เพียงนักข่าวถามถึงนโยบายของพรรคการเมืองหนึ่ง ว่าด้วยการตัดงบกระทรวงกลาโหม 10% และยกเลิกการเกณฑ์ทหาร พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ถึงกับแนะนำเพลงเมื่อกว่า 40 ปีก่อนในยุคสงครามเย็น – เพลง ‘หนักแผ่นดิน’ – ให้คนทั้งประเทศฟัง ซึ่งหลายๆ คนบอกว่า เป็นเพลงที่ปลุกเร้าอารมณ์ของสังคมในขณะนั้น จนเกิดเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 ขึ้นมา
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ได้มีแค่พรรคเดียวที่เสนอนโยบาย ‘ปฏิรูปกองทัพ’ เป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่ใช้ในการหาเสียง แต่ยังมีพรรคอื่นๆ ที่อย่างน้อย 2-3 พรรคที่เสนอนโยบายลักษณะเดียวกัน
ลองมาดูกันซิว่า พรรคเหล่านั้นให้คำสัญญากับประชาชนว่า ถ้าได้เข้าไปบริหารประเทศจะปฏิรูปกองทัพอย่างไรบ้าง?
พรรคเพื่อไทย
– ตัดงบกระทรวงกลาโหม 10% ได้เงิน 20,000 ล้านบาท นำไปช่วยคนรุ่นใหม่ให้มีอาชีพ
– ตัดงบซื้ออาวุธที่ไม่จำเป็น
– ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนไปใช้ระบบสมัครใจ
– เพิ่มเงินเดือนและสวัสดิการของทหารชั้นผู้น้อย
พรรคอนาคตใหม่
– ปรับลดงบกระทรวงกลาโหมลง 50,000 ล้านบาท นำไปใช้พัฒนาประเทศด้านอื่นๆ
– ตั้งเพดานงบกระทรวงกลาโหม ไม่เกิน 1.1% ของ GDP หรือไม่เกิน 65.000 ล้านบาท
– ลดกำลังพล จาก 330,000 นาย เหลือครึ่งเดียว นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้แทนกำลังพล
– ลดจำนวนนายพล จาก 1,600 นาย เหลือ 25%
– ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนไปใช้ระบบสมัครใจ (ยกเว้นเกิดสงคราม)
– ให้ประชาชนและสื่อตรวจสอบการจัดซื้ออาวุธได้โดยไม่เป็นความลับ
– ให้กำลังพลมีประกันชีวิต ประกันสุขภาพกลุ่มครอบคลุมถึงครอบครัว
– ใช้ระบบเสนาธิการร่วม ให้ รมว.กลาโหม เป็นผู้ซื้ออาวุธ ย้ายกำลังพล ประกาศกฎอัยการศึก
– ยุติระบบอุปถัมภ์ ยกเลิกการแต่งตั้งให้เป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคง
พรรคเสรีรวมไทย
– ให้ทหารกลับเข้ากรมกอง เลิกยุ่งการเมือง
– นายกรัฐมนตรีมีอำนาจย้าย ผบ.เหล่าทัพ
– ตัดงบซื้ออาวุธ
– ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนไปใช้ระบบสมัครใจ
– ยุบโครงสร้างกองทัพที่ไม่จำเป็น เช่น กองบัญชาการทหารสูงสุด
– ย้ายหน่วยทหารออกจาก กทม.ทั้งหมด
– ให้มีศาลทหารเฉพาะมีสงคราม เวลาปกติให้ขึ้นศาลพลเรือน
พรรคประชานิยม
– หยุดกองทัพซื้ออาวุธ 10 ปีๆ ละ 40,000 ล้านบาท
– เปลี่ยนงบซื้อรถถัง ไปซื้อรถไถนา รถดำนา รถเกี่ยวข้าว
พรรคประชาธิปัตย์
– ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนไปใช้ระบบสมัครใจ (ยกเว้นเกิดสงคราม)
– ลดจำนวนกำลังพลที่ไม่จำเป็น เช่น ทหารรับใช้ และเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ
– ปรับโครงสร้างการทำงานของกองทัพให้สั้น กระชับ และมีประสิทธิภาพ ขจัดความซ้ำซ้อน
– ส่งเสริมมาตรการลดความรุนแรงในค่ายทหาร โดยเพิ่มบทบาทภาคประชาชนในการตรวจสอบ
– เพิ่มหลักสูตรบริการสังคม (National Community Service) เป็นทางเลือกสำหรับนักเรียน ม.ปลาย นอกเหนือจากการเรียน ร.ด.
– ส่งเสริมบทบาทกองทัพให้เข้ามาสนับสนุนในภารกิจป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ
– ส่งเสริมกองทัพให้ปฏิรูปภายใน เพื่อสร้างความไว้วางใจแก่ประชาชน
ซึ่งแตกต่างจากพรรคสำคัญๆ อีกหลายพรรค ที่ไม่ได้เสนอนโยบายปฏิรูปกองทัพ อาทิ พรรคพลังประชารัฐ, พรรคภูมิใจไทย, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคชาติพัฒนา เป็นต้น