เกาหลีใต้ ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องวัฒนธรรม K-Pop, วงการความสวยงาม เครื่องสำอาง ไปถึงอาหารที่เข้ามามีอิทธิพลในบ้านเรามากขึ้น แต่นอกจากจุดเด่นพวกนี้แล้ว สิ่งหนึ่งที่ประเทศนี้กำลังมาแรง และโดดเด่นในระดับโลก คือการเป็นประเทศแห่งสตาร์ทอัพ ซึ่งหลายคนอาจจะได้เห็นภาพของวงการนี้มากขึ้น ผ่านซีรีส์เกาหลี ‘Start-up’ ที่เพิ่งออนแอร์จบกันไป
แต่ความโดดเด่น มาแรงในด้านสตาร์ทอัพนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะเอกชน หรือจากผู้ประกอบการอย่างเดียว แต่รัฐบาลของประเทศนี้ ก็เป็นหนึ่งในรัฐบาลที่สนับสนุนวงการ SMEs และสตาร์ทอัพมากที่สุดแห่งนึงของโลก ทั้งการให้เงินทุน การสร้างสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ ไปถึงการร่วมแชร์ความเสี่ยงในการล้มเหลว ซึ่งทำให้สตาร์ทอัพของประเทศนี้ พัฒนาขึ้นมา จนมีส่วนในการร่วมสร้างเศรษฐกิจระดับประเทศได้
The MATTER ขอชวนไปดูว่า รัฐบาลเกาหลี สนับสนุนสตาร์ทอัพอย่างไร มีทุน โครงการ หรือแผนการในอนาคตสำหรับเหล่าผู้ประกอบการแค่ไหน และประเทศนี้ วางแผนเพื่อพัฒนาไปสู่อนาคตกันอย่างไรบ้าง
รัฐบาลเกาหลีใต้ มีแผนในการ ‘สร้างเกาหลีใต้ให้เป็นประเทศสตาร์ทอัพ’ และสร้างบรรยากาศ และระบบนิเวศของประเทศให้เอื้อต่อการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยจากข้อมูลในปี 2019 พบว่า เกาหลีมีสตาร์ทอัพอยู่ที่ 3 หมื่นกว่าแห่ง ที่มีพนักงานมากกว่า 1 แสนคน ซึ่งเมื่อเทียบกับ 20 ปี ก่อนที่เกาหลีมีสตาร์ทอัพต่ำกว่า 2 พันแห่ง รวมไปถึงยังมียูนิคอร์น (ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ากว่าพันล้านดอลล่าร์) 12 แห่ง และยังมีซูนนิคอร์น (สตาร์ทอัพที่กำลังจะเป็นยูนิคอร์นในอนาคต) 14 แห่ง
ปัจจุบัน เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ให้เงินสนับสนุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นอันดับ 5 ของโลก อยู่ประมาณ 73 ล้านล้านดอลล่าร์ (ประมาณ 2.1 พันล้านบาท) ทั้งยังมีโครงการ Technology Incubation Program (TIPS) ของรัฐบาล ที่ให้เงิน R&D กับสตาร์ทอัพ 8 แสนดอลล่าร์ต่อแห่ง (ประมาณ 24 ล้านบาท) และยังร่วมแชร์ความเสี่ยงในการที่ธุรกิจล้มเหลวด้วย ซึ่งในปี 2018 นิตยสาร Forbes ก็ได้ชี้ว่า รัฐบาลเกาหลีใต้เป็นรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพต่อหัวมากที่สุดในโลก
รวมถึงยังมีพื้นที่ Co-Working Space มากกว่า 100 แห่งในประเทศ รวมถึงยังมี Accelerator, Incubators และ Innovation Center (เหล่าสถาบันที่ช่วยเหลือการลงทุน อบรม และสนับสนุนสตาร์ทอัพ) อีกกว่า 150 แห่ง รวมไปถึงมีโครงการต่างๆ จากรัฐบาล เช่น K-Startup Challenge ที่ช่วยโปรโมทความร่วมมือระหว่างในประเทศ และสตาร์ทอัพต่างชาติ ในการดึงดูดให้ผู้ประกอบการต่างชาติมาเริ่มทำธุรกิจในเกาหลีใต้ เพื่อหวังจะสร้าง และเพิ่มการจ้างงานคนเกาหลีในประเทศให้มากขึ้นด้วย
ไม่ใช่แค่สำหรับการสนับสนุนในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังมีการตั้งเป้าหมาย และมีแผนไปถึงอนาคต ด้วยการตั้งเป้าจะเพิ่มยูนิคอร์นถึง 20 แห่งภายในปี 2022 และเตรียมสนับสนุนเงิน 12 ล้านล้านวอน (ประมาณ 360 ล้านล้านบาท) ให้สตาร์อัพสำหรับ 4 ปี ในปี 2022 ด้วย ทั้งยังมีการวางแผนกลยุทธ์ 5 แผน เช่น ค้นหาธุรกิจใหม่และสตาร์ทอัพเทคโนโลยีขั้นสูง, ฟื้นฟูเงินทุนส่วนตัวในตลาดการลงทุนร่วมทุน, สนับสนุนการขยายตลาดและเข้าสู่ระดับโลก, ส่งเสริมการฟื้นฟูการลงทุนร่วม และสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสตาร์ทอัพ
