โดยไม่ทันตั้งตัว และไม่มีการแจ้งเตือน แผ่นดินไหวขนาด 8.2 ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา ส่งแรงสะเทือนถึงกรุงเทพมหานคร เวลาประมาณ 13.20 น. เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา
ผู้คนอพยพเอาชีวิตรอด การจราจรในกรุงเทพฯ แทบเป็นอัมพาต ภายหลังจากที่รถไฟฟ้า BTS และ MRT ประกาศปิดให้บริการในวันดังกล่าว อาคารบ้านเรือนชำรุดเสียหาย และที่น่าเศร้าคือเหตุอาคาร 30 ชั้น ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ถล่มทันทีหลังแผ่นดินไหว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 13 ราย และยังสูญหายจำนวนมาก
ในห้วงเวลาวิกฤต เราเห็นหน่วยงานอย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) พยายามรับมือเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างทันท่วงที เพื่อให้ทุกชีวิตกลับมาเป็นปกติที่สุด

ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แผ่นดินไหว หรือ ‘วอร์รูม’ ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568
ในเวลาไม่กี่นาทีหลังเกิดเหตุ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สั่งตั้ง ‘ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แผ่นดินไหว’ หรือ ‘วอร์รูม’ ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และถัดมา เมื่อเวลา 15.30 น. ของวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม ผู้ว่าฯ ชัชชาติก็ได้ลงนาม ประกาศให้พื้นที่ กทม. เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย
“ต้องเดินหน้าลุย ห้ามคิดอย่างอื่น ต้องคิดว่ายังมีผู้รอดชีวิต ครอบครัวเขารออยู่ ห้ามคิดว่ามีคนไม่รอด หน้าที่เราคือต้องหาคนให้ได้ ทุกนาทีมีความหมาย ให้เร่งทำให้เต็มที่จนเวลาหมดหรือมีสัญญาณอื่น” ชัชชาติกล่าวไว้เมื่อวันเสาร์ที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา
กู้ชีพ กู้อาคาร กู้ความมั่นใจ – นี่ดูเหมือนจะเป็นภารกิจหลักของ กทม. ณ ขณะนี้ ซึ่งมาพร้อมกับแคมเปญ ‘Bangkok, We Are OK!’ เพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นจากประชาชนและนักท่องเที่ยว
The MATTER ชวนดูเบื้องหลังการทำงานของวอร์รูม กทม. และแคมเปญ ‘Bangkok, We Are OK!’ ที่เร่งทำงาน ทั้งกู้ชีพ และกู้ความเชื่อมั่น

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สั่งตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 (ขอบคุณภาพจาก กรุงเทพมหานคร)
ตั้ง ‘วอร์รูม’ ทันทีหลังแผ่นดินไหว
“คิดว่ามีใครมาเขย่าโต๊ะเล่น” คือคำบอกเล่าของ เอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของ กทม. ที่ให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ถึงเหตุการณ์เมื่อเวลาประมาณ 13.20 น. ของวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บุคลากรที่ศาลาว่าการ กทม. กำลังประชุม
และเมื่อรู้ตัวว่าเป็นแผ่นดินไหว ข้าราชการจำนวนมากก็พากันอพยพออกมานอกอาคาร จากชั้น 1 และ 2
“สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตก็คือ ผมได้เห็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ท่านก็ได้ลงมาอยู่ข้างล่างแล้ว เห็นท่านยืนมองภาพรวมกว้างๆ ท่านใช้เวลาอยู่ประมาณ 5-10 นาที โดยประมาณ ที่ท่านจะนิ่งๆ” เอกวรัญญูเล่าถึงภาพที่ได้เห็นผู้ว่าฯ ชัชชาติ ซึ่งเขาอธิบายต่อว่า เป็นช่วงที่ผู้ว่าฯ กำลังคิดว่าจะต้องรับมืออย่างไร
หลังจากนั้น เขาเล่าว่า ผู้ว่าฯ สั่งการให้ตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แผ่นดินไหว หรือที่เรียกว่า ‘วอร์รูม’ ทันที เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. และสั่งให้ใช้ห้องประชุมรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นห้องประชุมใหญ่ ตั้งอยู่ชั้นล่างของศาลาว่าการฯ โดยให้เหตุผลว่า เป็นห้องประชุมใหญ่ กว้างขวาง ติดประตูทางเข้า เดินเข้าออกได้ง่าย และมีแอร์ให้คนทำงาน

ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แผ่นดินไหว หรือ ‘วอร์รูม’ ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568
“ต่อมา สิ่งที่ผมได้เห็นคือ ท่านนั่งหัวโต๊ะ และท่านก็เรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาทั้งหมด ท่านบอกว่า หน่วยงานไหนที่เกี่ยวข้องบ้าง ทุกคนต้องอยู่หมด ใครไม่เกี่ยว ให้กลับได้ เราก็ได้เห็นถึงตรงนี้แล้วว่า ท่านมีกระบวนการคิด ตัดสินใจรวดเร็ว เช่น การตั้งศูนย์บัญชาการเลย และอันที่สองคือ เรียกหน่วยงานต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง” เอกวรัญญูเล่า
“หลังจากนั้น ผ่านไปประมาณ 5-7 นาที ท่านก็พูดเลยว่า ตอนนี้ สิ่งที่เราต้องการที่สุดคือ ข้อมูล (data) เสียหายที่ไหนบ้าง ท่านก็ให้ทุกเขตไปสำรวจความเสียหายของที่เขตมาก่อน อันต่อมาก็คือว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ข้อมูลเป็นอย่างไร นี่น่าจะเป็นสองอย่างหลักๆ ที่ท่านขอ ณ ช่วงเวลาแรก”
วอร์รูมที่ห้องประชุมรัตนโกสินทร์ เรียงรายไปด้วยโต๊ะทำงานของฝ่ายต่างๆ ที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับมือเหตุฉุกเฉิน ตรงกลางมีโต๊ะประชุมใหญ่ และจอแสดงข้อมูลสำคัญๆ เช่น คลังข้อมูลการตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารในพื้นที่ กทม.

เอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของ กทม.
“ถ้าผู้ใหญ่ชัด คนปฏิบัติงานจะชัด”
การทำงานในวอร์รูมจะแบ่งเป็นฝ่ายต่างๆ กทม. ระบุว่า ประกอบไปด้วย
ทีมดิจิทัล ตัวกลางประสานข้อมูล และดูแลระบบสื่อสาร ทีมอาคารสถานที่ เตรียมพื้นที่เพื่อรองรับประชาชน ทีมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รับข้อมูล และประสานกับทีมดับเพลิงและหน่วยกู้ภัย ทีมอาสาวิศวกร ประเมินอาคาร ผ่านข้อมูลจาก Traffy Fondue ศูนย์อมรินทร์ สั่งการผ่านระบบวิทยุ และ ทีมประชาสัมพันธ์ อัปเดตสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
เอกวรัญญูให้ข้อมูลว่า นอกจากสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต กทม. ยังมีสำนัก 16 สำนัก ที่เปรียบเสมือน ‘กระทรวง’ ของ กทม. โดยในการทำงานรับมือกับแผ่นดินไหว จะต้องดูว่าสำนักไหนเกี่ยวข้อง และเป็นเจ้าภาพ เช่น ในครั้งนี้ แน่นอนว่า สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต้องเป็นเจ้าภาพ
“พอท่านกำหนดว่า มีหน่วยงานไหนเกี่ยวข้อง ก็จะมีเจ้าภาพ เจ้าภาพก็จะต้องรู้ว่าต้องการอะไร เช่น บรรเทาสาธารณภัย ท่านรองผู้ว่าฯ รศ.ทวิดา กมลเวชช รับไปดูแล เรื่องโยธาฯ เรื่องการจราจร มีท่านรองฯ รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล ดูแล ถ้าเป็นเรื่อง Traffy Fondue เรื่องของเทคโนโลยีต่างๆ ท่านรองฯ ศานนท์ หวังสร้างบุญ ก็รับผิดชอบดูแล

ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แผ่นดินไหว หรือ ‘วอร์รูม’ ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568
“แต่ละคน เมื่อได้รับมอบหมายปุ๊บ ก็แล้วแต่ความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละท่าน อย่างท่านรองฯ ศานนท์ ก็บอกเลยว่า Traffy Fondue ต้องมีปุ่มขึ้นมาเพิ่ม เป็นเรื่องของรอยร้าวเลย”
อย่างไรก็ดี โฆษกฯ กทม. ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ หลายๆ พื้นที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของ กทม. แต่อยู่ภายใต้เจ้าภาพอื่น “เพราะฉะนั้น กทม. ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ อย่างเช่น ทางด่วนดินแดง กทม. ไม่ได้มีอำนาจเข้าไปเคลียร์ เราก็ต้องเข้าไปติดต่อ สอบถาม มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง”
ในการประสานงาน เอกวรัญญูอธิบายว่า มีตั้งแต่ระดับบน จนถึงระดับคนปฏิบัติงาน ในระดับของผู้ว่าฯ ก็เป็นคนที่เข้ากันได้กับทุกหน่วยงานอยู่แล้ว จึงง่ายที่จะประสานงานเบื้องต้น ส่วนในระดับปฏิบัติการ กทม. กับหน่วยงานต่างๆ ก็มีความคุ้นเคย และร่วมงานกันตลอดอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น แก้ไขฟุตบาทหนึ่งจุด ก็ย่อมมีหน่วยงานมากมายเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่แล้ว
“หัวใจคือ ผู้ใหญ่ชัด อยากได้อะไร ต้องการอะไร ขอข้อมูลอะไร และระบุปัญหาให้ได้ คนปฏิบัติงานจะชัด และรีบหาข้อมูลนั้นมาให้ ถ้าผู้ใหญ่ไม่ชัด คนปฏิบัติงานก็จะไม่ชัด การที่เขาจะไปสื่อสารต่อ ก็ยาก” เอกวรัญญูกล่าว

