ไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายคนคงได้ยินชื่อสารพิษอย่าง ‘ไซยาไนด์’ ที่ถูกนิยามว่าเป็นราชาแห่งยาพิษบ่อยครั้ง และคงทราบถึงความโหดร้ายของมันเป็นอย่างดีแล้ว เพราะด้วยการรายงานข่าวของสื่ออย่างเจาะลึก แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งนี้นำมาซึ่งดาบ 2 คม
หากลองสังเกตอย่างถี่ถ้วน เราจะพบว่าการเสียชีวิตด้วยสารพิษนั้นปรากฏบ่อยครั้งยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี คนที่อยู่เบื้องหลังสำคัญในการคลี่คลายข้อสงสัยเกี่ยวกับสารพิษต่างๆ คือ ‘นักพิษวิทยา’ ที่ทั้งให้คำแนะนำ วินิจฉัย รวมถึงการคิดค้นยาต้านพิษ
เพื่อนำไปสู่การเข้าใจเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น The MATTER จึงพูดคุยกับ ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของนักพิษวิทยา รวมถึงผลกระทบต่อการเผยแพร่เนื้อหาเรื่องสารพิษของสื่อ
‘สารพิษ’ แฝงอยู่ทุกสิ่งรอบตัวเรา
อาจารย์วินัย วนานุกูล ในฐานะหัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี เริ่มต้นพูดถึงศาสตร์พิษวิทยาว่า เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาผลลัพธ์ของยา หรือสารเคมีอะไรก็ตามในโลกนี้ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของมนุษย์และสัตว์
อย่างไรก็ตาม ศาสตร์พิษวิทยาค่อนข้างกว้างมีตั้งแต่การศึกษาในห้องปฏิบัติการในห้องทดลอง หรือการศึกษาในสัตว์และคน ซึ่งศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี เป็นวิทยาคลินิกที่ศึกษาและให้คำแนะนำเกี่ยวกับผลกระทบของสารต่างๆ ที่กระทบต่อสุขภาพของคน
คำถามคือแล้วอะไรกันคือสารพิษ?
อาจารย์วินัยบอกว่า “’สารพิษคือทุกอย่าง’ แม้แต่ออกซิเจนที่เราไว้ใช้ในการหายใจ ถ้าออกซิเจนมีเยอะเกินไปจะกลับกลายเป็นพิษแทน เช่นเดียวกับการดื่มน้ำที่มากเกินไป ที่จะสร้างผลกระทบต่อตับ ฉะนั้นแล้ว ศาสตร์พิษวิทยาครอบคลุมทุกสรรพสิ่งบนโลกใบนี้”
สื่อไม่ควรรายงานเรื่อง ‘สารพิษ’ ลึกเกินไป
ไม่นานมานี้ ทุกคนคงคุ้นชินการประโคมข่าวเรื่องไซยาไนด์บ่อยครั้ง ที่สร้างความแตกตื่นและหวาดกลัวให้แก่สังคมเป็นวงกว้าง “กรณีไซยาไนด์ นักพิษฯ ของเรามีความสามารถในการระบุว่า คนๆ นี้ได้รับสารชนิดนี้เข้าไปด้วยเวลาอันรวดเร็ว”
มีโรงพยาบาลหลายแห่งที่โทรมาปรึกษา เช่น แพทย์จากโรงพยาบาลหนึ่งทราบว่าคนไข้คนนี้ได้รับสารอะไรมา แต่ไม่รู้ว่าการเจ็บป่วยที่จะเกิดหลังจากนี้จะเป็นเช่นไร และต้องรักษาอย่างไร หรือแย่ไปกว่านั้นคือ ไม่รู้ว่าอาการดังกล่าวเกิดขึ้นจากอะไร เกิดจากสารพิษหรือเปล่า แพทย์เหล่านี้จะโทรมาปรึกษาเราเพื่อหาคำตอบ
“อาการที่เราพบบ่อยครั้ง ด่านหน้าอย่างนักวิทยาศาสตร์พิษวิทยาสารสนเทศ สามารถให้คำตอบได้ทันที แต่ถ้าเป็นอาการที่ไม่คุ้นชิน ไม่มั่นใจ หรือหนักมากๆ คณะแพทย์พิษวิทยาจะรับหน้าที่นี้ไปแทน”
