ภาพฝูงอิกัวนาเขียวกว่า 10 ตัว เดินเล่นอยู่กลางหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี ทำให้คนไทยจำนวนมากกลับมาพูดถึงเรื่องของเอเลี่ยนสปีชีส์กันอีกครั้ง
แน่นอนว่า อิกัวน่าเขียวจะไม่ใช่สัตว์แปลกถิ่นรายแรกที่แพร่ระบาดในไทย หลายคนคงทราบดีว่า ที่ผ่านมาไทยเคยเจอตั๊กแตนปาทั้งก้า กุ้งเครย์ฟิช ปลาซักเกอร์ หอยเชอรี่ หรือแม้แต่ปลานิล – แน่นอนว่า ทั้งหมดนี้ล้วนลาภปากคนไทยทั้งสิ้น
แต่การจับสัตว์เอเลี่ยนกินอาจไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่เราจะใช้ได้ทุกครั้งไป นอกจากนี้ ในหลายประเทศสัตว์แปลกถิ่นก็สร้างความเสียหายมหาศาลชนิดที่ทำให้สิ่งมีชีวิตอื่นสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ด้วยซ้ำ
นิวซีแลนด์ ประเทศที่อยู่ใกล้ชิดกับขั้วโลกใต้ ห่างไกลจากแผ่นดินขนาดใหญ่อื่นๆ ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เผชิญปัญหาเอเลี่ยนสปีชีส์อย่างหนักหน่วง จนเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา เคยมีข่าวคราวการจัดกิจกรรมให้เด็กๆ ไล่ฆ่าแมวจร (สัตว์เอเลี่ยน) มาแล้ว!
นิวซีแลนด์ ดินแดนที่ (เกือบ) ไร้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ลืมภาพแกะกลางทุ่งหญ้าสีเขียวขจีไปก่อนนะ เพราะที่จริงพื้นเพของนิวซีแลนด์ไม่ได้เต็มไปด้วยน้องแกะขนฟู แต่เป็นดินแดนที่มีแต่สัตว์ ‘ประหลาด’ ในความหมายว่า เป็นสัตว์ที่แตกต่างจากดินแดนอื่นๆ ของโลก เพราะพื้นที่แห่งนี้คือเกาะที่อยู่ใกล้ชิดกับขั้วโลกใต้ ห่างไกลจากพื้นที่อื่นๆ ของโลก
แต่สัตว์ประหลาดเหล่านั้นนี่แหละ คือเจ้าของพื้นที่ตัวจริงในดินแดนนิวซีแลนด์ ส่วนแกะที่เป็นภาพจำของใครหลายคนคือ ‘เอเลี่ยนสปีชีส์’
หรือพูดให้ถูกคือ เหล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่
ล้วนเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ในนิวซีแลนด์
สาเหตุก็อย่างที่กล่าวไปข้างต้น นิวซีแลนด์อยู่ห่างไกลจากทวีปใหญ่ๆ ของโลก ประเทศที่เรียกได้ว่าใกล้เคียงที่สุดอย่างออสเตรเลีย (ซึ่งก็มีขนาดใหญ่และถือเป็นหนึ่งทวีป) ก็อยู่ห่างจากนิวซีแลนด์ไปราว 2,000 กิโลเมตร ดังนั้นแล้ว สัตว์จำนวนมากในนิวซีแลนด์จึงแตกต่างไปจากสัตว์ที่เราพบเห็นได้ในพื้นที่อื่นของโลก ในทางตรงข้าม สัตว์ที่เราพบเห็นได้ในพื้นที่อื่นๆ ของโลก ก็ไม่เคยมีตัวตนในนิวซีแลนด์มาก่อน จนกระทั่ง ‘มนุษย์’ ย่างเท้าลงบนดินแดนแห่งนี้เมื่อ 1,000 ปีก่อน