กิจกรรมดนตรีในสวน Bangkok, We Are OK! Concert ที่สวนลุมพินี เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2568 โดยมีเอกอัครราชทูต และตัวแทนสถานเอกอัครราชทูต 30 ประเทศ เข้าร่วม (ขอบคุณภาพจาก กรุงเทพมหานคร)
‘Bangkok, We Are OK!’ จากกู้ชีพ ถึงกู้ความเชื่อมั่น
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม หรือ 2 วันหลังจากเหตุแผ่นดินไหว กทม. ประกาศเปิดตัวแคมเปญ ‘Bangkok, We Are OK! โดย กทม. ระบุว่า เพื่อ “ส่งต่อพลังบวกและความมั่นใจให้กันและกัน” พร้อมจัดคอนเสิร์ตที่สวนลุมพินี โดยมีเอกอัครราชทูต และผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต 30 ประเทศ เข้าร่วม
“อันนี้ไม่ใช่คำที่เหมือนกับว่า เรามีความสุขหรือสนุกสนานอะไร แต่ให้รู้ว่าเราเดินหน้าต่อ เราทำงานต่อ” ชัชชาติ กล่าว และระบุว่า การจัดคอนเสิร์ต คือการสื่อสารให้โลกรู้ และสร้างความเชื่อมั่นว่า “กทม. เราโอเค”
เอกวรัญญูเล่าแนวคิดเบื้องหลังของแคมเปญดังกล่าวว่า “เมื่อวันศุกร์ ภายในเวลา 3-4 ชั่วโมง ท่านผู้ว่าฯ ระบุปัญหาชัดแล้ว หลังจากที่ได้ข้อมูลมาครบ ปัญหาหลักเกิดอยู่ที่เดียว คือ อาคาร สตง. ถล่ม นอกนั้นจะเป็นปัญหาทั่วไป เพราะฉะนั้น ท่านผู้ว่าฯ ก็เลยชัดว่า อาคารที่ถล่มคืออาคารกำลังก่อสร้าง ปัญหาจริงๆ เป็นจุด (spot) มันไม่ได้เป็นทั้งประเทศ หรือทั้งเมือง”

ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แผ่นดินไหว หรือ ‘วอร์รูม’ ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568
“เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรากำลังกังวลก็คือ มันใกล้สงกรานต์ เดี๋ยวจะมีนักท่องเที่ยวมาจำนวนมาก ที่มาสร้างเม็ดเงินให้กับเมือง ถ้าสาร (message) นี้ไม่แข็งแรง สื่อสารไปผิดพลาด คนก็จะคิดว่า หนึ่งจุด (spot) เป็นพื้นที่เสี่ยงของทั้งเมือง ของทั้งประเทศได้”
จึงนำไปสู่แคมเปญที่มีชื่อว่า ‘Bangkok, We Are OK!’ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว “เราคิดว่า ถ้าเราไม่รีบทำให้คนเชื่อมั่นได้เร็ว เศรษฐกิจก็จะกลับมาช้า โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ที่เป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวมาเยอะ ก็จะทำให้ประเทศไทยเราพลาดโอกาส” โฆษก กทม. กล่าว
เพราะต้องการให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตประจำวันให้ได้เร็วที่สุด การกู้ความเชื่อมั่นจึงเป็นภารกิจที่สำคัญ ถัดจากการกู้ชีพ
เอกวรัญญูยังยกตัวอย่างว่า ในห้องวอร์รูมของ กทม. แม้จะมีข้าราชการมาประจำการ แต่ก็เป็นอาสาสมัครไปกว่าครึ่ง หรืออย่างในช่วงสุดสัปดาห์ ก็เป็นอาสาสมัครถึง 90% ประเด็นที่เขาต้องการสื่อสารก็คือ การ ‘ดึงคนเก่งมาช่วยเมือง’ ได้นั้น เป็นเพราะผู้คนมีความเชื่อมั่น (trust) ในกรุงเทพมหานคร
“ถ้าความมั่นใจไม่กลับมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าคุณไม่มั่นใจ คุณจะไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนเลย และเมืองไม่ได้อยู่ได้เพราะผู้บริหาร มันอยู่ได้ก็เพราะประชาชน” เอกวรัญญูระบุ