุณได้เสียงเพราะผลพวงของการต่อสู้ของประชาชนอันยาวนาน ต่อให้คุณไม่มีดีเอนเอของนักต่อสู้ ก็ขอให้เห็นว่าตอนนี้คนมันเปลี่ยนไปแล้ว และถ้านักการเมืองคิดจะข้ามขั้ว คุณจะเป็นตัวแทนของประชาชนฝ่ายไหน คุณจะทำการเมืองเพื่อขอเป็นรัฐบาลครั้งเดียวหรือเปล่า
ไม่เพียงแค่ฐานเสียงที่อาจหายไปหมดเท่านั้น ธิดายังเตือนว่าพรรคเพื่อไทยไม่ควรใช้ความคิดแบบการเมืองธรรมดาที่มักเชื่อว่า ในการเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร เพราะนี่ไม่ใช่การเมืองในระบบปกติ
ฝ่ายจารีตอำนาจนิยมยังไม่ปล่อยมือจากอำนาจ จะใช้ความคิดแบบการเมืองธรรมดาว่าไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรไม่ได้ เพราะศัตรูถาวรของฝ่ายประชาธิปไตยมี แต่มิตรแท้มีเท่าไหร่ไม่รู้ และถ้ามิตรเปลี่ยนขั้วไปอยู่กับศัตรูถาวร คุณจะว่าอย่างไรล่ะ
“หลังฆ่าเสือตัวใหม่เสร็จแล้ว คุณอาจถูกเด็ดหัวเป็นเบอร์ 2 เขาไม่ได้คิดจะเอาคุณไว้เหมือนกัน”
“เราไม่ได้เกลียดชังกัน เราชอบพอกัน เราไม่อยากเห็นจุดจบของพรรคเพื่อไทย เราไม่อยากเห็นประชาชนออกมาต่อต้านพรรคเพื่อไทย” อดีตประธาน นปช.ทิ้งท้าย