‘บุหรี่ไฟฟ้า’ กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธาน สสส. ได้กล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ ครั้งที่ 4/2565 ว่า ขอให้ทุกคนในที่ประชุมมั่นใจ กระทรวงสาธารณสุขจะไม่มีทางสนับสนุนให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องถูกกฎหมายแน่นอน เพราะนิโคตินไม่ว่ารูปแบบใดก็ไม่ดีต่อร่างกาย
เสี่ยหนูจากพรรคภูมิใจไทย ยังกล่าวในที่ประชุมดังกล่าวอีกว่า เขาได้มอบหมายให้ คร. ทำงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า และป้องกันไม่ให้มีนักสูบหน้าใหม่เข้ามาในวงการ พร้อมย้ำเตือนให้ สสส. ทำหน้าที่ในการรณรงค์อันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าให้มากยิ่งขึ้น
ถ้าให้ถกเถียงกันว่า บุหรี่ไฟฟ้าดีหรือแย่กว่าบุหรี่ปกติ เชื่อว่าเถียงกันไปสองวันไม่หลับไม่นอน ก็อาจยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ถ้าถามว่าบุหรี่ไฟฟ้าควรหรือไม่ควรนำขึ้นมาบนที่แจ้ง เพื่อออกกฎหมายควบคุม เชื่อว่าประเด็นนี้อาจคุยกันได้ง่ายมากขึ้น
อย่างไรก็ดีในขั้นแรก The MATTER อยากชวนมาทำความเข้าใจกฎหมายที่ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในทุกวันนี้ก่อน กฎหมายฉบับไหนถูกนำมาใช้บ้าง และมีบทลงโทษหนักเบารุนแรงอย่างไรบ้าง
แกะรอยกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
ก่อนปี 2557 บุหรี่ไฟฟ้าถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่กฎหมายไทยยังตามไม่ทัน ดังนั้น มันจึงไม่มีกฎหมายตัวไหนระบุรับรองเอาไว้ ทำให้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย และอาจแปลได้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าที่เข้ามาก่อนปี 2557 ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย
แต่ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี และได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2557 ระบุให้บารากุ บารากุไฟฟ้า และบุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้า ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้าหรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงให้ริบสินค้า และพาหนะที่ใช้ในการบรรทุกสินค้านั้นด้วย
ต่อมาในปี 2558 ได้มีการออกคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 ระบุห้ามขาย ห้ามให้บริการบารากุ บารากุไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า และน้ำยาเติมของทั้งสองชนิด โดยระบุว่าพบสารเคมีที่เป็นอันตรายหลายชนิด รวมถึงการสูบร่วมกันอาจทำให้เกิดโรคติดต่อ ดังนั้น
- สำหรับผู้ขาย หรือให้บริการมีความผิดและต้องโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- สำหรับผู้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้ที่นำเข้ามาเพื่อขาย ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ก่อนที่ในปี 2560 ได้มีการประกาศใช้กฎหมายศุลกากรฉบับใหม่คือ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ซึ่งมีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ดังนี้
- มาตรา 242 มีใจความว่า ผู้ใดนําเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร หรือเคลื่อนย้ายของออกโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร มีโทษจําคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับ 4 เท่าของราคาของ หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ริบของนั้นทันที
- มาตรา 244 มีใจความว่า ผู้ใดนําของที่ผ่านหรือกําลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาหรือส่งออกราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยง ข้อจํากัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของน้ัน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นได้
- มาตรา 246 ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจําหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจํานําหรือรับไว้ ซึ่งของที่รู้ว่าเป็นความผิดตามมาตรา 242 มีโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับ 4 เท่าของราคาของ หรือทั้งจําท้ังปรับ
