หากละครหรือนิยายสักเรื่อง เปิดมาด้วยความไม่ประทับใจแรกเจอของพระนาง คนอะไรแค่เจอก็ไม่คลิก ต่อให้เหลือเป็นคนสุดท้ายบนโลก ขอยอมอยู่คนเดียวจะดีกว่า จังหวะนี้แหละ เรารู้เลยว่าตอนจบของเรื่องจะเป็นภาพพระนางหน้าตาชื่นมื่น ในอ้อมแขนกันและกัน พร้อมคำว่าจบบริบูรณ์
เส้นเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เท่าไหร่นัก ‘จากศัตรูสู่ที่รัก’ (Enemies to Lovers) พล็อตเรื่องยอดฮิตของนิยาย ละคร ภาพยนตร์ บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ที่เริ่มจากความไม่ลงรอย ค่อยๆ พัฒนาเป็นความซึน ไม่รู้หัวใจตัวเอง และลงเอยกันในที่สุด ความรักที่เอาชนะความเกลียดได้ เรื่องราวแบบนี้ถูกอกถูกใจผู้ชมผู้อ่านอยู่เสมอ ก็มันช่างแสนโรแมนติกนี่เนอะ แต่ถ้าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในชีวิตจริงล่ะ เราจะสามารถลงเอยกับคนที่เราไม่ชอบหน้าได้หรือเปล่า? แล้วความเกลียดตั้งแต่แรกเจอเหล่านั้นมันหายไปไหนกัน?
ความรัก ความชอบ ความซับซ้อนในความสัมพันธ์
ก่อนความสัมพันธ์จะเดินทางมาถึงคำว่าเพื่อนซี้ คนรัก หรือคนสนิทได้ ก็ต้องผ่านความประทับใจแรกเจอกันมาก่อนทั้งนั้น บางคนคุยถูกคอกันตั้งแต่เปิดประเด็น บางคนใช้เวลานานกว่าจะเจอเรื่องที่เข้ากันได้ แต่บางคนนี่สิ ไม่ถูกชะตาเอาเสียเลย ถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากไปคลุกคลี สนิทสนมมากนัก เพราะขนาดไม่รู้จัก ยังไม่เข้ารูปเข้ารอยขนาดนี้ ถ้าได้รู้จักกันจริงๆ มันจะขนาดไหนกันล่ะ
แน่นอนว่าการตัดสินกันจากเพียงครั้งเดียว อาจไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีเท่าไหร่ อาจเป็นเพียงบุคลิกบางอย่าง วิธีการสื่อสาร เรื่องที่เลือกมาคุย ไม่ใช่สิ่งที่เราถูกใจเท่าไหร่ เราเลยปล่อยใจไม่อยากเห็นสิ่งนี้ซ้ำๆ แล้วเลือกเบนเข็มจากการทำความรู้จัก เป็นการปล่อยเบลอให้ความสัมพันธ์หยุดลงเพียงเท่านี้แทน แต่หลังจากนั้นเมื่อมีโอกาสได้รู้จักกันมากขึ้น เริ่มมองเห็นข้อดีของกันและกัน จนกลายมาเป็นเพื่อนซี้ คนสนิท คนรักกันในที่สุด เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงภาพยนตร์รอมคอมหรือละครเย็นเท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นในชีวิตเราอยู่ตลอดเวลา เพื่อนซี้ที่ไม่ชอบขี้หน้ากันมาก่อน เพื่อนร่วมงานที่ไม่กล้าหยอกล้อในตอนแรกรู้จัก แม้กระทั่งคนที่ไม่คิดว่าจะรักเขาได้ในวันนี้
นั่นแปลว่าความไม่ลงรอยในตอนแรก มันถูกเปลี่ยนเป็นความรักงั้นเหรอ? เรามาฟังคำอธิบายเรื่องนี้จาก คอร์ทนีย์ วอร์เรน (Cortney Warren) นักจิตวิทยาคลินิก ที่กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ความรักกับความชอบเป็นคนละอย่างกัน” แม้ทั้ง 2 ความรู้สึกนี้ดูเหมือนจะใกล้เคียงกันมาก และมักจะมาพร้อมๆ กันเสมอ เพราะฉันชอบที่เธอเป็นแบบนั้นแบบนี้ เลยมีความรู้สึกดีๆ เพิ่มขึ้นจนกลายเป็นความรัก แต่มีการวิจัยทางจิตวิทยาบ่งชี้ว่าทั้ง 2 ความรู้สึกนี้ ต่างกันอย่างสิ้นเชิงเลยล่ะ