ซึ่งหัวหน้าศูนย์พิษฯ ก็อธิบายถึงความกังวลของเขา ต่อการรายงานข่าวที่ลงรายละเอียดมากจนเกินไปว่า ไม่อยากให้สื่อรายงานข่าวว่าผู้ก่อเหตุซื้อสารพิษมาจากไหน เช่น ผู้ก่อเหตุคนนี้ซื้อมาจากที่ใด หรือด้วยราคาเท่าไหร่ เพราะที่ผ่านมาก่อนที่จะเกิดกรณี ‘แอมไซยาไนด์’ มีเคสที่เกิดขึ้นด้วยสารพิษตัวนี้มาก่อน แต่จะไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ของคนในสังคมเสียเท่าไหร่
“ผมคิดว่าสื่อไม่จำเป็นต้องอธิบายรายละเอียดทุกอย่าง เพราะจะนำไปสู่พฤติกรรมการลอกเลียนแบบ”
อย่างกรณีของ ‘แอมไซยาไนด์’ ที่สื่อบางสื่อมีการรายงานอย่างชัดเจนว่า สารชนิดนี้มีการซื้อขายทางออนไลน์ ซึ่ง ณ ตอนนั้นผมรู้สึกไม่สบายใจ เพราะรู้ว่าจะเป็นการเปิดช่องทางในการเข้าถึงให้กับผู้คนจำนวนมาก ซึ่งอนาคตมันอาจจะไม่ใช่แค่สารพิษตัวนี้ แต่ในตอนนี้ก็เข้าใจว่าการไล่บล็อกการซื้อขายทางออนไลน์นั้นค่อนข้างทำได้ยาก มักจะทำได้เพียงสักระยะหนึ่งเท่านั้น
อีกตัวอย่างที่สำคัญคือ การรมควันด้วยเตาอั้งโล่ ถ้าย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วการเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในประเทศเรานั้นมีน้อยมาก ซึ่งก่อนหน้ามักจะเป็นเพราะอุบัติเหตุโดยส่วนใหญ่ แต่พอมีคนดังเสียชีวิตด้วยสาเหตุดังกล่าว ข่าวกลับถูกเผยแพร่ออกไปอย่างละเอียด ทำให้ปัจจุบันเคสการเสียชีวิตด้วยสารคาร์บอนไดออกไซต์พุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก
“การเรียนรู้สิ่งเหล่านี้เพื่อไปทำร้ายตัวเอง อาจไม่เลวร้ายเท่ากับการเรียนรู้เพื่อไปคร่าชีวิตคนอื่น แต่ทั้งคู่ก็ล้วนเป็นสิ่งที่น่ากลัว ดังนั้นสื่อควรพิจารณาเนื้อหาก่อนที่จะรายงานข่าว สื่อต้องมีวิจารณญาณเพื่อลดกรณีการลอกเลียนแบบ”
เกิดเหตุบ่อยครั้ง แต่ทำไม ‘ไซยาไนด์’ ยังไม่หายไป
อาจารย์วินัยอธิบายว่า ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่บางอุตสาหกรรมจำเป็นต้องใช้ แต่เนื่องด้วยการที่เป็นสารที่มีความเป็นพิษสูง มันจึงถูกควบคุมโดยกระทรวงอุตสาหกรรม
เขาย้ำว่า สารทุกอย่างเป็นพิษได้ เช่น น้ำ ถ้าดื่มมากเกินไปก็เป็นพิษต่อตับ ฉะนั้นเวลาพูดถึงสารพิษ เรากำลังพูดถึงทุกสารที่มีอยู่ แต่ความรุนแรงของแต่ละสารนั้นก็จะแตกต่างกันออกไป อย่างเช่นไซยาไนด์ ที่จัดอยู่ในกลุ่มสารอันตราย ซึ่งถูกควบคุมหนาแน่นพอสมควร
“แต่ปัญหาที่ทำให้พวกมันเล็ดลอดออกมาได้ หลักๆ แล้วเกิดจากโลกออนไลน์ เพราะเป็นพื้นที่ที่ยากจะควบคุม ซึ่งรัฐไม่สามารถสยบมันได้อย่างแท้จริง”
เขาบอกด้วยว่า เมื่อเวลามีเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นเพราะสารพิษชนิดนี้ รัฐก็จะพยายามไล่ลบ แต่ผ่านไปสักพักมันก็โผล่ขึ้นมาอีก อาจเนื่องด้วยสารนี้มาจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่โรงแรมย่านราชประสงค์ ชาวเวียดนาม 6 คน เสียชีวิตจากสารพิษไซยาไนด์
“หลังจากเหตุการณ์นี้ มีนักข่าวต่างประเทศถามผมว่า ประเทศไทยสามารถหาซื้อไซยาไนด์ง่ายขนาดนี้เลยหรือ ผมก็ตอบไปว่า พิสูจน์ไม่ได้หรอก เพราะมันอาจจะมาจากต่างประเทศก็ได้”
ไม่ใช่แค่ข่าว แต่สื่ออื่นก็มีการพูดถึงไซยาไนด์?