มนุษย์กลุ่มแรกที่เดินทางมาถึงนิวซีแลนด์คือบรรพบุรุษของชาวเมารี (Māori) ซึ่งคาดกันว่าเดินทางมาจากโพลินีเซีย (หมู่เกาะกว่า 1,000 เกาะ ส่วนหนึ่งของภูมิภาคโอเชียเนีย กระจัดกระจายทั่วทั้งตอนกลางและตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก) ในช่วงปี 1200–1300 แต่กว่าชาวโลกจะตระหนักว่ามีดินแดนแห่งนี้อยู่ก็คือปี 1642 เมื่อนักเดินเรือชาวดัตช์ อาเบล แทสแมน (Abel Tasman) เดินทางมาถึง ซึ่งคำว่า ‘นิวซีแลนด์’ ก็มาจาก ‘Nieuw Zeeland’ ในภาษาดัตช์
จากนั้น นักสำรวจชื่อดังชาวอังกฤษ กัปตัน เจมส์ คุก (Captain James Cook) ก็เดินเรือมาถึงนิวซีแลนด์ในปี 1769 ก่อนจะตามมาด้วยการตั้งถิ่นฐานของชาวยุโรปจำนวนมาก
ก่อนหน้านี้ นิวซีแลนด์แทบไม่มีสัตว์พื้นถิ่นที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเลย สัตว์จำนวนมากที่เป็นเจ้าของผืนดินแห่งนี้คือ สัตว์เลื้อยคลาน แมลง หอยทาก และนก ซึ่งจำนวนมากพบเจอได้แค่ในนิวซีแลนด์เท่านั้น ตัวอย่างเช่น สัตว์เลื้อยคลานเฉพาะถิ่นในนิวซีแลนด์ทั้งหมด อาศัยอยู่ในดินแดนนี้เท่านั้น เช่นเดียวกับนกพื้นถิ่นอีก 73% ของทั้งหมด ก็พบได้เฉพาะในนิวซีแลนด์เช่นกัน
“ไม่มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่บนบกในนิวซีแลนด์เลย นอกจากค้างคาว” คำกล่าวจาก จิม เบกเกอร์ (Jim Becker) นักชีววิทยาจากห้องปฏิบัติการแห่งชาติแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ
สิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่น vs เอเลี่ยน
แล้วเหล่าสัตว์ที่เราสามารถพบได้ในพื้นที่อื่นๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นแกะ วัว ม้า หนู ไก่ หรือกระทั่งพืชพันธุ์หลายชนิด มาอยู่ที่นิวซีแลนด์ได้อย่างไร? คงเดาคำตอบได้ไม่ยากว่า ก็ตามติดมาจากมนุษย์นั่นแหละ
เริ่มจากบรรพบุรุษของชาวเมารีที่มาตั้งถิ่นฐานใหม่ ณ นิวซีแลนด์ โดยขนเอาสัตว์ป่าและพืชพันธุ์จากเขตร้อนชื้นมาเต็มลำเรือ ไม่ว่าจะเป็น เผือก มันเทศ ฟัก และมันเทศ ซึ่งเติบโตได้ดีในสภาพอากาศแบบบ้านเรา แต่ก็สามารถปรับตัวให้เจริญพันธุ์ในนิวซีแลนด์ได้เช่นกัน รวมไปถึง คูรี (Kurī) สัตว์จำพวกสุนัขจากโพลินีเซีย (ตอนนี้สูญพันธุ์ไปแล้ว) ซึ่งถูกพาขึ้นเรือมาด้วย เพราะผู้คนหวังจะนำขนของมันมาทำเครื่องนุ่งห่ม ไม่ก็ทำเป็นอาหาร แต่เจ้าคูรีกลับไปไล่กินนกเฉพาะถิ่นที่เป็นไอคอนของนิวซีแลนด์อย่าง ‘นกกีวี่’ เสียอย่างนั้น
นอกจากนี้ยังมีสัตว์จำนวนมากที่เดินทางมาพร้อมเหล่านักเดินเรือ ทั้งที่ถูกพามาอย่างตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ เช่น หนู ที่ติดมากับเรือ แถมดันปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ได้เป็นอย่างดี พวกมันไม่เลือกกิน เลยกินได้ตั้งแต่สัตว์จำพวกกิ้งก่าเฉพาะถิ่น ลูกนก ไปจนถึงไข่ของนกและกิ้งก่า