มาดูกันที่ความรักก่อน ความรักในมุมจิตวิทยา มักถูกมองเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เรารู้สึกปรารถนา เชื่อมโยงอยู่กับบุคคลอื่น เป็นเหมือนภาพสะท้อนประสบการณ์ที่เราได้รับ และถ่ายทอดไปยังอีกคนหนึ่ง (ได้รับความรักมาแบบไหน ก็จะมอบความรักไปแบบนั้น) และเจ้าความรู้สึกนี้นี่แหละที่ช่วยให้เผ่าพันธุ์ของเรามีชีวิตรอดตามวิวัฒนาการมาได้
ส่วนความชอบนั้น เป็นเพียงความรู้สึกพึงใจต่อตัวตนของคนนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะที่เขาแสดงออกมา เราชอบที่เขาเท่ เทสดี ฉลาด กีฬาเป็นเลิศ ทีนี้พอเห็นภาพไหมว่า มันไม่ใช่เรื่องของความเชื่อมโยงระหว่างกันอย่างความรักแล้ว เพราะความรักค่อนข้างจะเป็นเรื่องของความรู้สึก ความผูกพัน ที่มีต่อตัวบุคคล ส่วนความชอบมันออกจะเป็นเรื่องของแต่ละคนเลยมากกว่า มันคือมุมที่เรามองไปยังตัวตนของคนนั้น มีแค่ชอบกับไม่ชอบ
ทั้งความรักและความชอบจึงทำงานต่างกันอยู่เล็กน้อยในทางจิตวิทยา แต่ถึงอย่างนั้นทั้ง 2 สิ่งนี้มักจะทำงานร่วมกันอยู่เสมอ ประมาณว่า ยิ่งเราชอบใครสักคนมากเท่าไร เราก็มีแนวโน้มที่จะรักเขายิ่งขึ้น ฟังดูอาจสมเหตุสมผลดีใช่ไหม แต่มันก็ไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จแบบนั้นเสมอไป เพราะในชีวิตจริง เราอาจจะเคยเจอคนที่เรารักเขามากเหลือเกิน แต่กลับมีบางอย่างในตัวเขาที่เราไม่ชอบเอาเสียเลย แม้ว่าเราจะรักเขา สนิทสนมกับเขาแค่ไหนก็ตาม เหมือนกับการที่เราบอกได้เป็นข้อๆ เลยว่า เพื่อนรัก คนรัก ครอบครัวของเรา มีข้อเสียยังไงบ้าง โดยต่อให้เราเห็นข้อเสียของเขาจนหมดจรดยังไง ก็ไม่ได้ส่งผลต่อความรักที่เรามีให้เขาอยู่ดี หรืออย่างคนรักเก่า คนคุยเก่า คนที่เลิกรากันไป เรามีสิ่งที่ไม่ชอบในตัวเขามากเสียจนอยากจะเลิกรักเขาไปเสียที เพราะไม่อยากรู้สึกมีความเชื่อมโยงใดๆ ในความสัมพันธ์กับคนนั้นอีกต่อไปแล้ว
เราเลยสามารถรักคนที่เราไม่ชอบ หรือชอบใครมากๆ แต่ไม่ได้รักก็ได้ทั้งนั้น เพราะทั้ง 2 สิ่งนี้ทำงานแตกต่างกันในความสัมพันธ์ คราวนี้กลับมาที่พล็อตยอดฮิตศัตรูสู่ที่รัก ก็ไม่ต่างอะไรจากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น เราอาจเจิมความสัมพันธ์ด้วยความไม่ประทับใจตั้งแต่แรกเจอ แต่เมื่อนานไป ได้มีโอกาสรู้จักกัน พัฒนาความสัมพันธ์มากขึ้น หากยังรู้สึกว่าไม่ใช่อยู่ดี เราก็จะไม่ไปต่อ แต่เมื่อค้นพบแล้วว่า เขาก็ไม่ได้แย่อย่างที่เราคิดไว้นะ เราก็จะให้โอกาสเขาได้เพิ่มเติมความสนิทสนมไปเรื่อยๆ