อาจารย์วินัย ยกตัวอย่างว่าการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างเรื่อง ‘นักสืบจิ๋วโคนัน’ ซึ่งในเรื่องจะพูดถึงไซยาไนด์บ่อยมาก ซึ่งการถ่ายทอดเรื่องยาพิษในการ์ตูนมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงขั้นล่อแหลม เพราะไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก เพียงเจาะจงว่าผู้ที่ได้รับสารนั้นๆ จะมีอาการเจ็บป่วยเช่นไร สำหรับผมจึงพอยอมรับได้ แต่สิ่งที่ไม่ควรทำคือ การระบุว่าเอามาจากไหนเหมือนกับในข่าว”
เขาเสริมว่า ปัจจุบันไซยาไนด์ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ตั้งแต่เกิดเหตุแอมไซยาไนด์จนกระทั่งเหตุของชาวเวียดนาม แต่จริงๆ แล้ว มีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นมาโดยตลอด
“แต่ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีจะไม่เผยแพร่ข่าวออกไป ส่วนมากเราจะพยายามติดต่อกับเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการอธิบายว่าต้องแก้ไขและควบคุมอย่างไร อย่างไซยาไนด์เราก็บอกข้อมูลที่จำเป็นกับกระทรวงอุตสาหกรรมและ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยทั้งหมดทั้งมวลเราจัดการกันอย่างเงียบๆ”
ไทยเป็นแนวหน้าด้านพิษวิทยาในระดับภูมิภาค
หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ชี้ว่า แพทย์ที่ทำงานด้านพิษวิทยาในประเทศอื่นมีจำนวนไม่เยอะ แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วก็ตาม แต่หากพูดถึงประเทศที่กำลังพัฒนาจะมีแพทย์ด้านนี้ค่อนข้างน้อย ท้ายที่สุดแล้ว แทบทุกประเทศประสบกับการขาดแคลนนักพิษวิทยา
องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงมีการสนับสนุนให้ตั้งศูนย์พิษวิทยามากขึ้น โดยระบุว่า ศูนย์ลักษณะนี้จะทำให้ประชาชนได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เมื่อร่างกายได้รับสารพิษเข้าไป
เขาเสริมความเป็นมาของศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีเพิ่มว่า ศูนย์พิษฯ ถูกเปิดอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 1996 โดยให้บริการ 24 ชั่วโมงและ 7 วันต่อสัปดาห์ ไม่เคยปิดเลย ตั้งแต่ 19 สิงหาคม 1996
“เราให้บริการกับหมอ พยาบาล และประชาชนตลอดเวลา ซึ่งไม่เคยคิดเงินเลยสักบาท แต่ยังโชคดีที่ได้งบสนับสนุนจากคณะแพทย์ฯ โรงพยาบาลรามาธิบดี อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปีที่แล้วเราได้เงินสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
