หลังเลือกตั้ง เราจะได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี (ใช่ลุงคนเดิมหรือไม่) ได้พรรคไหนมาเป็นรัฐบาลกันแน่นะ?
หลายๆ คนเริ่มมองไปถึงอนาคตของประเทศหลังการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.กันแล้ว ท่ามกลางบรรยากาศการหาเสียงที่หลายๆ คนบอกว่าคึกคักที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย – ในการหย่อนบัตรที่คาดเดาผลได้ยากที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นกัน
The MATTER ก็สนใจเช่นกันว่า ประเทศไทยหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร จึงไปชักชวน 2 นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่ฮอตที่สุดในเวลานี้มาสนทนากัน คนหนึ่งถูกเรียกว่า ‘แม่หมอ’ ผู้ทำนายผลการเลือกตั้งจากสถิติและงานทางวิชาการ อีกคนถูกเรียกว่า ‘โอปป้า’ ขวัญใจนิสิตนักศึกษา ผู้อธิบายเรื่องยากให้เข้าใจง่ายๆ
ในห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราไปชวนพูดคุย (แต่ส่วนใหญ่จะนั่งฟัง) บทวิเคราะห์การเมือง ถึงอนาคตของประเทศไทยหลังเลือกตั้งครั้งแรกในรอบแปดปี จาก อาจารย์สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้ง 7 แนวทางที่เป็นไปได้หลังเลือกตั้ง? อนาคตของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นอย่างไร? ระบอบ คสช.จะคงอยู่ไปได้อีกนานแค่ไหน? และพลังของพวกเรา-คนธรรมดา จะสามารถกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง
บทสัมภาษณ์นี้ถือว่ายาวเล็กน้อยสำหรับการอ่านบนแพล็ตฟอร์มออนไลน์ แต่คงไม่ยาวนานเกินไป หากเทียบกับช่วงเวลา 8 ปีที่เราไม่มีเลือกตั้ง และหากเทียบกับช่วงเวลา 5 ปี ที่เราอยู่ภายใต้รัฐบาลที่เราไม่ได้เลือก – ที่สำคัญเราขอการันตีว่า เป็นบทสนทนาที่สนุกมากๆ (แม้ผู้ที่ถูกพูดถึงอาจไม่รู้สึกสนุกด้วย)
The MATTER: อาจารย์ทั้งสองมองการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไร ผลที่ออกจะเป็นแบบไหนได้บ้าง และจะส่งผลอย่างไรกับประเทศไทย
สิริพรรณ: คิดว่ามีทางเป็นไปได้ 5 กล่อง ซึ่ง 5 กล่องนี้บอกไว้ก่อนว่ามุมมองของตนเองไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง ก็พยายามจะวิเคราะห์อะไรอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์พอสมควร
กล่องแรกคิดว่าหลังเลือกตั้งเป็นไปได้สูงมากที่ฝั่งต่อต้าน คสช. หรือไม่เอา คสช. ได้แก่ กลุ่มแนวร่วมพรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) พรรคเสรีรวมไทย หรือว่าพรรคอื่นๆ จะได้เกิน 250 ที่นั่ง และคาดว่าจะเกินไปเยอะทีเดียว ถ้าเกิน 250 ที่นั่งถามว่าจะเกิน 375 ไหม เพราะว่าถ้าจะเลือกนายกรัฐมนตรีก็จะต้องได้เกินครึ่งของทั้ง 2 สภา ประมาณว่าไม่น่าจะถึง 375 ที่นั่ง ดังนั้นกล่องนี้ถ้าไม่ได้คะแนนหนุนจาก ส.ว.ซึ่งจะถูกแบ่งมาจาก 250 คน ถามว่าจะได้สัก 100 คนไหม ถ้าไม่ได้ 100 คนหรือไม่ถึง 375 คนก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ กล่องนี้ก็พับไป
กล่องที่ 2 ซึ่งเป็นกล่องที่ชัดเจนที่สุด ใครๆ ก็คาดการณ์คือการกลับมาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ได้เสียงสนับสนุนจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แต่ตอนนี้คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ก็บอกชัดเจนว่าไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แล้วถ้าเกิดเราประเมินไปแล้วพรรคพลังประชารัฐน่าจะได้คะแนนไม่ถึง 100 หรือต่ำกว่านั้นมาก ช่องทางนี้ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ หมายความว่าเป็นการตั้งรัฐบาลใหม่
กล่องที่ 3 พรรคประชาธิปัตย์ถ้าเกิดไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ คุณอภิสิทธิ์ขึ้นมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเอง รวมกับพรรคอื่นๆ ทั้งหมด แต่คุณอภิสิทธิ์ประกาศบอกไม่เอาเพื่อไทย ถามว่ากลุ่มนี้จะถึง 251 คนไหม คำนวณดูแล้วก็ไม่ถึงอีกเหมือนกัน
ภายใต้การเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าเราดูผลแล้ว สิ่งที่เกิดมากที่สุดก็คือการ deadlock หมายถึงว่า 2 ฝั่งที่เอาและไม่เอาคสช. มันไม่ชนะกันเด็ดขาด ฝั่งหนึ่งตั้งรัฐบาลได้ แต่เลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ เพราะไม่ถึง 375 อีกฝั่งหนึ่งอาจจะได้ ส.ส. 126 บวกกับ ส.ว.250 แต่ก็จะเป็นคำถามว่าจะอยู่ได้อย่างไรในเมื่อเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย คุณอาจจะมีงบประมาณผ่านได้ ถ้าให้ สนช.ผ่านไปก่อนกันเหนียว เพื่อให้ปีหน้าอยู่รอดไป 1 ปี ให้ สนช.โหวตพระราชบัญญัติงบประมาน แต่พอไปครบหนึ่งปี เกิดฝ่ายค้านที่เป็นเสียงข้างมากอยู่ในสภาอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลเสียงข้างน้อยก็อยู่ไม่ได้ อันนี้เป็นความสุ่มเสี่ยง
ดังนั้นถ้ามันเป็นการเผชิญหน้า 2 ฝั่งที่ไม่ได้มีใครมีเสียงข้างมากเด็ดขาด และที่สำคัญรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดระยะเวลาเด็ดขาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาเท่าไรในการเลือกนายกฯ ก็จะยื้อไปได้เรื่อยๆ สิ่งที่จะเห็นหลังการเลือกตั้งคือสุญญากาศทางการเมือง แน่นอนในระหว่างนั้น พล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ พร้อมกับ คสช.และอำนาจเต็มของมาตรา 44 เชื่อว่าความไม่สงบ แรงกระเพื่อม แรงเสียดทานทางการเมืองสูงมากแน่นอน ดังนั้นถึงจุดหนึ่งอาจจะมีคนบอกว่าเราไม่เอาแล้วบรรยากาศที่เราไปไหนกันไม่ได้ก็จะมีการเปิดล็อกใช้มาตรา 272 ให้มีนายกฯ นอกเหนือจากลิสต์ที่ได้เลือกมาไว้ เพราะมันเลือกนายกฯ ไม่ได้ นี่คือกล่องที่ 4
