‘ความสูญเสีย’ มาคู่กับภัยพิบัติธรรมชาติ และผลกระทบจากอุณหภูมิโลกที่พุ่งสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และที่สำคัญนอกจากพวกเรา (มนุษย์) ที่ต้องรับมือกับปรากฏการณ์เหล่านี้ ยังมีสิ่งมีชีวิตอีกมากมายที่ต้องสูญเสียไม่ต่างกัน
แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจกำลังรุนแรงขึ้น แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่พวกเราสามารถหยุดหรือร่วมมือกันไม่ให้มันแย่ลงไปกว่านี้ได้
ก่อนที่ทุกคนจะก้าวเดินต่อไปยังปีหน้า The MATTER ขอชวนผู้อ่านไปย้อนดูภัยพิบัติ และผลกระทบจากภาวะโลกเดือด ที่เกิดขึ้นในปี 2023 กัน ทั้งไฟป่า พายุฝน น้ำท่วม แผ่นดินไหว และอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
ทั้งนี้ เราอาจหยิบยกมาไม่ทั้งหมด แต่ทุกเหตุการณ์นั่นเกิดขึ้นจริง และได้สร้างความเจ็บปวดให้กับใครหลายๆ คนไม่มากก็น้อย
6 กุมภาพันธ์: เกิดเหตุแผ่นดินไหว ขนาด 7.8 บริเวณชายแดนตุรกี–ซีเรีย
จุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ที่เมืองคาฮ์รามันมารัช ทางตอนใต้ของตุรกี ซึ่งแผ่นดินไหวดังกล่าวถือเป็นเหตุภัยพิบัติธรรมชาติที่รุนแรงเป็นอันดับ 6 ของโลก เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตเฉียด 60,000 ราย บาดเจ็บนับแสนราย ขณะที่ประชาชนหลักล้านคน จำเป็นต้องอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงเป็นการชั่วคราว หลังบ้านของพวกเขาถูกทำลาย
ความโหดร้ายของเหตุการณ์ครั้งนี้ที่หลายคนยังจำไม่ลืม คงหนี้ไม่พ้นการพบผู้รอดชีวิตที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังอยู่เรื่อยๆ แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยผ่านไปนานนับสัปดาห์แล้วก็ตาม
อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือจำนวนมาก จากหลายประเทศทั่วโลกได้หลั่งไหลเข้าไปเรื่อยๆ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้น ทั้งนี้ หลังจากเหตุการณ์นี้ยุติลง ก็เกิดคำถามมากมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของ ‘โครงสร้างอาคาร’ ที่ถล่มจากแผ่นดินไหวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายได้ขนาดนี้ เพราะฝีมือของมนุษย์เองด้วยหรือไม่
จนในท้ายที่สุด ทางการตุรกีตัดสินใจออกหมายจับ 121 หมาย แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารที่พังถล่มในเหตุแผ่นดินไหว โดยเฉพาะผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีหลายราย
28 กรกฎาคม: ไต้ฝุ่น ‘ทกซูรี’ และ ‘ซาวลา’ เข้าพัดถล่มจีน
เริ่มที่ไต้ฝุ่นทกซูรี (doksiri) ที่ก่อให้เกิดน้ำท่วมสูงอย่างรวดเร็ว จนทำให้หลายเส้นการเดินทางกลายเป็นอัมพาต โดยทางการจีนระบุว่า ไต้ฝุ่นดังกล่าว เป็นไต้ฝุ่นที่ทรงพลังที่สุดที่พัดขึ้นจีนในปีนี้ และยังมีระดับความรุนแรงเป็นอันดับสอง นับตั้งแต่ไต้ฝุ่นที่เคยเข้าพัดถล่มจีนเมื่อปี 2016
อย่างไรก็ดี ผู้คนราว 7.24 แสนคน ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในครั้งนี้ ทั้งบาดเจ็บ ไร้ที่อยู่อาศัย ไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ ซึ่งไต้ฝุ่นทกซูรี ได้สร้างความเสียหายไปทั้งสิ้น 52.27 ล้านหยวน (ประมาณ 250 ล้านบาท) ให้แก่จีน
ทว่าไต้ฝุ่นดังกล่าว ไม่ได้สร้างผลกระทบแค่กับจีน แต่ยังมีฟิลิปปินส์ อินเดีย และไต้หวัน ที่ต่างได้รับความเสียหายอย่างหนักหน่วงไม่แพ้กัน ทั้งลมที่กระโชกแรงจนทำให้ต้นไม้หักโค่นขวางเส้นทางสัญจรและบ้านเรือน เกิดน้ำท่วมหนัก ดินถล่ม จนประชาชนหลายหมื่นคนต้องตกอยู่ในสภาวะไร้ที่อยู่อาศัย
