เผลอแปปเดียว ปี 2020 ก็อยู่ตรงหน้านี้แล้ว นี่ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนปีเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปลี่ยนทศวรรษใหม่อีกด้วย
สิ่งที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดในช่วง 10 ปีมานี้ คือเหล่าเทคโนโลยีทั้งหลาย ตั้งแต่ไอโฟน ไปจนถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน แต่นอกจากวิทยาการด้านเทคโนโลยีแล้ว แต่ละปีก็มีการประกาศสิ่งมีชีวิตใหม่ๆ ที่ถูกค้นพบมากมายหลายสายพันธุ์อีกด้วย
ก่อนจะจากลาทศวรรษนี้ไป The MATTER เลยอยากเชิญชวนทุกคนมาร่วมกันสำรวจเหล่าน้องสัตว์ทั้ง 10 ชนิด ที่ถูกค้นพบในรอบทศวรรษนี้ แต่ละตัวหน้าตาเป็นอย่างไร ตัวไหนเซอร์ไพรส์ที่สุด? ไปดูกันเลย
ปี 2010 – ทากนินจา (Ninja Slug)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Ibycus Rachelae
เปิดต้นทศวรรษมาด้วยสิ่งมีชีวิตใหม่ที่ได้รับสมญานามว่า ทากนินจา ด้วยหางที่ยาวกว่าส่วนหัวถึง 3 เท่า และตามที่นักวิจัยผู้ค้นพบเล่า หางที่ยาวของมันจะถูกเก็บเข้ารอบลำตัวในช่วงที่พวกมันพักผ่อน ทากนินจาถูกพบบริเวณภูเขาสูงของเกาะบอร์เนียวตอนบน ของประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสัตว์เฉพาะถิ่นปรากฎอยู่เยอะมาก
ปี 2011 – ค้างคาวโยดา (Yoda Bat)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Nyctimene wrightae
เจ้าตัวนี้ถูกค้นพบเมื่อปี 2011 สมญานามเล่นๆ คือ โยดา จาก ‘โยดา เจไดมาสเตอร์’ ผู้ปราดเปรื่องจากเรื่อง Star Wars นั่นแหละ
เจ้าค้างคาวโยดานี้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า Nyctimene wrightae ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งตาม เดป ไรท์ (Deb Wright) นักอนุรักษ์ที่อุทิศตนทำงานในปาปัวนิวกินี ซึ่งเป็นประเทศที่ค้นพบค้างคาวโยดาเป็นที่แรก และเมื่อปี 2017 หลังจากเรียกกันว่าโยดามานาน ค้างคาวตัวนี้ก็ได้รับชื่อใหม่ที่จริงๆ จังๆ เสียที นั่นคือ ‘ค้างคาวจมูกหลอดฮามามาส’ เพื่อเป็นการยืนยันว่าค้างคาวตัวนี้ คือสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่
ปี 2012 – งูจู๋ (Penis snake)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Atretochoana eiselti
เจ้าตัวนี้อาจไม่ใช่สปีชีส์ใหม่ แต่เรียกว่าเพิ่งถูกค้นพบอีกครั้ง ในช่วงปี 2011-2012 ใกล้ๆ กับปากแม่น้ำแอมะซอน และแม่น้ำมาเดียร่า และถึงแม้จะค้นพบในแถบนี้ แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่า เจ้างูจู๋นี้อาศัยอยู่แถบแม่น้ำไหนกันแน่ ส่วนอาหารของงูชนิดนี้ คือปลาขนาดเล็ก และเหล่าสัตว์น้ำอื่นๆ ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง
ความยาวมากสุดของงูจู๋เท่าที่เคยบันทึกไว้คือ คือ 81 เซนติเมตร ส่วนสาเหตุที่มันได้ชื่อนี้มาก็เพราะรูปร่างหน้าตาของมันนั่นแหละ ที่ไปคล้ายคลึงกับ xxx (ขอเซ็นเซอร์)
ปี 2013 – หนูจมูกหมู (Hog-nosed rat)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Hyorhinomys stuempkei