ประจักษ์: นายกคนนอก
สิริพรรณ: ใช่ นายกคนนอก ก็คือเป็นรัฐบาล ที่จริงไม่อยากใช้ ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ เพราะคำว่ารัฐบาลแห่งชาติ มันเหมือนไม่มีฝ่ายค้านใช่ไหม อาจารย์
ประจักษ์: อันนี้ก็ยังมีฝ่ายค้านอยู่
สิริพรรณ: ดังนั้นต้องแยกจากรัฐบาลแห่งชาตินะคะ เพียงแต่ว่ามีนายกฯ คนนอกเฉยๆ แต่ถ้ากรณีนี้รัฐบาลนี้ก็ควรมีความชอบธรรมเป็นแค่รัฐบาลชั่วคราวเนอะ
ประจักษ์: เพียงแต่ว่านายกฯ คนนอก พอตั้งขึ้นมาแล้วพรรคไหนจะไปหนุนนายกฯ คนนอกคนไหนบ้าง อันนั้นก็เป็นอีกคำถามหนึ่ง
สิริพรรณ: ใช่ ซึ่งมันต้องใช้ 500 เสียง ปลดล็อกจากทั้งหมด 750 เสียง แต่ว่า ณ จุดนั้นถ้าเกิดสังคมไม่มีทางออกก็อาจจะเป็นไปได้ รอฟังอาจารย์ประจักษ์วิเคราะห์
อีกกล่องสุดท้ายที่เป็นไปได้ กล่องที่ 5 คือ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อหลังการเลือกตั้ง มีมาตรา 44 มี คสช.ไปเรื่อยๆ พอถึงจุดหนึ่งไม่เอาแล้วก็อาจจะใช้อำนาจยุบสภาก็ยังได้อยู่ หรือโมฆะการเลือกตั้งทางใดทางหนึ่ง ถ้าหากมองว่าการจัดการเลือกตั้งในบางจุดมันไม่ค่อยเป็นมาตรฐานสากล หรือแม้แต่ถ้า กกต.เกิดพลาดขึ้นมาไม่สามารถประกาศรับรองการเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดก็คือ 6 เดือนหรือ 180 วันหลังที่กฎหมายลูก 4 ฉบับประกาศใช้ ซึ่งมันจะตรงกับวันที่ 9 พ.ค.นี้ ซึ่งอันนี้ก็อยู่ที่การตีความของศาลรัฐธรรมนูญอีกเหมือนกันว่าถ้าประกาศไม่ได้อยู่ในกำหนดระยะเวลาจะถือว่าเป็นการทำให้การเลือกตั้งโมฆะไปหรือเปล่า หรือแม้แต่การเลือกตั้งมีคำถามมากเรื่องการจัดการเลือกตั้ง อันนี้ก็ไม่ใช่อำนาจเด็ดขาด แต่อันนั้นก็ยังเป็นโอกาสได้
ประจักษ์: ถ้าโมฆะการเลือกตั้งมันก็จะนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ ยังไงก็ต้องจัดเลือกตั้งใหม่
สิริพรรณ: ใช่ ยังไงก็ต้องเลือกตั้งใหม่ แต่ก็จะยื้อไปอีกสักระยะหนึ่งได้ ระหว่างนั้นเราก็ไม่รู้ว่าจะมีการกวาดล้าง เก็บกวาดอะไรบ้าง
ประจักษ์: ซึ่งครั้งที่แล้วสุญญากาศตรงนั้นมันเกิดการรัฐประหารในที่สุด
สิริพรรณ: (หัวเราะ) ถูกต้อง
ประจักษ์: เพราะว่าการโมฆะเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ด้วยการที่บอกว่าจัดการเลือกตั้งไม่สามารถทำครบได้ทั้งประเทศ ทุกเขตจึงโมฆะ แล้วจริงๆ ตอนนั้นก็มีการกำหนดการเลือกตั้งใหม่แล้ว ในที่สุดก็เกิดการรัฐประหาร
สิริพรรณ: ใช่ แล้วอาจารย์คิดว่าจะมีการรัฐประหารขึ้นมาใช่ไหมคะ
ประจักษ์: ในกล่องของอาจารย์ทั้งหมดยังไม่มีการรัฐประหาร
สิริพรรณ: ยังไม่มีเพราะยังไม่อยากเห็น
ประจักษ์: มันมีอีก 2 กล่องที่เกิดขึ้นได้ ถ้าเสริมขึ้นไป ซึ่งกล่องหนึ่งคือการรัฐประหารเลย แต่ว่าอาจารย์ไม่อยากเห็นความขัดแย้ง
สิริพรรณ: ไม่อยากเห็นเลย ไม่อยากใส่ไว้ในกล่องของตัวเอง
ประจักษ์: ผมว่าไม่มีใครอยากเห็น เพราะว่าการรัฐประหารถ้าเกิดขึ้น ครั้งนี้จะจบไม่สวยงาม มันจะไม่ smooth เหมือนปี 2557 มันจะเป็นการรัฐประหารที่นำไปสู่ความรุนแรงได้ง่ายมาก เพราะว่าสังคมรอมา 5 ปีแล้ว แล้วมาเลือกตั้ง แล้วอยู่ๆ มารัฐประหาร ครั้งที่แล้วมันยังเหมือนเกิดทางตัน อย่างน้อยใช้ข้ออ้างในเลือกความไม่สงบ มีความรุนแรงในท้องถนน แต่ครั้งนี้มันไม่มีความรุนแรงในท้องถนน แล้วจริงๆ ทุกคนก็ไปเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกระบวนการใช้สิทธิอย่างสันติวิธีแล้วที่สุด ทีนี้มาเลือกตั้งแล้วยิ่งคนไปใช้สิทธิเยอะ 80-90% ผมคิดว่าคนไม่ยอมรับ
สิริพรรณ: ใช่ หรือแม้แต่โมฆะการเลือกตั้งก็ถือว่าใจร้ายกับคนที่ออกไปใช้สิทธิครั้งนี้มาก เพราะมันเป็นการใช้สิทธิที่เต็มไปด้วยความรู้สึกหวงแหนการเลือกตั้ง แล้วสิทธิของตัวเอง
ประจักษ์: ใช่ ยิ่งเป็นโมฆะที่เป็นความผิดของการจัดเลือกตั้งเอง ไม่ใช่ความผิดของประชาชน คนก็บอกถ้าอย่างนั้น คุณทำผิดเอง คุณทำหน้าที่บกพร่อง แล้วก็ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
สิริพรรณ: ถึงเห็นว่าจริงๆ ใส่กล่องไว้สุดท้ายคือไม่อยากเห็น และมันไม่ควรเป็นอย่างนั้นตามมาตรฐานสากล แต่พอสังคมไทยใครๆ ก็บอกว่า “อะไรก็เกิดขึ้นได้” เลยต้องพิจารณาหน่อยหนึ่ง
ประจักษ์: ผมก็คิดว่าเราตัดอันนี้ไม่ได้ แม้ว่ามันจะเป็น scenario ที่เราไม่อยากให้เกิด ประเทศไทยมีความพยายามรัฐประหารมาแล้ว 20 ครั้ง แล้วก็ทำสำเร็จ 13 ครั้ง แล้วในรอบสิบปีที่ผ่านมาก็มีแล้ว 2 ครั้ง จริงๆ ทั้งปี 2549 และ 2557 ก่อนหน้านั้นก็ไม่มีใครคิดว่าจะเกิด สุดท้ายแล้วเราก็ตัดความเป็นไปได้นี้ออกไปทั้งหมดไม่ได้ โดยเฉพาะตอนนี้ก็เริ่มมีคนออกมาโพสต์ เป็นนักการเมืองเอง ลงสมัครเลือกตั้ง แต่มาโพสต์ว่าถ้าฝ่ายตัวเองไม่ชนะ ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวยังไงก็มีการปฏิวัติแน่
สิริพรรณ: ใช้คำว่าปฏิวัติด้วย ไม่ใช่คำว่ารัฐประหาร
ประจักษ์: ใช้คำว่าปฏิวัติอาจจะสะท้อนวัย
สิริพรรณ: ใช่ (หัวเราะ)
ประจักษ์: มันเหมือนกับการขู่กรรโชกทางการเมือง ผมว่ามันสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่ดี แต่หมายความว่ามันอาจจะมีการคิดอย่างนี้อยู่จริง
