ไม่แปลกหรอกหากจะหมดไฟ… ในเมื่อความกดดันเยอะขนาดนี้ จะไม่ให้เหนื่อยได้ยังไง?
เมื่อขาข้างหนึ่งก้าวสู่การเป็นซีเนียร์หรือหัวหน้าทีม ก็ต้องยอมรับเลยว่า ภาระและหน้าที่ต้องเพิ่มมากขึ้นกว่าการเป็นจูเนียร์อย่างแน่นอน ซึ่งนั่นก็หมายถึงความกดดันที่ย่อมเยอะขึ้นตามมาด้วย
ยิ่งซีเนียร์หลายคนต้องนั่งเก้าอี้หัวหน้าด้วยแล้ว ยิ่งเหนื่อยคูณสอง เมื่อนอกจากต้องรับผิดชอบทั้งงานและคนแล้ว พอรู้สึกท้อทีจะหันซ้ายไปปรึกษาใครก็ไม่มี จะหันขวาทีก็ไม่มีเช่นกัน จึงไม่แปลกเลย หากภาวะหมดไฟจะแวะทักทายบรรดาซีเนียร์หลายคนบ้างเป็นครั้งคราว เพราะพวกเขาต่างก็ต้องเผชิญกับความกดดันและความเหนื่อยล้าที่ยากเกินจะรับมือ
ความท้าทายในการทำงานที่เยอะขึ้น อาจนำไปสู่การหมดไฟของซีเนียร์หลายคน แล้วพวกเขาจะหาวิธีรับมือและจัดการกับความรู้สึกนี้ได้อย่างไร? วันนี้ The MATTER จึงอยากพาทุกคนมาทำความเข้าใจต้นตอของอาการหมดไฟในพนักงานระดับซีเนียร์ไปจนถึงหัวหน้า พร้อมทั้งดูกันว่าจะมีวิธีรับมืออาการหมดไฟได้อย่างไร
การหมดไฟเรื่องปกติในสังคมการทำงาน
จะใครก็หมดไฟได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ และเมื่อก้าวขึ้นเป็นซีเนียร์แล้วต้องเผชิญกับแรงกดดันมหาศาลกับภาระหน้าที่อันหนักอึ้ง ก็ยิ่งทวีคูณความเหนื่อยล้า จนแทบไม่มีแรงแม้แต่จะลุกไปทำงาน
สำหรับใครที่มีความเครียด เหนื่อยล้า และหมดพลังไปกับการทำงานบ่อยๆ นี่อาจเป็นสัญญาณการมาถึงของภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) ภาวะที่เกิดจากการสะสมอารมณ์เชิงลบดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจของเรา จนทำให้แรงจูงใจในการไปทำงานของเราหายไป
พนักงานระดับซีเนียร์และหัวหน้าหลายคนต้องเผชิญกับภาวะหมดไฟจากการทำงาน จากผลสำรวจของ Deloitte Canada และ LifeWorks Inc. เกี่ยวกับการหมดไฟในกลุ่มซีเนียร์และหัวหน้างาน เผยตัวเลขที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ว่า พนักงานระดับสูง แปดในสิบคน (คิดเป็น 82%) กำลังประสบกับปัญหาความเหนื่อยล้าและหมดไฟจากการทำงาน และ 96% ในนี้ยังระบุว่า สุขภาพจิตของตนเองเสื่อมลงจากการทำงานด้วยเช่นเดียวกัน
หน้าที่เยอะขึ้น เวลาน้อยลง
มองย้อนกลับไปตอนเข้ามาทำงานช่วงแรกในระดับจูเนียร์ เราอาจไม่ต้องรับผิดชอบงานยากและท้าทายมากมาย พอถึงเวลาเลิกงานก็ขอตัวลาทุกคนกลับบ้านก่อน แล้วค่อยมาลุยงานค้างคาต่อพรุ่งนี้
แต่พอทำงานมาได้สักระยะหนึ่ง เมื่อเรากลายเป็นระดับซีเนียร์ แถมบางคนยังต้องขึ้นเป็นหัวหน้ารับผิดชอบทีมของตัวเองไปด้วย กลายเป็นว่า งานก็เยอะขึ้น คนก็ต้องดูแล ยิ่งภาระหน้าที่ล้นมือ ความเครียดก็เข้ามา เจออย่างนี้วนไปทุกวัน ภาวะหมดไฟก็เข้ามาทันที
แน่นอนว่า การเติบโตขึ้นในสายงาน ถือเป็นเรื่องดี ทว่าการได้มาซึ่งความก้าวหน้า อาจแลกมากับการเพิ่มขึ้นของบทบาทหน้าที่ จนทำให้เรามีเวลาส่วนตัวน้อยลง เนื่องจากเราต้องโฟกัสและทำงานให้ได้ตามเป้าหมายที่สูงขึ้นตามตัวชี้วัดจากตำแหน่งงาน