แต่ความสูญเสียยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ เนื่องจากหลังจากนั้นไม่นาน (2 กันยายน) ไต้ฝุ่นซาวลา (saola) พัดขึ้นสู่ชายฝั่งมณฑลกวางตุ้ง นครเซินเจิ้น มาเก๊า และฮ่องกง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ พายุดังกล่าวมีความเร็วลมกว่า 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้นมันจึงถูกจัดเป็นหนึ่งในพายุไต้ฝุ่นที่รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่ปี 1949 ที่เคยพัดถล่มมณฑลกวางตุ้ง ทั้งนี้ ไต้ฝุ่นซาวลาทำให้ผู้คนจำนวนมากจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงเป็นการชั่วคราว
สรุปแล้วมีผู้เสียชีวิตจากไต้ฝุ่นทั้งสองประมาณ 140 ราย บาดเจ็บ 351 คน และยังมีผู้สูญหายอีก 47 ราย
8 กันยายน: เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ที่โมร็อกโก
โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ตอนกลางของเทือกเขาแอตลาส ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองมาราเกชเพียง 71 กิโลเมตร ซึ่งเหตุที่ทุกคนหันไปให้ความสนใจมาราเกชมากที่สุด เนื่องจากมันไม่ได้เป็นแค่เมืองมรดกโลกของยูเนสโก แต่ยังถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญระดับต้นๆ ของโมร็อกโก ซึ่งเมืองดังกล่าวได้รับความเสียหายอย่างหนัก จากอาคารที่พังถล่มลงมา
ทว่าหลังภัยพิบัติอันเลวร้ายนี้สงบลง ประชาชนที่รอดชีวิตพยายามช่วยเหลือผู้ที่ยังติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง ซึ่งใช้เพียงเครื่องมือธรรมดาๆ หรือใช้เพียงมือเปล่าในการช่วยเหลือก็มี เพราะจุดที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นไหวล้วนอยู่อย่างกระจัดกระจาย และค่อนข้างห่างไกลบนภูเขา ทำให้ทางการ ต้องใช้ความพยายามสูงในการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน
“คนในครอบครัวของผมอย่างน้อย 10 คนได้เสียชีวิตลง…ผมแทบไม่อยากจะเชื่อเลย เพราะไม่กี่วันก่อนหน้า พวกเรายังอยู่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา” ผู้รอดชีวิตคนหนึ่งระบุ
12 กันยายน: พายุแดเนียลเข้าพัดถล่มลิเบีย
ฝนตกหนัก และตามมาด้วยน้ำท่วมที่รุนแรง หลังพายุได้เข้ามาปกคลุมพื้นที่ แต่เหตุการณ์ที่ชาวลิเบียจะไม่มีวันลืมคือเขื่อนเก่า 2 แห่งพังทลายลงอย่างกะทันหัน ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 5,000 ราย และสูญหายเกือบครึ่งแสน
ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงประชาชนทั่วไปต่างออกมาวิจารณ์เป็นเสียงเดียวกันว่า อุทกภัยครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างเดียว แต่ยังเกิดมาจากความสะเพร่าของทางการที่แทบจะไม่บำรุงรักษาเขื่อนทั้งสอง นับตั้งแต่มันถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 1970
ซึ่งสาเหตุสำคัญก็มาจากที่ลิเบียตกอยู่ภายใต้การต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างรัฐบาล 2 ฝ่าย ตั้งแต่ มูอัมมาร์ กัดดาฟี (Muammar Gaddafi) ผู้นำเผด็จการ ถูกโค่นล้มในปี 2011 ซึ่งอาจจะพูดได้ว่า ขณะนี้ลิเบียตกอยู่ในสภาวะสุญญากาศทางการเมือง ที่ยิ่งเป็นการซ้ำเติมสภาพทางการเมืองที่ย่ำแย่มาโดยตลอดอยู่แล้ว
ทว่าพายุแดเนียล (storm daniel) ก็ยังถือเป็นตัวจุดชนวน แต่กระนั้นถ้าเขื่อนทั้งสองได้รับการซ่อมบำรุงอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขของผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหายจะลดลงกว่านี้แน่นอน เพราะไม่มีใครคาดคิดว่าเขื่อนที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้กับที่อยู่อาศัยจะทลายลง แล้วปล่อยน้ำมวลมหาศาลทะลักเข้าไปรวมกับน้ำที่ท่วมอยู่แล้ว จนกลายเป็นหายนะที่น้อยคนนักจะหลีกหนีทัน
