ขยะพลาสติก เป็นประเด็นสำคัญระดับโลกที่ถูกพูดถึงมานานหลายปี เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยล่าสุด กระแสการคัดค้านนำเข้าขยะพลาสติกกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากมีการประชุมพิจารณาเรื่องการนำเข้าขยะพลาสติกอีกครั้ง ทั้งที่ก่อนหน้านั้นมีมติแล้วว่า จะยกเลิกการนำเข้าขยะหรือเศษพลาสติก และซากอิเล็กทรอนิกส์แบบ 100% ภายในปี พ.ศ.2563
ขอเล่าย้อนกลับไปก่อนว่า ประเทศที่เป็นอันดับ 1 ในการนำเข้าขยะพลาสติกของโลก ก็คือ จีน ด้วยการนำเข้าพลาสติกเดือนละ 600,000 ตัน หรือปีละ 7 ล้านตัน มูลค่าราว 118,000 ล้านบาทต่อปี โดยจีนจะนำขยะเหล่านั้น ไปรีไซเคิลเป็นวัสดุที่มีคุณภาพสูงขึ้นเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อไป
แต่เมื่อต้นปี พ.ศ.2561 จีนเริ่มนโยบายยกเลิกการนำเข้าขยะพลาสติกรีไซเคิลทั้งหมด เพื่อป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยปริมาณนำเข้าขยะของจีนลดลงเหลือเพียง 30,000 ตันต่อเดือน
เมื่อผู้นำเข้าเจ้าใหญ่ของโลกออกนโยบายมาแบบนี้ ปลายทางของการส่งต่อขยะพลาสติกก็เปลี่ยนมาสู่ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน โดยหลังจากจีนลดการนำเข้าขยะพลาสติก ปริมาณขยะนำเข้าของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง มาเลเซีย เวียดนาม และไทยพุ่งขึ้นสูง
อย่างไรก็ดี การประชุมเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ปี พ.ศ.2561 มีมติให้ยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกภายใน 2 ปี โดยช่วงผ่อนผันนี้ มีการกำหนดโควตาการนำเข้าคือ ปีที่ 1 นำเข้าได้ไม่เกิน 70,000 ตัน แบ่งเป็นพลาสติก PET 50,000 ตัน และพลาสติกชนิดอื่นรวม 20,000 ตัน และมีเงื่อนไขให้ใช้เศษพลาสติกภายในประเทศร่วมด้วยไม่น้อยกว่า 30%
ส่วนในปีที่ 2 ให้นำเข้าได้ไม่เกิน 40,000 ตัน และให้นำเศษพลาสติกภายในประเทศมาใช้ร่วมด้วยไม่น้อยกว่า 60% ขณะที่ ปีที่ 3 ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ โดยใบอนุญาตนำเข้าตามโควตาดังกล่าวจะสิ้นสุดทั้งหมดในวันที่ 30 กันยายน ปี พ.ศ.2563
แต่หลังจากการประชุมพิจารณาเรื่องการนำเข้าขยะอีกครั้ง เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ทำให้ครือข่ายภาคประชาสังคมออกแถลงการณ์เพื่อนำเสนอข้อคิดเห็นและข้อเรียกร้องต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ยืนยันมติเดิม ของคณะอนุกรรมการฯ เมื่อปี พ.ศ.2561
เราก็เลยลองนำปริมาณนำเข้าขยะพลาสติก ย้อนหลังไป 5 ปี (ปี พ.ศ.2559-2563) เพื่อเปรียบเทียบว่า น้ำหนักของปริมาณขยะนำเข้าพลาสติกเหล่านี้ จะหนักเท่ากับพาหนะต่างๆ เท่าไหร่ โดยพาหนะที่นำมาเปรียบเทียบ ได้แก่ เรือดำน้ำ เครื่องบิน รถถัง รถเมล์ กี่คัน/ลำ
ซึ่ง พอเราลองคำนวณน้ำหนักของพาหนะทั้งหลายแล้ว ก็พบว่า น้ำหนักของขยะพลาสติกที่เรานำเข้ามานั้น มีนำ้หนักมากเท่ากับพาหนะทั้งหลายเหล่านี้หลายคัน/ลำ เลยทีเดียว และหากเรายังคงให้มีการนำเข้าขยะพลาสติกต่อไปอีกเรื่อยๆ นั้น น้ำหนักเหล่านี้ ก็คงจะเพิ่มขึ้นมหาศาลไปด้วยเช่นกัน