หลายคนคงรู้สึกว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ ‘ฤดูร้อน’ ก่อนที่กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกมาประกาศเสียด้วยซ้ำ พร้อมกับความหวาดหวั่นในจิตใจว่า ปีนี้จะร้อนแค่ไหนกันนะ
ที่เขาบอกว่า อุณหภูมิเฉลี่ยอาจจะสูงถึง 37 – 39 องศาเซลเซียสนี่มันร้อนแค่ไหน? แล้วเดือนไหนจะร้อนที่สุด? จะได้เตรียมตัวหนีไปเที่ยวในเมืองหนาว
หรือต่อให้วันหยุดพักร้อนหมดแล้ว อย่างน้อยๆ ก็เรียกช่างมาล้างแอร์ไว้ล่วงหน้า ก็ยังดี
เนื่องจากเราไม่ใช่หมอดู จึงทำนายอนาคตไม่ได้ แต่เรามีข้อมูลในอดีตมาแสดงว่า 20 ปีย้อนหลัง (ระหว่างปี 2541 – 2560) ว่า กทม. เมืองฟ้าอมรของไทย เคยเผชิญกับอากาศร้อนหนักแค่ไหน โดยข้อมูลทั้งหมดได้มาจากกรมอุตุฯ ที่เก็บจากสถานีตรวจวัดอุณหภูมิ 5 แห่งซึ่งกระจายอยู่รอบๆ กทม. ทั้งย่านพระรามสี่ ดอนเมือง บางเขน บางนา และคลองเตย
ขอแนะนำให้หาถุงมือกันความร้อนมาใส่ ก่อนจะเลื่อนไปอ่านในบรรทัดต่อๆ ไป เพราะเรื่องมันร้อนจริงๆ
(1) กทม.เคยร้อนที่สุด แค่ไหนกันนะ?
จากภาพ จะเห็นได้ว่า ตลอด 20 ปีหลัง วันที่ร้อนที่สุดจะมีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 37.6 – 40.1 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ จากสถิติที่มีการเก็บมาตั้งแต่ปี 2494 พบว่า วันที่ กทม.มีสภาพอากาศ ‘ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์’ ก็คือวันที่ 26 มีนาคม 2556 หรือห้าปีก่อนนี่เอง ที่เมื่อวัดจากปรอทจะพบว่า มีตัวเลขสูงถึง 40.1 องศาเซลเซียส
(2) เดือนไหนคนกรุงต้องเตรียมตัวหลบร้อนให้ดีๆ
ส่วน ‘เดือนที่ร้อนที่สุด’ (คืออุณหภูมิเฉลี่ยของทั้งเดือนสูงที่สุดในรอบปี) ช่วง 20 ปีหลัง จะมีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 34.9 – 37.4 องศาเซลเซียส โดยเมษายนจะเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดถึง 60% ตามมาด้วยพฤษภาคม 30% และมีนาคมแค่ 10%
ถ้ายึดจากข้อมูลในอดีต เดือนมีนาคมนี้ยังแค่หนังตัวอย่าง ฤดูร้อนจริงๆ จะเริ่มในเดือนถัดไปนะจ้ะ
(3) ฤดูร้อนแต่ละปี ยาวนานแค่ไหน เมื่อไรจะหายร้อน
เนื่องจากเรามีข้อมูลไม่ครบถ้วน จึงไม่ได้ใส่ไว้ในภาพด้วย แต่ ‘จำนวนวันที่มีอากาศร้อน’ ใน กทม. ซึ่งตามนิยามของกรมอุตุฯ คือมีอุณหภูมิสูงเกินกว่า 35 องศาเซลเซียสขึ้นไป เอาเฉพาะในช่วงห้าปีหลัง มีเกิน 100 วันขึ้นไปทั้งสิ้น
- ปี 2556 มี 115 วัน
- ปี 2557 มี 118 วัน
- ปี 2558 มี 128 วัน
- ปี 2559 มี 146 วัน
- ปี 2560 มี 107 วัน
หรือเฉลี่ยต่อปี จะมีวันที่อากาศร้อนใน กทม. 123 วัน คิดเป็น 1/3 ของทั้งปี
(4) รู้หรือไม่ กรมอุตุฯ เพิ่งเริ่มประกาศการเข้าสู่ฤดูร้อน ได้ไม่กี่ปี
ไม่ใช่ว่าเมืองไทยหรือ กทม.เพิ่งเริ่มมีฤดูร้อนไม่กี่ปี เพราะก็ร้อนมาแต่ไหนแต่ไร แต่ก่อนหน้านี้ หน้าที่ของกรมอุตุฯ คือทำนายฤดูกาลให้เกษตรกรโดยเฉพาะชาวนา ใช้เป็นข้อมูลประกอบการเพาะปลูก
ในอดีต กรมอุตุฯ จึงมีประกาศเฉพาะ ‘การเริ่มต้นฤดูฝน’ เท่านั้น
ส่วนประกาศ ‘การเข้าสู่ฤดูร้อน’ เพิ่งเริ่มต้นในปี 2558 เช่นเดียวกับ ‘การเข้าสู่ฤดูหนาว’ ที่เพิ่งเริ่มต้นในปี 2556
Illustration by Naruemon Yimchavee