หนูจมูกหมู เป็นชื่อที่ตั้งตามรูปลักษณ์หน้าตาอีกนั่นแหละ อาศัยอยู่ที่เกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย ด้วยจมูกเหมือนหมูที่แปะอยู่กลางหน้า ทำให้เจคอบ เอสเซลสไตน์ (Jacob Esselstyn) ภัณฑารักษ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจากพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ แห่งมหาวิทยาลัยรัฐลุยเซียนา รู้ได้ตั้งแต่แรกเห็นว่านี่คือสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่
จะว่าหน้าตาน่ารักดีหรือเปล่าก็ยังไม่แน่ใจ เพราะถึงจมูกหมูๆ ที่ติดอยู่กลางหน้า จะช่วยดึงความสนใจให้คนเอ็นดูกันได้ไม่ยาก แต่ถ้าลองแอบมองไปที่ปากของน้องหนูตัวนี้ จะพบฟันแหลมคมยาว ขนาดที่ว่า แวมไพร์ยังต้องยกมือไหว้เลยทีเดียว!
ปี 2014 – โลมาแม่น้ำอาราไกวยา (Araguaian river dolphin)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Inia araguaiaensis
โลมาแม่น้ำอาราไกวยาพบได้ในแม่น้ำของทวีปอเมริกาใต้ โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ในประเทศบราซิลพบว่า ลักษณะทั่วไปของโลมาแม่น้ำชนิดนี้ แตกต่างจากโลมาทั่วไปในแม่น้ำแอมะซอน จึงจัดให้มันเป็นโลมาสายพันธุ์ใหม่ แถมยังคาดกันว่า เจ้าโลมาอาราไกวยามีวิวัฒนาการแยกออกมาจากโลมาแม่น้ำแอมะซอนราว 2 ล้านปีก่อนอีกด้วย
ปี 2015 – นิวต์คลิงออน (Klingon newt)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Tylototriton anguliceps
นิวต์ เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจำพวกซาลาแมนเดอร์ แต่จะแตกต่างจากซาลาแมนเดอร์ตรงที่ ผิวหนังของนิวต์มีลักษณะขรุขระและแห้ง นิวต์ชนิดนี้พบได้จากบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง มีถิ่นอาศัยอยู่ในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ตามพื้นที่ป่าฝนทั้งหลาย เจ้านิวต์ตัวนี้ได้รับสมญานามตามรูปลักษณ์ที่คล้ายกับชาวคลิงออน (Klingon) นักรบที่มีหน้าตาดุร้าย ในเรื่อง Star Trek แต่น้องนิวต์คลิงออนไม่ได้มีนิสัยดุร้ายอะไรหรอกนะ
ปี 2016 – แมงมุมกริฟฟินดอร์ (Gryffindor spider)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Eriovixia gryffindori
อ้างอิงจากเว็บไซต์ India today และ National Geographic เจ้าแมงมุมกริฟฟินดอร์ถูกค้นพบเมื่อปี 2017 ในเทือกเขากาตส์ตะวันตก ทางตะวันตกเฉียงใต้ ของประเทศอินเดีย ซึ่งถ้าเป็นสาวกโลกเวทมนต์ เห็นเจ้าแมงมุมตัวนี้เพียงแค่แว๊บเดียวก็คงนึกถึงหมวกคัดสรรประจำบ้าน ในเรื่อง Harry Potter กันแน่นอน
และด้วยรูปลักษณ์ที่คล้ายกับหมวกคัดสรร ชาเวด อาห์เมด (Javed Ahmed) นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบแมงมุมชนิดนี้ จึงตั้งชื่อมันตาม ก็อดดริก กริฟฟินดอร์ เจ้าของหมวกคัดสรร (บางครั้งก็โดนเรียกว่า แมงมุมหมวกคัดสรร) จนกลายเป็น Eriovixia gryffindori หรือก็คือ แมงมุมกริฟฟินดอร์นั่นเอง
ปี 2017 – กบกลางคืน โรบิน มัวร์ (Robin Moore’s Night Frog)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Nyctibatrachus robinmoorei
