คนที่ “สร้างโลก 2 ใบ” ไม่ได้มีแค่นักร้องชื่อดังร่างอวบ ที่กลายเป็นแฮชแท็กดัง #คบซ้อน แต่ยังรวมถึงอดีตทหาร ที่ลังเลไม่แน่ใจว่าจะเป็นนักการเมืองแล้ว หรือเป็นแค่อดีตทหารที่เล่นการเมือง ผู้บ่นตลอดว่า งานปัจจุบันมันเหนื่อย ทำแล้วไม่มีใครเห็นคุณงามความดี แต่ก็ยังไม่ยอมลุกเจ้าเก้าอี้ตัวนั้น แถมยังทำท่าจะนั่งต่อไปนานๆ เสียอีก
โลก 2 ใบของชายวัยเกษียณ ผู้อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ชอบพูดเสียงดัง และติดปากคำว่า “ปั๊ดโธ่!” มีชื่อว่า ‘พรรคพลังประชารัฐ’ กับ ‘ส.ว.แต่งตั้ง’
The MATTER จะเล่าให้ฟังว่า โลกทั้ง 2 ใบที่ว่า สำคัญอย่างไร ทำไมผู้มีอำนาจถึงทำเหมือนกันว่า คนในโลกทั้ง 2 ใบไม่รู้จักกัน แม้คนทั่วไปจะพอเดาๆ ได้ ว่าทั้งคู่มาจากต้นกำเนิดเดียวกัน และเกิดขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์อะไร
โลกที่ชื่อว่า ‘พลังประชารัฐ’
เดือนตุลาคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เดินทางไปพบ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พร้อมยืนยันว่า ภายในปี 2561 จะมีการเลือกตั้งแน่นอน หลังจากเลื่อนมา 2 ครั้ง (ซึ่งก็ไม่เป็นจริงในที่สุด เพราะต้องเลื่อนมาเลือกตั้งต้นปี 2562)
แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ระหว่างเยือนสหรัฐฯ พล.อ.ประยุทธ์ได้มีโอกาสเจอคนไทยที่ทำงานอยู่ในสหรัฐฯ และประกาศสนับสนุนให้อยู่ต่อ ที่ทำให้เจ้าตัวหลุดปากออกมาว่า “หาพรรคอยู่”
ปลายปี 2560 พล.อ.ประยุทธ์ยังใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ขยายเวลาปลดล็อก ทำให้การเลือกตั้งจะล่าช้าออกไป โดยใจความสำคัญของคำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าว คือให้พรรคการเมืองใหม่ ได้มีโอกาสเริ่มทำกิจกรรมก่อพรรคการเมืองเก่า
ต้นปี 2561 สื่อมวลชนหลายสำนักรายงานว่า สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ จะไปจัดตั้งพรรคการเมือง (ซึ่งเจ้าตัวปฏิเสธ) ก่อนที่ในเดือน มี.ค.ปีเดียวกัน จะมีการไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งชื่อคล้ายกับนโยบายประชารัฐของรัฐบาล คสช.
ขณะที่ผู้นำการรัฐประหารครั้งล่าสุด เริ่มเปรยๆ แล้วว่า “สนใจการเมือง” “เป็นนักการเมืองที่เป็นอดีตทหาร”
29 ก.ย.2561 พปชร.เปิดประชุมใหญ่วิสามัญ พร้อมเปิดตัว 4 รัฐมนตรี คนใกล้ชิดสมคิด มาเป็นหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และโฆษกพรรค และก็เริ่มมีกระแสข่าวลือหนาหูว่า เรื่อง ‘พลังดูด’ ในการดึงนักการเมืองคน.สำคัญๆ ให้เข้ามาสังกัดพรรคการเมืองที่มีแบ็กอัพดีนี้ ทั้งกลุ่มสามมิตร ตระกูลคุณปลื้ม อดีตแกนนำ กปปส. ฯลฯ
ต้นปี 2562 เมื่อการเลือกตั้งเริ่มชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค. 4 รัฐมนตรี พปชร.ก็ลาออก ก่อนจะส่งเทียบเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ ไปเป็นแคนดิเดตนายกฯ เพียงคนเดียวของพรรค ซึ่งเจ้าตัวตอบรับ
นี่คือโลกที่ชื่อว่า พปชร. ที่จะทำหน้าที่เสนอชื่อ และรวบรวมจำนวน ส.ส.ให้ได้มากพอสนับสนุน
โลกที่ชื่อว่า ‘ส.ว.แต่งตั้ง‘
จากคลิปที่วันชัย สอนศิริ ไปขอให้คนปรบมือที่เป็นผู้เสนอคำถามพ่วงจน ส.ว.แต่งตั้ง สามารถร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้ ได้นำไปสู่ความสงสัยของเรา จนค้นหาที่มาว่า การที่ให้ ส.ว.ที่ประชาชนไม่ได้เลือก มาร่วมโหวตจะให้ใครเป็นผู้นำประเทศได้ มีที่มาจากไหนกันแน่ และคำตอบที่ได้ก็มีต้นทางใกล้เคียงกับ พปชร.มากๆ
