ไฟป่าลุกลามเผาที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชพรรณนานับชนิด ฝุ่นละอองอนุภาคเล็กคลุ้งกระจายไปทั่ว และฝูงตั๊กแตนบุกถล่ม .. ปี 2020 ทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนจะวิบัติไปเสียหมด
แต่จริงๆ แล้ว ภัยพิบัติทางธรรมชาติก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แม้ในช่วงปีหลังๆ มานี้ จะเริ่มส่งสัญญาณที่รุนแรงมากขึ้น และมีส่วนเชื่อมโยงไปกับปัญหาใหญ่ที่ชาวโลกทุกคนต้องเผชิญอย่างวิกฤตการณ์สภาพอากาศก็ตาม
The MATTER เลยอยากชวนทุกคนมาทบทวนข่าวคราวภัยพิบัติทางธรรมชาติบางส่วน ที่เกิดขึ้นกับโลกของเราในนี้ เพื่อตระหนักและทำความเข้าใจถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปพร้อมกัน
ในช่วงต้นปี มีข่าวดังคึกโครมไปทั่วโลกอย่างไฟป่าออสเตรเลีย ที่กินพื้นที่ไปแล้ว 30 ล้านไร่ และทำให้มีสัตว์ล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ทั้งนกประจำถิ่น โคอาล่า และสัตว์อื่นๆ อีกมากมาย พร้อมกับที่ผู้คนจำนวนมากต้องพากันอพยพออกจากพื้นที่เนื่องจากฝุ่นควันปกคลุมท้องฟ้า จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้
แต่นอกจากไฟป่าแล้ว ช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็มีอีกหนึ่งปรากฎการณ์ที่เราควรให้ความสำคัญ นั่นคือ คลื่นความร้อนในพื้นที่แอนตาร์กติกา ซึ่งหลายคนคงว่า การเกิดขึ้นของคลื่นความร้อน เป็นเรื่องปกติที่หลายพื้นที่พบเจอกันมานาน แต่ในพื้นที่แอนตาร์กติกาซึ่งเป็นจุดที่เย็นที่สุดในโลกนั้น นี่ถือเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบคลื่นความร้อนในพื้นที่แห่งนี้เลยนะ
ขณะเดียวกัน ฝุ่น pm2.5 ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นประจำทุกปี จนรู้กันดีแล้วว่า ในทุกช่วงต้นปีและปลายปี จะเกิดภัยพิบัตินี้ขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ไม่ควรคุ้นชินแล้วมองว่านี่คือเรื่องปกติ เพราะก็มีอีกหลายประเทศที่เคยเผชิญวิกฤตนี้มาก่อน และสามารถหามาตรการมาแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาวได้ด้วย
อีกหนึ่งวิกฤตที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลก คือปัญหาตั๊กแตนที่เพิ่มขึ้นมหาศาลจนทำลายพื้นที่เกษตรกรรมของหลายพื้นที่ ตั้งแต่แอฟริกาตะวันออก ไล่มายังเอเชียใต้ทั้งปากีสถาน อินเดีย แต่ปัญหานี้ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะกลายเป็นว่าการทำลายพื้นที่เพาะปลูกของฝูงตั๊กแตนทำให้เกิดวิกฤตการณ์อาหารขาดแคลนครั้งใหญ่ ซึ่งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าการระบาดครั้งนี้ร้ายแรงที่สุดในรอบ 25 ปี เลยทีเดียว โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่า การระบาดของตั๊กแตนอาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกัน ทั้งฝั่งลาวเองก็พบวิกฤตตั๊กแตนระบาดเช่นกัน เพียงแต่เป็นคนละสายพันธุ์กับที่ระบาดในฝั่งแอฟริกาเท่านั้น
