“ถ้านักการเมืองไทยหยุดโกงกินเพียงสองปี ถนนเมืองไทยจะปูด้วยทองคำก็ยังทำได้”
ถ้อยคำอมตะของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย มักถูกหยิบยกขึ้นมาฉายหนังซ้ำอยู่เรื่อยๆ ทุกครั้งที่มีความพยายามต่อต้านรัฐบาลจากนักการเมืองในช่วงเวลานั้นๆ เพื่อเปิดทางให้ทหารเข้ามา ‘ปราบคอร์รัปชั่น’ ไปจนถึง ‘ยุติความแตกแยก’ และภารกิจพิเศษอื่นๆ
ท่ามกลางกระแสข่าวลือ เรื่องของการยึดอำนาจ แม้ประเทศไทยกำลังเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง เมื่อ ผบ.เหล่าทัพไม่อยู่ในประเทศไทย และปรากฎรูปขบวนรถหุ้มเกราะวิ่งบนถนนแพร่ไปทั่วในโลกออนไลน์ แม้จะมีคำชี้แจงภายหลังว่าเป็นการวิ่งจาก จ.สระบุรี ไป จ.ลพบุรี ‘เพื่อการฝึก’ ก็ตามที แต่หลายๆ คนก็ยังไม่วางใจ
เพราะการปรากฎตัวของยุทโธปกรณ์ เช่น รถถังหรือรถหุ้มเกราะของทหาร มักถูกผูกโยงไปกับการทำรัฐประหารในเมืองไทย
แต่จากข้อมูลที่ The MATTER รวบรวมการรัฐประหาร 13 ครั้งที่ผ่านมา ก็พบว่า ‘เครื่องมือ’ ที่ทหารใช้เข้าสู่อำนาจมีมากมายยิ่งกว่านั้น
ลองไล่เรียงข้อมูลการรัฐประหารที่ผ่านมาโดยสรุป (เรียงลำดับจาก ปี / วันที่ / วัน / ช่วงเวลา / วิธีการที่ใช้)
– ปี 2476 / 1 เม.ย. / เสาร์ / ช่วงสาย / ออก พรฎ.ปิดสภา และเว้นใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา
– ปี 2476 / 20 มิ.ย. / อังคาร / เช้ามืด / ใช้รถเกราะและกำลังเข้ายึดสถานที่สำคัญ พร้อมจับกุมบุคคลสำคัญ
– ปี 2490 / 8 พ.ย. / ศุกร์ / 23.00 น. / ใช้รถถังบุกเข้าไปในสวนอัมพร เพื่อจับกุมตัวนายกฯ
– ปี 2491 / 6 เม.ย. / อังคาร / 09.00 น. / ทหารเข้าพบนายกฯ ถึงบ้านพัก เพื่อขอให้ลาออกจากตำแหน่ง
– ปี 2494 / 29 พ.ย. / พฤหัส / หัวค่ำ / ใช้รถถังและกำลังประจำสถานที่สำคัญ (ยึดอำนาจตัวเอง)
– ปี 2500 / 16 ก.ย. / จันทร์ / 18.00 น. / ใช้รถถัง รถเกราะ และกำลังพล เข้ายึดสถานที่สำคัญ
– ปี 2501 / 20 ต.ค. / จันทร์ / 21.00 น. / ออกประกาศ (ยึดอำนาจตัวเอง)
– ปี 2514 / 17 พ.ย. / พุธ / 19.00 น. / ออกประกาศ (ยึดอำนาจตัวเอง) ผ่านวิทยุ
– ปี 2519 / 6 ต.ค. / พุธ / 18.00 น. / แจ้งต่อนายกฯ ว่าจะยึดอำนาจ ไม่เช่นนั้นจะมีทหารอีกกลุ่มมายึดอำนาจ
– ปี 2520 / 20 ต.ค. / พฤหัส / 08.00 น. / ออกประกาศยึด
