ถึงแม้กฎหมายไทยจะห้ามเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเด็ดขาด แต่ความเป็นจริงช่างต่างราวฟ้ากับเหว เพราะเพียงแค่เสิร์ชคำว่า ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ลงในกูเกิลก็มีร้านบุหรี่ไฟฟ้าให้เลือกมากมาย ยังไม่นับช่องทางอื่นๆ เช่น ทวิตเตอร์, ติ๊กต๊อก, เฟซบุ๊ก, อินสตราแกรม ที่สามารถหาสินค้าเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย
แต่การที่บุหรี่ไฟฟ้าเข้าถึงได้ง่ายเหมือนชงกาแฟสำเร็จรูปเช่นนี้เป็นเรื่องดีต่อสังคมจริงหรือ มันมีผลกระทบอะไรที่น่ากังวลตามมาหรือเปล่านะ
The MATTER ได้มีโอกาสร่วมงานประชุม ‘วิชาการวิทยาศาสตร์การเสพติด’ และวงเสวนาได้มีการหยิบยกประเด็น ‘การตลาดบุหรี่ไฟฟ้า’ ขึ้นมาพูดคุย โดยได้พูดถึงการเติบโตของตลาดบุหรี่ไฟฟ้า, ความเสี่ยงต่อเยาวชน และข้อเสนอเชิงนโยบายถึงรัฐบาล ซึ่งเราสรุปประเด็นน่าสนใจให้อ่านกันด้านล่างนี้
การเติบโตของตลาดบุหรี่ไฟฟ้า
กนิษฐา ไทยกล้า นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.เชียงใหม่ได้เปิดเผยผลการสำรวจ ‘การเฝ้าระวังตลาดบุหรี่ไฟฟ้าบนอินเทอร์เน็ต ปี 2566’ ซึ่งเก็บข้อมูลตั้งแต่ มกราคม – เมษายนของปี 2566 พบว่า ปัจจุบันมีบัญชีขายบุหรี่ไฟฟ้าบนโลกออนไลน์ 480 บัญชี โดยพบมากที่สุดในเฟซบุ๊กและอินสตราแกม (เท่ากันที่ 31%) รองลงมาด้วย ทวิตเตอร์ (23%) และติ๊กต๊อก (4%) โดยบัญชีเหล่านี้ 49% เป็นบัญชีเก่าที่เปิดอยู่แล้ว 47% เพิ่งมาเปิดในปีนี้ ส่วนที่เหลือ 4% เป็นบัญชีเก่าที่ถูกปิดแล้วเปิดใหม่
จากการสำรวจยังพบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายนมีการโพสต์ขายบุหรี่ไฟฟ้ารวมทั้งหมด 3,891 ครั้ง โดยมากที่สุดอยู่ในโลกทวิตเตอร์ (36%) ตามมาด้วยเฟซบุ๊ก (26%) และอินสตราแกรม (23%) โดยมีจุดประสงค์หลักในการโพสต์เพื่อสร้างการรับรู้ถึงบุหรี่ไฟฟ้าและให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อ เช่น รีวิวจากอินฟลูเอนเซอร์ โดยเฉพาะผู้หญิง
กนิษฐากล่าวว่า ผู้ค้าบุหรี่ไฟฟ้าในโลกออนไลน์มักจะเปลี่ยนแพลตฟอร์มไปตามเทรนด์ของโลกโซเชียลมีเดีย แต่ที่น่าสนใจคือ ตัวเลขที่ชี้ว่ารายเก่ายังอยู่ในตลาดถึงครึ่งหนึ่ง และมีรายใหม่เพิ่มขึ้นในระดับใกล้เคียงกันสะท้อนว่ามาตรการทางกฎหมายในไทยยังใช้ไม่ได้ผลนัก
กนิษฐาอธิบายต่อว่า จากการสำรวจร้านบุหรี่ไฟฟ้าทั้ง 480 แห่ง มี 10 ร้านที่ขายยาเสพติดอื่นร่วมด้วย อาทิ ยาอี, เห็ดเมา, กัญชา, ยารักษาโรคแบบผิดแผน เช่น ทามาดอน หรือยาคลายกล้ามเนื้อที่มักใช้ผสมกับน้ำอัดลมแล้วดื่มเพื่อให้รู้สึกมึนเมา นอกจากนี้ ยังมีการโพสต์แลกเปลี่ยน ‘แป๊ะ’ หรือเฮโรอีนกับบุหรี่ไฟฟ้าในโลกทวิตเตอร์อีกด้วย