จากงานศึกษาของ UEMC และ UNED เกี่ยวกับทฤษฎีเรื่องภาวะหมดไฟ ระบุว่า ความสัมพันธ์ของเวลาการทำงานกับชีวิตส่วนตัวและครอบครัวคือ หนึ่งในปัจจัยสำคัญอันก่อให้เกิดภาวะหมดไฟในผู้ใหญ่วัยทำงาน เพราะปัจจุบันพนักงานหลายคนต้องทำงานล่วงเวลาเป็นจำนวนมาก บางคนถึงขั้นต้องแบกงานจากออฟฟิศ กลับมาทำที่บ้านจนดึกดื่น และนั่นทำให้หลายคนต้องเผชิญกับภาวะหมดไฟได้ง่ายขึ้น
ยิ่งเราต้องใช้เวลาทำงานเยอะขึ้น เวลาส่วนตัวของเราก็จะลดลง จนนำไปสู่ปัญหาพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งถือเป็นสาเหตุของปัญหาด้านสุขภาพในระยะยาว ทั้งสุขภาพทางกายและจิตใจ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อความสนใจและประสิทธิภาพในการทำงานของเราด้วย เพราะกว่า 2 ใน 3 ของการสำรวจโดย Deloitte Canada และ LifeWorks Inc. ระบุว่า พวกเขาไม่สามารถจัดสรรเวลาได้ และต้องเผชิญกับปัญหาด้านการนอนหลับและการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างรวดเร็วจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ
ตำแหน่งยิ่งสูง เราก็ยิ่งเครียดและกดดัน
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เมื่อเราอยู่ในตำแหน่งงานที่สูงขึ้นมากเท่าไหร่ ความคาดหวังจากผู้บริหารหรือหัวหน้าของเรายิ่งเพิ่มขึ้นตามมากเท่านั้น การแบกรับความคาดหวังที่สูงเกินไปนั้น ย่อมสร้างความกดดันและเครียดเป็นธรรมดา แต่ถ้ามันมากไป ก็อาจทำให้เราหมดไฟได้
เมื่อเรามีงานต้องรับผิดชอบมากขึ้น ทำให้บางคนถูกมอบหมายหลายงานในคนเดียวกัน ทั้งๆ ที่หลายคนไม่ได้อยากจะทำงานแบบ Multitasking เลย แต่ก็ต้องทำ เพราะมันคือความรับผิดชอบ
แม้หลายคนจะเชื่อว่าการทำงานหลายอย่างพร้อมกัน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเรา แต่ถึงอย่างนั้น มันก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อตัวเราเสมอไป จากงานวิจัยของ Stanford University เกี่ยวกับการทำงานแบบ Multitasking พบว่า เมื่อเราพยายามประมวลผลจากการทำงานหลายอย่างพร้อมกัน ทำให้ความสามารถทางสมองของเราลดลง ทั้งการจัดการอารมณ์ การทำความเข้าใจ และทักษะด้านความจำระยะยาว
นอกจากต้องทำงานแบบล้นมือแล้ว พนักงานระดับซีเนียร์ยังต้องแบกรับความคาดหวังที่เพิ่มมากขึ้น จากทั้งหัวหน้าในตำแหน่งสูงกว่า และพนักงานระดับจูเนียร์ภายใต้การนำทีมของเรา ด้วยเหตุนี้ การเป็นคนตรงกลางจึงต้องทำงานอยู่บนความคาดหวังจากทั้งสองฝั่ง ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของพนักงานระดับซีเนียร์
ไม่แปลกเลย หากวันใดวันหนึ่งเราจะไม่สามารถจัดการกับอารมณ์และความกดดันของตัวเองได้ เพราะงานของเราเยอะเกินไป พร้อมด้วยความคาดหวังในหลายทาง จนถึงจุดที่เราทนไม่ได้ และกลายเป็นภาวะหมดไฟในตอนท้าย
เป็นซีเนียร์จะจัดการกับภาวะหมดไฟได้ยังไบ้าง?