สิริพรรณ: อาจารย์คิดว่ามันจะเป็นการรัฐประหารเหมือนกับในอดีต เหมือนปี 2549 หรือปี 2557 ไหมคะ หรือมันจะมีหน้าตาที่ต่างไปจากเดิม
ประจักษ์: ผมคิดว่ารัฐประหารแบบเดิม แบบที่เรียกว่า classic coup d’etat ยากแล้วที่เอารถถังออกมาเลย ไปยึดสถานีโทรทัศน์
สิริพรรณ: โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง
ประจักษ์: โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง ก็คือแบบ military coup d’etat มันยาก เพราะครั้งนี้คนจะไม่ยอมรับ มันไม่มีข้ออ้างความชอบธรรมเลย มันก็จะเป็นการรัฐประหารที่เขาเรียกว่า naked เปลือยเปล่า เป็นการยึดอำนาจโดยไม่มีความชอบธรรมเพื่อรักษาอำนาจไว้ให้กลุ่มตัวเองเท่านั้น ผมคิดว่ารัฐประหารที่เกิดขึ้นมันจะต้องแนบเนียนกว่านั้น คือจะเป็นรัฐประหารเงียบในสภา จะเป็นรูปแบบนั้นมากกว่า
สิริพรรณ: เป็น silence coup
ประจักษ์: เป็น silence coup คล้ายกับถ้าย้อนไปไกลสมัยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ปี 2476 มันจะมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งวุฒิสภาจะมี ผบ.เหล่าทัพอยู่ 6 คนโดยตำแหน่ง โดยอัตโนมัติ ทีนี้ผมคิดว่า ส.ว.แต่งตั้งจะมีความสำคัญ ถ้ารัฐบาลเงียบจะเกิดขึ้น คือหมายความว่าถ้าผลการเลือกตั้งออกมาไม่เป็นไปตามที่คาดคิดแล้วไม่สามารถ secure ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้
ทีนี้จะทำอย่างไรไม่ให้ระบอบทั้งหมดล่มสลาย สิ่งที่ทำมาทั้งหมด ‘เสียของ’ พูดง่ายๆ มันอาจจะมีความพยายามเซฟระบอบอำนาจนี้เอาไว้ แต่เปลี่ยนตัวหัว เปลี่ยน พล.อ.ประยุทธ์
สิริพรรณ: เด็ดหัว
ประจักษ์: เด็ดหัวเป็นคนอื่น เก็บกล่อง เก็บโครงร่างเอาไว้ ซึ่งตรงนี้แหละที่วุฒิสภาที่มี ผบ.เหล่าทัพคุมอยู่ เป็นเหมือนผู้คุม คอนโทรลเสียงได้ก็จะมีบทบบาทสำคัญในการที่จะต้องคอนโทรลเสียง และเปิดช่องไปสู่นายกคนนอก และถ้าสถานการณ์วิกฤติมากๆ ก็จะต้องไปบีบพรรคการเมืองต่างๆ ให้มันรวมเสียงกัน ซึ่งจังหวะนั้น 500 เสียงไม่ยากแล้ว
สิริพรรณ: ใช่ แต่อันนี้มันก็จะไปตรงกับรัฐบาลนายกคนนอก ที่มีวุฒิสภาโดยมี ผบ.เหล่าทัพโดยตำแหน่งเป็นวิป แต่มันก็จะไม่ไปสู่การรัฐประการ ยกเว้นกรณีรัฐบาลนายกคนนอกตั้งไม่ได้ ตามใจปรารถนา
ประจักษ์: ใช่ แต่ว่ามันจะเป็นการรัฐประหารในแง่ที่ว่าฝืนเจตนารมณ์ประชาชน ช่องนี้จะเกิดขึ้น ผมคิดว่าถ้าจะรวม 500 เสียง เสียงที่จะไปเอาจากสภาผู้แทนราษฎร 250 เสียงมันจะไม่ใช่เสียงแบบสมัครใจ มันจะต้องไปบีบบังคับ ทั้ง พปชร.เองด้วยที่จะต้องไปบีบให้ไม่ดื้อดึงที่จะโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องไปโหวตให้คนใหม่ มันจะต้องมีกระบวนการตรงนี้เกิดขึ้น สมมติประชาชนเทคะแนนเสียงไปข้างหนึ่งมากเลย ถล่มถลายแต่ก็ยังไม่ถึง 376 แล้วมาบีบกันอย่างนี้ผมคิดว่ามันก็คือการรัฐประหารในทางที่ว่าไม่เคารพเสียงของประชาชน
สิริพรรณ: แต่การเปลี่ยนหัวของ คสช. เอา พล.อ.ประยุทธ์ก็จะเกิดแรงกระเพื่อม
ประจักษ์: ใช่ มันก็ไม่ง่าย ผมคิดว่ามันจะมีแรงกระเพื่อมเยอะ ระบอบนี้ที่เราอาจจะเรียกว่า ‘ระบอบ คสช.’ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตรแล้วก็มีนายทหารที่มาบริหารประเทศในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้เป็นกลุ่มชนชั้นนำในตัวเองแล้ว ก็ได้ลงแรงทำอะไรมามากใน 5 ปี อยู่ดีๆ ถ้าเกิดมีรัฐประหารเงียบแล้วเอาเขาลงจากอำนาจแล้วไม่มีตำแหน่งไปรองรับให้เขา ผมว่ามันไม่ง่าย จะเอา พล.อ.ประยุทธ์ไปอยู่ไหนนั่นคือคำถาม
ถ้าเป็น scenario นี้ก็เหมือนเป็นการหักกันในหมู่ชนชั้นนำด้วย ตรงนี้แหละ ความขัดแย้งจะไปเกิดที่หมู่ชนชั้นนำก่อนที่จะลามมายังประชาชน
แต่มันยังมีอีก scenario หนึ่ง อันนี้ scenario แบบโลกสวยคือว่ามันอาจจะเป็นไปได้ แม้ว่ายากในเชิงปฏิบัติตอนนี้ แล้วก็ในเชิงตัวเลขผลการเลือกตั้ง แต่ในทางทฤษฎีมันยังเป็นไปได้ใช่ไหมอาจารย์ ที่ฝั่งที่เรียกคร่าวๆ ว่าฝั่งพรรคขั้วประชาธิปไตยได้เสียงถึง 376 เสียง
สิริพรรณ: พี่พยายามคิดแล้ว แต่บวกไว้มันยังไม่ได้
ประจักษ์: สมมติรวมทุกพรรคด้วย รวมพวกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) ตัดแค่เหลือ ปชป. กับ พปชร.
สิริพรรณ: กรณีนี้จะเกิดขึ้นก็คือ ปชป.และ พปชร. สองพรรครวมกันได้ไม่ถึง 125 เสียง ซึ่งหมายความว่าทั้งคู่ต่ำกว่า 100 เสียงทั้งคู่ และก็ต่ำมากคือประมาณ 60 เสียง กรณีนี้ในแง่ทฤษฎี แม้แต่ในแง่ปฏิบัติก็เป็นไปได้ แต่ดูยากมาก เพราะว่าเชื่อว่าตอนนี้ทางฝ่าย พปชร.กับ คสช.ก็ทำโพลของเขาเอง แล้วถ้าแนวโน้มเป็นแบบนั้นก็น่าจะมีปฏิบัติการบางอย่างเพื่อไม่ให้เกิดขึ้น
ประจักษ์: โพลตอนนี้เกิน 150 ที่นั่งไหม ทั้งสองพรรครวมกัน
สิริพรรณ: ไม่ทราบว่าโพลเขาว่าอย่างไรในทางปฏิบัติ แต่เราอย่าลืมว่าเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. จริงๆ กกต.มีระยะเวลา 60 วันในการประกาศเพื่อไม่ให้ผิดไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งบอกว่าต้องประกาศภายใน 180 วัน ต้องประกาศภายในวันที่ 9 พ.ค. ซึ่งมีเวลาประมาณ 45 วัน ใน 45 วันเราจะเห็นการให้ใบสีต่างๆ เราจะเห็นการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา
ซึ่งตัวเลขตรงนี้มันอาจจะทำให้ 125-126 ที่นั่งของ ปชป. พปชร. มันขยับขึ้นได้ ทีนี้ถ้าเรามองในสมมติฐานที่อาจารย์ว่าว่าอันนี้คือการลงทุนมา 5 ปี อันนี้คือการลงแรงอย่างหนัก คิดว่าวิธีที่จะง่ายที่สุดสำหรับเขาไม่ให้ไปไกลถึงรัฐประหารหรือการเปลี่ยนหัวหน้า คสช. วิธีนี้จะง่ายกว่าก็ยังไงต้องให้เกิน
ประจักษ์: ก็ยังไงต้องให้เกิน มีการใช้กลไกรัฐ มันก็จะเหมือนการเลือกตั้งปี 2500 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม การเลือกตั้งสมัยจอมพลถนอม มันจะเป็นเรื่องของกลไกรัฐที่มาช่วย
สิริพรรณ: ดังนั้นเลยคิดว่าทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติมันเป็นไปได้ แต่ก็มีวิธีการปฏิบัติที่จะทำให้เป็นไปไม่ได้
ประจักษ์: ผมลองสมมติ ถ้ามันเป็นไปได้
มาเลเซียมันเคยเกิดสึนามิทางการเมืองที่พรรค UMNO รัฐบาลเดิมแพ้การเลือกตั้ง แล้วแพ้เยอะมาก เป็นแพ้แบบที่ประชาชนออกไปแบบโหวตเพื่อลงโทษ punish vote ฝ่ายที่กุมอำนาจอยู่ให้ออกจากตำแหน่ง เพราะฉะนั้นมันแพ้อย่างเละเทะเลย ซึ่งคนไม่คาดคิด ส.ส.เบอร์ระดับรัฐมนตรีก็ยังแพ้ ส.ส.หน้าใหม่ คือถ้ามันเกิดอย่างนั้นมันก็อาจจะเป็นไปได้ ต้องเกิดสึนามิทางการเมือง ผมลองคิดตัวเลขเล่นๆ ถ้าพรรคประชารัฐได้ 30 แล้วประชาธิปัตย์ได้ 95 เสียง
สิริพรรณ: หรือต่ำกว่านั้นก็เป็นไปได้ 80 เสียง
ประจักษ์: ก็เป็นไปได้ สมมติ 30 เสียง 95 เสียง รวมกันก็เป็น 125 เสียง 2 พรรคนี้รวมกัน ซึ่งถามว่าเป็นไปได้ไหมตัวเลขนี้ก็เป็นไปได้นะ
สิริพรรณ: สองพรรครวมกันได้ประมาณ 120 เสียง เป็นไปได้ แต่อย่างที่บอกจริงๆ ไม่ได้ปฏิเสธกล่องนี้ แต่ที่บอกก็คือว่าเราจะเห็นตัวเลขพวกนี้ที่ประมาณการณ์ในคืนวันที่ 24-26 มี.ค. ก็แล้วแต่ แต่ตัวเลขที่ประกาศโดย กกต.ก็อาจจะไม่ใช่ตัวเลขนี้
ประจักษ์: ใช่ เพราะมันจะมีการใบสีต่างๆ อีก และการเลือกตั้งใหม่ แต่ผมคิดว่าอันหนึ่งที่คนยังไม่ได้พูดกันมากนักก็คือ ‘งูเห่า’ แต่เวลาพูดเรื่องงูเห่า จะพูดถึงงูเห่าใน ปชป. พท. แล้วงูเห่าพวกนี้จะย้ายไปโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ในทางกลับกันมันเป็นไปได้ที่ พปชร.จะมีงูเห่า ในความหมายที่ว่าคือคนอาจจะคิดว่าเราพูดเล่นนะ แต่ถ้าไปดู พปชร.รวมหลายกลุ่มการเมืองเข้าด้วยกัน เป็นพรรคเฉพาะกิจ ไปดูด ส.ส.มาจากพรรคอื่น แล้วถึงนาทีนั้นสมมติถ้าได้คะแนนเสียงน้อยมาก เป็นไปได้ที่ ส.ส.เก่าบางคนที่ย้ายมาจาก พท. เขาอาจจะกลับไปต้นสังกัดเดิมก็ได้ เพราะว่า พปชร.ไปไม่รอดแล้ว หลายคนย้ายไปเพราะโดนบีบก็มี ย้ายไปเพราะข้อกฎหมาย ไม่เต็มใจ เราจะเห็นว่าผู้สมัครบางเขตหาเสียงแบบครึ่งๆ กลางๆ พวก ส.ส.เหล่านี้ที่เป็น ส.ส.เก่าของเพื่อไทยฉะนั้นเมื่อถึงจังหวะนั้น พปชร.ก็อาจจะมีงูเห่าก็ได้ 3-5 คน
สิริพรรณ: เป็นไปได้ แต่อันนี้อาจารย์ก็ลาเวนเดอร์เต็มทุ่งเหมือนกัน
ประจักษ์: อืม ลาเวนเดอร์ อันนี้ลาเวนเดอร์ (ยิ้ม)
สิริพรรณ: (หัวเราะ) แต่ถ้าเรามองความเป็นไปได้มีอะไรบ้าง อันนี้เป็นกล่องหนึ่งที่เป็นไปได้จริงๆ แต่ก็ยังอยู่ในสมมติฐานเดิมว่าอีกฝั่งหนึ่งก็คงไม่ยอมในเกมนี้ง่ายๆ แต่ทั้งหมดนี้ก็อยู่ที่พลังของคนว่าเราจะออกไปเลือกตั้งในลักษณะไหนบ้าง ซึ่งเราก็ไม่อยากชี้นำใช่ไหม
ประจักษ์: ใช่ๆ ห้ามชี้นำ แต่ผมคิดว่าประเด็นที่อาจารย์พูดมาสำคัญคือการเลือกตั้งครั้งนี้มันจะไม่จบในวันที่ 24 มี.ค. โดยเฉพาะถ้าผลมันออกมาแล้วมันไม่เป็นไปตามที่คาดคิด มันจะมีกระบวนการหลังวันที่ 24 เพราะมันเปิดช่องเอาไว้ กกต.ยังมีอำนาจให้ใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง ใบดำได้ แล้วมันจะเปลี่ยนผล
สิริพรรณ: แล้วสองประเด็นที่น่าสนใจคือว่าปกติรัฐธรรมนูญจะให้ระยะเวลาแค่ประมาณ 30 วันที่ กกต.จะประกาศผล ครั้งนี้ให้ถึง 60 วันซึ่งยาวมาก คือจริงๆ ที่เราคุยกันนอกรอบ อะไรก็ตามที่อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกนำมาใช้ทุกเม็ดเลย
ประจักษ์: เขาไม่ได้ร่างไว้เล่นๆ
สิริพรรณ: ใช้คุ้มมาก 60 วันก็เป็นมาตรการหนึ่งที่จะให้ระยะเวลาในการชะลอการจัดตั้งรัฐบาล และให้มีภารกิจบางอย่าง แล้วที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการตั้ง ส.ว. เราจะไม่เห็นรายชื่อ ส.ว. จน กกต.ประกาศผลอย่างเป็นทางการไปแล้ว 3 วัน
ประจักษ์: ซึ่งอันนี้ประหลาดมาก
สิริพรรณ: เหตุผลคืออะไรก็ไม่แน่ใจ รายชื่อ ส.ว.จะเป็นตัวแปรสำคัญทีเดียว โดยเฉพาะถ้าคะแนนมันปริ่มแบบ 375 กับ 125 มันออกทางไหนก็ได้ งูเห่าเป็นได้ทั้งสองทาง ส.ว.ก็จะเป็นตัวแปรหลัก ดังนั้นรายชื่อ ส.ว.ก็จะเข้มข้น และมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นอีก
ประจักษ์: จริงๆ น่าประหลาดที่เหตุผลอะไรไม่ประกาศก่อน เพราะตั้งเสร็จไปแล้ว ก็หมายความว่าคือถ้าคนคิดในแง่ร้ายแสดงว่ารายชื่อมันเปลี่ยนได้ใช่ไหม ถ้ามันลึกลับขนาดนั้นจนวินาทีสุดท้าย
สิริพรรณ: อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่เราคงไม่มีคำตอบ
ประจักษ์: ส.ว.เป็น black box เป็นกล่องดำ ซึ่งมันจะมากำหนดผลการเลือกตั้ง
The MATTER : เป็นไปได้ไหมว่า ส.ว.แต่งตั้ง จะเสียงแตก
ประจักษ์: เป็นไปได้แน่ๆ คือทั้งหมดขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้ง ส.ส.ว่าจะออกมาทิศทางไหน แล้วตรงนั้นแหละ มันก็จะเกิดกระบวนการล็อบบี้ แล้วก็วิ่งเต้นกัน ซึ่งตรงนั้นมันจะมีตัวละครนอกสภาเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อที่จะเข้าใจการเลือกตั้งครั้งนี้แล้ววิเคราะห์การเลือกตั้งครั้งนี้ มันจะไปวิเคราะห์แค่ตัวพรรคการเมือง และผู้เล่นในสนามไม่ได้ จะมีการ approach หนักเป็นรายบุคคลเลย สมมุติถ้าเสียงมันใกล้กันมาก ไม่ต้องไปบีบเยอะ แค่ได้มา 10-15 เสียง แล้วตอนนั้นเสียงของ ส.ว.ก็จะมีความหมาย