ถึงแม้ร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าที่ขายยาเสพติดด้วยจะมีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็สะท้อนว่าการที่ร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าผุดเป็นดอกเห็ดยังทำให้ยาเสพติดหลายประเภทเข้าถึงง่ายขึ้นเช่นกัน
บุหรี่ไฟฟ้าของเล่นกับการตลาดเจาะกลุ่มเยาวชน
ศรีรัช ลาภใหญ่ นักวิชาการอิสระด้านนิเทศศาสตร์ได้เปิดประเด็นที่น่ากังวลอีกเรื่องคือ การตลาดบุหรี่ไฟฟ้ากับกลุ่มเยาวชน โดยเธอได้เริ่มจากอธิบายว่าในปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าถูกพัฒนาสู่รุ่นที่ 5 แล้ว
- รุ่นแรก บุหรี่ไฟฟ้าแบบบุหรี่มวน (ciga-like)
- รุ่นสอง บุหรี่ไฟฟ้าแบบปากกา (e-cig pen)
- รุ่นสาม บุหรี่ไฟฟ้าแบบกล่อง (tank mod)
- รุ่นสี่ พอด (pod)
- รุ่นห้า พอดของเล่น (toy pod)
บุหรี่ไฟฟ้ารุ่น 5 หรือพอดของเล่นได้มีการเปลี่ยนรุปร่างของสินค้า จากรุ่นก่อนๆ ที่มีรูปร่างคล้ายบุหรี่ ให้กลายเป็น ‘ตัวการ์ตูน’ น่ารักๆ อาทิ เสือ, กล่องนมแมว, หมา รวมถึงคล้ายแก้วน้ำ ซึ่งศรีรัชวิเคราะห์ว่าการตลาดเช่นนี้ ทำให้พอดของเล่นมีภาพลักษณ์ที่สนุกสนาน, ขี้เล่น ที่สำคัญคือทำให้ดูไม่มีพิษภัยไม่ต่างจากของเล่นเด็กทั่วไป
พอดของเล่นยังใช้การตลาดที่เล่นกับประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของเรา (sensory marketing) หน้าตาน่ารัก (ดวงตา) รูปร่างนุ่มนิ่ม (สัมผัส) มีรสให้เลือกหลากหลายตั้งแต่ผลไม้จนถึงเครื่องดื่ม เช่น ชาหรือโคคาโคล่า แต่ทุกรสล้วนมีผ่านการแต่งกลิ่นให้หอม (จมูก)
ศรีรัชชี้เพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันร้านค้าบุหรี่ไฟฟ้ายังทำให้สินค้าของตนเองเข้าถึงง่าย โดยนอกจากร้านบนโลกออนไลน์ที่มีหลายร้อยเจ้าแล้ว ยังส่งสินค้าอย่างรวดเร็วรับได้ภายใน 1 ชั่วโมง ที่สำคัญ มีการปรับปรุงคุณภาพให้สูบได้มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่มีราคาถูกลงมากโดยพบถูกที่สุด 97 บาทเท่านั้น
ศรีรัชสรุปว่าการตลาดทั้งหลายเหล่านี้ทำให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อสังคมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนอายุตั้งแต่ 10 – 15 ปีที่อยู่กับโลกอินเตอร์เน็ตตลอดเวลา เพราะนอกจากสินค้าจะมีราคาถูกจนเยาวชนเอื้อมถีงแล้ว ยังมีดีไซน์น่ารักจนผู้ปกครองอาจไม่ทราบว่านี่คือบุหรี่ไฟฟ้า
ข้อเสนอจากวงเสวนา
“ข้อมูลที่ออกมายืนยันว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าเกี่ยวข้องกับโรคปอดอักเสบเรื้อรังและโรคหอบหืด นอกจากนี้ การใช้บุหรี่ไฟฟ้าควบคู่กับบุหรี่ยังส่งผลต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด” ไมเคิล บลาฮา จากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอบกินส์กล่าว “คุณกำลังทำให้ร่างกายตัวเองได้รับสารเคมีที่เรายังไม่รู้จักมันเพียงพอ ซึ่งมันอาจไม่ปลอดภัย”