ส่วนความรู้สึกไม่ถูกชะตา พูดจาท่าทางแบบนี้ ไม่อยากจะหันไปคุยด้วยหรอก จนเราคิดว่าเราได้เกลียดคนนั้นแล้วจริงๆ มันมีรากฐานมาจากความเข้าใจผิดหรือความขัดแย้งเล็กน้อย ไม่ใช่ความเกลียดชังอย่างแท้จริง แล้วความรู้สึกเหล่านั้นมันไม่ได้หายไปไหนหรอก มันเป็นเพียงความไม่ชอบ ซึ่งเป็นคนละส่วนกับความรักนั่นเอง สุดท้ายแล้วแม้จะกลายมาเป็นเพื่อนรัก คนสนิท คนรู้ใจ เราก็ยังบอกได้เหมือนเดิมว่าสิ่งที่เราไม่ชอบเขาในตอนแรก หรือแม้แต่ตอนนี้คืออะไร โดยไม่เกี่ยวกับความรักที่เรามีให้เขาเลย
ถามว่า หากคนที่เกลียดกันจริงๆ แบบตั้งตนเป็นศัตรูกันเลย จะสามารถแปรเปลี่ยนมาเป็นคนรักกันได้ไหม? เราขอดับฝันชาวรอมคอมที่เติบโตมากับพล็อตศัตรูสู่ที่รัก ด้วยความเห็นจาก เจส คาบิโน (Jess Carbino) แพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ (ที่ทำหน้าที่นักสังคมวิทยาให้กับแอปฯหาคู่ชื่อดังอย่าง Tinder และ Bumble) ว่า “ผู้คนต่างอยากเชื่อว่าความรักสามารถดลบันดาลได้ทุกอย่าง เพราะนั่นหมายความว่าหากเอาชนะและข้ามอุปสรรคทุกอย่างได้ การเปลี่ยนศัตรูเป็นคนรักก็เป็นจริงได้เหมือนกัน” พล็อตยอดฮิตนี้จึงเป็นเหมือนการเห็นความหวังท่ามกลางความขัดแย้ง พอถึงเวลาที่เรื่องราวต้องถูกแก้ไข ความรักก็เป็นกุญแจสำคัญที่เปลี่ยนเรื่องราว แม้มันจะแทบเป็นไปไม่ได้ในชีวิตจริงเลยก็ตาม
หากสิ่งนี้เกิดขึ้นในชีวิตจริง เจสได้ให้ความเห็นไว้ว่า “หากทั้งคู่เป็นศัตรูกันอย่างแท้จริง ย่อมไม่มีทางที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ไปได้เลย ยกเว้นแต่ว่าความเกลียดชังนั้นจะเป็นความเข้าใจผิด” ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ที่พัฒนาจากความเกลียดชังโดยแท้จริง จะไม่มีทางเป็นไปได้เลย หรือต่อให้เป็นไปได้ ก็มีโอกาสที่จะกระทบกระทั่งจากความไม่ลงรอยกันได้บ่อยกว่าคู่รักทั่วไป ซึ่งนั่นฟังดูไม่เข้าท่าเท่าไหร่เลยใช่ไหมล่ะ
“ยิ่งเรายึดติดอยู่กับความเครียดในความสัมพันธ์มากเท่าไหร่ ความสัมพันธ์ก็ยิ่งเป็นพิษเท่านั้น เพราะเราต้องคอยแก้ไขปัญหาต่างๆ จากความไม่ลงรอย (ของศัตรูที่เราเปลี่ยนมาเป็นคนรัก) และในชีวิตจริง เราคงไม่อยากใช้ชีวิตเหมือนเผชิญกับคลื่นในทะเลตลอดเวลาหรอก”
ทางที่ดีที่สุดของพล็อตศัตรูสู่ที่รักก็คือการปล่อยให้มันเป็นเพียงเรื่องราวในละครหรือนิยายต่อไป ในชีวิตจริงถ้าเป็นไปได้ ก็ขอเลือกมอบความรักให้กับคนที่เราเห็นคุณค่าและชื่นชมในตัวเขา อาจทำให้ความสัมพันธ์เป็นไปอย่างราบรื่นมากกว่า
หรือถ้าใครรู้สึกว่า ไม่จริงสักหน่อย ฉันก็ไม่ชอบขี้หน้าแฟนคนนี้ตั้งแต่แรกเจอเหมือนกัน อยากจะกระซิบบอกว่า นั่นอาจไม่ใช่ความเกลียดชังหรอก ทั้งคู่ต่างมีเมล็ดพันธุ์ความรักงอกเงยอยู่ในใจตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว เพียงแต่ยังไม่อยากยอมรับหรือยังไม่รู้หัวใจตัวเองเท่านั้นเอง
อ้างอิงจาก