สารพิษที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในไทยนาทีนี้คงหนีไม่พ้น ‘ไซยาไนด์’ แต่รู้กันมั้ยว่าจริง ๆ แล้วมันคืออะไรกันแน่ อันตรายแค่ไหน และหากเจอเองกับตัวควรรับมืออย่างไร…วิชาเคมีที่ไทยอาจไม่ได้สอนเรามากนัก แต่วิชาสืบสวนสอบสวนในอนิเมะยอดนักสืบโคนันสอนเรานะ!
นับเป็นคดีที่มีเงื่อนงำประจำวันอังคารที่ 25 เมษายน 2566 เมื่อหญิงผู้เสียชีวิตถูกตรวจพบสารพิษในร่าง อีกทั้งผลการชันสูตรและรวบรวมหลังฐานยังชี้ว่า เธออาจไม่ใช่เหยื่อเพียงรายเดียวที่ถูกฆาตกรรมด้วยวิธีการวางยาพิษ แต่อาจมีมากกว่า 10 รายภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน
ไซยาไนด์กลายเป็นสารพิษที่ถูกพูดถึงแบบชั่วข้ามคืน และถ้าจะว่ากันตามตรง วิชาเคมีในบทเรียนไทยอาจจะเคยพูดถึงสารประเภทนี้อยู่บ้าง ครั้งหรือสองครั้ง ทว่าคล้ายจะไม่ได้เน้นย้ำถึงอันตรายที่อาจเกิดจากคุณสมบัติของมันมากนัก อย่างไรก็ดี เด็กไทยส่วนใหญ่คงมีโอกาสได้รู้จักไซยาไนด์ผ่านมังงะสุดฮิตอย่าง ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน
The MATTER จึงอยากชวนทุกคนมาดูกันว่า คดีฆาตกรรมที่คุโด้ ชินอิจิในร่างของเด็ก ป.1 เคยไข ให้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับไซยาไนด์ โดยเฉพาะ ‘โพแทสเซียม ไซยาไนด์’ แก่ผู้ชมบ้าง
ตั้งแต่วางแผงเล่มแรกจนถึงตอนนี้ (ที่ทะลุ 100 เล่มไปแล้ว แถมยังไม่นับรวมตอนเสริมที่เพิ่มจากฉบับมังงะด้วย) เกิดคดีฆาตกรรมซึ่งใช้สารพิษเป็นอาวุธทะลุ 30 ครั้ง โดยแต่ละครั้ง อ.โกโช อาโอยามา (Gosho Aoyama) ก็มีความพยายามในการสอดแทรกเกร็ดความรู้เกี่ยวกับสารพิษชนิดต่างๆ ไว้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโพแทสเซียม ไซยาไนด์
นี่คือตัวอย่างคดีที่คนร้ายนำโพแทสเซียม ไซยาไนด์มาใช้เป็นอาวุธสังหาร ซึ่งขอย้ำว่าทุกคนไม่ควรทำตามในทุกกรณี
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของยอดนักสืบจิ๋วโคนัน*
ปี 5 ตอนที่ 204-208: การคืนชีพที่เดิมพันด้วยชีวิต
เชื่อว่าแฟนๆ โคนันน่าจะพอจำตอนนี้ได้ เพราะเป็นหนึ่งในครั้งที่คุโด้ ชินอิจิมีโอกาสปรากฏกายและเป็นคนไขคดีด้วยตัวเอง โดยคนร้ายในคดีนี้ใช้เทคนิคฝังยาพิษไว้ในน้ำแข็ง ก่อนแอบใส่มันไว้ในแก้วของเหยื่อเพื่อก่อคดีสะเทือนขวัญ
ปี 5 ตอนที่ 235-238: รวมพลยอดนักสืบ คุโด้ ชินอิจิ ปะทะ จอมโจรคิด
การรวมตัวครั้งใหญ่ของกลุ่มนักสืบผู้หลงใหลในคดีปริศนา ซึ่งอาวุธที่ใช่ฆ่าในตอนนี้ก็คือโพแทสเซียม ไซยาไนด์เช่นเดิม โดยคนร้ายป้ายมันไว้ที่ขอบแก้ว แล้วใช้ประโยชน์จากนิสัยชอบกัดเล็บของผู้ตาย ผู้ตายจึงได้รับพิษซึ่งติดมากับปลายเล็บของตัวเอง