ดังนั้น อาจสรุปได้ว่ากรณีนำเข้า ผลิต และขายบุหรี่ไฟฟ้านั้นมีความผิดตามกฎหมายไทยอย่างชัดเจน แต่ในกรณีของผู้ครอบครองและใช้ส่วนตัว อาจไม่มีความผิดโดยตรง ถ้าผิดจะเข้าตามมาตรา 246 ของ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ซึ่งบอกว่า “ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจําหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจํานําหรือรับไว้ ซึ่งของที่รู้ว่าเป็นความผิดตามมาตรา 242 มีโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับ 4 เท่าของราคาของ หรือทั้งจําท้ังปรับ” ซึ่งกรณีนี้ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ารวบรวมหลักฐานได้มากแค่ไหน และอัยการจะส่งฟ้องหรือเปล่า
ห้ามไม่อยู่ แต่ควรมีกฎหมายควบคุม
อาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST) กล่าวกับ The MATTER ว่า เขาคาดว่าในเมืองไทยมีผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ต่ำว่า 1 ล้านคน โดยเขาอ้างจากกลุ่มในเฟซบุ๊กซึ่งเป็นที่ซื้อขายบุหรี่และน้ำยาไฟฟ้า และมีสมาชิกกลุ่มเกือบ 500,000 คน
อาสามองว่า การถกเถียงถึงผลดี-เสียของบุหรี่ไฟฟ้ายังคงต้องคุยกันอีกนาน แต่สถานะของบุหรี่ไฟฟ้าตอนนี้ เขามองว่ากฎหมาย “ห้ามยังไงก็ห้ามไม่อยู่” และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะห้ามไม่ให้เยาวชนเข้ามาเกี่ยวข้อง
“ห้ามยังไงก็ห้ามไม่อยู่ คนใช้มีเป็นล้าน Deman มี Supply ก็ต้องมา ยังไงก็ต้องมีคนแอบขาย เพราะรายได้ดีและลูกค้าเยอะ”
เขากล่าวต่อว่า “ผมมองว่าทุกอย่างมีทั้งดี-แย่ แล้วถามว่าเป็นไปได้ไหมที่จะห้ามไม่ให้เด็กมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า ผมยอมรับเลยว่าเป็นไปไม่ได้”
อาสาเล่าว่า ครั้งหนึ่งเขาและเพื่อนปฏิเสธที่จะขายบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่เยาวชน แต่กลับถูกตอบกลับมาว่า “พี่ขายให้ใครก็ผิดอยู่ดี ขายให้ผมก็ผิด ขายให้คนแก่ 80-90 ปีก็ผิด ผิดเท่ากัน” ซึ่งเขาชี้ว่าตรรกะเช่นนี้ ทำให้พ่อค้าแม่ค้าบุหรี่ไฟฟ้าหลายคนไม่รู้สึกอะไรถ้าจะขายแก่เยาวชน
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนจากกลุ่มลาขาดควันบุหรี่ยังเชื่อว่า ถ้ากฎหมายไทยรองรับบุหรี่ไฟฟ้าเช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศทั่วโลก มันจะมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย
“ถ้าเราทำให้มันถูกกฎหมาย มันก็สามารถควบคุมได้บ้าง ไม่ว่าเรื่องช่วงอายุ หรือวิธีการใช้ ซึ่งถ้าเราทำให้ถูกกฎหมายเราจะกำหนดได้ว่าผู้ซื้อต้องซื้อจากที่ใด รับประกันคุณภาพสินค้าได้ ได้คำแนะนำวิธีการใช้ที่ถูกต้อง” อาสากล่าว
“และมันจะสามารถเก็บภาษีเข้ามาได้ มันอาจจะไม่เยอะประมาณ 6 พันล้าน/ ปี แต่มันจะเป็นแบบทวีคูณเพิ่มขึ้นทีละสองเท่า แต่อันนี้เราก็เรียกร้องว่าต้องไม่เก็บภาษีโหดเกินไป เพราะเดี๋ยวจะผลักเขากลับใต้ดินหมดอีก แต่ยังไง ถ้าถูกกฎหมายเราเชื่อว่ากลุ่มที่ขายแบบผิดกฎหมายจะน้อยลง เพราะคนซื้อก็อยากได้ของที่เชื่อใจได้”
ยังต้องติดตามกันต่อไปว่าในขวบปีสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือ สถานะเทาๆ ของบุหรี่ไฟฟ้าทุกวันนี้เปิดโอกาสให้ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐจนถึงผู้ค้าเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคตัวเล็กตัวน้อยได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
และถ้าให้ถามสำคัญทิ้งท้ายประเด็นนี้คงเป็นคำถามว่า แล้วผู้ออกและใช้กฎหมายอย่างเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองเอง ไม่เคยสูบหรือมีบุหรี่ไฟฟ้า เช่น iQOS หรือ Pod ติดบ้านกันเลยหรอกหรือ?
อ้างอิง:
คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558
ประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2557 ห้ามนำเข้าบารากุ บารุกุไฟฟ้า และบุหรี่ไฟฟ้า
บุหรี่ไฟฟ้าสินค้าต้องห้ามกับงานป้องกันและปราบปรามทางศุลกากร
Illustrator By Kodchakorn Thammachart