ภูเขาไฟปะทุเป็นภัยพิบัติที่คาดการณ์ได้ยาก ซึ่งในปีนี้ก็มีเหตุภูเขาไฟระเบิดอยู่ในหลากพื้นที่อยู่เช่นกัน แต่การระเบิดที่เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์นั้น ทำให้ทางการต้องออกคำสั่งแจ้งเตือนระดับ 5 และขอให้ประชากรกว่าครึ่งล้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โดยรอบภูเขาไฟเร่งอพยพทันที ทั้งยังมีการคละคลุ้งของเถ้าภูเขาไฟซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ และส่งผลต่อภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมประมงในพื้นที่อีกด้วย
นอกจากไฟป่าออสเตรเลียแล้ว ในประเทศไทยเองก็มีเหตุไฟป่าทางตอนเหนือด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ที่ต้องเผชิญกับวิกฤตไฟป่าอย่างต่อเนื่อง จนค่าฝุ่น pm2.5 ของเชียงใหม่พุ่งหนัก ซึ่งแม้ว่าไฟป่าภาคเหนือในปีนี้จะดูหนักหน่วง แต่ก็ต้องบอกว่า ไฟป่าภาคเหนือประสบวิกฤตนี้ซ้ำๆ มากหลายปีแล้ว และคาดว่าอาจจะหนักขึ้นอีก หากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ในเร็ววัน
ขณะเดียวกัน ปรากฎการณ์พายุถล่มเองก็เกิดขึ้นหลายครั้งในปีนี้ ถึงขนาดที่มีข่าวว่า ได้ใช้ตัวอักษรอัลฟาเบตไปตั้งชื่อพายุจนหมดแล้วด้วยซ้ำ ซึ่งช่วงกลางปีที่ผ่านมา อินเดียฝั่งตะวันออกและบังกลาเทศต้องเผชิญกับพายุไซโคลนอำพัน ที่พัดออกจากอ่าวเบงกอล เข้าถล่มเมือง ด้วยลมกระโชกแรงสูงถึง 185 กม.ต่อชั่วโมง ถือเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดสายหนึ่งที่พัดถล่มอินเดียในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
อีกทั้ง ปีนี้ยังมีเหตุน้ำมันรั่วใหญ่ๆ ถึง 2 ครั้งด้วยกัน โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในรัสเซีย เป็นเหตุน้ำมันดีเซล 20,000 ตัน รั่วไหลจากโรงงานไฟฟ้าลงในแม่น้ำเขตอารก์ติก ทำให้ทางการต้องประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อม จนถือเป็นอุบัติเหตุน้ำมันรั่วไหลที่รุนแรงเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์รัสเซีย
ส่วนเหตุการณ์ที่สอง เกิดขึ้นบริเวณพื้นที่ชายทะเลฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของมอริเชียส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางระบบนิเวศ มีความอุดมสมบูรณ์สูง และมีสิ่งมีชีวิตหายากจำนวนมาก โดยอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจาก เรือ MV Wakashio ของญี่ปุ่น แล่นมาเกยตื้นนอกชายฝั่งของมอริเชียสและมีน้ำมันรั่วไหล แม้จะไม่ได้รั่วไหลออกมามากนัก แต่ก็สร้างความเสียหายขนาดหนักให้กับพื้นที่นี้ และคาดว่าจะส่งผลกระทบกับสิ่งมีชิวีตไปอีกนับสิบปี
แม้ว่าเหตุน้ำมันรั่วจะแตกต่างจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพราะเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุที่มนุษย์เป็นคนก่อ แต่ก็นับเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง และยากที่จะฟื้นคืนระบบนิเวศกลับมา ดังนั้น เราจึงอยากรวมเหตุการณ์ทั้งสองครั้งนี้มาร่วมด้วย
สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วม ดูจะเป็นภัยพิบัติที่หลายชาติต้องเผชิญ แต่สำหรับเหตุน้ำท่วมในจีนครั้งนี้ กลับมีระดับน้ำสูงจนถึงพระบาท ‘พระพุทธรูปเล่อซาน’ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาองค์ใหญ่ที่สุดในโลก จนต้องอพยพผู้คนนับแสน ซึ่งครั้งล่าสุดที่ระดับน้ำท่วมแตะพระบาท คือเมื่อปี ค.ศ.1949 นั่นแปลว่าน้ำท่วมจีนในปีนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งอุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศเลยทีเดียว
ไฟป่าแคลิฟอร์เนียวนเวียนมาเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้ ไฟป่าแคลิฟอร์เนียกินพื้นที่ไปกว่า 5 ล้านไร่ จนผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียประกาศภาวะฉุกเฉินใน 5 เขตที่เกิดไฟป่ารุนแรง โดยปีนี้ไฟป่าของแคลิฟอร์เนียถึงกับทำให้เกิดเขม่าควันจนปกคลุมท้องฟ้าให้กลายเป็นสีส้มเลยทีเดียว ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งของไฟป่าในปีนี้มีความเกี่ยวข้องกับการจุดพลุฉลองเพศทารก อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชาวตะวันตก
ข่าวคราวการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกเป็นเรื่องที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยครั้งก็จริง แต่ไม่ควรจะเฉยเมยกันหรอกนะ เพราะปีนี้ ธารน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดของกรีนแลนด์ได้ถล่มลงมาแล้ว ซึ่งการแตกออกของแผ่นน้ำแข็งนี้ สร้างความวิตกให้กับนักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งแม้ว่าเราจะไม่ทันได้เห็นผลกระทบในทันที แต่ปัญหานี้จะค่อยๆ สะสมแล้วส่งผลกระทบกับมนุษย์ในภายหลังอย่างแน่นอน
อีกด้านหนึ่ง ในกรีซและตุรกีก็ต้องเผชิญกับเหตุแผ่นดินไหว ระดับ 7 แมกนิจูด ซึ่งมีความลึกถึง 10 กิโลเมตร จนทำให้เกิดมินิสึนามิ ซัดถล่มอาคารบ้านเรือนตามแนวชายฝั่งของตุรกีด้วย โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างต่ำ 20 กว่าราย
นอกจากนี้ ก็ยังมีเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปีของเวียดนาม ที่ส่งผลกระทบต่อชาวเวียดนามหลักล้าน โดยน้ำท่วมนี้ยังทำให้เกิดเหตุดินถล่มอีกหลายจุด จนต้องอพยพผู้คนกว่า 90,000 ราย ขณะเดียวกัน ไทยเองก็มีเหตุน้ำท่วมเฉียบพลันในพื้นที่ภาคใต้ 11 จังหวัด และมีประชาชนได้รับผลกระทบมากถึง 500,000 กว่าครัวเรือน
ปิดท้ายกันด้วยการกลับมาอีกครั้งของ ฝุ่น pm2.5 ที่ปกคลุมทางฟ้ากรุงเทพฯ ในหน้าหนาวนี้อีกครั้ง ซึ่งเมื่อผสมเข้ากับการแพร่ระบาดของCOVID-19 ที่เราเผชิญกันมาตลอดทั้งปีแล้ว สถานการณ์ก็ยิ่งน่าเป็นห่วงหนักขึ้นไปอีก จนเรียกได้ว่า หน้ากากอนามัย กลายเป็นไอเทมคู่บุญของเราในปีนี้ไปแล้ว
สถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งหลายดูจะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากวิกฤตการณ์สภาพอากาศที่ทั่วโลกต้องเผชิญ ซึ่งแม้หลายคนจะมองว่าปี 2020 ทุกอย่างดูวิบัติจนคล้ายกับปีสิ้นโลก
แต่เชื่อเถอะว่า ถ้าปัญหาวิกฤตการณ์สภาพอากาศนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร็ววันแล้วละก็ อนาคตข้างหน้าคงมีสิ่งที่เลวร้ายกว่านี้รออยู่แน่นอน
อ้างอิงจาก