หรืออย่างกระต่ายที่เดิมถูกนำมาเป็นเหยื่อเอาไว้ไล่ยิงแก้เหงาของเหล่าชาวอังกฤษผู้คิดถึงบ้าน แต่พวกมันดันไปไล่กินพืชพันธุ์ท้องถิ่น แถมยังแพร่พันธุ์เก่ง โดยที่ไม่มีผู้ล่าโดยธรรมชาติที่จะมาคุมจำนวนประชากรกระต่ายในนิวซีแลนด์
เช่นเดียวกับเป็ดแมลลาร์ด หรือเป็ดหัวเขียว ที่ถูกพามาเพื่อเอาไว้ใช้เป็นเหยื่อในกีฬาล่าสัตว์ของชาวอังกฤษ แต่พวกมันสามารถยึดครองผืนน้ำจำนวนมากในนิวซีแลนด์ได้ จนทำให้เป็ดสีเทาอันเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของนิวซีแลนด์สูญเสียที่อยู่อาศัยไป
ยังไม่รวมสิ่งมีชีวิตจำนวนมากที่สูญพันธุ์ไปหลังจากการมาของมนุษย์ อย่างนกเฉพาะถิ่นที่สูญพันธุ์ไปแล้ว 55 สปีชีส์ หรือคิดเป็น 20% ของนกเฉพาะถิ่นทั้งหมด ขณะที่นกที่เหลือรอดก็อยู่ในอาการร่อแร่ ไม่พ้นแม้กระทั่ง นกกีวี่ สัญลักษณ์ของประเทศนิวซีแลนด์
แก้ปัญหาสัตว์เอเลี่ยน ไม่ใช่เรื่องง่าย
อย่างน้อย ชาวกีวี่ (ชื่อเรียกคนนิวซีแลนด์) จำนวนมากก็พอรู้ตัวถึงผลกระทบที่บรรพบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นคนขาวหรือชาวเมารี สร้างเอาไว้กับระบบนิเวศ พวกเขาพยายามหาทางแก้ไขซึ่งอาจพูดได้ไม่เต็มปากเต็มคำว่าสำเร็จแล้ว แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความพยายาม
อันที่จริง ชาวอังกฤษซึ่งพากระต่ายเข้ามาในประเทศเกาะแห่งนี้ก็รู้ตัวนานแล้วแหละว่ากระต่ายกลายเป็นสัตว์เอเลี่ยนที่บุกรุกท้องถิ่นหนักขนาดไหน เมื่อพวกเขารู้ตัวว่าสัตว์ชนิดนี้ไร้ผู้ล่าตามธรรมชาติในนิวซีแลนด์ วิธีแก้ปัญหาของชาวอังกฤษก็คือ นำผู้ล่าตามธรรมชาติจากบ้านเกิดมาด้วย ในช่วงศตวรรษที่ 1880 พวกเขาขนเอา สโตธ หรือเพียงพอนหางสั้น ข้ามน้ำข้ามทะเลมายังดินแดนแห่งนี้
แต่เรื่องมันไม่จบง่ายๆ เมื่อสโตธคือสัตว์นักล่าที่ออกหากินทั้งกลางวันกลางคืน เคลื่อนไหวว่องไว ปีนป่ายเก่ง เดินทางได้ไกลถึง 70 กิโลเมตรในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ และของโปรดของพวกมันก็คือลูกนกและไข่นก ดังนั้น พวกมันจึงไม่ได้ล่าแค่กระต่ายอย่างที่ชาวอังกฤษคาดหวัง แต่ไปไล่กินเหล่านกเฉพาะถิ่นของนิวซีแลนด์ด้วย โดยเฉพาะนกกีวี่ที่ไม่มีปีกและอาศัยอยู่บนบก พวกมันไม่เคยมีศัตรูตามธรรมชาติมาก่อนจนกระทั่งมนุษย์พาเอาสัตว์แปลกถิ่นเข้ามา มีลูกนกกีวี่เพียง 5% ของทั้งหมดเท่านั้นที่ได้โตเต็มวัย ส่วนที่เหลือถ้าไม่ถูกสโตธจับกิน ก็กลายเป็นอาหารของแมว สัตว์เลี้ยงสุดน่ารักของมนุษย์
สัตว์ที่มนุษย์คาดหวังว่าจะมาช่วยกำจัด ‘เอเลี่ยน’
ดันกลายเป็น ‘เอเลี่ยน’ ไปเสียเอง
กรณีของสโตธถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการพูดถึงสัตว์เอเลี่ยน เพราะจนทุกวันนี้ นิวซีแลนด์ก็ยังตามแก้ปัญหาสโตธระบาดไม่สำเร็จ กรมการอนุรักษ์ (Department of Conservation) ของรัฐบาลนิวซีแลนด์ ถึงกับประกาศว่า “สโตธคือ ‘ศัตรูสาธารณะอันดับหนึ่ง’ ของนกพื้นเมืองในนิวซีแลนด์”
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลนิวซีแลนด์จึงเอาจริงเอาจังอย่างมากกับการกำจัดสัตว์เอเลี่ยน พวกเขาทุ่มเงินกว่า 33 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ (ประมาณ 700 ล้านบาท) เมื่อปี ค.ศ.2016 เพื่อจัดตั้งบริษัท ‘Predator Free New Zealand Limited’ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะกำจัดสัตว์นักล่าแปลกถิ่นให้ได้ในปี ค.ศ.2050 ขณะเดียวกันทางการก็ทุ่มเงินอีกราว 69-93 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ (1.4-1.9 พันล้านบาท) ในการจัดหายาฆ่าแมลง เหยื่อล่อ กับดัก และเฮลิคอปเตอร์วางยาพิษในแต่ละปี
อย่างไรก็ดี การทำให้ประชาชนเข้าใจถึงปัญหาการรุกรานของสัตว์แปลกถิ่นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสัตว์แปลกถิ่นหลายตัวก็เป็นสัตว์หน้าขนที่หน้าตาน่าเอ็นดูไม่แพ้หมาแมว จนไม่แปลกที่หลายคนจะเอ็นดูพวกมันและไม่อยากให้ตาย
“เจ้าของที่ดินคนหนึ่งอยากให้พวกมันหายไป แต่อีกคนมองว่าพวกมันน่ารักและยอมปล่อยให้พวกมันอยู่บนที่ดินของเขา นั่นทำให้พวกมันมีพื้นที่สั่งสมประชากรเพิ่มได้อยู่ตลอดเวลา” ริค โบ๊ตเนอร์ (Rick Boatner) ผู้ประสานงานสายพันธุ์รุกรานของ Oregon Department of Fish and Wildlife กล่าว พร้อมเสริมว่า สิ่งที่ตอบโต้ได้ดีที่สุดคือการศึกษา ซึ่งสอนให้เด็กๆ เข้าใจว่า สัตว์ที่หน้าตาน่ารักอย่างพวกเม่นหรือสโตธ เป็นฆาตกรต่อเนื่องต่อธรรมชาติของนิวซีแลนด์ และดูเหมือนว่านิวซีแลนด์จะทำได้ดีในเรื่องนี้
ฟังดูน่าสะเทือนใจไม่ใช่น้อย เพราะที่สัตว์แปลกถิ่นเดินทางข้ามมหาสมุทรมายังดินแดนที่โดดเดี่ยวตัวเองจากผืนดินขนาดใหญ่นี้ได้ ก็เพราะมนุษย์ แต่ตอนนี้ มนุษย์ต้องมาสอนให้เด็กเข้าใจว่าพวกมันคือฆาตกร ถึงขนาดที่ว่าพิพิธภัณฑ์นิวซีแลนด์ (Museum of New Zealand Te Papa Tongarewa) ในเมืองเวลลิงตัน เมืองหลวงของประเทศ มีโซนให้ผู้เยี่ยมชมร่วมกันวาดรูปเสนอไอเดียออกแบบเครื่องมือดักจับและฆ่าสัตว์แปลกถิ่นเสียด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ ทางเดินในเมือง ริมหาด หรือในเส้นทางเดินป่าทั่วทั้งนิวซีแลนด์ ก็จะมีอุปกรณ์ดักจับและเหยื่อล่อที่วางยาพิษประจำการตามพื้นที่ต่างๆ เสมอ หลายจุดต้องมีป้ายกำกับว่าห้ามปล่อยสัตว์เลี้ยงของเราเดินเพ่นพ่านเพราะพวกมันอาจไปสัมผัสเข้ากับยาพิษที่วางไว้ได้ พร้อมกันนั้นทางการนิวซีแลนด์ก็ต้องศึกษาอย่างหนักเพื่อให้แน่ใจว่า เหยื่อที่ใช้ในกับดักและสารพิษจะไม่ดึงดูดสัตว์พื้นเมือง เช่น ใส่อบเชยซึ่งมีกลิ่นที่ทำให้พวกนกพื้นถิ่นไม่กินเข้าไป
ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลนิวซีแลนด์ยังเข้มงวดกับผู้คนที่เดินทางเข้าประเทศ ด้วยการตรวจดูสิ่งของที่พวกเขานำเข้าประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เมล็ดพันธุ์ ยาสำหรับสัตว์ ดิน ไปจนถึงอุปกรณ์ที่ใช้กับสัตว์ อุปกรณ์ที่ใช้ในกิจกรรมเอาท์ดอร์ เช่น รองเท้าเดินป่า เต็นท์ เพราะสิ่งเหล่านี้อาจนำพาสิ่งมีชีวิตแปลกถิ่นเข้ามาในประเทศนิวซีแลนด์ได้
คำถามที่น่าสนใจก็คือ หากนิวซีแลนด์กำจัดเหล่าสโตธ หนู พอสซั่ม หรือสัตว์ใดก็ตามที่ทางการเร่งดักจับอยู่ไปได้หมดแล้ว นิวซีแลนด์จะเป็นประเทศที่ปลอดเอเลี่ยนจริงเหรอ? ในเมื่อก็ยังมีน้องหมาน้องแมว สัตว์เลี้ยงสุดน่ารักขวัญใจมนุษย์อยู่ ซึ่งองค์กรไม่แสวงผลกำไรท้องถิ่นพยายามที่จะกระตุ้นให้เจ้าของเก็บสัตว์เลี้ยงไว้บ้าน ล่ามพวกมันเอาไว้เวลาพาออกไปเดิน (รวมถึงแมวด้วย) และอย่าหาหมาแมวตัวใหม่มาแทนที่หากตัวเดิมกลับดาวไป – แน่นอนว่า คนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้
อย่างเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ก็เกือบมีการจัดการแข่งขัน ‘ฆ่าแมวจรจัด’ ในการแข่งล่าสัตว์นอร์ทแคนเทอร์เบอรี ซึ่งทุกปีจะมีคนเข้าร่วมหลายร้อยคน รวมถึงเด็กด้วย แต่กิจกรรมนั้นเผชิญกระแสวิจารณ์อย่างหนัก จนต้องยกเลิกไป หลายคนไม่เห็นด้วยกับการปลูกฝังให้หยิบอาวุธไล่ฆ่าสัตว์ ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่า แมวจรจัดทำให้นกสูญพันธุ์ไปแล้ว 6 สปีชีส์ รวมถึงทำให้จำนวนของค้างคาว กบ และกิ้งก่า ลดลงอีกด้วย โดยมีการคาดการณ์ว่า นิวซีแลนด์มีแมวเลี้ยงกว่า 1.2 ล้านตัว แต่มีแมวจรจัดกว่า 2.4 ล้านตัว
สำหรับนิวซีแลนด์ การขนส่งสัตว์มายังดินแดนที่ห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่อื่นๆ นี้คงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สิ่งที่ยากกว่าการพามา คือกำจัดสัตว์เอเลี่ยนเหล่านั้น และเราก็คงยังไม่ได้คำตอบกันในเร็วๆ นี้หรอกว่า สัตว์เอเลี่ยนจะหมดไปจากประเทศเกาะแห่งนี้ไหม
ยิ่งไปกว่านั้น นิวซีแลนด์ก็ยังมีมนุษย์ ซึ่งว่ากันตามตรงแล้ว ก็เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ในดินแดนแห่งนี้อยู่เช่นกัน
อ้างอิงจาก
Museum of New Zealand Te Papa Tongarewa