– ปี 2534 / 23 ก.พ. / เสาร์ / 11.30 น. / จี้นายกฯ บนเครื่องบิน
– ปี 2549 / 19 ก.ย. / อังคาร / 23.00 น. / ใช้รถถัง รถเกราะ และกำลังพล เข้ายึดสถานที่สำคัญ
– ปี 2557 / 22 พ.ค. / พฤหัส / 16.30 น. / จับแกนนำขึ้นรถตู้ไปเข้าค่ายทหาร หลังเชิญมาพูดคุยสถานการณ์การเมือง
กล่าวโดยสรุป
วิธีการที่ใช้รัฐประหาร โดยรถถัง มีเพียง 5 ครั้ง ตามมาด้วยใช้กฎหมายหรือประกาศ 3 ครั้ง แจ้งให้นายกฯ ลาออก 2 ครั้ง ประกาศผ่านวิทยุ 1 ครั้ง จี้บนเครื่องบิน 1 ครั้ง และจับบุคคลสำคัญขึ้นรถตู้ไปค่ายทหารอีก 1 ครั้ง
เดือนที่รัฐประหารมากที่สุด คือ ตุลาคมและพฤศจิกายน (3 ครั้งเท่ากัน) รองลองมา คือ เมษายนและกันยายน (2 ครั้ง) กุมภาพันธ์ พฤษภาคม และมิถุนายน (1 ครั้ง) ส่วนเดือนที่ยังไม่เคยมีการยึดอำนาจเลย คือ มกราคม มีนาคม กรกฎาคม และธันวาคม
วันที่ีรัฐประหารมากที่สุด คือ อังคารและพฤหัสบดี (3 ครั้งเท่ากัน) ตามมาด้วย จันทร์ พุธ และเสาร์ (2 ครั้ง) ศุกร์ (1 ครั้ง) และวันที่ยังไม่เคยมีการยึดอำนาจเลยแม้แต่ครั้งเดียว คือ อาทิตย์
ช่วงเวลาที่รัฐประหาร สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งวัน แต่ที่เกิดบ่อยครั้งคือหัวค่ำถึงกลางดึก
- 00.00 – 06.00 น. ยึดอำนาจ 1 ครั้ง
- 06.00 – 12.00 น. ยึดอำนาจ 4 ครั้ง
- 12.00 – 18.00 น. ยึดอำนาจ 3 ครั้ง
- 18.00 – 24.00 น. ยึดอำนาจ 5 ครั้ง
รัฐประหาร-ยึดอำนาจจากใคร (รัฐบาลพลเรือน 9 ครั้ง / ยึดอำนาจตัวเอง 3 ครั้ง / ชิงยึดอำนาจก่อนทหารอีกกลุ่ม 1 ครั้ง / ยึดอำนาจซ้อน 0 ครั้ง)
ผลจากการรัฐประหารบ่อยครั้ง ทำให้ประเทศไทยต้องอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลรัฐประหาร 46 ปี มากกว่ารัฐบาลปกติ 41 ปี
นี่คือข้อมูลโดยสรุปเกี่ยวกับการรัฐประหารในเมืองไทย ในช่วงที่ข่าวลือถูกโหมกระพือ จนหลายๆ คนไม่มั่นใจว่าในวันที่ 24 มีนาคม 2562 จะได้ออกไปหย่อนบัตรเลือกผู้แทนและผู้นำของตัวเอง ได้หรือไม่ หลังจากรอบมาเกือบ 8 ปี
รัฐประหารสร้างความเจริญให้กับประเทศไทยได้ไหม? ถ้านักการเมืองไม่ได้มีอำนาจมาโกงกินจะปูถนนด้วยทองคำได้หรือเปล่า? ผลงานของรัฐบาลหลังรัฐประหารรอบล่าสุด น่าจะพอเป็นคำตอบให้ได้ว่า วิธีการนี้สร้างความสุข ‘มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ ให้กับประชาชนได้จริงหรือไม่?