ระหว่างการสืบสวน อ.โกโช ยังแอบแทรกเกร็ดความรู้ที่ว่า สารไซยาไนด์จะทำปฏิกิริยากับสนิม ซึ่งนักสืบชราในเรื่องได้ใช้เหรียญ 10 เยนของญี่ปุ่นที่ทำจากทองแดงในการตรวจสอบปฏิกิริยาดังกล่าว หากเหรียญมีความแวววาวมากขึ้น นั่นก็พิสูจน์ได้ว่าอาจมียาพิษอยู่ในแก้ว
ปี 7 ตอนที่ 306-307: เดจาวูในสายฝนของไชน่าทาวน์
สารวัตรโยโกมิโซะคนน้องถึงกับบ่นอุบว่า คนร้ายไปหายาพิษพวกนี้มาจากไหน สะท้อนว่าแม้กฎหมายการควบคุมสารเหล่านี้จะเข้มงวดเพียงใด การบังคับใช้และตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนก็สำคัญไม่แพ้กัน คดีฆาตกรรมในร้านอาหารจีนเป็นเหมือนภาพที่สะท้อนกลายๆ ว่าไม่ควรปล่อยให้สารอันตรายทุกประเภทตกอยู่ในมือของผู้ไม่ประสงค์ดีโดยเด็ดขาด
ปี 12 ตอนที่ 600-601: ปริศนาซูชิจานเวียน
คดีฆาตกรรมที่ใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมการกินซูชิของญี่ปุ่น ที่สำคัญคือเกิดขึ้นในร้านซูชิสายพาน (ซูชิจานเวียน) อีกด้วย นี่เป็นอีกครั้งที่มีกลิ่นอัลมอนด์อ่อนๆ โชยออกมาจากร่างของผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณสมบัติบ่งชี้ถึงการใช้สารพิษชนิดนี้นั่นเอง
ปี 14 ตอนที่ 704-707: ยาพิษและดีไซน์ลวงตา
อีกหนึ่งคดีที่มีการใช้สารพิษสุดฮิตเป็นอาวุธ แถมยังใช้ในการฆาตกรรมมากกว่าหนึ่งศพเสียด้วย
สรุปความรู้เกี่ยวกับโพแทสเซียม ไซยาไนด์จากโคนัน
- เป็นสารที่ละลายในน้ำเย็นได้ยาก
- ใช้กำจัดสนิทบนโลหะหรือทองแดงได้
- ผู้ที่ตายจากไซยาไนด์จะตายเพราะกระบวนการส่งผ่านอิเล็กตรอนในเซลล์ถูกทำลาย ทำให้เซลล์ไม่สามารถรับออกซิเจนจากกระแสเลือดได้ (การ์ตูนอะไร อธิบายละเอียดเวอร์!)
- ริมฝีปากและปลายเล็บของผู้ตายจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูม่วง
- มีกลิ่นอัลมอนด์อ่อนๆ ที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างไซยาไนด์กับกรดในกระเพาะ
ข้อมูลเพิ่มเติมที่ควรรู้
- โพแทสเซียม ไซยาไนด์มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว ละลายน้ำแล้วไม่มีสี
- สามารถใช้ประโยชน์ในการทำความสะอาดโลหะ สกัดแร่ทอง ผลิตสีย้อม ฯลฯ
- มีพิษสูง ปริมาณเพียง 0.2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมก็ทำให้เสียชีวิตได้
- ไซยาไนด์มีหลายประเภท แต่ที่ถูกพูดถึงบ่อยคือโพแทสเซียม ไซยาไนด์และไฮโดรเจน ไซยาไนด์ ซึ่งประเภทหลังเคยถูกใช้เป็นอาวุธสังหารหมู่ชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว
- หากสัมผัสในปริมาณมากจะทำให้การหายใจติดขัด เลือดไหลเวียนผิดปกติ ชัก สมองบวม หมดสติ หัวใจหยุดเต้น และผิวหนังกลายเป็นสีม่วง
- หากสัมผัสในปริมาณน้อยจะมีอาการปวดศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน และมีผื่นแดง
หากสัมผัสกับไซยาไนด์ เราจะรับมืออย่างไรได้บ้าง?