เป็นเรื่องปกติหากนั่งทำงานอยู่ แล้วเราจะรู้สึกหมดไฟได้ ทั้ง ความเครียด แรงกดดัน ความเหนื่อยล้า ทั้งหมดนี้เป็นความรู้สึกเชิงลบ ที่ทำให้สภาพจิตของเราย่ำแย่ลง แล้วเราจะรับมือกับความรู้สึกเหล่านี้ได้ยังไง หากไม่อยากให้สุขภาพกายและใจของเราพักไปมากกว่านี้
- สำรวจตัวเองและรู้จักตัวเราให้มากพอ
สิ่งสำคัญซึ่งจะทำให้เรารู้ได้ว่าเรากำลังเหนื่อยล้ามากแค่ไหน หมดไฟกับการทำงานที่นี้แล้วหรือยัง เริ่มต้นได้ด้วยการสำรวจและทำความเข้าใจกับตัวของเราเอง หากวันไหนเรารู้สึกเหนื่อย เราก็แค่ต้องยอมรับว่าเรากำลังเหนื่อย หากวันไหนเราเริ่มหมดไฟ เราเพียงยอมรับมัน และเดินหน้าหาวิธีแก้ไขในขั้นต่อไป
- เจียดเวลาสักนิดจะได้ไหมนะ
เข้าใจว่าการทำงานในระดับสูงขึ้น ทำให้เวลาในการใช้ชีวิตส่วนตัวลดลง แต่จะดีกว่าไหม หากเราลองจัดสรรเวลาใหม่ ให้เรามีเวลาเพิ่มมากขึ้น หรืออาจลองกำหนดขอบเขตเวลาในการทำงานของเราให้ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เราต้องทำงานล่วงเวลาหรืออยู่ทำงานจนโต้รุ่ง ซึ่งการจัดกับเรื่องเวลา จะช่วยสร้างสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวของเรา ที่สำคัญยังช่วยให้เรามีเวลาได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มอิ่มและทำงานอดิเรกของเราได้ด้วย
- ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นก็ไม่แย่
แม้การทำงานในระดับซีเนียร์อาจทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวบ้างในบางครั้ง จะพึ่งพาใครก็ทำได้ยาก ทว่าลองมองอีกมุม หลายคนสามารถช่วยเหลือเราได้เช่นกัน เริ่มด้วยการลองปรึกษากับหัวหน้าหรือผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่าถึงทางออก รวมถึงขอคำปรึกษาจากเพื่อนร่วมงานในตำแหน่งอื่นๆ ดู พวกเขาอาจมอบคำตอบหรือวิธีใหม่ๆ สำหรับเอาตัวรอดจากภาวะหมดไฟให้เราได้ลองทำตาม
- การขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญก็ดีเหมือนกัน
ภาวะหมดไฟ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภาวะทางจิตใจ ซึ่งเกี่ยวโยงกับการทำงานของเรา ดังนั้นเมื่อรู้สึกเหนื่อยหน่าย ท้อแท้ หรือหมดไฟ การลองขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็น นักจิตวิทยาหรือแพทย์ ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะพวกเขาสามารถสร้างความเข้าใจและมอบวิธีการรับมือให้กับเรา เพื่อจัดการกับภาวะหมดไฟได้
แม้การทำงานในระดับซีเนียร์และหัวหน้ามีความยากและท้าทาย แต่ก็ต้องยอมว่า การทำงานจำเป็นต้องใช้ทั้งแรงกายและแรงใจ หากส่วนใดสึกหรอหรือพุพังไป อาจยากจะได้กลับคืนมา ดังนั้น อย่าลืมสำรวจตัวเองและหาวิธีรับมือกับภาวะหมดไฟของเราก่อนที่จะสายเกินไป
อ้างอิงจาก