กลายเป็นคดีที่ซับซ้อน ยากจะคาดเดาว่าจะมีบทสรุปออกมารูปแบบใด กับอุปกรณ์ตรวจหาวัตถุระเบิด GT200 ที่หลายๆ คนเรียกว่า ‘ไม้ล้างป่าช้า’ เพราะไม่มีวงจรไฟฟ้าอะไรเลย เป็นเพียงแท่งพลาสติกเปล่าๆ แต่กลับถูกขายให้หน่วยงานราชการ ในราคาหลักล้านบาท เมื่อองค์กรปราบโกงอย่าง ป.ป.ช. ออกมาบอกว่า ‘ยากจะวินิจฉัยว่าถูกหรือผิด’
“เพราะบางครั้งไม่ได้อยู่ที่มูลค่าของเครื่องแต่เป็นเหมือนความเชื่อ เหมือนพระเครื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่นำไปใช้แล้วเขารู้สึกว่าคุ้มค่า แต่บางส่วนก็มองว่าราคาเครื่องไม่น่าจะแพงขนาดนั้น”
เมื่อฟัง ป.ป.ช.ว่ามาเช่นนี้ สื่อตัวเล็กๆ แบบ The MATTER ยิ่งไม่กล้าไปฟันธงอะไร แต่เนื่องจากคดีนี้เป็นมหากาพย์ที่ใช้เวลานาน สิ่งที่เราคิดว่าน่าจะพอทำได้ ก็คือการกลับไปย้อนอดีตว่า เครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดเช่นนี้ (ซึ่งจริงๆ มีอีก 2 ยี่ห้อคือ Alpha6 และ ADE-651) มันมีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร เข้ามาในไทยได้อย่างไร และความจริงถูกเปิดเผยเอาตอนไหน
มานั่งไทม์แมชชีนไปด้วยกันว่า อุปกรณ์ที่ใช้งานไม่ได้ แต่ผู้ใช้รู้สึกว่าคุ้มค่านี้ มีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจ และมีความเป็นมาอย่างไรกันแน่ ..ทำไมคนใช้งานถึงรู้สึกคุ้มค่า ทั้งที่ใช้ไม่ได้ !
ลำดับเหตุการณ์
ที่น่าสนใจเกี่ยวกับคดีเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด ที่ใช้งานไม่ได้จริง และหลายๆ คนเรียกว่า ‘ไม้ล้างป่าช้า’
ปี 2548
- กองทัพอากาศ เป็นหน่วยงานรัฐไทยซื้อเครื่อง GT200 มาใช้เป็นครั้งแรก ใช้ในภารกิจภาคใต้ ตรวจหาอาวุธ กระสุน วัตถุระเบิด
ปี 2550
- กองทัพบกเริ่มจัดซื้อเครื่อง GT200 และซื้อต่อเนื่อง 11 สัญญา ผ่านบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง จนเป็นหน่วยงานรัฐไทยที่จัดซื้อมากที่สุด
- GT200 ก่อความผิดพลาด จากเหตุคาร์บอมบ์ในภาคใต้ ที่ จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา
- เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในผู้เดินหน้าตรวจสอบอุปกรณ์นี้อย่างเข้มข้น ให้ฉายาว่า ‘ไม้ล้างป่าช้า’
ปี 2553
- สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษ ผ่าเครื่องพิสูจน์แล้วพบว่าไม่มีอะไรเลย เป็นแท่งพลาสติกเปล่าๆ ไม่มีแหล่งพลังงาน การ์ดตรวจจับสะสารก็เป็นแค่กระดาษธรรมดา
- อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทยขณะนั้น สั่งให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ตรวจสอบประสิทธิภาพ ผลคือความแม่นยำไม่ต่างจาก ‘เดาสุ่ม’ ทายถูกแค่ 4 ครั้ง จากทั้งหมด 20 ครั้ง และสั่งให้ยุติการจัดซื้อต่อไป
- พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ไทยขณะนั้น นำผู้เกี่ยวข้องกับการใช้งาน GT200 ในกองทัพตั้งโต๊ะแถลงข่าวตอบโต้ ถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5
- แต่ที่สุด กองทัพบกก็ยอมยุติการจัดซื้อ GT200 และหันไปใช้ ‘เครี่องตัดสัญญาณ’ พร้อมด้วย ‘สุนัขทหาร’ ในการค้นหาวัตถุระเบิดแทน
ปี 2555
- ป.ป.ช. รับคดีจัดซื้อ GT200 ไว้ไต่สวน พร้อมกับคดีจำนำข้าว
ปี 2556
- ศาลอังกฤษตัดสินให้ผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์นี้ มีความผิดฐานฉ้อโกง ได้แก่ Gary Bolton ถูกจำคุก 7 ปีจากการขาย GT200, James McCormick ถูกจำคุก 10 ปีและถูกยึดทรัพย์มูลค่ารวมแปดล้านปอนด์ จากการขาย ADE-651 และในปีถัดมา Samuel Tree ถูกจำคุก 3 ปีครึ่ง จากการขาย Alpha6
