“กาก้าวไกล เลือกคนใหม่ไปเปลี่ยนประเทศ”
‘คนใหม่’ ที่ว่านี้ หนึ่งในนั้นต้องหมายรวมถึง ทิม—พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ขนนโยบายของพรรคมาถึง 300 นโยบาย เพื่อ “เปลี่ยนประเทศ” ให้ “ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม”
เมื่อพูดถึงพรรคก้าวไกล สปอตไลต์ย่อมส่องถึงนักการเมืองหนุ่มวัย 42 ปีคนนี้ เพราะเป็นแคนดิเดตนายกฯ เพียงหนึ่งเดียวของพรรค และผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรค ที่มาพร้อมกับประวัติส่วนตัวที่น่าสนใจและหลากหลาย ทั้งจากการทำงานในภาคเอกชนและภาครัฐ
ก่อนจะเข้าคูหาในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 The MATTER ชวนไปรู้จักกับ ‘ทิม พิธา’ และนโยบายสำคัญๆ ของพรรคก้าวไกล ที่จะมาเปลี่ยนประเทศผ่านการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่จะถึงนี้
เตรียมตัวเล่นการเมืองตั้งแต่อายุ 21 ปี
ทิม—พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในวัย 42 ปี ปัจจุบันเตรียมลุยศึกเลือกตั้ง 2566 ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ เพียงหนึ่งเดียวของพรรค และผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรค เกิดเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2523
ใช้ชีวิตในวัยเด็กที่นิวซีแลนด์ ซึ่งทำให้ซึบซับกับบรรยากาศของการตื่นตัวทางการเมือง และเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้เข้ามาเล่นการเมืองด้วยตัวเอง ก่อนหน้านี้เขาเคยบอกอยู่หลายครั้งว่า การเมืองคือความตั้งใจอย่างหนึ่งของชีวิต ที่เตรียมตัวมาตั้งแต่อายุ 21-22 ปี
สำหรับการศึกษา เรียนจบจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อด้วยปริญญาโทอีก 2 ใบ ใบหนึ่งในหลักสูตรการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐฯ และอีกใบ คือ บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) สหรัฐฯ
ก่อนที่จะมาเป็นนักการเมืองอย่างเต็มตัว พิธาเคยเป็นผู้บริหารบริษัท ‘ซีอีโอ อกริฟู้ด’ (CEO Agrifood) ธุรกิจน้ำมันรำข้าวของครอบครัวอยู่ร่วม 10 ปี และกระโดดมาเป็นกรรมการบริหาร (Executive Director) ให้กับ ‘แกร็บ’ (Grab) เป็นเวลา 1 ปี
จากนั้นเข้ามาเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 4 ของพรรคอนาคตใหม่ และได้รับเลือกให้เข้ามาทำงานในสภาฯ จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จึงได้ย้ายเข้ามาที่พรรคก้าวไกล และขึ้นแท่นหัวหน้าพรรคด้วยมติเอกฉันท์ของพรรคในวันที่ 14 มีนาคม 2563
“เปลี่ยนประเทศ” ด้วยนโยบายอะไรบ้าง?
พรรคก้าวไกลเปิดตัวนโยบายทั้งหมด 300 นโยบาย โดยแบ่งเป็น 9 เสาหลัก ภายใต้สโลแกน “การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคตดี” ดังนี้
- ประชาธิปไตยเต็มใบ เช่น รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ, ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร
- สวัสดิการครบวงจร เช่น เงินเด็กเล็กเดือนละ 1,200 บาท, ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 450 บาท, เงินผู้สูงวัยเดือนละ 3,000 บาท, น้ำประปาดื่มได้ทุกพื้นที่, รถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด
- จังหวัดจัดการตนเอง เช่น เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด
- ราชการเพื่อราษฎร เช่น เปิดข้อมูลรัฐทันที
- ปฏิวัติการศึกษา เช่น ออกแบบหลักสูตรใหม่ เน้นทักษะที่ได้ใช้จริง
- เกษตรก้าวหน้า เช่น กองทุนพิสูจน์สิทธิ 10,000 บาท ยุติข้อพิพาท-ออกเอกสารสิทธิให้เกษตรกร
- สิ่งแวดล้อมยั่งยืน เช่น กำหนดเพดานปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม เปิดตลาดค้าขายแลกเปลี่ยน (cap & trade)
- สุขภาพดี ทั้งกาย-ใจ เช่น ตรวจสุขภาพประจำปี ฟรีทั้งค่าตรวจ-ค่าเดินทาง
- เศรษฐกิจโตเพื่อทุกคน เช่น ‘ค่าไฟแฟร์’ ถูกและเป็นธรรมสำหรับประชาชน, ‘หวยใบเสร็จ’ เพิ่มแต้มต่อให้ SME