ฮามาสระดมยิงฝูงจรวดเพื่อเปิดทางให้สมาชิกติดอาวุธแทรกซึมเข้าไปในอิสราเอล บางส่วนเข้าไปในชุมชนใกล้ฉนวนกาซา สังหารประชาชนหรือจับพวกเขาเป็นตัวประกัน
อิสราเอลประกาศเข้าสู่ ‘ภาวะสงคราม’ เรียบร้อยแล้ว หลังจากฮามาส (Hamas) กลุ่มติดอาวุธ บุกเข้าโจมตีอิสราเอล ทว่ากองทัพอิสราเอลก็ตอบโต้กลับอย่างดุเดือดไม่แพ้กัน ซึ่งถือเป็นความขัดแย้งรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี ทำให้ตลอดหลายวันที่ผ่านมา ทั่วทั้งโลกต่างจับจ้องเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างใจจดใจจ่อ
อย่างไรก็ดี ชนวนความขัดแย้งของเรื่องนี้ เกิดมาจากข้อพิพาทในเรื่องดินแดนระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอลที่กินระยะเวลามาหลายสิบปี หรือจะตีเป็นหลายพันปีก็ยังได้ โดยชาติอาหรับในภูมิภาคและชาติมหาอำนาจโลกก็มีส่วนร่วมในความขัดแย้งนี้มาตลอด
หลายคนคาดสงครามระลอกใหม่ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสมีแนวโน้มยืดเยื้อ และยังส่งแรงกระเพื่อมต่อความสัมพันธ์ในตะวันออกกลางอย่างเลี่ยงไม่ได้ The MATTER จึงชวนทุกคนมาดูภูมิศาสตร์การเมือง ‘อิสราเอล-เพื่อนบ้าน’ เพื่อให้เห็นภาพว่ามีท่าทีหรือจุดยืนอย่างไรกันบ้าง
นอกจากนี้ เราจะเสริมว่าองค์กรระหว่างประเทศ (UN) และประเทศมหาอำนาจตะวันตกมีบทบาทอย่างไรต่อความขัดแย้งครั้งล่าสุดอีกด้วย
พื้นเพความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์
จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด เกิดขึ้นราว 2,000 ปีที่แล้ว เมื่อชาวฮีบรู (Hebrew) หรือชาวยิว (Jews) ได้อพยพมาจากเมโสโปเตเมียเข้ามาในดินแดนคานาอัน (Canaan) หรือดินแดนแห่งพันธสัญญา (Promise Land) ที่พระผู้เป็นเจ้าประทานพรให้พวกเขา แต่ถัดมาอีกประมาณ 500 ปี ชาวฮีบรูจำเป็นต้องอพยพไปอียิปต์ เนื่องจากภัยพิบัติธรรมชาติ
ราว 1,300 ปีก่อนคริสตกาล โมเสส (Moses) ได้ช่วยเหลือและอพยพชาวฮีบรูออกจากอียิปต์กลับไปที่คานาอัน แต่ดินแดนนี้ได้ตกเป็นของชาวฟิลลิสไตน์ (Philistine) หรือ ชาวปาเลสไตน์ (Palestine) ไปแล้ว ดังนั้นทั้งสองจึงทำสงครามกัน ซึ่งชาวฮิบรูชนะศึกครั้งนี้ จนเกิดการสถาปนาอาณาจักรอิสราเอล
อย่างไรก็ดี เราขอข้ามมาในช่วงปี 131-135 เลย เพราะเป็นเวลาที่ชาวยิวจำนวนมากเริ่มอพยพไปทั่วยุโรป เนื่องจากไม่สามารถต้านทานอำนาจของโรมันได้ และถัดมาเมื่อประมาณศตวรรษ 1500 ชาวยิวที่เหลือก็จำเป็นต้องอพยพหนี เพราะจักรวรรดิไบแซนไทน์มีการปราบปรามชาวยิวครั้งใหญ่
เมื่อประมาณศตวรรษ 1700 ดินแดนอิสราเอลตกอยู่ภายใต้อำนาจของจักรวรรดิอิสลาม และดินแดนอิสราเอลก็เริ่มถูกเรียกชื่อเป็นดินแดนปาเลสไตน์แทน ทั้งนี้ ในช่วงศตวรรษ 1500-1900 ชาวยิวที่อยู่กระจัดกระจายทั่วโลกรู้สึกว่า ตัวเองอยู่อย่างเร่ร่อนไม่มีหลักแหล่ง และยังเป็นที่รังเกียจของชาวยุโรป