ปี 2557
- คสช. รัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
ปี 2558
- วิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช.ขณะนั้น ผู้รับผิดชอบสำนวนคดี GT200 ทั้งหมด บอกว่า การไต่สวนคดีนี้ค่อนข้างลำบาก เพราะเป็นเรื่องลึกลับ เพราะแม้ GT200 จะไม่มีประสิทธิภาพจริง แต่การจะวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ทุจริตหรือไม่ ต้องการอะไรมากกว่าประสิทธิภาพ
ปี 2561
- ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดข้าราชการกระทรวงมหาดไทย จ.พิษณุโลก เพราะจัดซื้อ Alpha6 (อุปกรณ์คล้าย GT200) โดยไม่มีอำนาจ ยังเหลืออีก 11 คดี
- สุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช.คนปัจจุบัน ที่รับผิดชอบสำนวนคดี GT200 ทั้งหมดบอกว่า “ยากจะวินิจฉัยว่าถูกหรือผิด เพราะบางครั้งไม่ได้อยู่ที่มูลค่าของเครื่องแต่เป็นเหมือนความเชื่อ เหมือนพระเครื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่นำไปใช้แล้วเขารู้สึกว่าคุ้มค่า แต่บางส่วนก็มองว่าราคาเครื่องไม่น่าจะแพงขนาดนั้น”
ข้อมูลที่น่าสนใจ
เกี่ยวกับเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดนี้
- 15 หน่วยงานรัฐไทย จัดซื้อ ระหว่างปี 2548 – 2552
- 1,398 เครื่อง (60% เป็น GT200 – 40% เป็น Alpha6)
- 1,134 ล้านบาท รวมงบประมาณที่ใช้
- 90% ของ GT200 จัดซื้อโดยกองทัพบก
- 99% ของ GT200 ที่กองทัพบก (ทบ.) จัดซื้อ จัดซื้อสมัยที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. (ระหว่างปี 2550 – 2553) เป็นเหตุให้ 2 อดีตเจ้ากรมสรรพาวุธทหารบกขณะนั้น คือ พล.ท.ธีระวัฒน์ บุณยะประดับ กับ พล.ท.คำนวณ เธียรประมุข พร้อมด้วยข้าราชการกระทรวงกลาโหมอื่น รวม 40 คน ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา
- เกือบทั้งหมด ของ GT200 ที่ ทบ. ซื้อผ่านบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง
- 100% ของ GT200 ทบ.จัดซื้อด้วย ‘วิธีพิเศษ’
ใครซื้อถูกใครซื้อแพง
หน่วยงานรัฐไทยซื้อ GT200 ในราคาเท่าใดกันบ้าง?
ถูกที่สุด คือ กรมศุลกากร เครื่องละ 420,000 บาท แพงที่สุด คือ กองทัพอากาศ เครื่องละ 1,200,000 บาท ส่วนกองทัพบกที่จัดซื้อมากที่สุด มักจะจัดซื้ออยู่ที่เครื่องละ 950,000 บาท
สำหรับ GT200 มีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า ‘เครื่องตรวจจับสะสารระยะไกล’ (remote substance detector) ทางผู้ผลิตอ้างว่า หลักการทำงานของเครื่องมือนี้คือใช้ไฟฟ้าสถิตบนร่างกายในการตรวจหาสะสารตามประเภทของ censor card ที่ใส่เข้าไปในเครื่องให้ตรวจสอบ ตั้งแต่กระสุน สารระเบิด ยาเสพติด ทองคำ งาช้าง ธนบัตร ยาสูบ ไปจนถึงร่างกายมนุษย์ ! โดยสามารถตรวจจับได้ทั้งบนบก บนน้ำ ในอากาศ ใต้น้ำ และใต้ดิน ตั้งแต่ 60-4,000 เมตร
โดยส่วนประกอบของเครื่องจะมี 3 ส่วน คือ ‘เสาอากาศ’ + ‘ที่จับ’ + ‘ช่องใส่การ์ด’ เพื่อเลือกชนิดสะสารที่จะตรวจจับ ซึ่งเครื่องจะทำงานก็ต่อเมื่อผู้ใช้เริ่มต้นเดินค้นหา
GT200 เริ่มวางขายใน 2544 ขายได้ดีในประเทศกำลังพัฒนา ทั้งไทย เม็กซิโก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ก่อนที่เจ้าของจะถูกจำคุกในปี 2556 หลังถูกตรวจสอบพบว่า ทั้งหมดที่ขายไป เป็นอุปกรณ์ลวงโลก!