ท้ายที่สุดแล้ว ถ้าจะไม่กล่าวถึงต้นตอสำคัญที่ทำให้พายุแดเนียลมีความรุนแรงเช่นนี้ก็คงจะไม่ได้ ซึ่งมันก็คือ อุณหภูมิโลกที่พุ่งสูงขึ้น จนก่อให้เกิดฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ทั่วทุกพื้นที่บริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่ลิเบียกลับได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องด้วยโครงสร้างทางการเมืองที่ไม่ดี
“เมื่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศพบกับรัฐที่ล้มเหลว ผลลัพธ์ที่ได้คือหายนะอย่างที่ลิเบียประสบ” แพทริค วินทัวร์ (Patrick Wintour) บรรณาธิการ The Guardian ระบุ
16 ตุลาคม: ‘แม่น้ำอาแมซอน’ เผชิญภัยแล้งรุนแรงในรอบกว่าศตวรรษ
แม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับ 2 ของโลก อย่าง ‘แม่น้ำแอมะซอน (amazon river)’ ซึ่งตั้งอยู่ในป่าฝนเขตร้อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทว่าแม่น้ำที่สำคัญแห่งนี้กำลังเผชิญกับภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบร้อยกว่าปี หรือตั้งแต่ปี 1902 เหตุจากภาวะโลกเดือด
สถานการณ์ในครั้งนี้ส่งผลกระทบกับผู้คนในพื้นที่หลักแสนคน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เพราะเรือที่ไว้ส่งอาหาร น้ำ หรือยารักษาโรค ไม่สามารถจะเคลื่อนตัวในแม่น้ำที่เหือดแห้งได้ นอกจากนี้ สิ่งมีชีวิตทุกประเภท รวมทั้งระบบนิเวศป่าไม้ ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักไม่แพ้กัน เช่นเหตุการณ์ ซากโลมาสีชมพู (pink dolphin) เป็นจำนวนมาก เกยตื้นขึ้นมาในทะเลสาบ
นักวิจัยชี้ว่า เกิดจากอุณหภูมิน้ำที่ร้อนจัดและความแห้งแล้ง ซึ่งสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) และปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño)
“ปรากฏการณ์ครั้งนี้ถือเป็น ‘สัญญาณ’ ให้เผ่าพันธุ์มนุษย์เตรียมรับมือกับภัยธรรมชาติที่จะเกิดบ่อยและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ถ้าเรายังไม่เพ่งความสนใจไปที่การแก้ไขต้นตอของปัญหาที่ก่อให้โลกรวน”
28 พฤศจิกายน: ‘A23a’ ภูเขาน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในโลกเคลื่อนตัวในรอบ 3 ทศวรรษ
มีรายงานออกมาว่า ‘A23a’ ภูเขาน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีพื้นที่มากกว่ากรุงเทพฯ 2 เท่า หรือนิวยอร์ก 3 เท่า (4,000 ตารางกิโลเมตร) เคลื่อนที่อีกครั้ง หลังจากติดกับพื้นมหาสมุทรนานกว่า 30 ปี
ภูเขาน้ำแข็งดังกล่าว แตกตัวออกมาจากแนวชายฝั่งของทวีปแอนตาร์กติกาในปี 1986 และหยุดอยู่ที่ทะเลแวดเดลล์แทบไม่กระดิกไปไหนเลยตลอดหลายปีที่ผ่านมา จน A23a กลายเป็นเกาะน้ำแข็ง
โดยภูเขาน้ำแข็งนี้เริ่มเคลื่อนที่ด้วยความเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปีที่แล้ว และมันกำลังมุ่งหน้าไปยังนอกน่านน้ำทวีปแอนตาร์กติกา ผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจระยะทางไกลจากคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาของสหราชอาณาจักรชี้ว่า สาเหตุที่ทำให้มันเคลื่อนตัวอีกครั้งอาจมาจากวิกฤตอุณหภูมิโลก
“ผมถามเพื่อนร่วมงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่าการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก เป็นสาเหตุของการเคลื่อนตัวครั้งนี้หรือไม่ แต่ทุกคนแสดงข้อคิดเห็นเหมือนกันว่า แค่ถึงเวลาของมันเท่านั้น” แอนดรูว เฟลมมิ่ง (Andrew Fleming) กล่าว
เขาระบุด้วยว่า “มันแค่ลดขนาดลงจนเพียงพอที่จะสูญเสียการยึดเกาะ ผมสามารถตรวจจับการแยกตัวของมันได้ตั้งแต่ปี 2020” โดยภูเขาน้ำแข็ง A23a ได้เดินทางผ่านส่วนปลายสุด ทางด้านเหนือของคาบสมุทรแอนตาร์กติกไปแล้ว
