‘ธนาคารซิลิคอนแวลลีย์แบงก์ (Silicon Valley Bank)’ หรือ SVB หนึ่งในธนาคารยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ล้มละลาย นับเป็นวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์’
เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา หลายคนคงเห็นหลายสำนักข่าวพาดหัวเช่นนี้และคงอดไม่ได้ที่จะรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ เพราะเศรษฐกิจบ้านเราก็ยังไม่ฟื้นตัวดีจากการระบาดของโควิด-19 และผลกระทบจากสงครามยูเครน หากมาต่อด้วยพิษเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกเหมือนคราววิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ โลกนี้ก็คงจะดูสิ้นหวังไม่น้อย
แต่เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งตื่นตระหนกตกใจหรือเครียดจนนอนไม่หลับ เพราะถึงแม้ SVB จะถือเป็นธนาคารขนาดยักษ์ที่มีสินทรัพย์มูลค่ากว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็จัดเป็นธนาคารที่ใหญ่อันดับ 16 ของสหรัฐเท่านั้น อีกทั้งยังไม่ได้อยู่ในกลุ่ม ‘ธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบ’ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ประกอบกับการแก้ปัญหาเชิงรุกของรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินที่นับว่ารวดเร็ว ผมจึงขอให้ผู้อ่านสบายใจได้เลยว่าผลกระทบคงไม่ได้มากมายอย่างที่หลายคนกังวลกัน
อีกทั้งการล้มละลายของสถาบันการเงินดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการเล่นแร่แปรธาตุทางการเงิน หรือตราสารอนุพันธ์อัศจรรย์ใดๆ เหมือนคราววิกฤตซับไพรม์ แต่เป็นปัญหาคลาสสิคของธนาคารเรื่องความไม่สอดคล้องกันระหว่างสินทรัพย์และหนี้สิน ผนวกกับจังหวะการลงทุนที่เลวร้ายจนถึงขั้นทำให้ธนาคารขาดสภาพคล่องจนล้มละลาย
ทำไม SVB ถึงล้มละลาย?
เชื่อว่าแทบทุกคนคงจะคุ้นเคยชื่อหุบเขาซิลิคอน หรือซิลิคอนแวลลีย์ (Silicon Valley) จุดกำเนิดของสารพัดสตาร์ทอัปด้านเทคโนโลยีที่ปัจจุบันหลายแห่งเติบโตจนติดอันดับบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก จากชื่อซิลิคอนแวลลีย์แบงก์เราก็คงจะพอเดาได้ว่าลูกค้ากลุ่มหลักของธนาคารก็คือเหล่าสตาร์ทอัปด้านเทคโนโลยีนั่นเอง
ช่วงการระบาดของโควิด-19 ถือเป็นโมงยามแห่งความรุ่งโรจน์ของสตาร์ทอัปด้านเทคโนโลยีเพราะมีเม็ดเงินลงทุนมูลค่ามหาศาลหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย SVB ในฐานะธนาคารของเหล่าสตาร์ทอัปจึงได้รับอานิสงค์ไปด้วย โดยยอดเงินฝากเพิ่มขึ้นเกือบห้าเท่าตัวจากราว 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปี 2017 ก้าวกระโดดเป็น 1.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปลายปี 2021
มองเผินๆ เงินฝากมูลค่ามหาศาลก็น่าจะทำให้ธนาคารมั่นคงมั่งคั่ง แต่หากเราเปลี่ยนมาสวมแว่นตาของฝั่งธนาคาร เงินฝากทุกดอลลาร์ทุกเซ็นต์คือ ‘ภาระหนี้สิน’ ที่ธนาคารต้องจ่ายดอกเบี้ย
แน่นอนครับว่าธนาคารย่อมไม่นั่งเล่นบนกองเงินแล้วจ่ายดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ พวกเขาต้องหาทางนำเงินก้อนใหญ่ที่ลูกค้าฝากฝังให้ดูแลไปสร้างรายได้ ดังนั้นผลกำไรของธนาคารจึงเกิดจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับ (จากการปล่อยสินเชื่อหรือการลงทุน) ลบด้วยดอกเบี้ยจ่าย (จากเงินฝากหรือการกู้ยืมเงิน)
ปัญหาของ SVB คือมีเงินฝากมหาศาลแต่กลับปล่อยสินเชื่อได้ไม่มากเท่าที่ควร โดยยอดสินเชื่ออยู่ที่ราว 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งไม่ถึงครึ่งของเงินฝากทั้งหมดด้วยซ้ำ SVB จึงตัดสินใจแก้ปัญหาโดยการนำเงินสดที่เหลืออยู่ในมือไปลงทุนในตราสารหนี้ความเสี่ยงต่ำ อาทิ พันธบัตรรัฐบาล หรือตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อจำนองเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันโดยมีมูลค่าเงินลงทุนรวมกันถึง 1.28 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปี 2021
ทุกอย่างควรจะดำเนินไปได้ดี แต่ก็มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันคือการที่รัสเซียรุกรานยูเครนจนทำให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก ธนาคารกลางสหรัฐจึงดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อปรามเงินเฟ้อด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันกับอุตสาหกรรมสตาร์ทอัปด้านเทคโนโลยีที่เริ่มเข้าสู่ช่วงขาลง
สองปัจจัยดังกล่าวเปรียบเสมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด
ที่ทำให้ SVB ล้มละลายในที่สุด
ปัจจัยแรกคืออัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดส่งผลให้ตราสารหนี้ในพอร์ตฟอร์ลิโอของ SVB มูลค่าลดลงมหาศาล เพราะตราสารหนี้รุ่นเก่าในพอร์ตฟอร์ลิโอของ SVB จ่ายดอกเบี้ยถูกแสนถูกเมื่อเทียบกับตราสารนี้รุ่นใหม่ที่ซื้อขายกันในตลาด แน่นอนครับว่า SVB ยังสามารถนั่งทับผลขาดทุนนี้ต่อไปได้โดยที่ไม่ล้มละลายหากไม่เกิดปัจจัยที่สองตามมาคือเหล่าสตาร์ทอัปด้านเทคโนโลยีที่เงินเริ่มขาดมือ และต้องการถอนเงินก้อนใหญ่ที่ฝากไว้เพื่อไปใช้หมุนเวียนในบริษัท
เมื่อลูกค้าจำนวนมากเดินมาถอนเงินอย่างพร้อมเพรียงกัน ธนาคารจึงไม่มีทางเลือกนอกจากขายตราสารหนี้ที่ถือไว้ออกไปสู่ตลาดและรับรู้ผลขาดทุน เมื่อข่าวลือเริ่มสะพัดว่าธนาคารอาจประสบปัญหาสภาพคล่องก็ยิ่งสร้างความกังวลให้ลูกค้ามาถอนเงินเพิ่มขึ้น แม้ว่า SVB จะพยายามกระเสือกกระสนโดยหาทางเสริมสร้างสภาพคล่องผ่านการขายหุ้นเพิ่มทุน แต่การทำเช่นนั้นยิ่งสร้างความตื่นตระหนกและนำไปสู่การล้มละลายของ SVB ในท้ายที่สุด
สถานการณ์ดังกล่าวคือปัญญาคลาสสิคที่เรียกกันว่า ‘แห่ถอนเงิน (Bankrun)’ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ทุกธนาคารต้องเผชิญ เนื่องจากหนี้สินของธนาคารส่วนใหญ่คือเงินฝากที่เจ้าของบัญชีสามารถมาถอนเมื่อไหร่ก็ได้ ขณะที่สินทรัพย์คือการปล่อยสินเชื่อหรือเงินลงทุนในตราสารหนี้ซึ่งมีระยะไถ่ถอนยาวนาน หากผู้มีเงินฝากพร้อมใจกันถอนเงินออก ธนาคารก็จำเป็นต้องขายสินทรัพย์ออกไปไม่ว่าจะกำไรหรือขาดทุน ส่งผลให้เสี่ยงต่อการล้มละลายเพราะ ‘ขาดสภาพคล่อง’ หรือแปลเป็นภาษามนุษย์ว่าไม่มีเงินสดจ่ายคืนให้กับลูกค้าที่ฝากเงินไว้นั่นเอง
แน่นอนว่ารัฐบาลทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และพยายามเสริมความแข็งแกร่งของภาคธนาคารด้วยการรับประกันเงินฝากบางส่วนเพื่อให้ลูกค้ายังอุ่นใจว่าเงินฝากยังปลอดภัยแม้จะมีข่าวหนาหูว่าธนาคารจะล้มละลาย ในกรณีของสหรัฐอเมริกา รัฐบาลจะประกันยอดเงินฝากไม่เกิน 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับเป็นเคราะห์ร้ายอีกครั้งของ SVB ที่ลูกค้าส่วนใหญ่คือสตาร์ทอัปเงินหนา การคุ้มครองดังกล่าวจึงไม่เพียงพอโดยสัดส่วนที่รัฐบาลค้ำประกันคิดเป็นเพียง 7 เปอร์เซ็นต์ของเงินฝากทั้งหมดเท่านั้น เมื่อรู้สึกไม่ปลอดภัย เหล่าบริษัทจึงตบเท้าเข้ามาแห่ถอนเงิน
ดังนั้น จะเห็นว่าการล้มละลายของ SVB นั้นมีลักษณะที่เฉพาะตัวค่อนข้างสูงทั้งในแง่กลุ่มลูกค้าและการตัดสินใจลงทุนก้อนใหญ่ในตราสารหนี้ แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไปที่พึ่งพาแหล่งเงินฝากจากลูกค้ารายย่อยจำนวนมากที่มักมียอดเงินในบัญชีอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของประกันเงินฝากทำให้เสี่ยงต่อการแห่ถอนเงินต่ำกว่า และสร้างรายได้จากการปล่อยสินเชื่อซึ่งมักจะมีอัตราดอกเบี้ยลอยตัว นั่นหมายความว่ารายรับของธนาคารจะขยับขึ้นลงตามดอกเบี้ยในตลาด ไม่ได้คงที่เหมือนกับการลงทุนในตราสารหนี้นั่นเอง
การแก้เกมของรัฐบาลสหรัฐฯ
ท่ามกลางความตื่นตระหนกของสาธารณชนหลังจาก SVB ล้มละลาย เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐก็แถลงข่าวทันทีว่าสถาบันการเงินส่วนใหญ่ในสหรัฐนั้นมีสินเชื่อเป็นสินทรัพย์หลัก นั่นหมายความว่าความเสี่ยงที่ธนาคารแห่งอื่นจะล้มละลายเนื่องจากผลขาดทุนในพอร์ตฟอร์ลิโอเช่นเดียวกับ SVB นั้นมีไม่มาก