เจ้ากบตัวนี้ถือเป็น 1 ใน 4 สายพันธุ์กบจิ๋วที่มีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบ (เล็กกว่าเล็บของเราเสียอีก) โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ ทำการค้นคว้ากันอยู่ 5 ปี บริเวณเทือกเขาทางตะวันตกเฉียงใต้ ของประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ขึ้นชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพ ผลจากการค้นพบทำให้กบกลางคืนในสายตระกูลนี้ มีสายพันธุ์เพิ่มขึ้นเป็น 35 สายพันธุ์
สาเหตุที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อกบตัวนี้ตาม โรบิน มัวร์ (Robin Moore) นักอนุรักษ์สัตว์ป่าที่มีความทุ่มเทสูงมาก เพื่อเป็นการอุทิศให้กับนักอนุรักษ์ที่มีความตั้งใจ และมอบให้เป็นเกียรติในฐานะเพื่อนที่ดีต่อกัน
ปี 2018 – เขียดงู เดิร์มโมฟิส โดนัลด์ทรัมพาย (Dermophis donaldtrumpi)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Dermophis donaldtrumpi
สิ่งมีชีวิตสะเทินน้ำสะเทินบกที่เรียกความสนใจของผู้คนเป็นอย่างมาก ไม่ใช่เพราะรูปร่างหน้าตาแปลกประหลาด หรือเพราะพฤติกรรมที่ชอบมุดหัวลงดิน แต่เป็นเพราะเอเดน เบล (Aidan Bell) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทผลิตวัสดุก่อสร้างแบบยั่งยืน EnviroBuild ยื่นประมูลไปถึง 25,000 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อให้ได้ตั้งชื่อเจ้าสิ่งมีชีวิตนี้ ตาม ‘โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump)’ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ
สาเหตุที่เขาตั้งชื่อเจ้าตัวนี้ตามทรัมป์ เพราะต้องการโต้ตอบทรัมป์ผู้ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน โดยเบลกล่าวว่า “การมุดหัวลงใต้ดิน ช่วยให้ทรัมป์หลีกเลี่ยงความเห็นทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของมนุษย์ได้”
ปี 2019 – แมลงปีกแข็ง เนลล็อปโทเดส เกรเต้ (Nelloptodes gretae)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Nelloptodes gretae
ส่งท้ายทศวรรษนี้กันด้วยสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ ที่มีสมญานามตาม ‘เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg)’ บุคคลแห่งปี 2019 จากนิตยสาร TIME โดยเจ้าแมลงปีกแข็งตัวนี้ ถูกค้นพบจากดินและเศษใบไม้ที่ถูกส่งมาจากกรุงไนโรบี ประเทศเคนย่า และไมเคิล ดาร์บี้ (Michael Darby) นักกีฏวิทยา จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นผู้ค้นพบแมลงปีกแข็งสายพันธุ์นี้ ก็เลือกที่จะตั้งชื่อตามธันเบิร์ก เพราะชื่นชมในพลังที่เรียกร้องให้โลกหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมของเธอ
“มีแนวโน้มว่าสัตว์ที่ยังไม่ถูกค้นพบจะสูญหายไปตลอดกาล เพราะสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะได้ตั้งชื่อพวกมันเสียอีก จึงเหมาะสมแล้วที่จะตั้งชื่อแมลงที่เพิ่งค้นพบใหม่ล่าสุด ตามคนที่ต่อสู้อย่างหนักเพื่อปกป้องสิ่งมีชีวิตที่เปราะบางเหล่านี้”
อ้างอิงจาก