ต้องยอมรับว่าบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นเรื่องใหม่พอสมควรในวงการแพทย์ และงานวิจัยในปัจจุบันยังไม่สามารถชี้ไปถึงผลเสียระยะยาวของมันได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยหลายชิ้นชี้ตรงกันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น นิโคติน, โลหะหนัก, สารหนู, โพรไพลีนไกลคอล รวมถึงตัวสารแต่งกลิ่นและรสเอง และในปี 2020 ข้อมูลจาก CDC สหรัฐฯ ชี้ว่ามีผู้ป่วย 2,807 รายที่เกิดโรคปอดอักเสบรุนแรงจากบุหรี่ไฟฟ้า (EVALI) และมี 68 รายที่เสียชีวิต
ดังนั้น บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ปกติจริงไหม คำถามนี้ยังไม่มีใครตอบได้ชัดเจน แต่ที่แน่ๆ มันมีผลเสียต่อร่างกายเช่นเดียวกัน
สำหรับข้อเสนอจากวงเสนาว่าวันนี้มีทั้งหมด 2 ประการ ประการแรก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมต้องปิดร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าถึงได้โดยง่าย และประการที่สอง ต้องบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ห้ามไม่ให้มีการขายโดยเด็ดขาด
“ถ้าคุณสามารถทำให้เขาขายไม่ได้ก่อน เราถึงควรลดเพดานลง การควบคุมคือการลดเพดาน แต่ตอนนี้เพดานสูงสุดแล้วตำรวจยังไม่จับ ศุลกากรยังไม่จับ แล้วบอกให้ลดความเข้มข้นของกฎหมายแล้วเขาจะตามจับไหม” นพ.วิทชช์ เกษมทรัพย์จากศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบกล่าวหลังมีคำถามถึง การปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรฐานและมาตรการควบคุม
“ตอนนี้จับแต่นักท่องเที่ยวเพื่อไถเงิน แต่ไม่จับคนขายสักราย ถ้าวันนี้จับคนขายให้เหลือสัก 220 ราย แบบนี้เปิดให้ขายได้เลย แต่ตอนนี้คนขายมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้ายิ่งทำให้มาตรการเบาลงน่าจะยิ่งแย่ ตอนนี้ตำรวจยังงอยู่เลยว่าถูกหรือไม่ถูกกฎหมาย” นพ.วิทชช์กล่าวต่อว่า “ดังนั้น มาตรการสูงสุดแล้วยังไม่มีผู้บังคับใช้กฎหมายทำงาน ถ้าลดมาตรการจะทำงานให้เราไหม นี่คือคำถาม”
นพ.วิชช์ทิ้งท้ายว่าในขณะนี้กำลังมีความพยายามผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เขาไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวจนกว่าจะมีการแก้ไขระบบราชการให้เข้มแข็งและโปร่งใสมากกว่านี้
อ่านกฎหมายบุหรี่ไฟฟ้าได้ที่: https://thematter.co/quick-bite/electric-cigarette-law/173321
อ้างอิงจาก:
https://www.bangkokhospital.com/content/electric-cigarette
https://www.hopkinsmedicine.org/news/newsroom/news-releases/vaping-increases-odds-of-asthma-and-copd