ดังนั้นหลังจากพวกเขาต้องร่อนเร่ไปทั่วกว่าพันปี ชาวยิวบางกลุ่มจึงต้องการเดินทางกลับมายังดินแดนอิสราเอล ที่กลายเป็นของชาวปาเลสไตน์ไปแล้วโดยชาวออสเตรียเชื้อสายยิวนามว่า ธีโอดอร์ เฮิร์ตเซิล (Theodor Herzl) ได้ก่อตั้งขบวนการไซออนิสต์ (Zionist) องค์กรที่มีเป้าหมายสำคัญในการก่อตั้งรัฐของชาวยิวในดินแดนปาเลสไตน์
ในช่วงปี 1918 ดินแดนปาเลสไตน์ถูกอยู่ภายใต้การปกครองในสถานะรัฐอารักขาของอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้ซึ่งสนับสนุนขบวนการไซออนิสต์ ดังนั้นช่วงทศวรรษ 1920 ชาวยิวเริ่มอพยพเข้าไปในดินแดนปาเลสไตน์ ก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งกับชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ก่อนหน้านั้น
ถัดมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (1939-1945) ชาวยิวที่อาศัยอยู่ในทวีปยุโรปถูกจับเข้าค่ายกักกันและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Holocaust) โดยนาซีเยอรมัน ซึ่งมีชาวยิวล้มตายมากกว่า 6 ล้านคน และเมื่อสงครามสิ้นสุดลง ชาวยิวนับล้านคนที่รอดชีวิตตัดสินใจเดินทางเข้าไปในปาเลสไตน์
การมีส่วนร่วมของเหล่าประเทศอาหรับ
อังกฤษ ผู้กุมอำนาจปาเลสไตน์ขณะนั้น ไม่สามารถยุติความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายได้ อังกฤษจึงถอนตัวออกจากปาเลสไตน์ และนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อทางสหประชาชาติ (UN) จนท้ายที่สุดแล้ว ก็มีมติให้แบ่งดินแดนของปาเลสไตน์ออกเป็น 2 ส่วนคือ ดินแดนของชาวยิวกับดินแดนของชาวปาเลสไตน์ โดยกรุงเยรูซาเล็มจะอยู่ภายใต้การดูแลของ UN
ทว่าการก่อตั้งประเทศอิสราเอลได้สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากให้กับกลุ่มประเทศอาหรับ ดังนั้น อียิปต์, อิรัก, เลบานอน, ซาอุดีอาระเบีย, ซีเรีย และจอร์แดน จึงร่วมกันก่อตั้งสันนิบาตอาหรับ (Arab League) เพื่อต่อต้านอิสราเอล เมื่อ 22 มีนาคม 1945
นับจากนี้เป็นต้นไป จะเกิดความขัดแย้งระหว่างอาหรับ-อิสราเอล (Arab-Israeli conflict) ที่ขัดแย้งทั้งทางการเมือง ทางทหาร และข้อพิพาทอื่นๆ ซึ่งจะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 20 แต่พอเข้าสู่ช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ความรุนแรงจะลดน้อยลง
เมื่อปี 1948-1949 สันนิบาตอาหรับส่งกองทัพบุกโจมตีอิสราเอล เกิดเป็นสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งที่ 1 แต่อิสราเอลสามารถเอาชนะศึกครั้งนี้ได้ เนื่องจากการสนับสนุนของสหรัฐฯ ทว่าสันนิบาตฯ สามารถยึดครองดินแดนบางส่วนอิสราเอลได้ ซึ่งประกอบไปด้วย ฉนวนกาซา (Gaza Strip), เวสต์แบงค์ (West Bank) แต่กรุงเยรูซาเล็มถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เยรูซาเล็มตะวันตกเป็นอิสราเอล และ เยรูซาเล็มตะวันออกเป็นของจอร์แดน ซึ่งสงครามในครั้งนี้ทำให้ชาวปาเลสไตน์นับแสนคนต้องอพยพไปดินแดนอาหรับรอบๆ แทน
เมื่อปี 1956 เกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งที่ 2 หรือถูกเรียกอีกชื่อว่า วิกฤตการณ์คลองสุเอซ (Suez Crisis) โดยอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นผู้สนับสนุนอิสราเอลในการต่อสู้กับอียิปต์ อย่างไรก็ดี ชัยชนะครั้งนี้ตกเป็นของอียิปต์ หนึ่งในสมาชิกสันนิบาตอาหรับ
หลังจากนั้น ยัสเซอร์ อัล-อาราฟัต (Yasser al-Arafat) ผู้นำของชาวปาเลสไตน์ก่อตั้งองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) เพื่อต่อสู้กับอิสราเอล และทวงคืนดินแดนปาเลสไตน์จากชาวยิว จนเกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งที่ 3 หรือ สงครามหกวัน (Six Day War) ซึ่งครั้งนี้อิสราเอลกลับมาเป็นฝ่ายชนะสงครามอีกครั้ง และทำการยึดครองฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์จากฝ่ายอาหรับ ไม่เพียงเท่านั้น ยังทำการยึดครองแหลมไซนาย (Sinai) ดินแดนของอียิปต์และเยรูซาเล็มตะวันออกอีกด้วย
เมื่อปี 1973 เกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งที่ 4 หรือ สงครามยมคิปปูร์ (Yom Kippur War) ซึ่งครั้งนี้อิสราเอลก็เป็นฝ่ายชนะอีกครั้ง และยังสามารถยึดดินแดนบางส่วนของซีเรียและอียิปต์ แต่ 5 ปีต่อมา อิสราเอลและอียิปต์ทำข้อตกลงสันติภาพแคมป์เดวิด (Camp David Accord) ร่วมกัน โดยมีสหรัฐฯ เป็นตัวกลาง
ในช่วงต้นศตวรรษ 1980 อิสราเอลส่งกองทัพเข้าไปในเลบานอนเพื่อกวาดล้างกลุ่ม PLO ที่ซ่อนตัวอยู่ในประเทศ ซึ่งทำให้ชาวเลบานอนบางส่วนจึงจัดตั้งกลุ่มติดอาวุธอิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) เพื่อต่อสู้กับอิสราเอล โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 3 ปี ก็สามารถขับไล่กองทัพอิสราเอลไปได้
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 1988 ยัสเซอร์ อัล-อาราฟัต (Yasser Arafat) ประกาศก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ (State of Palestine) และสั่งยุติกลุ่ม PLO รวมทั้งจะใช้สันติสิธีเพื่อเจรจากับอิสราเอล จึงเกิดกลุ่มที่ชื่อว่า ฟะตะห์ (Fatah) ที่เน้นต่อสู้แบบสันติวิธี แต่ในเวลาเดียวกันนั้น ก็เกิดกลุ่มที่ชื่อว่า ฮามาส (Hamas) ที่เน้นใช้ความรุนแรงในการต่อสู้
แม้จะทำสัญญาสันติภาพหลายครั้ง แต่ความขัดแย้งก็ไม่จบลง
เมื่อปี 1993 อิสราเอลและปาเลสไตน์ทำสนธิสัญญาสันติภาพออสโล (Oslo Accord) ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นตัวกลางอีกครั้ง อย่างไรก็ดี การเจรจาครั้งนี้ได้มีการกำหนดเส้นเขตแดนใหม่ โดยให้ฉนวนกาซ่าและเวสต์แบงก์เป็นของปาเลสไตน์
ทว่าทั้งสองประเทศก็ยังต่อสู้กันเพื่อยึดครองดินแดน ซึ่งที่ผ่านมาฝั่งปาเลสไตน์จะเสียเปรียบมากกว่า ไม่เพียงเท่านั้น ภายในปาเลสไตน์ก็เกิดความแตกแยกกันเองเช่นกัน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มฮามาสครองฉนวนกาซ่า ส่วนบริเวณเวสต์แบงก์เป็นของกลุ่มฟะตะห์ (Fatah) รัฐบาลของปาเลสไตน์