“ประเทศเพื่อนบ้านของเรา อย่างลาวและกัมพูชาไม่มีศูนย์พิษวิทยา เวียดนามมีศูนย์พิษฯ เพียงหนึ่งที่ เช่นเดียวกับไทย มาเลเซียมีก็จริง แต่เป็นเพียงแหล่งรวบรวมเอกสารเท่านั้น ไม่มีการให้คำแนะนำจากแพทย์ ในขณะที่พม่าพยายามที่จะทำ แต่ด้วยสภาวะทางการเมืองที่ยังหนักหน่วง เลยยังไม่สำเร็จเสียที”
ทั่วโลกขาดแคลน ‘ยาต้านพิษ’ แต่ไทยสามารถส่งออก
ศาสตร์พิษวิทยา เราจะมี ‘ยาต้านพิษ’ แต่ยาพิษถือเป็นปัญหาอยู่เหมือนกัน เพราะมันคือยากำพร้า หรือ ยาที่มีความต้องการในระดับหนึ่งแต่ไม่มาก ต่างกับยาอื่นๆ เช่น พาราเซตามอล ส่งผลให้ไม่มีบริษัทไหนอยากจะผลิต เพราะความต้องการน้อย ดังนั้นทั่วโลกจึงประสบกับการขาดแคลนยาต้านพิษ
อาจารย์วินัย เล่าย้อนว่า ประมาณ 10 ปีที่แล้ว เราพูดคุยกับ สปสช.ว่า มีปัญหาขาดแคลนเรื่องยาต้านพิษ เราไม่มียาใช้ เพราะไม่มีใครนำเข้า แต่ในที่สุดเกิดการร่วมมือกันระหว่าง สปสช., อย. และองค์การเภสัชกรรม เราจึงได้รับงบประมาณมาเพื่อซื้อยาต้านพิษ โดยหนึ่งในนั้นคือยาต้านพิษไซยาไนด์
“ในปัจจุบันประเทศไทยทั้งผลิตและนำเข้ายาต้านพิษ พอมียาพอสมควร เราจึงคิดว่าต้องนำยาเหล่านี้ไปไว้แต่ละโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยเฉพาะยาต้านพิษไซยาไนด์ ที่ต้องเข้าถึงผู้ป่วยภายใน 1 ชั่วโมง”
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีเด็กเล็กอายุ 5 ปีคนหนึ่ง ได้รับสารพิษไซยาไนด์ ซึ่งโรงพยาบาลขุนยวมที่รับรักษาเด็ก ติดต่อมาปรึกษา ทางศูนย์ได้พบข้อมูลว่า เด็กได้รับสารไซยาไนด์ แต่โรงพยาบาลไม่มียาต้านพิษ แต่อีกโรงพยาบาลที่อยู่ไกลออกไปมียาดังกล่าว คณะแพทย์จากทั้ง 2 โรงพยาบาลจึงตัดสินใจเจอกันครึ่งทางที่โรงพยาบาลที่อยู่ตรงกลาง เพราะต้องทำเวลา ท้ายที่สุดเด็กก็ปลอดภัย
“ประเทศไทยดีประเทศเดียวไม่ได้ หรือมั่นคงประเทศเดียวไม่ได้ เพื่อนบ้านต้องมั่นคงด้วย พวกเราคำนึงเสมอว่า อย่างน้อยพวกเขาต้องมียาต้านพิษจำนวนหนึ่ง ที่สามารถแก้ปัญหาฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที” อาทิ ถ้าประเทศไทยเกิดเคส A บ่อยครั้ง ก็มักจะสำรองยาต้านพิษ A เยอะ แต่เมื่อใดก็ตามที่ประเทศไทยเกิดมีเคส B ขึ้นมา เราก็สามารถหยิบยืมจากประเทศเพื่อนบ้านได้
“การให้ความรู้กับประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น แต่มุมที่ให้ควรเป็นมุมที่ให้รู้ถึงอาการเจ็บป่วยที่จะเกิดขึ้น วิธีการป้องกัน และการช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้น เพราะข้อมูลบางอย่างเป็นดาบสองคม สื่อมวลชนควรพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบก่อนที่จะรายงานออกไป”