‘กรุงเทพมหานคร’ ถือเป็นเมืองชายฝั่งที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงจากสภาพอากาศแปรปรวนและระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต
เมืองหลวงแห่งนี้มีความเปราะบางสูง แต่นั่นก็ไม่สามารถหยุดยั้งการมาถึงของประชากรรายใหม่ที่คลื่อนย้ายมา มหานครยังคงมีพลังในการดึงดูดผู้มองหาฐานที่ยืนทางเศรษฐกิจอันมั่นคง หนึ่งในนั้นคือชายหนุ่มจากสิงห์บุรี โจ๊ก คมกริช
เขาอาจเดินผ่านไปมาในชีวิตคุณสักครั้งก็เป็นได้ หากคุณแวะซื้อบุหรี่หรือแอลกอฮอลจากบูธที่โจ๊กรับจ้างดูแลตามงานปาร์ตี้และอีเวนต์คอนเสริต หรือคุณอาจเคยซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่เขาขับ ฝ่าน้ำท่วมฉับพลันบนถนนที่เป็นปัญหาซ้ำๆ เดิมๆ ของกรุงเทพฯ
โจ๊กในวัย 29 ปีเป็นแรงงานเคลื่อนย้ายที่เข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯเมื่อ 2-3 ปีก่อน เขาพักอาศัยอยู่ในแฟลตขนาดเล็กในย่านบางกะปิที่ค่าจ้างจากงาน ‘ฟรีแลนซ์’ ของเขาจะพอจ่ายได้ งานของโจ๊กส่วนมากอยู่ใน ‘พื้นที่สีเทา’ คืองานที่ผิดกฎหมายหรืองานนอกระบบทะเบียนของรัฐ เช่น งานขายกึ่งโฆษณาบุหรี่และแอลกอฮอลในรูปแบบของบูธขายของ และการขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างโดยเช่าเสื้อวินต่อจากคนอื่น
“ผมจบแค่ ม. 3 จะไปหางานดีๆ ตามบริษัทก็ยาก” โจ๊กกล่าว
หากจะให้โจ๊กทำนาแบบที่พ่อแม่ของเขาทำมา นั่นก็ไม่ใช่ทางเลือกที่เขาต้องการ เมื่อครอบครัวไม่มีต้นทุนทางการเงินและสิทธิการถือครองที่ดิน และยังต้องเผชิญปัจจัยภายนอก เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ สถานการณ์ตลาดโลก และราคาสินค้าเกษตรขาดเสถียรภาพ งานในพื้นที่สีเทา ณ เมืองหลวง จึงเป็นวิถีทางที่ตอบโจทย์สำหรับเขา
“อยู่ที่นี่ ถ้าเราขยัน เราก็หาเงินได้มาก ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเราเอง”
มีการคาดการณ์ว่ากรุงเทพฯมีประชากร 10 ล้านคน เป็นประชากรเคลื่อนย้ายครึ่งหนึ่ง แต่ละคนก็เข้ามาด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป เพื่อมองหาโอกาสการงานหรือเข้ารับการศึกษา ไม่ต่างกันกับหัวเมืองหลักในแต่ละภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี และภูเก็ต ที่จำนวนประชากรเคลื่อนย้ายเพิ่มสูงขึ้นตามระดับการเติบโตเศรษฐกิจของเมือง
สหประชาชาติ (United Nations) คาดการณ์ว่าในปัจจุบัน ประชากรโลก 55% กำลังอาศัยอยู่ในเมือง และจะเพิ่มขึ้นเป็น 68% ภายในปี 2593 รวมแล้วจะมีประชากรในเมือง 2,500 ล้านคน
นั่นนำมาสู่การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดปัญหาในด้านต่างๆ เช่น น้ำท่วม ปริมาณขยะล้น น้ำเสีย โครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมไม่สามารถกระจายการเข้าถึงได้เต็มที่นัก แรงงานเคลื่อนย้ายจำนวนหนึ่งกลายเป็น ‘คนจนเมือง’ บ้างต้องอาศัยในชุมชนแออัดด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐฐานะที่ไม่สามารถเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีได้
“ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้อะไรที่เป็นปัญหาอยู่แล้ว ยิ่งยากขึ้น” ผกามาศ ถิ่นพังงา ผู้จัดการแผนงาน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าว “เราเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้เกิดอากาศแปรปรวน ฤดูกาลคลาดเคลื่อน ทำให้หน่วยงานไม่สามารถวางแผนรับมือได้ หน่วยงานที่วางแผนจะกักน้ำหน้าแล้งก็กักไม่ถูก หากพายุรุนแรงขึ้น ถี่ขึ้น และหนักขึ้น เทศบาลก็อาจคาดการณ์ไม่ถูกว่าน้ำจะท่วมหรือแล้ง”
ผกามาศดำเนินงานวิจัยด้านการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เธอเห็นว่าการพัฒนาเมืองตอนนี้ไม่ยั่งยืน และขาดการวางแผนเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว มิเช่นนั้น เราคงไม่เห็นการขยายตัวของเมืองที่มีการถมที่และสร้างอาคารบนพื้นที่รับน้ำ หรือการขยายตัวของบ้านจัดสรรเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด แต่ขาดมาตรการรับมือผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยังไม่ใช่ประเด็นยอดนิยม ในเวลาที่เราพูดถึงการพัฒนาเมืองในตอนนี้ แต่มันจะเป็นประเด็นที่ผู้บริหารและประชากรเมืองต้องขบคิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคตอันใกล้
กรุงเทพฯ เสี่ยงภัยโลกร้อน คนจนเมืองกระทบมากสุด
การศึกษาซึ่งรวบรวมในรายงานการสังเคราะห์และประมวลสถานภาพองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 เผยแพร่โดยสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยในปี 2559 ระบุว่ากรุงเทพฯ มีแนวโน้มเผชิญสภาพอากาศแปรปรวนสุดขีดและระดับน้ำทะลที่เพิ่มสูงขึ้นตามแนวชายฝั่งในอนาคตข้างหน้า
ในช่วงปีหลังๆ กรุงเทพฯ มีอุณหภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น โดยมีอุณหภูมิสูงสุดในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมาที่ 40.1 องศาเซลเซียสในเดือน มี.ค. 2556 นอกจากนี้ ยังเกิดน้ำท่วมฉับพลันบ่อยและถี่ขึ้น จากฝนที่ตกลงมาในปริมาณมากกว่าปกติ ประกอบกับระบบการระบายน้ำและการควบคุมการขยายตัวของเมืองที่ไร้ประสิทธิภาพ
ในปี 2556 กรุงเทพมหานคร ได้รับการคัดเลือกจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ให้เข้าร่วมโครงการ 100 Resilient Cities ซึ่งเป็นโครงการที่เน้นเพิ่มศักยภาพของเมืองให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและฟื้นฟูภายหลังจากการเกิดภัยพิบัติ และเหตุการณ์รุนแรงต่างๆ ทั้งจากธรรมชาติหรือจากมนุษย์ รวมทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่ากรุงเทพมหานครได้กำหนดมาตรการรับมือน้ำท่วมที่รุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เขื่อนกั้นน้ำ สถานีสูบน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำ การเพิ่มพื้นที่หน่วงน้ำ และการวางระบบข้อมูลเพื่อจัดการน้ำท่วม
ขณะเดียวกัน กรุงเทพมหานครได้กำหนด 3 ยุทธศาสตร์หลักเพื่อสร้างศักยภาพเมืองในการรับความเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ได้แก่ การยกระดับคุณภาพชีวิต (เช่น เพิ่มโครงข่ายการคมนาคมที่ปลอดภัย สร้างเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงสถานที่ท้างานและสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานอพยพ ) การลดความเสี่ยงและเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัว (เช่น ส่งเสริมชุมชนให้มีความตระหนัก เตรียมพร้อมและปรับตัวกับภัยพิบัติ) และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเข้มแข็ง (เช่น สร้างเศรษฐกิจที่มีเมืองและชุมชนเป็นพื้นฐาน ขยายการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมบริการและธุรกิจบริการ)
ยุทธศาสตร์ทั้งหมดนี้วางอยู่บนวิสัยทัศน์ที่จะทำให้กรุงเทพฯ เป็น ‘เมืองปลอดภัย น่าอยู่ และยั่งยืนสำหรับทุกคน’
อย่างไรก็ตาม การจะทำให้กรุงเทพฯ น่าอยู่สำหรับทุกคนอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อเมืองหลวงแห่งนี้ประกอบด้วยคนหลากหลาย ทั้งผู้อยู่อาศัยถาวรและคนเคลื่อนย้ายที่ถูกกีดกั้นด้วยนิยามว่า ‘ประชากรแฝง’ และยังมีทั้งคนรวยมากและคนจนเมือง ที่มีฐานะและอำนาจในการเข้าถึงทรัพยากรที่ต่างกัน
ที่ผ่านมา กลุ่มคนจนเมืองซึ่งหลายคนมีภูมิหลังเป็นประชากรเคลื่อนย้าย มักถูกทิ้งไว้เบิ้องหลังของการพัฒนา และได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าประชากรกลุ่มอื่นในทุกมิติความเปลี่ยนแปลง เช่น ภาวะเศรษฐกิจนโยบายรัฐ และภัยพิบัติ โดยกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The United Nations Framework Convention on Climate Change) ระบุว่า คนจนเมืองเป็นกลุ่มประชากรมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด เพราะมักอาศัยอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ ทั้งยังมีข้อจำกัดและขาดต้นทุนในการฟื้นตัวหลังเกิดเหตุการณ์
ในปี 2554 ประเทศไทยประสบมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ มีรายงานถึงแรงงานที่ขาดรายได้จากการปิดตัวของโรงงานในหลายพื้นที่ โดยในระหว่างนั้น พวกเขาจำเป็นต้องกู้ยืมเพื่อเอามาใช้จ่ายในช่วงที่ขาดรายรับ ทำให้หนี้สินเดิมยิ่งพอกพูนมากขึ้นไปอีก
เหตุการณ์น้ำท่วมดังกล่าวได้ซ้ำเติมสถานะทางการเงินอันไม่สู้ดีนักของแรงงานและผู้มีรายได้น้อย โดยคนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเงินโลกในระหว่างปี 2550–2551 หรือที่เรียกว่า ‘วิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอรเกอร์’ ซึ่งส่งผลให้การรส่งออกไทยชะลอตัว และปรากฏข่าวสารตามหน้าสื่อว่ามีการปลดคนงาน การลดชั่วโมงการทำงาน และการประท้วงเรียกค่าชดเชยจากผู้ว่าจ้างเป็นระยะๆ
รายงานการประเมินผลกระทบเบื้องต้นหลังเหตุการณ์น้ำท่วม 2554 ที่จัดทำโดยธนาคารโลก ระบุว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัยมากที่สุดอย่างเช่นคนจน ไม่มีเครดิตเพียงพอที่จะเข้าถึงความช่วยเหลือจากสถาบันทางการเงิน พวกเขาจึงต้องหันไปพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบที่มีดอกเบี้ยอัตราสูง เพื่อนำเงินมาเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วม นอกจากนี้ ยังมีรายงานถึงกรณีของแรงงานเคลื่อนย้าย ที่ต้องอพยพเข้าสู่เมืองเพื่อหางานหลังน้ำลด
ในทางตรงข้าม ประชากรที่มีสถานะทางเศรษฐกิจดีสามารถเข้าถึงเงินเยียวยาได้ทางตรง ทั้งในรูปแบบเงินประกันภัยหรือเงินกู้ในระบบ จึงมีต้นทุนเพียงพอในการซ่อมเคหะสถาน ในขณะเดียวกัน โครงการบ้านจัดสรรหรูหราหลายแห่งเริ่มทำการตลาดบ้านปลอดน้ำท่วม โดยใช้การถมที่เพื่อยกระดับที่ดินหนีน้ำและสร้างกำแพงทึบล้อมโครงการ อาจสร้างผลกระทบต่อพื้นที่อยู่อาศัยรอบๆ ต้องรองรับน้ำท่วมรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เร่งอัตราเคลื่อนย้ายจากชนบทสู่เมือง
รายงาน The Fifth Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมนั้นเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้อัตราการเคลื่อนย้ายของคนจากชนบทสู่เมืองเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ธนาคารโลกเพิ่งออกรายงานฉบับใหม่ชื่อว่า Groundswell : Preparing for Internal Climate Migration ระบุว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น น้ำท่วม การเพาะปลูกที่ไม่ได้ผลดีนัก และระดับน้ำทะเลท่วมสูงขึ้น จะทำให้ผู้คนมากกว่า 143 ล้านคนในประเทศแถบแอฟริกาใต้สะฮารา เอเชียใต้ และละตินอเมริกา เคลื่อนย้ายภายในประเทศเพื่อหนีผลกระทบที่เกิดขึ้นภายในปี 2593
ภาพสภาพการณ์อันย้อนแย้งในอนาคต ที่เมืองมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ แต่อาจต้องรองรับประชากรเคลื่อนย้ายที่เพิ่มปริมาณมากขึ้น
ในฝั่งนโยบายระดับนานาชาติ จึงมีการพูดถึงมาตรการเร่งด่วนในการเพิ่มศักยภาพของเมืองให้รับมือความเปลี่ยนแปลง และการสร้างความสามารถของคนในชนบทให้สามารถปรับตัวอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้
ในปี 2558 ประเทศไทยให้สัตยาบันกับข้อตกลงปารีส ซึ่งมีเป้าหมายในการจำกัดอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเปรียบเทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม รัฐบาลไทยจึงคลอดแผน Thailand Climate Change Masterplan (2558-2593) เพื่อดำเนินนโยบายรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ทันท่วงที
การเพิ่มศักยภาพเมืองถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของแผนงาน โดยที่ผ่านมาได้มีการตั้ง 17 จังหวัดนำร่อง เพื่อยกระดับความรู้ท้องถิ่นในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพัฒนาการจัดการผังเมืองให้มีประสิทธิภาพ ได้แก่ ขอนแก่น ระยอง สมุทรสาคร และภูเก็ต ซึ่งต่างเป็นเมืองที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีประชากรเคลื่อนย้ายเข้ามาจำนวนมาก
ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช ผู้อำนวยการสำนักงานประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรุงเทพฯ เองต้องมีการปรับตัวและสร้างขีดความสามารถในการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตเช่นกัน โดยต้องมีการจัดการผังเมือง ปรับปรุงระบบการระบายน้ำ ทำมาตรการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และดำเนินมาตรการให้เมืองเป็น Low-carbon city เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับคนเมือง
“เราต้องทำให้คนในพื้นที่เห็นว่า การทำงานเหล่านี้เป็นประโยชน์ ไม่ได้เป็นภาระ” ดร.พิรุณกล่าว
แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ถูกบรรจุในแนวคิดการจัดทำผังเมืองของกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังคงมีคำถามถึงการบูรณาการข้ามหน่วยงานเพื่อทำให้การพัฒนาเมืองยั่งยืนได้จริง เมื่อบทเรียนที่ผ่านมาสะท้อนว่า การจัดการเมืองแบบแยกส่วนระหว่างหน่วยงานรัฐ โดยทำงานเฉพาะใน ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ของตนเอง คุมพื้นที่หน้างานของใครของมัน ทำให้เป้าหมายในการสร้างเมืองยั่งยืนล้มเหลวไม่เป็นท่า
กรุงเทพฯ สำหรับทุกคน
ขณะเดียวกัน ยังมีแนวคิดในการเพิ่มศักยภาพการปรับตัวของประชากรในต่างจังหวัด โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ให้สามารถอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยอาจมีการสนับสนุนจากภาครัฐให้ปลูกพันธุ์พืชหลากหลาย เพื่อลดอัตราการสูญเสียผลผลิต และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตให้ต่อเนื่องและยั่งยืน
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration) รายงานว่าสัดส่วนการเคลื่อนย้ายของประชากรภายในประเทศไทย มีอัตราลดลงในระหว่างปี 2545-2552 อาจเป็นเพราะมีการกระจายการพัฒนาสู่ต่างจังหวัดมากกว่าอดีต อีกทั้งอัตราการเคลื่อนย้ายในระหว่างปี 2555-2559 ก็ยังคงลดลงเล็กน้อย โดยลดจาก 2.3% เป็น 1.2% ในกลุ่มประชากรชาย และจาก 2% เป็น 1.1% ในกลุ่มประชากรหญิง
“ถ้ากระจายความเจริญทั่วทุกภูมิภาค คนก็ไม่ต้องดิ้นรน ตอนนี้การพัฒนายังกระจุกที่เมืองใหญ่ เมืองมันเต็มที่แล้ว ต้องกระจายการพัฒนาออกข้างนอก” นุชนาถ แท่นทอง อดีตประธานสลัม 4 ภาค กล่าว
“อย่าว่าแต่เรื่องภัยพิบัติเลย การจัดการเมืองมันต้องดูทั้งหมด ทั้งการกระจายสาธารณูปโภค การรักษาพยาบาล ค่าแรงที่เป็นธรรม การปรับโครงสร้างที่ทำให้คนจนไม่ต้องจนต่อไป”
นุชนาถเกิดและโตในสลัม ได้พบ และรับรู้เรื่องราวของแรงงานเคลื่อนย้ายที่เข้ามาเป็นคนจนเมืองจำนวนมาก เธอสังเกตเห็นว่าลักษณะของแรงงานเคลื่อนย้ายในทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต แต่เดิมแรงงานที่เข้ามาส่วนมากมาจากภาคเกษตรกรรม เพราะทำนาไม่พอกินหรือไม่มีที่นาติดตัวที่บ้านเกิด แต่ทุกวันนี้คนย้ายเข้ามาใหม่ไม่มีพื้นฐานทางเกษตรกรรมอีกต่อไป พวกเขามาเพราะปัญหาปากท้องเป็นหลัก สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย และการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน นั่นยิ่งทำให้โจทย์การพัฒนาเมืองมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
การสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่มีศักยภาพในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่สามารถรองรับประชากรเคลื่อนย้ายที่จำเป็นต้องหนีร้อนมาพึ่งเย็นในเมืองหลวง มีความจำเป็นต้องยกเครื่องการพัฒนา และยกประเด็นหลากหลายขึ้นมาถกเถียง เช่น งบประมาณในการพัฒนาเมือง การจัดทำโซนนิ่งผังเมืองและบังคับใช้กฎหมายผังเมืองให้มีประสิทธิภาพ การจูงใจให้เอกชนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บนฐานความความยั่งยืน รวมถึงนโยบายการกระจายรายได้และการเพิ่มศักยภาพให้ประชากรที่เคลื่อนย้ายสามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ
อนาคตของกรุงเทพฯ และเมืองอื่นๆ ขึ้นอยู่กับการหาคำตอบในข้อถกเถียงเหล่านี้ หากไม่แล้ว การสร้างเมืองหลวงที่ปลอดภัย น่าอยู่และยั่งยืนสำหรับทุกคน จะเป็นแค่ความหวังลอยลมที่ไม่มีทางเกิดขึ้นจริง
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นภายใต้การสนับสนุนจาก Mekong Eye เครือข่ายสื่อเพื่อการพัฒนายั่งยืน ภายใต้การดูแลขององค์กร Earth Journalism Network, Internews