ทุเรียน ถูกขนานนามว่าเป็น ‘ราชาแห่งผลไม้เมืองร้อน’ ทั้งยังถูกจัดว่าเป็นผลไม้เขตร้อน ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย
โดยทุเรียนสร้างรายได้ให้กับประเทศตกปีละแสนล้านบาท อย่างเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา ไทยส่งทุเรียนไปที่จีน ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 81.7 หรือมีมูลค่า 93,664 ล้านบาท
แต่เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนย่อมประสบปัญหาด้านการปลูกทุเรียน เนื่องมาจากสาเหตุเช่น การใช้ต้นทุนการผลิตที่สูง เพราะสารเคมี ยาและปุ๋ยชนิดต่างๆ มีราคาแพง รวมถึงการระบาดของโรคและแมลงศัตรูก็เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการใช้สารเคมีเกินความจำเป็น ส่งผลต่อการดื้อยา
ปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ไม่เพียงพอในการปลูกทุเรียน บางครัวเรือนจึงได้สร้างแหล่งน้ำขึ้นเอง โดยการทำบ่อน้ำตื้นหรือการขุดเจาะบ่อบาดาล ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นไปด้วย รวมถึงปัญหาภาวะโลกรวน ที่ทำให้เกิดภัยแล้งหรือฝนตกที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี
เท่าที่ฟังดูแล้ว การได้ผลผลิตทุเรียนมาสักลูกคงไม่ใช่เรื่องง่าย The MATTER จึงชวนทุกคนฟังเสียงของชาวสวนทุเรียน ที่ต้องล้มลุก คลุกคลาน และปรับตัว กับการปลูกผลไม้ที่ถือเป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศเรากัน
ดูแลยาก ต้องมีทุนหนา
เปิ้ล–ธันยนันท์ อดีตเกษตรกรที่เคยปลูกทุเรียน เริ่มต้นเล่าว่า เมื่อปี 2016 เป็นช่วงที่เธอตัดสินใจปลูกทุเรียนราว 200 ต้น บนที่ดิน 10 ไร่ ในจังหวัดชุมพร เพราะเล็งเห็นว่าตอนนั้นทุเรียนขายได้ในราคาค่อนข้างสูง ตกกิโลกรัมละ 30-40 บาท
“คนต่างจังหวัดมักปลูกผลไม้ตามบ้านอยู่แล้ว ทั้งทุเรียน ลองกอง มังคุด แต่เรารู้สึกว่าคนที่ปลูกทุเรียนเพื่อขายอย่างจริงจังต่างมีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะปีหนึ่งมีรายได้หลักหลายล้านบาท จึงทำให้เราอยากลงแรงทำบ้าง”
เธอเล่าเสริมว่า ต้นทุเรียนบ้านอื่นทั้งสูง ใหญ่ มีผลออกมากมาย เลยคิดว่าสวนทุเรียนของเธอก็จะเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ทว่าความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้นเลย
“การปลูกทุเรียน น้ำต้องถึง ต้องมีระบบน้ำ แม้ว่าภาคใต้จะฝนตกบ่อยแต่ไม่เกี่ยวเลย หากถึงเวลารดน้ำก็ต้องรด แต่น้ำเยอะไปก็ไม่ดีเหมือนกัน”
เธอบอกว่า พอเริ่มรับรู้ปัญหา ก็ต้องปรับตัว แต่ปัญหาคือมีทุนไม่มากพอ ซึ่งยอมรับว่าก่อนเริ่มปลูก ก็ดีว่าทุเรียนจะรอดได้ต้องพึ่งหลายปัจจัย แต่เราไม่คาดคิดว่ามันจะหนักหนาขนาดนี้ “เพราะคิดว่าฝนตกคงพอที่จะประคับประคองต้นทุเรียนให้รอดไปได้บ้าง สัก 100 ต้นก็ยังดี แต่ปรากฏว่าตายเกือบหมดในระยะเวลาเพียงเกือบ 2 ปี เพราะประสบทั้งปัญหาขาดแคลนน้ำ ยากันเชื้อรา ยากันแมลง และอีกมากมาย ที่มักต้องใช้ตลอด ซึ่งมีราคาสูงลิ่ว ท้ายที่สุดเราจึงยอมแพ้ไม่ปลูกต่อ เพราะแบกต้นทุนไม่ไหว และเท่าที่รู้มาเจ้าของสวนทุเรียนหลายเจ้าที่สู้ต่อ มักจะต้องกู้เงินจาก ธกส.”
