เหตุการณ์ไฟไหม้ตึกเกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ ในกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ ช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 14 มิถุนายน เราอาจเรียกว่า ‘โศกนาฎกรรม’ ได้เต็มปาก เพราะอัคคีภัยครั้งนั้นเกิดขึ้นท่ามกลางข้อถกเถียงมากมาย ทั้งสัญญาณเตือนภัยที่ไม่ดังอย่างที่ควรจะเป็น วัสดุก่อสร้างที่ไม่มีคุณสมบัติทนไฟอย่างที่กล่าวอ้าง ไปจนถึงคำแนะนำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ให้หลบอยู่ในห้องจนหลายคนเกือบถูกย่างสด
ผ่านมา 1 สัปดาห์ มีผู้เสียชีวิตและสูญหายจากเหตุสลดครั้งนี้รวม 79 คน โดยผู้สูญหายทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าเสียชีวิตไปแล้ว
แม้เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นห่างจากกทม. ถึงกว่า 9,500 กิโลเมตร หรือเรียกได้ว่าคนละซีกโลก แต่ก็น่าจะใช้เป็น ‘สัญญาณเตือน’ ถึงภัยซ่อนเร้นบางอย่างอยู่ภายในความเป็นเมืองได้เป็นอย่างดี
ในยุคที่เมืองหลวงของไทยเต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ โดยเฉพาะตึกที่แข่งกันพุ่งสูงเสียดฟ้า หรือขายความกว้างขวางใหญ่โต
หารู้ไม่ว่าตึกลักษณะเช่นนั้นนี้แหละเป็น ‘จุดเสี่ยงอันดับหนึ่ง’ ของภัยใกล้ตัวที่เรียกกันว่า ‘อัคคีภัย’
แต่ภัยจากไฟไหม้เป็นสิ่งที่ป้องกันได้ และคนที่มีส่วนสำคัญในการป้องกันก็ไม่ใช่นักผจญเพลิงที่มีจำนวนแค่หยิบมือ หากทว่าเป็นเจ้าของตึก ผู้ใช้บริการ ไปจนถึงผู้อยู่อาศัย หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ‘พวกเราทุกคน’ นั่นแหละ
The MATTER ขอรวบรวม 4 จุดเสี่ยงไฟไหม้ในกทม. มาให้ทุกคนคอยช่วยกันเป็นดูเป็นตา เพราะอย่างที่โบราณว่าไว้ “โจรปล้น 10 ครั้ง ไม่เท่าไฟไหม้เพียงครั้งเดียว”
ตึกระฟ้า
เชื่อหรือไม่ว่ากทม. มีจำนวนตึกมากกว่า 2,000,000 ตึก ! แต่นี่เป็นตัวเลขคร่าวๆ จากกองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ผู้มีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมดูแลการก่อสร้างอาคารให้ได้มาตรฐานตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งมีกำลังเจ้าหน้าที่ในการตรวจตึกแค่หลักร้อยเท่านั้น
ตามกฎหมายจะมีตึกอยู่ 9 ประเภทที่กรุงเทพมหานครมีหน้าที่ในการควบคุมดูแล แต่ประเภทตึกที่มีความเสี่ยงจะเกิดไฟไหม้ที่สุด ก็คือ ‘ตึกสูง’ ซึ่งหมายถึงตึกที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป และ ‘ตึกขนาดใหญ่เป็นพิเศษ’ ซึ่งหมายถึงตึกซึ่งมีเนื้อที่มากกว่า 10,000 ตร.ม. ซึ่งแน่นอนว่า พอพูดถึงตึก 2 ประเภทนี้ สิ่งที่หลายคนน่าจะแว่บขึ้นมาทันทีก็คือ คอนโด อพาร์ตเมนต์ สำนักงาน ไปจนถึงห้างสรรพสินค้า พูดง่ายๆ คือสถานที่ที่เราใช้ชีวิตอยู่ในแต่ละวัน
กระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงมาตั้งแต่ปี 2535 ให้ตึกสูง/ตึกขนาดใหญ่เป็นพิเศษที่สร้างตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมาจะต้องมีระบบป้องกันอัคคีภัยที่ได้มาตรฐาน เช่น ต้องมีสัญญาณเตือนภัย ต้องมีบันไดหนีไฟ ต้องมีระบบไฟฉุกเฉิน ป้ายบอกทางออกฉุกเฉินต้องชัด ต้องมีสปริงเกอร์ ต้องมีลิฟต์สำหรับนักดับเพลิง ฯลฯ
ทว่าในบรรดาตึกสูง/ตึกขนาดใหญ่เป็นพิเศษในกทม. ที่มีอยู่ 2,910 ตึก มีอยู่ถึง 1,033 ตึกที่สร้างก่อนปี 2535 อย่างไรก็ตาม ตึกเก่าหลายๆ ตึกก็พยายามปรับปรุงระบบป้องกันอัคคีภัยให้ได้มาตรฐาน และก็อย่านิ่งนอนใจว่าตึกใหม่จะมีทุกอย่างครบ แม้กฎหมายจะบังคับเอาไว้ แต่คอยช่วยกันสอดส่องดูก็น่าจะดีกว่า
ย่านเก่าแก่
ใช่เพียงตึกสูงเท่านั้นที่มีความเสี่ยงเรื่องไฟไหม้ ตึกเก่าๆ ในย่านเก่าแก่เรโทรที่อยู่มานานหลายสิบปีเองก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เนื่องจากอาคารเหล่านี้ส่วนใหญ่มักสร้างก่อนปี 2535 ที่ยังไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องติดระบบป้องกันอัคคีภัย