The MATTER : หลายคนมองว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งนี้ เหมือนเป็นการซ้อมใหญ่ เพราะว่าเป็นไปได้ที่มีเกิดการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่วันเร็วขึ้น
ประจักษ์: ก็ดูแล้วมันมีแนวโน้มเป็นแบบนั้น
ผมเองก็เคยพูดไว้ตั้งแต่ต้นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มันเหมือน test นะ เหมือนการทดสอบ คือกติกาใหม่ ทุกคนก็ลองหมด มันเป็นการทดลองนะ experiment น่ะ ซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ เช่นฝั่ง พท.ที่มาแตกพรรค มันอาจจะไม่ใช่ยุทธวิธีที่ดีก็ได้ คิดว่านี่คือการแก้เกม แล้วมาแบ่งพื้นที่กัน
จริงๆ ถ้าดูในแง่การแข่งขัน ในเกมนี้คุณส่งพรรคเดียวเป็นพรรคใหญ่ก็ได้ แล้วส่งให้ครบทุกเขต ไม่ต้องไปแตกพรรค voter ก็สับสนจะเลือกพรรคไหนเป็นพรรคพี่-พรรคน้อง คือแล้วให้ชนะทุกเขตถล่มถลาย คุณมีโอกาสเกิน 250 ด้วยซ้ำ โดยที่ไม่ต้องแตกพรรค ผมก็พูดตั้งแต่ต้นแล้ว ผมก็ไม่เข้าใจยุทธศาสตร์ที่มาแตกพรรค แต่ว่ามันก็วิธีคิดอยู่ว่าเขากลัวจะไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์ แต่ทั้งหมดนี้ประเด็นก็คือมันเป็นการทดลอง
สิ่งที่เป็นปริศนาคือผู้เลือกตั้ง 8 ปีผ่านไปที่ไม่มีใครได้ใช้สิทธิ์เลย ตอนนี้ภูมิทัศน์เปลี่ยนไปเขาก็ตัดสินใจอะไรในหัว เขาเลือกเพราะอะไร เลือกเพราะปากท้อง เลือกเพราะอุดมการณ์ประชาธิปไตย เลือกเพราะอยากให้ประเทศหน้ามันเดินต่อไปได้สักที
สิริพรรณ: หรือเลือกเพราะความโกรธ
ประจักษ์: เลือกเพราะความโกรธ (หัวเราะ) มันมีหลายอย่างผสมกัน เพราะฉะนั้นทุกคนก็ทดลอง เป็นสนามทดลอง อนค.ก็คาดว่าจะชนะเสียงในเมือง เสียงของคนรุ่นใหม่ พอเลือกตั้งเสร็จวันที่ 24 มี.ค. คืนนั้นแหละจะรู้ว่าสิ่งที่เรียกว่าพลังของคนรุ่นใหม่มันมีอยู่มากน้อยแค่ไหน แล้วหลังจากวันนั้นทุกคนจะรู้ว่าตัวเองมีหน้าตักเท่าไร มีต้นทุนอยู่เท่าไร ประมาณไหน แล้วถ้ามันต้องยุบสภาภายใน 1-2 ปี ไอ้การเลือกตั้งครั้งใหม่นี่แหละจะเข้มข้นกว่านี้ แล้วแต่ละพรรคจะมีความพร้อมยิ่งกว่านี้ มาพร้อมยุทธศาสตร์ที่มันเห็นแล้วว่าต้องทำประมาณไหน
สิริพรรณ: มองคล้ายๆ อาจารย์ประจักษ์แต่ระยะเวลาอาจจะสั้นลงมาหน่อยหนึ่ง
ประจักษ์: สั้นกว่า 1 ปีอีกเหรอ อาจารย์
สิริพรรณ: คือไม่ถึง 2 ปี เป็นไปได้ว่าจะเป็นปีหน้า
ประจักษ์: ปีหน้า ต้นปี หรือว่า…
สิริพรรณ: อาจจะกลางปี!
ประจักษ์: แต่มีหมอดูบอกว่าเดือน ต.ค.ก็ได้เลือกตั้งใหม่แล้ว อันนี้มาแปลกมาก
สิริพรรณ: หมอคนไหน อาจารย์
ประจักษ์: บอกไม่ได้ แต่หมอคนนี้เขาแม่นมา ตอนเหตุการณ์ 8 ก.พ. ผมไม่บอกละกันว่ามันยังไง
สิริพรรณ: อาจารย์เดี๋ยวต้องขอนอกรอบ จะดูดวงส่วนตัว (หัวเราะ)
ประจักษ์: หมอดูบอกว่านายกคนใหม่จะอายุมาก แต่อยู่ได้แค่เดือน ต.ค.นี้ อันนี้ก็ฟังหูไว้หู หมายถึงคือยังไม่เห็นบทวิเคราะห์ไหนคิดว่ารัฐบาลใหม่จะอยู่ครบเทอม ไม่ว่าฝ่ายไหนชนะ
สิริพรรณ: ย้อนกลับมาในกล่องที่ 4 (นายกฯ คนนอก) ซึ่งจริงๆ คิดว่าเป็นกล่องที่เป็นไปได้มากที่สุด แล้วก็เป็นกล่องที่สร้างความวุ่นวาย และความไม่มีเสถียรภาพ น้อยที่สุดอาจจะไม่ได้เป็นประชาธิปไตย 100% อย่างที่หลายคนอยากเห็น แต่ถ้าเกิดกล่องที่ 4 ทำงานจริงๆ รัฐบาลที่มีนายกฯ เป็นคนนอกจะประกาศอย่างชัดเจนตั้งแต่แรกว่าจะอยู่เพื่อทำภารกิจบางอย่าง อย่างเช่น แก้รัฐธรรมนูญในบางมาตราโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องระบบเลือกตั้งซึ่งไม่เป็นคุณกับใครเลย
ทีนี้ขอพูดนิดนึงเกี่ยวกับกรณี พท. เห็นด้วยมาก (ลากเสียงยาว) คือจริงๆ พูดทั้งในที่สาธารณะ และในกลุ่มที่เราคุยกันเองนะคะว่าเพื่อไทยครั้งนี้มองเกมการเมืองมากเกินไป สิ่งที่มันสูญเสียไปเลยคือความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง เพราะว่าเพื่อไทยในอดีตเป็นพรรคที่ส่งผู้สมัครครบมาตลอด
ประจักษ์: เป็นพรรคใหญ่อันดับหนึ่ง
สิริพรรณ: เป็นพรรคใหญ่อันดับหนึ่ง แล้วคุณส่งไม่ครบ 350 ส่งแค่ 250 ซึ่งถ้าส่งไปทั้งหมด 350 แล้วสู้ไปตามกติกา แล้วยืนหยัดนะคะ ใช้นโยบาย ผู้สมัครที่มันชัดเจนมันอาจจะได้คะแนนถล่มถลายมีโอกาสได้มากกว่า 250 ด้วยซ้ำไป พท.ในอดีตเคยได้ 60% เกิน 60% ด้วยซ้ำไป อันนี้ภายใต้กติกาใหม่
อยากให้สิ่งที่การเมืองทบทวนก็คืออยากให้ใช้กลยุทธเลือกตั้ง หาเสียงที่มันจริงใจมากกว่าจะพลิกเกม แล้วทำให้กติกาที่มันบิดเบี้ยวอยู่แล้ว ยิ่งบิดเบือนเข้าไปใหญ่ อันนี้ก็ถือว่าเป็นบทเรียนสำหรับทุกฝ่าย ซึ่งในกติกาใหม่เราก็ไม่รู้ว่าจะออกแบบมาเพื่อลดทอนพรรคไหน
แต่สิ่งที่อยากจะบอกก็คือว่าคนออกแบบสถาบันทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการเลือกตั้งและระบบเลือกตั้ง อย่าหวังว่าคุณจะควบคุมพฤติกรรมประชาชนได้ เพราะประชาชนเป็นตัวแปรที่อ่อนไหวที่สุด เปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด มีทั้งเหตุผล อารมณ์ ความโกรธ ความรัก ความชอบ ดังนั้นคุณไม่สามารถจะไปกำกับพฤติกรรมตรงนี้แล้วหวังว่าออกแบบระบบเลือกตั้งมาเพื่อจะลดทอนพรรคใหญ่ คือให้มันผกผันไปตามคะแนนเสียงเขต คะแนนเสียงบัญชีรายชื่อ มันก็จะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งพร้อมที่จะปฏิวัติคุณ จะกบฏคุณ
