มาจนถึงปี 2023 ปฏิเสธไม่ได้อีกต่อไปแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ได้กลายมาเป็นประเด็นสำคัญอันดับต้นๆ ของการเมืองโลก
“ยุคสมัยของภาวะโลกร้อน (global warming) ได้สิ้นสุดลง ยุคสมัยแห่งภาวะโลกเดือด (global boiling) มาถึงแล้ว” อันโตนิโอ กูแตร์เรส (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) เคยประกาศไว้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ในปี 2023 นี้ – ปีที่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) บอกว่า จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ – เวทีสำคัญของ UN ในการหารือเรื่องนี้ ก็คือ เวที COP28 ซึ่งจัดขึ้นที่นครดูไบ โดยมีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประธาน
เป็นการประชุม COP ครั้งแรก ที่มีการออกเอกสารข้อตกลงร่วมกันโดยระบุถึงการ ‘เปลี่ยนผ่าน’ (transitioning away) จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน ที่กำลังทำให้โลกร้อน
“ประวัติศาสตร์ครั้งใหม่เกิดขึ้นแล้ว” เว็บไซต์ของ COP28 ระบุ หลังบรรลุข้อตกลง
แต่ท่ามกลางความยินดี ก็เต็มไปด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ก่อนหน้านี้ 1 วัน การประชุมก็เกือบจะต้องล่มและคว้าน้ำเหลวไป หลังจากที่มีการเผยแพร่ร่างข้อตกลงฉบับแรก ที่ไม่กล่าวถึงการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเลย จนต้องต่อเวลาการเจรจาเกินมาจากกำหนดการเดิม
COP28 คืออะไร? ถกเถียงอะไรกันในนั้น? The MATTER สรุปมาให้อ่านกัน
COP คืออะไร?
COP ย่อมาจาก Conference of the Parties ที่แปลว่า การประชุมของประเทศภาคี – ประเทศภาคีในที่นี้ก็หมายถึง ประเทศที่ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change หรือ UNFCCC) เมื่อปี 1992
หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็เริ่มมีการประชุม COP ติดต่อกันทุกปี (ยกเว้นปี 2020 เพราะ COVID-19) นับตั้งแต่ปี 1995 จนกระทั่งมาถึงรอบล่าสุด คือ COP28 ที่นครดูไบ ซึ่งจริงๆ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปี 2023 (2023 United Nations Climate Change Conference)
COP ครั้งหนึ่งที่สำคัญสำหรับประเทศไทย ก็คือการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 ที่อดีตนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปประกาศเป้าหมายของไทย ว่าจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2050 และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี 2065
“เราทุกคนไม่มีแผนสองในเรื่องของการรักษาเยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มีโลกใบที่สอง ซึ่งจะเป็นบ้านของพวกเราได้เหมือนโลกใบนี้อีกแล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวสปีชบนเวที COP26 – ที่หลายคนน่าจะจำกันได้
ขณะที่บนเวที COP28 ในปีนี้ เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุม
อะไรคือ 1.5C? สำคัญอย่างไรกับโลก?
1.5C, 1.5C และ 1.5C!
อ่านข่าวโลกร้อนทีไร ต้องเจอคำว่า 1.5C ทุกที สรุปมันคืออะไรกันแน่?
อันที่จริง 1.5C ก็คือเป้าหมายกรอบใหญ่ๆ หรือเป็น ‘ความใฝ่ฝัน’ ของการประชุม COP28 ด้วยเหมือนกัน
1.5C หมายถึง การตั้งเป้าหมาย ไม่ให้อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยสูงไปมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม (preindustrial levels) ซึ่งโดยทั่วไป นักวิทยาศาสตร์จะหมายถึงช่วงปี 1850-1900 ช่วงเวลาก่อนที่มนุษย์จะเริ่มหันมาใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
สาเหตุที่ต้องเป็น 1.5C นั้น เคยมีรายงานจากการแลกเปลี่ยนข้อเท็จจริงของผู้เชี่ยวชาญในการประชุม COP21 ที่กรุงปารีส เมื่อปี 2015 ระบุว่า แม้กระทั่งระดับของอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 1.5 องศาเซลเซียสเป๊ะๆ เทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม ก็ถือเป็นความเสี่ยงสูงใน “บางภูมิภาค และระบบนิเวศที่เปราะบาง” ได้เหมือนกัน