ปัจจุบันนี้สันนิบาตแห่งรัฐอาหรับมีสมาชิกทั้งสิ้น 22 ประเทศ จากเดิม 6 ประเทศ ที่เน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคม และยังร่วมมือกันเพื่อป้องกันและต่อสู้เมื่อเกิดการรุกรานประเทศในสมาชิกอีกด้วย
นอกจากนี้ เมื่อปี 2020 มี 28 รัฐสมาชิกของสหประชาชาติ (UN) ไม่รับรองอิสราเอล ได้แก่
- 15 สมาชิกของสันนิบาตอาหรับ ซึ่งมี แอลจีเรีย คอโมโรส จิบูตี อิรัก คูเวต เลบานอน ลิเบีย มอริเตเนีย โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบียโซมาเลีย ซีเรีย ตูนิเซีย และเยเมน
- 10 ประเทศจากองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ได้แก่ อัฟกานิสถาน บังกลาเทศ บรูไน อินโดนีเซีย อิหร่าน มาเลเซีย มัลดีฟส์ มาลี ไนเจอร์ และปากีสถาน นอกจากนี้ ยังมีคิวบา เกาหลีเหนือ และเวเนซุเอลา
ต่อมาเราชวนมาดูว่า ‘จุดยืน’ ของประเทศแทบอาหรับและใกล้เคียงต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นอย่างไรกันบ้าง
ฝ่ายต้องการให้ความรุนแรงยุติลง
- อียิปต์ เป็นชาติอาหรับชาติแรกที่ยอมสงบศึกกับอิสราเอล พร้อมกับรับหน้าที่เป็นคนกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและเรียกร้องให้ยุติความรุนแรง พร้อมเน้นให้นานาชาติฟื้นฟูกระบวนการสันติภาพอาหรับ-อิสราเอล
- จอร์แดน ได้ลงนามสนธิสัญญาสันติภาพกับอิสราเอล และขณะนี้จอร์แดนก็เรียกร้องให้ผู้นำ EU หาวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้
- ตุรกี ประณามการกระทำที่รุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ยืนยันพร้อมจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์เท่าที่จะทำได้
- โอมาน เรียกร้องให้ปาเลสไตน์และอิสราเอลหยุดใช้ความรุนแรง แม้ว่าจะไม่ได้ยอมรับรัฐอิสราเอล
- กาตาร์ พยายามเจรจากับกลุ่มฮามาสเพื่อยุติความรุนแรง แม้จะระบุว่าอิสราเอลเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบ เพราะอิสราเอลละเมิดสิทธิของประชาชนปาเลสไตน์มาอย่างยาวนาน
ฝ่ายที่มีท่าทีไม่สนับสนุนอิสราเอล
- ปาเลสไตน์ ขัดแย้งกับอิสราเอลเรื่องดินแดน ซึ่งตอนนี้ทั้งคู่เข้าสู่ภาวะสงครามกันอยู่ เนื่องจาก ‘ฮามาส’ กลุ่มกองกำลังติดอาวุธ บุกโจมตีอิสราเอลครั้งใหญ่
- เลบานอน ‘เฮซบอลเลาะห์’ กลุ่มติดอาวุธ บุกโจมตีอิสราเอลทางตอนเหนือเพื่อสนับสนุนกลุ่มฮามาส ทว่ารัฐฯ ไม่ได้เห็นด้วย โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา อิสราเอลถูกโจมตีด้วยจรวดขนาดเล็กหลายครั้งจากเลบานอน ซึ่งอิสราเอลก็โจมตีตอบโต้
- ซีเรีย ไม่เคยยอมรับว่าอิสราเอลเป็นรัฐที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งทั้งคู่มีความขัดแย้งกันมาโดยตลอด เนื่องจากตั้งแต่สงครามกลางเมืองปะทุขึ้นในซีเรียปี 2012 ประเทศนี้ได้กลายเป็นสงครามตัวแทนระหว่างอิหร่านและอิสราเอลทันที
- คูเวต ตำหนิอิสราเอลว่าเป็นต้นเหตุ แต่ก็เรียกร้องให้ UN รับผิดชอบ
- เยเมน ความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศตึงเครียด และเยเมนถูกกำหนดให้เป็น ‘รัฐศัตรู’ เพราะสนับสนุนความเป็นรัฐปาเลสไตน์ในทุกทาง