อันนี้คิดว่าเป็นบทเรียนสำคัญของผู้ออกแบบการเลือกตั้งครั้งนี้ว่ามันมีพรรคใหม่ๆ ออกมาแล้วพรรคที่คุณตั้งขึ้นมาเพื่อคิดว่าจะดึงคะแนนจากพรรคใหญ่ ปรากฏว่าคุณอาจจะไม่ได้อย่างที่คิด
ประจักษ์: จริงๆ ก็น่าจะมีบทเรียนแล้ว เพราะว่ามันก็ผิดตามที่คาดเดามาตลอด คือจริงๆหลังปี 2540 การเปลี่ยนระบบเลือกตั้งจริงๆ ไม่ใช่ภาคประชาชนเปลี่ยนนะ คือระบบเลือกตั้งที่เปลี่ยนก็เป็นชนชั้นนำทั้งนั้น แต่สุดท้ายอย่างที่อาจารย์สิริพรรณพูดถ้าใครศึกษาพฤติกรรมการเลือกตั้งก็รู้ว่ากติกาการเลือกตั้งมันมีผลแค่ส่วนหนึ่ง แต่มันไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมผู้เลือกตั้งได้ทั้งหมด เช่น แบบตอนรัฐธรรมนูญปี 2550 ไปเอาแบบระบบพวงกลับมา หนึ่งเขตหลายคน
สิริพรรณ: แบ่งประเทศเป็นภูมิภาคด้วย
ประจักษ์ : มันจะทำให้ ส.ส.ขัดแย้งกันเองในพรรค ระบบพรรคอ่อนแอ โดยคาดหวังว่าพรรคใหญ่อ่อนแอ แต่ปรากฏไปเอาระบบนั้นกลับมา ซึ่งเคยใช้ก่อนปี 2540 ปี 2550 ปรากฏว่าชาวบ้านเขาเลือกยกพวง ยกเขตเลย คือเขตไหนที่ พท.เข้มแข็ง ก็ชนะทั้งพวง ส่วนเขตที่ ปชป.เข้มแข็ง ชาวบ้านก็เลือกทั้งพวง เขาไม่ได้เลือกสลับ
หรือถ้ามาดูครั้งนี้ ผมว่าเลือกตั้งเสร็จแล้วอาจจะฝ่ายชนชั้นนำเองที่อยากจะเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง สุดท้ายผมว่าระบบการเลือกตั้งนี้จะอยู่ไม่นาน เป็นระบบที่บิดเบี้ยว แล้วจริงๆ ประชาชนที่จะไปเลือกพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ก็สับสนก็เลือกยาก ตอนนี้ทำไปทำมาคนที่ได้ประโยชน์จากระบบนี้มากที่สุด คือ อนค. เพราะว่าไม่จำเป็นต้องชนะเขตเลยสักเขต แต่อาจจะมี ส.ส.พุ่งไปถึง 70-80 คนก็ได้
สิริพรรณ: อันนี้คือเป็นบทเรียนเนอะ เพราะว่าระบบเลือกตั้งอันนี้ถ้าพิจารณาดูดีๆ ไม่เป็นคุณกับใครเลย ไม่ว่า พปชร.ที่คนร่างหวังจะโอบอุ้ม พรรคการเมืองอื่นๆ ประชาชนเองก็สับสน อันนี้ก็ยังไม่รู้จะเลือกใครเลย เพราะว่าต้องเลือกระหว่างผู้สมัคร พรรคการเมือง แล้วก็นายกฯ แล้วก็สับสนกันไปหมดกลายเป็น อนค. พรรคเศรษฐกิจใหม่ของคุณมิ่งขวัญ (แสงสุวรรณ์) เป็นพรรคใหม่ที่เข้ามาได้ประโยชน์ซึ่งก็ไม่ได้อยู่ในสมการเดิมของความตั้งใจ
ดังนั้นกลับมาคำถามวันนี้ถึงเชื่อว่าน่าจะมีการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งเป็น priority แรกถ้าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญก่อนการเลือกตั้งใหม่ แล้วจริงๆ ก็สามารถทำได้เร็วมาก
ประจักษ์: ผมคิดว่ามันจะเกิดฉันทามติทางสังคมด้วยแหละ เพราะมันไม่มีใครชอบระบบนี้เลยแล้วหลายคนก็สับสนด้วย จริงๆ ไม่ใช่แค่ระบบเลือกตั้ง รวมถึงระเบียบต่างๆ ในการจัดการเลือกตั้ง เขต ผู้สมัครต่างเบอร์ทั้งที่อยู่พรรคเดียวกัน
สิริพรรณ: ตรงนี้มันสะท้อนว่าคนร่างรัฐธรรมนูญอยากจะลดบทบาทและอิทธิพลของพรรคการเมือง คือชื่อและแบรนด์ของพรรคลงมา แต่ว่าไม่ได้มอง คือประเมินไม่เห็นรอบด้าน ประเมินเห็นพลวัตของประชาชนไม่ออก ว่ามันก็มีวิธีการที่ทำให้พรรคที่เขาอยากเลือก..เขาก็ยังเลือกอยู่ ที่สำคัญตรงนี้ที่อยากจะบอกด้วยว่าจริงๆ มันก็เป็นพลังของประชาชนทั้งสังคมตั้งแต่แรกที่เราเรียกร้อง กกต. ให้บัตรเลือกตั้งเดิมซึ่งจะมีแต่หมายเลขของผู้สมัครเท่านั้น มีชื่อและโลโก้พรรคติดตัวเข้าไปด้วย
แต่ทั้งหมดอยากจะพูดถึงประเด็นนี้ว่าพลังของสังคม เจตนารมณ์ที่ร่วมมือกันได้ เป็น pack กันมันสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ แล้วเราก็ต้องทำด้วยเพื่อยืดหยัดว่าสังคมต้องการอะไร
ประจักษ์: กลายเป็นว่าครั้งนี้ในบรรดาข้อลบทั้งหมด มันเกิดผลบวกได้เหมือนกันก็คือว่าประชาชนตื่นตัวอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แล้วเรียนรู้เยอะมาก แล้วให้ข้อมูล educate กันเองกับเรื่องการเลือกตั้ง สิทธิการเลือกตั้ง กติกาต่างๆ ทั้งหลาย
ปกติหน้าที่ตรงนี้ voter education, political education มันเป็นหน้าที่ของ กกต. และก็พรรคการเมือง ครั้งนี้ประชาชนทำกันเอง กับพวกสื่อทางเลือกจำนวนหนึ่งซึ่งยุคก่อนๆ ประชาชนตื่นตัวแค่ว่าไปใช้สิทธิ์ ตั้งแต่ปี 2540 จำนวนผู้ไปใช้สิทธิ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ได้ตื่นตัวถึงขึ้นมาศึกษากติกา มา educate ให้ข้อมูล ครั้งนี้มันตื่นตัวมาก
คนที่ทำให้ตื่นตัวก็คือ คสช.เองกับกกต.เพราะมันมีความไม่ชอบมาพากลเยอะ คนก็เลยมาเรียนรู้แล้วก็พยายามรักษาสิทธิ์ตัวเองซึ่งตรงนี้มันเป็นข้อดีว่าพอมันเกิดขึ้นแล้วมันก็จะไม่หายไป หลังจากนี้คนก็จับตาว่าคะแนนเสียงที่เขาเลือกมันหายไปไหน มีการตุกติกหรือไม่
The MATTER: การเลือกตั้งครั้งนี้ เดิมพันของฝ่ายไหนสูงสุด ระหว่างชนชั้นนำ คสช. พรรคการเมือง ทักษิณ หรือประชาชน
ประจักษ์: สำหรับผม คสช.เดิมพันสูงที่สุด ประชาชนไม่มีอะไรจะเสีย ถ้ารัฐบาลไปไม่รอดก็รอไปเลือกตั้งใหม่ ส่วนพรรคการเมืองต่างๆ ผมคิดว่าเดิมพันไม่สูงเท่าไร เพราะพรรคใหญ่ๆ เช่น ปชป. ภท. ชทพ. ชพน. มีความเป็นสถาบัน ไม่ใช่พรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการเลือกตั้งครั้งนี้เฉพาะกิจ อนค.เป็นพรรคใหม่ก็จริง แต่เขาประกาศว่าจะเล่นการเมืองระยะยาว ได้เสียงครั้งนี้น้อยก็ไม่เป็นไร ฟ้ารักพ่อ เขาก็ยังอยู่
สิริพรรณ์: ฟ้าด้อมๆ