ดังนั้นการเคลื่อนตัวของ A23a อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอย่างโดยตรง แต่มันถือเป็นภัยธรรมชาติที่จะสร้างปัญหาให้แก่สิ่งมีชีวิตมากมาย เช่น ถ้าภูเขาน้ำแข็งดังกล่าวเดินทางไปถึงเซาท์จอร์เจีย มันจะสร้างผลกระทบต่อสัตว์ทะเลเป็นอย่างมาก ทั้งแมวน้ำ เพนกวิน รวมถึงนกทะเลชนิดอื่นๆ ซึ่งมีจำนวนหลายล้านตัว เพราะขนาดของภูเขาน้ำแข็งอาจจะกีดขวางเส้นทางการหาอาหารของสัตว์เหล่านี้
ทั้งนี้ ภูเขาน้ำแข็งนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสียปะปนกันไป ซึ่งเรากล่าวถึงข้อเสียของมันไปแล้ว แต่ก็ยังมีข่าวดีอยู่บ้าง เพราะถ้าหากในอนาคตภูเขาน้ำแข็งนี้ละลายลง มันจะปลดปล่อยฝุ่นผงแร่ธาตุ ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทร โดยสารเหล่านี้ถูกกักเก็บมาตั้งแต่ A23a เป็นส่วนหนึ่งของธารน้ำแข็งโบราณ ที่ทวีปแอนตาร์กติกา
สุดท้ายนี้ เราขอเสริมภัยพิบัติ และผลกระทบจากภาวะโลกเดือดอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในปีนี้ให้อ่านกันอีกสักนิดหนึ่ง
เดือนกรกฎาคม ปี 2023 ถือเป็นช่วงเวลาที่หลายประเทศทั่วทุกมุมโลกต้องเผชิญกับภัยพิบัติธรรมชาติร้ายแรง ทั้งไฟป่า แผ่นดินไหว พายุ น้ำท่วม และเดือนดังกล่าวยังถือเป็นเดือนที่ร้อนเป็นประวัติการณ์อีกด้วย จนเกิดเหตุไฟป่าและภัยแล้งที่ทวีปอเมริกาเหนือ
อย่างในแคนาดามีไฟป่าเกิดขึ้น ที่กินพื้นที่ไปอย่างน้อย 20 ล้านเอเคอร์ ทำให้ประชาชนนับแสนต้องอพยพออกจากพื้นที่ และขณะนี้ 1 ใน 4 ของชาวแคนาดาต่างเชื่อว่า วิกฤตไฟป่าจะกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ (New Normal) ที่ชาวแคนาดาต้องเจอกับสถานการณ์ไฟป่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยในอนาคต
ยิ่งไปกว่านั้น ควันจากไฟป่าก็พัดไปปกคลุมบางเมืองของสหรัฐฯ ทว่าในสหรัฐฯ เองก็มีการรายงานถึงพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงเกินค่ามาตรฐาน มากกว่า 5,000 จุด ซึ่งกระทบต่อสุขภาพของผู้คนเป็นอย่างมาก อาทิ ก่อให้เกิดแผลพุพองตามตัว โรคลมแดด
ทางฝั่งยุโรปก็พบกับคลื่นความร้อน และไฟป่าไม่ต่างกัน โดยกรีซต้องเผชิญกับไฟป่าครั้งใหญ่ ที่เกาะโรดส์ จนนักท่องเที่ยวและประชาชนนับหมื่นต้องอพยพออกจากพื้นที่ เนื่องจากไฟป่าได้ครอบคลุมพื้นที่อย่างน้อยเกือบแสนเอเคอร์ ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ นายกฯ กรีซได้ออกมาประกาศว่า “ไฟป่านั้นเลวร้ายไม่ต่างกับสงคราม”
นอกจากนี้ แม่น้ำริเวอร์ ที่อยู่บริเวณอเมริกาใต้ ก็ต้องเผชิญกับภัยแล้งรุนแรงในรอบ 7 ทศวรรษ ไม่ต่างกับแม่น้ำแอมะซอนที่เราได้กล่าวไว้ข้างต้น รวมถึงอีกหลายประเทศในทวีปแอฟริกาก็เจอชะตากรรมที่ไม่ต่างกัน ทั้งคลื่นความร้อน ไฟป่า และภัยแล้ง
ไม่เพียงเท่านั้น มวลน้ำฝนมหาศาลที่ตกอย่างต่อเนื่องได้พัดถล่มเอเชีย ตัวอย่างเช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และอินเดีย ซึ่งมีสภาพอากาศต่างกับสหรัฐและยุโรปอย่างสุดขั้ว
สรุปแล้วปี 2023 เป็นปีที่เราจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับภัยพิบัติบ่อยครั้งมากกว่าปีก่อนๆ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนอยู่แล้ว ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งสหประชาชาติ (UN) ให้การยืนยันเองว่า “ยุคของ ‘ภาวะโลกร้อน’ (Global Warming) ได้สิ้นสุดลงแล้ว โลกกำลังย่างเข้าสู่ยุคของ ‘ภาวะโลกเดือด’ (Global Boiling) แทน”
“หากมนุษย์ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างทันท่วงที น้ำแข็งขั้วโลกเหนือจะสลายหายไปหมดภายในปี 2030”
อ้างอิงจาก