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทุกคนน่าจะรู้กันดีนั่นคือเรื่อง ‘ผังเมือง’ เพราะในย่านเมืองเก่ามักจะเต็มไปด้วยตรอกซอกซอยที่คับแคบ ยากต่อการเข้าปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เมื่อเกิดเหตุขึ้นมา แม้ทางกรุงเทพมหานครจะจัดซื้อรถดับเพลิงขนาดเล็กมาใช้แต่หลายจุดก็ยังยากต่อการเข้าถึง และมีจำนวนไม่มากนัก ประจำอยู่ใน 35 สถานีดับเพลิงทั่วกรุงเทพ
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารกรุงเทพมหานครเองก็รู้ถึงความเสี่ยงของย่านเก่าแก่โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจชั้นในเช่น เยาวราช หรือสำเพ็ง ในช่วงเทศกาล เช่น ตรุษจีนหรือปีใหม่ จึงมักส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำตามจุดเสี่ยงต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าไประงับเหตุได้ภายในระยะเวลาไม่กี่นาที แทนที่จะเป็น 10 นาที ซึ่งถือว่าเลยช่วงวิกฤตของไฟไหม้ ที่อยู่ระหว่าง 4-6 นาทีไปแล้ว
โรงภาพยนตร์
หากยังจำกันได้ กลางปี 2559 เคยเกิดเหตุไฟไหม้โรงภาพยนตร์เมเจอร์ สาขาปิ่นเกล้า เพลิงโหมกระหน่ำจนกระทั่งอาคารยุบตัวลงมาท่ามกลางเสียงกรีดร้องของผู้อยู่ในเหตุการณ์ โชคดีที่ไม่มีผู้เสียชีวิต
แต่หลังจากวันนั้นก็มีเหตุที่ชวนตระหนกมากกว่า เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าไปตรวจสอบโรงภาพยนตร์ในกทม. รวม 330 โรง ในอาคาร 40 แห่ง แล้วปรากฎว่า “ไม่มีแม้แต่โรงเดียวที่มีระบบป้องกันอัคคีภัยซึ่งได้มาตรฐาน” โดยเฉพาะประตูเข้าโรงภาพยนตร์ที่ส่วนใหญ่ทำด้วยไม้ ขณะที่ป้ายสัญญาณไฟต่างๆ ก็ทำไม่ชัดเจน ไม่ครอบคลุม
เจ้าหน้าที่กู้ภัยหลายคนเคยระบุว่าโรงภาพยนตร์เป็นหนึ่งในสถานที่ๆ ไฟไหม้แล้วดับยากที่สุด “เพราะในโรงเต็มไปด้วยเชื้อเพลิง ตั้งแต่ผนัง พรม เก้าอี้ ไปจนถึงหน้าจอ” แต่เบื้องต้นหลายๆ โรงก็พยายามแก้ไขเบื้องต้นโดยเปลี่ยนเป็นวัสดุทนไฟไปเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงสถานที่อโคจรซึ่งจุคนมากๆ แต่มีทางเข้า-ออกจำกัดคล้ายกับโรงภาพยนตร์ เช่น ร้านอาหาร หรือผับบาร์ โดยในปี 2551 เคยเกิดเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ในซานติก้าผับ สถานบันเทิงย่านเอกมัยที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 66 คน เพียงเพราะสะเก็ดไฟจากพลุดอกไม้ไฟลอยไปติดฝ้าเพดาน
บ้านเรือนของทุกๆ คน
นี่คือสถานที่ที่ใกล้ตัวที่สุด แต่อาจเป็นสถานที่ที่ทุกคนอาจจะละเลยที่สุดเช่นกัน ไม่ว่าคุณจะพักอาศัยอยู่ในตึกสูง-ตึกเตี้ย ตึกเก่า-ตึกใหม่ อยู่ใน กทม. หรือต่างจังหวัด ก็ตาม
จากสถิติของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย แม้กว่าครึ่งของเหตุไฟไหม้ซึ่งเกิดขึ้นทั่วประเทศปีละราว 800 – 1,000 ครั้ง จะเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร แต่ก็มักเกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุดซึ่งสามารถป้องกันได้แต่เนิ่นๆ ขณะที่อีกครึ่งที่เหลือมักเกิดจากความประมาทของผู้อยู่อาศัย เช่น จุดธูปเทียนแล้วลืมดับ หรืออุ่นอาหารทิ้งเอาไว้
ทั้งนี้ ในปี 2557 เมืองไทยเกิดเหตุอัคคีภัยทั้งสิ้น 771 ครั้ง รวมมูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 336.17 ล้านบาท โดยมีจำนวนผู้บาดเจ็บ 67 คน และผู้เสียชีวิตอีก 26 คน ไม่รวมถึงผู้ที่แม้ไม่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตแต่ต้องสิ้นเนื้อประดาตัว บ้านเสียหายทั้งหลัง เงินทองที่เก็บออมมาทั้งชีวิตต้องสูญไปในเปลวเพลิง
ไฟไหม้เป็นสิ่งที่ควรป้องกันล่วงหน้า เพราะหากเกิดเหตุขึ้นมา ความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน ถือว่ามากมายเกินคนานับ
Cover Illustration by Waragorn Keeranan