ประจักษ์: ครั้งหน้าเขาก็ลงเลือกตั้งใหม่ เผลอๆ ได้เสียงมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพียงแต่ พปชร. ที่ผมเป็นห่วงมากที่สุด เพราะภารกิจชัดเจนคือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้ขึ้นมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ถ้าภารกิจนี้ล้มเหลว พรรคจะอยู่ต่อไปไหม เพราะตอนนี้ยังไม่เห็นความเป็นเนื้อเดียวกันในแง่ทิศทางอุดมการณ์ นโยบาย วิสัยทัศน์ ว่าจะพาประเทศเดินไปทางไหน กระทั่งโค้งสุดท้าย ผู้เลือกตั้งบางส่วนที่เป็นชนชั้นกลางที่เคยเชียร์มาก่อนก็งง เพราะออกนโยบายประชานิยมสุดลิ่มทิ่มประตู
มันก็เลยเหมือนพรรคนี้มีลักษณะมุ่งชนะเลือกตั้งครั้งนี้เท่านั้น เป็นพรรคเฉพาะกิจ เดิมพันมันเลยสูงมาก แพ้ไม่ได้
พรรคอื่นแพ้ยังปลอบใจได้ว่า กติกาก็ไม่ได้ร่าง กรรมการก็ไม่ใช่ของตัวเอง เสียบเทียบทุกอย่าง แต่สำหรับ พปชร. แกนนำยังบอกเลยว่า รัฐธรรมนูญนี้ design มาเพื่อเรา ทุกอย่างมันเอื้อหมดแล้ว แต่ถ้ายังล้มเหลวอีกอันนี้ไปต่อลำบากเลยนะ มีทั้งทรัพยากรเงิน มีทั้งอำนาจรัฐ พปชร.เลยน่าจะเป็นพรรคที่เครียดที่สุดในการเข้าสู่สนามเลือกตั้งครั้งนี้”
สิริพรรณ: (หัวเราะ) จริงๆ คุณทักษิณเดิมพันสูงสุด แต่ พปชร.กับ คสช.ก็สูสีไม่แพ้กัน แต่ที่บอกว่าคุณทักษิณก็เดิมพันสูงด้วย ปรากฎการณ์วันที่ 8 ก.พ.เป็นตัวอย่างหนึ่ง และส่วนตัวก็มองว่า ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ พท.จะเล็กลง
ประจักษ์: เพราะอะไรครับ
สิริพรรณ: เพราะว่า leadership ที่หายากและจะหายไปเรื่อยๆ ทั้งกระสุนและทรัพยากร แม้คุณทักษิณจะไม่มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการดิ้นรนครั้งสุดท้าย แต่ยิ่งเลือกตั้งไปเรื่อยๆ ความทรงจำเกี่ยวกับคุณทักษิณก็จะลดลง โอกาสที่พรรคใหม่ๆ จะมาดึงคะแนนเสียงก็ยิ่งมากขึ้น จากรอยแยกระหว่าง พท.กับ ปชป. เคยเขียนบทความเป็นภาษาอังกฤษ ก่อนที่จะมี อนค.เสียอีก ส่วน พปชร.ก็มีต้นทุนสูง แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อสังเกตว่า พรรคไม่มีความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งเลย ที่บอกว่ากติกาเขียนมาเพื่อเรา แต่ความพร้อมไม่มี ยกตัวอย่าง 4 รัฐมนตรีที่กว่าจะลาออกมาทำพรรคอย่างจริงจังก็ก่อนเลือกตั้งไม่นาน ทำให้สังคมกังขาและไม่สง่างาม หรือแคนดิเดตนายกฯ ก็ต้องมาตีความว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือเปล่า จะไปบอกว่าเป็นรัฐฎาธิปัตย์ก็ไม่สง่างามเช่นกัน ไปดูบัญชีรายชื่อ ก็ไม่มีคนที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดเลย มีแกนนำ กปปส. กลุ่มสามมิตร มีแกนนำคนเสื้อแดง เหมือนกับว่า ภายใน คสช.มีหลายกลุ่ม และแต่ละกลุ่มก็ไม่ได้ทำงานผสานกัน ระหว่าง พปชร.กับ คสช.มีความไม่เป็นเอกภาพสูง
ประจักษ์: เสริมอาจารณ์สิริพรรณนิดนึง ก็ประหลาดใจเหมือนกัน พปชร.ควรจะมีแคมเปญที่ strong สตรองกว่านี้ได้เยอะเลย ประหลาดมาก องคาพยพทุกอย่างมันเหมือนจะเอื้อหนุน แต่ถ้าดูในแง่แคมเปญเป็นแคมเปญที่ค่อนข้าง weak แล้วดูเหมือนไม่มียุทธศาสตร์ และเอกภาพ
สิริพรรณ: เป็นพรรคที่มีความพร้อมน้อยที่สุดในการเลือกตั้ง
ประจักษ์: เป็นพรรคที่มีอายุขวบเดียว ทั้งที่อยู่ในอำนาจมา 5 ปี มันต้องเห็นสิว่าวันหนึ่งคุณต้องเข้าสู่สนามการเลือกตั้ง ทำไมรอจนกระทั่งโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง แล้วมาตั้งพรรคแล้วมาฟอร์มทีม มาดูด ส.ส. ตรงนี้ผมคิดว่าเสียเวลาไปมาก พอจะมาชู พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยึกยักด้วยข้อกฎหมาย ด้วยกลัวอะไรหลายอย่าง แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ไปหาเสียงด้วยไม่ได้ มันก็เลยครึ่งๆ กลางๆ
มันก็จะกลับมาสู่ประเด็นที่เราทั้ง 2 คนเคยตั้งข้อสังเกตไว้เกี่ยวกับการเมืองไทยว่า มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘พรรคการเมืองครอบงำพรรคเดียวของชนชั้นนำ’ ที่เป็นพรรคของรัฐ ตรงนี้มันไม่มี
สิริพรรณ : ใช่ คือมันสะท้อนความไม่ไว้วางใจพรรคการเมืองของรัฐไทย และไม่มั่นใจที่จะใช้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือในการยึดกุมอำนาจที่แท้จริง เลยออกมาแบบอิหลักอิเหลื่อ ซึ่งอันนี้ก็อาจจะเป็นอีกบทเรียนของชนชั้นนำไทย ที่อาจารย์ประจักษ์เคยพูดเอาไว้ว่า ชนชั้นนำไม่รู้วิธีจะจัดการกับพรรคการเมืองและฐานมวลชน ก็เลยเลือกไม่ใช้วิธีนี้ แต่มันคือความน่ากลัวว่า ถ้าชนชั้นนำไทย อยากจะยึดกุมอำนาจ แต่ไม่ผ่านพรรคการเมือง เขาก็จะไปใช้วิธีการอื่นๆ เช่น รัฐประหารหรือระบบราชการ ซึ่งมันมีต้นทุนสำหรับประชาชนสูงกว่าการเลือกตั้งและพรรคการเมือง
ประจักษ์: การเมืองไทยมันเลยไม่มีทางมีเสถียรภาพ มันจะอยู่ใน pattern แบบนี้ว่า สุดท้ายก็ต้องรัฐประหาร เพราะล้มเหลวในการเลือกตั้ง แต่รัฐประหารเสร็จ วันหนึ่งก็ต้องกลับไปสู่การเลือกตั้ง ก็ไปตั้งเฉพาะกิจ รวมๆ กันมาแล้วใช้กลไกรัฐช่วย แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถชนะใจประชาชนเสียงข้างมากได้ ก็ได้รัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ แล้วก็ต้องไปอุ้มด้วยการทำรัฐประหารซ้ำเพื่อเซฟระบอบไว้ มันก็เป็นวงจรแบบนี้ ซึ่งถ้าเป็นประเทศอื่น คุณได้อยู่ในอำนาจ 5 ปี แล้วกติกาทุกอย่างเอื้อขนาดนี้ คงชนะอันดับหนึ่งแบบง่ายๆ แต่ของเราต้องมาลุ้นแทบแย่
สิริพรรณ: นี่เราต้องขอบคุณชนชั้นนำไทยที่โหดไม่พอ?
ประจักษ์: หรือไม่มีทักษะในการสร้างสถาบันพรรคการเมือง มันเป็นคนละทักษะ การทำรัฐประหารก็เป็นทักษะแบบหนึ่งซึ่งชนชั้นนำไทยสะสม skill set มานาน ก็รู้ว่าจะต้องทำอะไร 1-2-3-4 ยึดมาแล้วต้องแก้รัฐธรรมนูญ มันมีมรดกตกทอดมา แต่การตั้งพรรคมันอีกทักษะหนึ่ง มันต้องใช้เวลา สร้างสถาบันทางการเมือง ออกแบบนโยบายเอาใจประชาชน สร้างฐานเสียง
สิริพรรณ: ชนชั้นนำที่คณะรัฐประหารเลือกใช้ เป็นชนชั้นนำเดิมตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา ถ้าเกิดมีการรัฐประหารใหม่ คน generation นั้นอาจจะไม่พร้อมในแง่ของสภาพร่างกายที่จะกลับมาใช้ระบอบอำนาจนิยมหรือของทหาร ซึ่งอาจทำให้ทักษะการทำรัฐประหารไม่สืบทอดแล้ว อันนี้อาจจะเป็นข่าวดีในอนาคตสำหรับสังคมไทยหรือเปล่า
ประจักษ์: ยกเว้นกลุ่มที่ทำ พปชร.อยู่ อาจจะมีบางกลุ่มอยากทำต่อก็ต้องสร้างทักษะใหม่นี้ขึ้นมา
สิริพรรณ: ก็ต้องสร้างทักษะใหม่นี้ขึ้นมา แล้วดูบทเรียนครั้งนี้
The MATTER: คิดว่าชะตากรรมของ พล.อ.ประยุทธ์และสิ่งที่อาจารย์ประจักษ์เรียกว่า ‘ระบอบ คสช.’ หลังการเลือกตั้งน่าจะไปทางไหน
ประจักษ์ : มันอาจจะต้องแยกกันระหว่างระบอบ คสช. กับ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะตัวบุคคล เพราะระบอบ คสช.อาจจะดำรงอยู่โดยไม่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวก็ได้ ถ้าเราพูดถึงมันในฐานะระบอบการเมืองหนึ่ง เพราะมันมีกลุ่มคนหลากหลายเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนมันจะไปต่ออย่างไร อันนี้เป็นคำถามสำคัญ แต่ผมคิดว่าหลังเลือกตั้ง การเมืองแบบที่เราเจอมา 5 ปี เป็น military authoritarianism มันจะคลายไปโดยธรรมชาติ คสช.ก็จะหายไป ไม่มีมาตรา 44 แล้ว จู่ๆ จะไปเรียกอาจารย์สิริพรรณมาเข้าค่ายทหารก็คงจะทำไม่ได้ ต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ ต่อจริง ก็จะเป็นนายกฯ พลเรือนที่ไม่มี คสช.รองรับ จะใช้อำนาจอย่างที่เป็นอยู่ไม่ได้ และมีฝ่ายค้าน ก็ต้องดูว่า พล.อ.ประยุทธ์จะปรับตัวได้ไหม ส่วนถ้าแพ้เลย ก็คือเป็น the end of political career ยังมองไม่ออกว่าจะไปทางไหนต่อ เพราะในฐานะข้าราชการก็เกษียณแล้ว คสช.ก็ไม่มีอยู่แล้ว ก็ไม่รู้ว่าแกจะเอาตัวเองไปอยู่ตรงไหน
สิริพรรณ: ไม่ได้เป็นทั้งข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
ประจักษ์: ก็กลับไปเป็นคนธรรมดาแบบที่เป็นอยู่อยู่แล้ว (หัวเราะ)
สิริพรรณ: จะให้วิเคราะห์ว่าจะออกมาทางไหนคงคิดว่าเป็นไปได้ยากที่จะ ต้องไปตามโหรที่อาจารย์ประจักษ์เคยให้ทำนายเอาไว้ มาช่วยทำนาย
ประจักษ์: (หัวเราะ) มันคาดเดายาก แต่ถ้าจะเทียบเคียงกับประวัติศาสตร์ มันจะมีอยู่ 3 รูปแบบของผู้นำทหารเมื่อหมดอำนาจแล้วจะไปอย่างไร 1.แบบที่จบไม่สวย ลี้ภัยไปต่างประเทศ เหมือนอย่างจอมพล ป. ที่ลี้ภัยไปญี่ปุ่นหลังการเลือกตั้งสกปรกแล้วถูกยึดอำนาจ จอมพลถนอม (กิตติขจร) ก็ต้องไปเหมือนกัน 2.ลงจากอำนาจแล้วอยู่เงียบๆ low profile เหมือน พล.อ.สุจินดา (คราประยูร) และ 3.ลงเล่นการเมือง แบบ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน อันนี้ก็เป็นโมเดลให้ พล.อ.ประยุทธ์เลือกได้ ซึ่งหนึ่งในโมเดลก็คือเล่นการเมืองแบบจริงๆ จังๆ ไปเลย
สิริพรรณ: ตั้งพรรคเอง หาเสียงเอง
ประจักษ์: อาจจะเอา พปชร.มาเปลี่ยนชื่อ เพราะ พปชร.มันผูกติดกับ คสช. แล้วก็เล่นการเมืองต่อไปในทางของตัวเอง ก็เหมือนนายทหารหลายๆ คนของอินโดนีเซียที่ตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง ให้เป็นพาหนะทางการเมืองให้ตัวเองยังอยู่ในอำนาจต่อไปได้ ถ้ายังไม่อยากเป็น nobody
สิริพรรณ: ส่วนตัวเชื่อว่า ช่องทางแบบ พล.อ.สนธิจะเกิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ค่อนข้างยาก เพราะแกอยู่นานเกินไป มีโจทย์ในสังคมเยอะมาก ช่องทางกลับมาเป็นนักการเมืองในระบบ เป็นไปได้ไหม ก็คิดว่าได้ แต่โอกาสน้อยมาก เลยอาจจะเหลืออยู่ 2 ช่องทาง คืออยู่เฉยๆ แบบ พล.อ.สุจินดา หรือไปอยู่อย่างสงบในต่างประเทศ หรือว่าจริงๆ แล้วอาจจะมีช่องทางอื่นที่เรานึกไม่ถึงก็ได้
ประจักษ์: แบบ พล.อ.เปรม (ติณสูลานนท์) รัฐบุรุษ ผู้ยังมีบารมีอยู่ในทางการเมือง
สิริพรรณ: จริงๆ ช่องทางนี้ท่านน่าจะชอบที่สุด
The MATTER: จะเป็นได้ไหมครับ
สิริพรรณ: (หัวเราะ)
ประจักษ์: จริงๆ คำถามนี้อาจจะไม่ใช่แค่ พล.อ.ประยุทธ์ แต่หมายถึงว่าหมดเลย คณะบุคคลที่ใช้อำนาจในนาม คสช.หลังจากนี้จะไปอย่างไร เมื่อองค์กร คสช.ไม่อยู่แล้ว
The MATTER : อาจต้องรอถามโหรของอาจารย์ประจักษ์?
สิริพรรณ: ทุกวันนี้ก็วิเคราะห์อะไรไม่ค่อยถูกอยู่แล้ว นี่ก็เตรียมจะหน้าแตกอยู่
ประจักษ์ : ใช่ ก็โอกาสหน้าแตกเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว แต่จริงๆ ครั้งนี้มันไม่มีใครคาดเดาผลได้ล่วงหน้าหรอก
สมมุติถ้าออกมาแล้วใครทายถูก ที่พวกเราทายถูกไม่ใช่พวกเราเก่งหรอก ถ้ามันถูกขึ้นมา ..ก็ฟลุ๊กมากกว่า