หลักสำคัญคือต้องรีบลดปริมาณการสัมผัสสารให้ได้มากที่สุด
- หากสัมผัสผ่านการสูดดม ควรรีบออกจากพื้นที่ทันที แต่ถ้าไม่สามารถออกได้ให้ก้มตัวต่ำ หากมีกรณีหยุดหายใจให้ทำการ CPR เพื่อปฐมพยาบาล ห้ามใช้วิธีผายปอดโดยเด็ดขาด
- หากสัมผัสกับร่างกาย ต้องเร่งถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนออก โดยใช้กรรไกรตัดผ้าให้เป็นชิ้นๆ เพื่อไม่ให้เนื้อผ้าไปสัมผัสกับอวัยวะส่วนอื่นเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งใบหน้า จากนั้นต้องทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำและสบู่เพื่อลดปริมาณสารพิษ ก่อนนำส่งโรงพยาบาล
- หากรับประทานต้องรีบล้างท้องทันที
โพแทสเซียม ไซยาไนด์ในไทยหาซื้อง่ายจริงหรือ?
แท้จริงแล้วสารประเภทนี้ถูกจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 โดยจะอยู่ในความควบคุมและรับผิดชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และปกติจะนำมาใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรม ไม่ได้นำมาใช้ทางยา หากผู้ใดมีส่วนเกี่ยวข้องโดยไม่ได้รับอนุญาต จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สารอันตรายอื่นๆ ที่โคนันช่วยเตือน
นอกจากโพแทสเซียม ไซยาไนด์แล้ว เรื่องราวของยอดนักสืบจิ๋วยังระบุถึงสารพิษชนิดอื่นๆ ที่เป็นอันตรายด้วย และนี่คือ 3 สารพิษที่ชีวิตนี้ควรระวัง
- โซดาไฟ ถูกใช้เป็นอาวุธในปี 1 ตอนที่ 19 คดีฆาตกรรมเจ้าสาวเดือนมิถุนา
- น้ำยาล้างห้องน้ำผสมน้ำยาซักผ้าขาว จะทำให้เกิด ก๊าซคลอลีน ถูกอธิบายไว้ในปี 3 ตอนที่ 128-129 คดีห้องอาบน้ำที่ปิดล็อก
- สารหนู ตำรวจพูดถึงในปี 7 ตอนที่ 306-307 เดจาวูในสายฝนของไชน่าทาวน์
นอกจากนี้ บันเทิงคดีแนวสืบสวนเรื่องอื่นๆ ก็เคยพูดถึงประเภทของสารพิษมาอย่างหลากหลาย ทางฝั่งตะวันตก วรรณกรรมคลาสสิคทั้งเชอร์ล็อก โฮล์มส และแอร์กูล ปัวโร ต่างก็เคยหยิบยกมาพูดถึง หรือในฟากตะวันออก นอกจากโคนันแล้ว คินดะอิจิหรือโรงเรียนนักสืบ Q ก็ให้ข้อมูลเช่นเดียวกัน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จุดประสงค์ของเรื่องราวนักสืบล้วนเป็นไปเพื่อสร้างความบันเทิงและให้ความรู้แก่ผู้อ่าน การนำวิธีการในวรรณกรรมไปทำร้ายเพื่อนมนุษย์ถือเป็นสิ่งที่ย่ำแย่ที่สุดซึ่งไม่สามารถให้อภัย และใครก็ตามที่ลงมือจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับผู้ตาย ตลอดจนคนรอบข้างที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อไป
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติม