ที่ผ่านมา หลายคนอาจได้ยินเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ว่าเป็นหนึ่งใน ‘เอเลี่ยนสปีชีส์’ ที่สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรและชาวประมงในหลายจังหวัด ที่เข้ามาทำลายระบบนิเวศทางน้ำ จนส่งผลให้การประมงท้องถิ่นได้รับความเสียหาย
แล้วเอเลี่ยนสปีชีส์ที่ว่า หมายความอะไร? ครอบคลุมสัตว์ที่ทำลายระบบนิเวศทุกชนิดเลยหรือไม่? The MATTER ชวนหาคำตอบ
“สิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในถิ่นใดถิ่นหนึ่ง แต่ถูกนำเข้ามาจากถิ่นอื่น” คือคำจำกัดความของเอเลี่ยนสปีชีส์ ตามรายงานจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
สัตว์ต่างถิ่นไม่ได้เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศเดิมไปซะทั้งหมด แต่บางพันธุ์อาจสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ จนถูกจัดเป็น ‘ภัยคุกคาม’ ต่อระบบนิเวศ หรือเรียกว่า ‘ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน’ (Invasive Alien Species)
แล้วเอเลี่ยนสปีชีส์ สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศได้อย่างไร?
รายงานของ สวทช. ระบุว่า ‘เอเลี่ยนสปีชีส์’ จะเจริญเติบโต สืบและแพร่กระจายพันธุ์ และตั้งรกราก จนทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล และเกิดความเสียหายได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับของออกซิเจนในน้ำและองค์ประกอบทางเคมีของดิน หรือการแก่งแย่งที่อยู่อาศัยและอาหารของสิ่งมีชีวิตอื่นที่อยู่มาก่อน ตลอดจนเป็นพาหะของโรค หรือการผสมข้ามสายพันธุ์ อาจทำให้จำนวนสิ่งมีชีวิตเดิมในระบบนิเวศลดลง จนอาจสูญพันธุ์ได้
แนวทางแก้ไขปัญหาจากเอเลี่ยนสปีชีส์ก็มีหลากหลายวิธี ตั้งแต่การทำลายหรือย้ายไปยังระบบนิเวศอื่น การไม่ครอบครอง แจกจ่าย หรือซื้อขาย เพื่อยับยั้งการแพร่กระจาย หรือการป้องกันตั้งแต่แรก โดย ‘ไม่นำเข้า’ หากไม่สามารถควบคุมไม่ให้กระจายไปยังแหล่งธรรมชาติได้
แล้วเอเลี่ยนสปีชีส์ในไทยมีสายพันธุ์อะไรบ้าง? วันนี้ The MATTER ชวนรู้จัก 7 ใน 13 สายพันธุ์เอเลี่ยนสปีชีส์ที่ถูก ‘ห้ามเลี้ยงในไทย’ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564
อ้างอิงจาก