ทางกระทรวง SMEs และ Startups ซึ่งเดิมเป็นหน่วยงานบริหารธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ก็มีบทบาทอย่างมากในการสนับสนุนวงการนี้ โดยกระทรวงฯ ได้มีนโยบาย และทิศทางในการสนับสนุนสตาร์ทอัพในแต่ละปี เช่นการสร้าง โรงงานอัจริยะ 30,000 แห่งในปี 2022, เพิ่มงบการสนับสนุนสตาร์ทอัพในมหาวิทยาลัย เพิ่มศูนย์สนัยสนุนบริษัทขนาดเล็ก จาก 2 ศูนย์ เป็น 10 ศูนย์ในปี 2022 ฯลฯ ทั้งในช่วงที่เจอกับวิกฤตของโรคระบาด ทางกระทรวงฯ ยังออกคำแนะนำ SMEs และ Startups ในการทำธุรกิจในช่วงกักตัว การทำงานระยะไกล และการใช้ AI ซึ่งรัฐบาลก็ได้จัดสรรเงินสำหรับพนักงาน และสนับสนุนเครื่องมือสำหรับการทำงานระยะไกลให้บริษัทต่างๆ ด้วย
ไม่เพียงแค่ภาพใหญ่ระดับประเทศ ที่มีการสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่ลงมาที่ระดับเมือง ในกรุงโซล เมืองหลวงของประเทศ รัฐบาลกรุงโซลเองก็มีการผลักดันวงการสตาร์ทอัพ เช่นกัน โดยปัจจุบัน มีโครงการให้พื้นที่ออฟฟิศสำหรับสตาร์ทอัพขั้นต้นถึง 1,000 แห่ง และมีการวางแผน ตั้งเป้าให้โซล เป็น 1 ใน 5 เมืองระดับท็อปสำหรับสตาร์ทอัพของโลก ใน 4 ปี ไปถึงการลงทุนเงิน 1.9 ล้านล้านวอน (ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท) สำหรับระยะเวลา 4 ปี ในปี 2022 และขยายยูนิคอร์นจาก 7 แห่งให้เป็น 15 แห่ง
รวมถึงมีอีก 7 โครงการที่ออกมาเพื่อเหล่าสตาร์ทอัพเลยด้วย อย่าง
- ‘Global Talented Individual Pipeline’ สนับสนุนบุคลากรที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี
- ‘Tech Space 1000,’ เพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพด้านเทคนิคอีก 1,000 แห่ง
- ‘Strategic Growth Investment’ สนับสนุนเงินทุนสตาร์ทอัพขั้นเริ่มต้นให้เติบโต 3,000 แห่ง
- ‘Growth Promotion Platform’ เปิดตัว ‘แพลตฟอร์มส่งเสริมการเติบโต’ ของสตาร์ทอัพ ให้ได้รับการสนับสนุนจากสาธารณะ และดึงดูดนักลงทุน
- ‘Productization 180’ ให้ธุรกิจนำไอเดียไปใช้ในเชิงพาณิชย์อย่างรวดเร็วภายใน 180 วัน
- ‘Testbed City Seoul,’ ให้พื้นที่ทดสอบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสำหรับสตาร์ทอัพที่ขาดช่องทาง โดยจะมอบพื้นที่ให้ธุรกิจนวัตกรรม 500 แห่งภายในปี 2023
- ‘Global Market,’ ตลาดที่จะผลักดันให้สตาร์ทอัพเกาหลีเข้าสู่ตลาดโลก
นอกจากรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพของเกาหลีใต้ ยังมีส่วนจากทางนักลงทุน และเอกชนอื่นๆ ที่ร่วมด้วยเช่นกัน ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบัน เกาหลีใต้ยังคงเป็นรองประเทศต่างๆ ในด้านการจำนวนยูนิคอร์น หรือสภาพแวดล้อมบางอย่าง แต่เรียกได้ว่าประเทศนี้กำลังมาแรง และมีวงการสตาร์ทอัพที่คึกคัก ที่ในอนาคตเราอาจได้เห็นเกาหลีใต้ขึ้นมาอยู่ในอันดับท็อปๆ ของวงการสตาร์ทอัพระดับโลกได้ ด้วยการผลักดันอย่างเต็มที่ และวางแผนขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคตของรัฐบาล
อ้างอิงจาก
mss.go.kr
Korean government to create 12 trillion won of a scale-up fund by 2022 for a second venture boom