ธันยนันท์ ระบุว่า ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ดูแลยาก ตอนแรกเริ่มจริงๆ เราคิดว่ามันจะขึ้นเหมือนต้นพริก ต้นมะละกอ แต่ตามความจริงแล้วไม่เป็นแบบนั้นเลย ทุเรียนโรคเยอะและยังต้องได้รับน้ำในปริมาณที่พอดี หากฝนตกหนักเกินไป ทุเรียนก็ไม่รอด ซึ่งภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่มนุษย์เราควบคุมไม่ได้
อย่างน้อยอยากให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสอบถามปัญหาที่เกษตรกรปลูกทุเรียนต้องพบ เช่น ค่ายา ค่าปุ๋ย ที่ราคาสูงขึ้นทุกปี หรือเข้ามาให้ความรู้ เพราะเกษตรกรบางคนเขาไม่สามารถเข้าถึงความรู้ โดยเฉพาะวิธีแก้ปัญหาได้
“ไทยมีทรัพยากรที่ดี แต่ขาดการดูแลจัดการที่ดี ทำให้หลายคนยอมแพ้ไป เพราะติดหนี้ไม่รู้จบ ถ้าภาครัฐสามารถปรับลดดอกเบี้ย ชะลอหนี้ได้ ก็คงจะช่วยพวกเขาได้ไม่น้อย”
คนถัดมาเป็นอดีตเจ้าของทุเรียน ที่มีเรื่องราวไม่ต่างกับข้างต้น “ปีหนึ่งถ้าสวนทุเรียนใหญ่ เสียค่ายาดูแลหลักล้าน ยิ่งฝนตกบ่อยโรคยิ่งเยอะ ปลูกยากมาก ทุกวันนี้ชาวสวนส่วนใหญ่ต้องกู้เงินตลอด” นรินทร คงทอง ระบุ
เขาชี้ว่า แม้ว่าตอนนี้นรินทรจะไม่ได้ปลูกทุเรียนต่อในพื้นที่ที่อยู่ในจังหวัดชุมพรแล้ว แต่เขาเติบโตมาท่ามกลางผลไม้ชนิดนี้ เพราะคนในครอบครัวของเขาอีกหลายคนยังปลูกทุเรียนอยู่
สำหรับคนที่ต้นทุเรียนแทบไม่ตายเลย แม้ว่าสภาพอากาศจะแล้งมากก็ตาม เนื่องจากคนเหล่านี้พอมีทุนที่จะซื้อน้ำ เช่น การจ้างรถกระบะให้ทยอยขนน้ำหลักพันลิตร วันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 10 กว่ารอบ ตลอดระยะเวลา 3 เดือน “ปัจจุบันคนรอบข้างมักจะทำเช่นนี้ แต่ก็ไม่ค่อยได้ตามที่หวังไว้ เพราะสภาพอากาศแปรปรวนมาก”
“สมมติปีนี้ต้องได้ทุเรียน 50 ตัน แต่ด้วยภัยธรรมชาติ และปัจจัยต่างๆ ทำให้ผลผลิตเหลือแค่ 10 ตัน ดังนั้นการปลูกทุเรียนต้องมีระบบรองรับอย่างดี มีต้นทุน มีน้ำสำรอง จากการขุดคลอง บ่อ ทำน้ำบาดาล ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ ชีวิตเปลี่ยนชั่วข้ามคืนเลย”
นรินทร เล่ากรณีเพื่อนของเขาให้ฟังว่า “เพื่อนของผมที่มีสวนทุเรียนที่ระนอง เสียเงิน 4 ล้านแบบไม่ทันตั้งตัว เพราะวันที่เพื่อนจะตัดทุเรียนเพื่อส่งให้กับคนที่เหมาทั้งสวน กลับเป็นวันที่ฝนตกจึงไม่สามารถเก็บได้ แต่ทั้งวันนั้นฝนไม่หยุดและตกหนักมาก สุดท้ายแล้วลูกทุเรียนร่วงหมด
“ยุครุ่งเรืองของทุเรียนคือช่วง 10 ปีก่อน แต่หลังจากนั้นฝนฟ้าอากาศเริ่มแย่ลงเรื่อยๆ ผนวกกับ การระบาดของ COVID-19 ยิ่งทำให้วงการทุเรียนยิ่งซบเซาลง เพราะมาตรการล็อกดาวน์ คนไม่สามารถเดินทางออกไปซื้อยาและน้ำเพื่อมาหล่อสวน รวมถึงยังประสบกับปัญหาขาดแคลนแรงงานที่จะมาดูแลทุเรียน เพราะพวกเขาเดินทางกลับมาไม่ได้”
ทั้งนี้ คนที่พอมีทุนก็ผ่านช่วงนี้มาได้ แต่ตอนนี้ก็ประสบกับฝนฟ้าอากาศที่แปรปรวน อย่างปรากฏการณ์ลานีญาในปีนี้ที่ทำให้เกิดสภาพอากาศแล้งจัด แต่พวกเขาก็พยายามปรับตัวเท่าที่จะทำได้
นิษฐ์ชลีย์ สิริประภาสุข เจ้าของสวนทุเรียนที่จันทบุรี กล่าวว่าขณะนี้เธอดูแลทุเรียนอยู่ 200 กว่าต้น ตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเดิมทีเป็นสวนของครอบครัวสามี
“ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ก็ประสบปัญหาน้ำไม่พอ แล้งจัด ภัยธรรมชาติ ค่าปุ๋ย และค่ายาที่แพงขึ้นทุกปี ซึ่งสมัยก่อนเราไม่มีทุนมากพอที่จะเจาะน้ำบาดาล จึงใช้วิธีการซื้อน้ำเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน พอมีกำลังเงินมากขึ้นถึงเจาะน้ำบาดาลเพื่อลดต้นทุน”
เธอเล่าต่อว่า แม้ว่าปัจจุบันจะมีวิธีรับมือกับปัญหาการขาดแคลนน้ำไว้แล้ว แต่ก็ยังประสบปัญหาอยู่ดี เช่นปีที่แล้วที่อากาศแล้งจัดมาก จนน้ำไม่พอใช้ เธอจึงใช้วิธีเวียนน้ำมาใช้ในปริมาณที่น้อยลง แต่ให้ถี่ขึ้นแทน
“เราต้องปรับเปลี่ยนแผน พลิกแพลงจากความรู้และประสบการณ์เสมอ โดยเฉพาะการให้น้ำ”
ทว่าปีที่แล้วผลผลิตที่คาดหวังไว้ก็ไม่ตามเป้าอยู่ดี เพราะปัจจัยทางธรรมชาติล้วนๆ ที่เกิดภัยแล้ง จนต้นทุเรียนไม่ติดลูก บ้างก็ยืนต้นตายเลยก็มี “แต่ยอมรับว่าปัจจุบันทุเรียนมีราคาแพงขึ้น จนเรามีรายได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว เพราะทุเรียนเป็นผลไม้ที่เป็นที่ต้องการมากขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศจีน”
“ล้งจีนมารับซื้อทุเรียนเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคาที่รับซื้อเลยสูงไปด้วย ซึ่งสำหรับเรารู้สึกว่าพวกเขารับซื้อในราคาที่ไม่แย่ พออยู่ได้ ถือว่าไม่กดราคา”
นิษฐ์ชลีย์ นิยามการปลูกทุเรียนว่าเป็น ‘การเสี่ยงโชค’ เพราะแม้ว่าลูกทุเรียนจะโตเต็มที่แล้ว แต่ถ้ามันยังห้อยอยู่ที่ต้นอะไรก็เกิดขึ้นได้ บางทีอยู่ดีๆ พายุมาทุเรียนโค่นหมดเลย ดังนั้นความโล่งอกโล่งใจของชาวสวนคือ ทุเรียนถูกตัดออกมาจากต้นแล้ว
“การปลูกทุเรียนมันไม่ง่าย กว่าจะได้มาแต่ละลูกเพื่อเอามาขาย ต้องคอยลุ้นกับภัยธรรมชาติที่เราควบคุมอะไรไม่ได้เลย”
ฉะนั้นแล้วอยากให้ราคาทุเรียนสูงกว่านี้ และอยากให้รัฐฯ ควบคุมราคายาและปุ๋ยไม่ให้แพงขึ้นไปกว่านี้ นอกจากนี้ อยากให้มาควบคุมล้งไม่ให้กดราคาชาวสวน เข้ามาตรวจสอบและตั้งเกณฑ์ราคาหลักขึ้นมา เพราะตอนนี้เหมือนเขาซื้อเราไปหลักร้อย แต่ไปขายได้หลักพัน
ทุนจีนเข้ารุกคืบธุรกิจทุเรียน
ท้ายที่สุดแล้ว ผู้ให้สัมภาษณ์ทั้ง 3 คน ต่างพูดเรื่อง ‘ทุนจีน’ ขึ้นมา โดยพวกเขากล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ตอนนี้คนที่เข้ามาเหมาทุเรียนมักจะเป็นคนจีน เพราะให้ราคาสูงกว่าคนไทย หรือคนจีนบางคนก็เป็นเจ้าของสวนเองเลย เนื่องจากแต่งงานกับคนไทย
“คนจีนสร้างท่าเรือแถวระนอง เพื่อส่งออกทุเรียนไปขายต่อ ซึ่งสำหรับเราแล้วมันไม่ต่างอะไรกับกรณีห้วยขว้าง ที่คนจีนกว้านซื้อและขายกันเอง และช่วงนี้คนจีนยังมักนำเข้าผักและผลไม้จากลาว มาขายตัดราคาพ่อค้าแม่ค้าไทยอีกด้วย” ธันยนันท์ กล่าว
บางส่วนก็เป็นล้งที่จะอยู่ตามถนนเส้นใหญ่ เพื่อคอยรับซื้อทุเรียนจากชาวสวนไทย ซึ่งล้งจีนเป็นที่พูดถึงมาสักพักแล้ว ซึ่งข่าวหลายสำนักระบุว่า การรับซื้อผลไม้ไทยกำลังถูกแทรกแซงจากกลุ่มทุนต่างประเทศ ด้วยการเข้ามาเหมาซื้อผลไม้ไทยถึงสวนเพื่อส่งไปออกไปยังประเทศจีน ทำให้ราคาผลไม้ในประเทศ เช่น ทุเรียน มังคุด มะม่วง มีราคาสูงขึ้น
“เกษตรกรชาวสวนผลไม้ส่วนใหญ่เริ่มหวาดหวั่นว่า ล้งจีนจะเข้ามาผูกขาดการซื้อขายและกำหนดราคาผลไม้ไทยในอนาคต ซึ่งหากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการแก้ไข ป้องกัน และควบคุม ธุรกิจผลไม้ไทยอาจประสบปัญหาวิกฤต”