ตอนที่คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดมีชัย ฤชุพันธุ์ เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เวอร์ชั่นแรกให้ คสช. ดูช่วงต้นปี 2559 ที่มาของ ส.ว.ยังเป็นการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ และมีจำนวน 200 คน แต่ คสช. ขอให้ไปปรับแก้ ให้ ส.ว.ชุดแรกมาจากการแต่งตั้ง และเพิ่มจำนวนเป็น 250 คน (ครึ่งหนึ่งของ ส.ส.ทั้งหมด 500 คน)
ต่อมา คสช.และ ครม. ก็ลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยได้ พร้อมกับให้มี ‘คำถามพ่วง’ จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งก็เป็นองค์กรที่ คสช.ตั้งคนมาเองทั้ง 100%
วันชัยในฐานะสมาชิก สปท.ขณะนั้น ก็เสนอคำถามพ่วงให้ ส.ว.แต่งตั้ง ‘ร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้’
ในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ภาครัฐได้จับกุมดำเนินคดีผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ หรือออกมารณรงค์คัดค้านเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ-คำถามพ่วงเป็นจำนวนมาก จนที่สุดก็ผ่านประชามติ ได้รับความเห็นชอบทั้ง 2 คำถาม – รัฐธรรมนูญ 16.8 ล้านเสียง และคำถามพ่วง 15.1 ล้านเสียง
ที่มาของ ส.ว.แต่งตั้งทั้ง 250 คน เป็นโดยตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพต่างๆ 6 คน คสช.คัดจากกลุ่มอาชีพ 50 คน และ คสช.คัดจากที่ไหนก็ได้ 194 คน
ทั้งหมดจะมีส่วนร่วมในการโหวตเลือกนายกฯ ตลอดวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี โดยสามารถเลือก พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ไม่มีข้อห้ามเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน จริยธรรมหรือมารยาทใดๆ
เช่น ถ้า พล.อ.ประยุทธ์กับ คสช.เลือก ส.ว.แต่งตั้งมาแล้ว ห้าม ส.ว.แต่งตั้งเลือก พล.อ.ประยุทธ์หรือคนจาก คสช. กลับมาเป็นนายกฯ อีก ..ข้อห้ามเหล่านี้ ไม่มี
ปลายทางคือ เก้าอี้ตัวเดิม
เราไล่ไทม์ไลน์ที่มาของ พปชร. กับ ส.ว.แต่งตั้ง ให้ทุกคนได้เห็นภาพพร้อมกัน โลกทั้ง 2 ใบนี้มีจุดกำเนิดใกล้เคียงกัน และมีการตระเตรียมเอาไว้นานแล้ว
มีคนคำนวณเอาไว้ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคราวนี้มี 51 ล้านคน เลือก ส.ส.ได้ 500 คน แต่ พล.อ.ประยุทธ์กับ คสช.ไม่กี่คน กลับเลือก ส.ว.ได้ 250 คน นั่นแปลว่า พล.อ.ประยุทธ์กับ คสช.มีเสียงเท่ากับผู้มีสิทธิเลือกตั้งนับสิบๆ ล้านคนหรือไม่?
พล.อ.ประยุทธ์เคยตอบโต้เสียงวิจารณ์ว่า ส.ว.แต่งตั้งทั้งหมดจะเลือกตนให้กลับมาเป็นนายกฯ ว่า
“คุณคิดว่าคนเหล่านี้ไม่มีสมองหรือ อย่าหวงความรักประเทศชาติ รักประชาธิปไตย ไว้ให้กับนักการเมืองหรือพรรคการเมืองเท่านั้น”
ถ้านี่เป็น ‘ประชาธิปไตย 99.9%’ แบบที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยนำเสนอ
คำถามที่น่าสนใจก็คือ แล้ว ‘เสียงของประชาชน’ คนอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายของ คสช. ไม่ได้อยู่ในโลก 2 ใบที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้า มีความหมายเพียงใด ในการกำหนดอนาคตของประเทศชาติ?