ดังนั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบและความเสี่ยงที่จะมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงต้องตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1.5C ซึ่งก็เป็นเป้าหมายที่เริ่มได้รับความสำคัญอย่างเป็นเรื่องเป็นราวนับตั้งแต่ถูกระบุในความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งก็เป็นผลมาจากการประชุม COP21 นั่นเอง
“จริงๆ ไม่ได้มีอะไรพิเศษเกี่ยวกับตัวเลข 1.5 นอกเหนือไปจากการเป็นปณิธานเป้าหมายที่ตกลงกันไว้” เซอร์เก พัลต์เซฟ (Sergey Paltsev) รองผู้อำนวยการโครงการร่วมว่าด้วยวิทยาศาสตร์และนโยบายของการเปลี่ยนแปลงโลก (Joint Program on the Science and Policy of Global Change) ของ MIT เคยกล่าวเอาไว้
“การคงไว้ที่ 1.4 ย่อมดีกว่า 1.5 และ 1.3 ย่อมดีกว่า 1.4 เป็นต้น”
ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล: ประเด็นวุ่นที่เกือบทำให้การประชุมล่ม
COP28 มีกำหนดการประชุมระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน จนถึง 12 ธันวาคม โดยในช่วงวันสุดท้าย ผู้แทนของทุกประเทศจะต้องร่วมกันเจรจาเพื่อให้ได้ข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกันต่อไปอย่างไร
แต่จนกระทั่งเลยเดดไลน์วันที่ 12 ธันวาคมมาแล้ว ทั้งโลกก็ยังไม่ได้เห็นเอกสารที่ว่านั้น
เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สื่อมวลชนหรือผู้สังเกตการณ์พากันลุ้นว่าจะเป็นอย่างไรต่อ ในขณะที่ผู้แทนเจรจาต้องอดหลับอดนอนข้ามคืน จนเข้าสู่ช่วงต่อเวลาในวันที่ 13 ธันวาคม เพื่อบรรลุข้อตกลงให้ได้
สาเหตุเป็นเพราะการออกเอกสารข้อตกลงร่วมกันนั้นจำเป็นต้องได้รับการรับรองจากทั้ง 198 ประเทศ/หน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด แต่ร่างเอกสารฉบับแรกกลับเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากผู้เล่นสำคัญๆ ในการประชุม COP28 ด้วยเหตุที่ละเว้นไม่พูดถึงการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเลย จนถูกมองว่าเป็นเอกสารที่ ‘อ่อน’ เกินไป (weak text)
กลายเป็นดราม่าข้ามคืนที่ต้องจับตากันลุ้น เพราะถ้าตกลงกันไม่ได้ COP28 ก็จะเป็นการคว้าน้ำเหลว
ข้อสรุป COP28 “เปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล”
จนกระทั่งวันที่ 13 ธันวาคม ล่วงเวลาจากกำหนดการเดิมมา 1 วัน สุลต่าน อาเหม็ด อัล จาเบอร์ (Sultan Ahmed Al Jaber) ประธาน COP28 ถึงจะเคาะข้อสรุปของการประชุมได้ โดยเป็นการประนีประนอม จากเดิมที่หลายฝ่ายมองว่า ควรจะต้องระบุถึงการ “ลดระดับจนยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล” (fossil fuel phase out) ในร่างใหม่ ก็ระบุว่า ให้ “เปลี่ยนผ่าน” (transition away) จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแทน
“ฉันทามติ UAE (UAE Consensus)” อัล จาเบอร์ เรียกข้อตกลงที่เขาบอกว่าเป็นข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ ไว้อย่างนั้น
แม้ตัวเอกสารจะไม่ได้มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่หลายฝ่ายก็มองว่า จะเป็นหมุดหมายที่สื่อสารไปสู่โลกว่า ถึงเวลาต้องลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแล้ว
“มนุษยชาติได้ทำสิ่งที่ควรจะทำตั้งนานแล้ว” ว็อบเก โฮกสตรา (Wopke Hoekstra) ผู้แทน EU ด้านสภาพภูมิอากาศ กล่าว “เป็นเวลา 30 ปี – 30 ปี! – ที่เราใช้ไป ในการเดินทางมาถึงจุดเริ่มต้นของจุดจบของเชื้อเพลิงฟอสซิล”
แต่ในขณะเดียวกัน ข้อสรุปสุดท้ายของ COP28 ก็ยังตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่ายังไม่ดีพอ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศหมู่เกาะ 39 ประเทศ ที่รวมตัวกันในชื่อ กลุ่มพันธมิตรประเทศหมู่เกาะ (Alliance of Small Island States หรือ AOSIS) ซึ่งเป็นประเทศเปราะบาง ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด
ส่วนกูแตร์เรส เลขาธิการ UN ก็ออกมาเคลื่อนไหวทันที โดยประกาศว่า “ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ แต่การยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว หวังว่ามันจะไม่มาสายเกินไป”
พฤศจิกายน ปีหน้า COP29 จะกลับมาอีกครั้ง ที่อาเซอร์ไบจาน – ในระหว่างนี้ เราคงต้องมาจับตาต่อไปว่า การ ‘เปลี่ยนผ่าน’ ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ที่ COP ในปีนี้ให้คำมั่นสัญญาไว้ จะช่วยโลกได้แค่ไหน
อ้างอิงจาก