- แอลจีเรีย ประณามการโจมตีทางอากาศอันโหดร้ายของกองกำลังอิสราเอลในฉนวนกาซา
- ลิเบีย ถือเป็นปรปักษ์กับอิสราเอลเพราะสนับสนุนปาเลสไตน์
- ซาอุดีอาระเบีย ตำหนิอิสราเอลว่าเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งนี้
- อิหร่าน สนับสนุนการโจมตีของกลุ่มฮามาสและนักสู้ชาวปาเลสไตน์ เนื่องจากที่ผ่านมา อิหร่านกับอิสราเอลเป็นปรปักษ์กันหลายเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นที่อิสราเอลพยายามขัดขว้างโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน
- อิรัก ประกาศจุดยืนสนับสนุนชาวปาเลสไตน์และสิทธิอันชอบธรรมของพวกเขา
- อัฟกานิสถาน ทั้งคู่ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูต และอัฟกานิสถานไม่เคยยอมรับรัฐอิสราเอล
- ตูนิเซีย คิดว่าชาวปาเลสไตน์มีสิทธิที่จะเรียกคืนที่ดินที่ถูกยึดครอง และประณามการโจมตีของอิสราเอล
ทั้งนี้ UN ได้เรียกร้องให้ฝ่ายต่างๆ ใช้ความอดกลั้นและปกป้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรง ส่วนสหรัฐฯ และ ประเทศฝ่ายตะวันตก เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน และยูเครน ได้สนับสนุนรัฐบาลอิสราเอล พร้อมทั้งประณามการกระทำของกลุ่มฮามาส เพราะพวกเขามุ่งเป้าไปยังประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งอังกฤษและเยอรมนีสนับสนุนสิทธิการป้องกันตนเองของรัฐบาลและประชาชนอิสราเอล เนื่องจากกำลังเผชิญกับลัทธิก่อการร้าย
ประเทศมหาอำนาจอย่างจีน ก็ออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหยุดโจมตีกัน เพื่อปกป้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ พร้อมส่งเสริมการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์อิสระ และเร่งรัดให้ประชาคมโลกฟื้นฟูสันติภาพระหว่างสองประเทศโดยเร็ว นอกจากนี้ รัสเซียก็เรียกร้องให้อิสราเอลและปาเลสไตน์หยุดใช้ความรุนแรง
อย่างไรก็ตาม จากการปะทะกันอย่างดุเดือดระหว่างอิสราเอสและกลุ่มฮามาสตลอดหลายวันที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากทั้ง 2 ฝ่ายอย่างน้อย 1,500 คน และบาดเจ็บอีกหลายพันคน มิหนำซ้ำยอดผู้เสียชีวิตชาวไทยเพิ่มอีก รวมเป็น 18 ราย (ข้อมูลยังไม่เป็นทางการ) ในเวลาเดียวกันนี้ คนไทยแสดงความจำนงอยากกลับไทยกว่า 3,000 คน ซึ่งทางการไทยพยายามให้ความช่วยเหลือ โดยคนไทยชุดแรกจะได้เดินทางกลับไทยในวันที่ 12 ตุลาคมนี้
ท้ายที่สุดแล้ว ความล้มเหลวของอิสราเอลในการป้องกันภัยคุกคามจากกลุ่มฮามาส เป็นสัญญาณว่าการปิดล้อมเขตกาซาไม่สามารถรับประกันความมั่นคงได้ สงครามระลอกใหม่ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสมีแนวโน้มยืดเยื้อและขยายตัวเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น และยังส่งแรงกระเพื่อมต่อความสัมพันธ์ในตะวันออกกลางอย่างเลี่ยงไม่ได้
อ้างอิงจาก