หลังจาก SVB ล้มละลายเพียงสองวัน หน่วยงานภาครัฐประกอบด้วยกระทรวงการคลัง ธนาคารกลาง และสถาบันคุ้มครองเงินฝากสหรัฐ (Federal Deposit Insurance Corporation) ก็ดำเนินสองมาตรการเชิงรุกเพื่อจำกัดความเสียหายและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีเงินฝากในธนาคาร โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการแห่ถอนเงินและเสริมสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงินที่อยู่ในสถานะเสี่ยงลักษณะเดียวกับ SVB
มาตรการแรกคือรัฐบาลจะรับผิดชอบจ่ายคืนเงินฝากทั้งหมดแก่ผู้มีเงินฝากในธนาคารสองแห่งซึ่งล้มละลาย ประกอบด้วย SVB และธนาคารซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) ที่ปิดตัวลงในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เงินที่นำมาจ่ายคืนให้จะไม่ได้มาจากภาษีของประชาชน แต่จะเป็นส่วนของผู้ถือหุ้นและผู้ถือตราสารหนี้ของธนาคาร โดยส่วนต่างที่เหลือจะมาจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากสหรัฐซึ่งเป็น ‘ค่าธรรมเนียมกองกลาง’ ที่สถาบันการเงินสมาชิกร่วมจ่าย
มาตรการนี้ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่น
แก่ผู้มีเงินฝากทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา
เพื่อบรรเทาความเสี่ยงจากการแห่ถอนเงิน
มาตรการที่สองคือธนาคารกลางจะเพิ่มช่องทางในการให้กู้ยืมเงินโดยใช้ชื่อว่าโครงการสนับสนุนเงินทุนแก่ธนาคาร (Bank Term Funding Program) โดยธนาคารพาณิชย์จะสามารถนำตราสารหนี้ เช่นพันธบัตรรัฐบาล หรือตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อจำนองเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันมาค้ำประกันเพื่อขอสินเชื่อตามราคาหน้าตั๋ว (face value) โดยคิดอัตราดอกเบี้ยอิงตามตลาดบวกด้วย 0.1 เปอร์เซ็นต์ซึ่งถือว่าต่ำมากๆ
มาตรการนี้เปรียบเสมือน ‘ยาถอนพิษ’ จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารจนทำให้สถาบันการเงินหลายแห่งต้องนั่งทับผลขาดทุนก้อนใหญ่จากตราสารหนี้และเสี่ยงที่จะล้มละลาย ช่องทางดังกล่าวทำให้ธนาคารหาเงินมาจ่ายคืนลูกค้าได้ง่ายยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องกัดฟันหาเงินสดด้วยการขายตราสารหนี้แบบขาดทุนเช่นกรณีของ SVB
ตลาดหลักทรัพย์ตอบรับมาตรการแก้ไขปัญหาข้างต้นด้วยสัญญาณที่ค่อนข้างดี ดัชนีเอสแอนด์พีของสหรัฐฯ ปิดตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิมส่วนดัชนีในตลาดซื้อขายล่วงหน้าปรับตัวบวกขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกตอบรับข่าวสารดังกล่าวแบบแตกต่างหลากหลาย นักลงทุนดูจะกังวลกับบริษัทในอุตสาหกรรมธนาคารทั่วโลกเพราะเกรงว่าความเสี่ยงจากสหรัฐฯ จะลุกลามบานปลาย ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งปรับตัวลงถ้วนหน้า
ฝั่งเอเชียรวมถึงประเทศไทยดูจะไม่ได้รับผลกระทบทางตรงสักเท่าไหร่ เพราะเหล่าสตาร์ทอัปฝั่งเอเชียไม่ใช่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ SVB อีกทั้งธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ในเอเชียถือสินทรัพย์เป็นสินเชื่อในอัตราส่วนที่มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าโอกาสน้อยมากที่จะเกิดเหตุการณ์คล้ายคลึงกับกรณีของ SVB
ดังนั้นเราก็คงกินอิ่มนอนหลับไปได้อีกสักระยะ จนกว่าจะมีวิกฤตการณ์ระลอกใหม่ให้ต้องกังวลกันอีกครั้ง
เอกสารประกอบ
America’s government steps in to protect depositors at Silicon Valley Bank
Investors brace for fallout from Silicon Valley Bank
What does Silicon Valley Bank’s collapse mean for the financial system?
SVB collapse will have limited impact on Asia, but one analyst says it could be a warning sign