ตลอดทั้งปี 2566 ที่ผ่านมาเกิดคดีใหญ่ขึ้นมากมาย หลายคดีเกี่ยวข้องกับผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ หลายคดีเป็นเรื่องของผู้มีอิทธิพล และหลายคดีสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึกในสังคมไทย
The MATTER รวบรวมคดีสำคัญที่อยากให้ผู้อ่านติดตามต่อในปี 2024 ไว้ทั้งหมด 8 คดี พร้อมสรุปข้อมูลที่มาที่ไปของคดีว่าเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้นบ้างในคดีเหล่านั้น และดำเนินไปถึงไหนแล้ว
ถึงแม้คดีเหล่านี้จะเกิดขึ้นและกลายเป็นเรื่องของเมื่อวานไปแล้ว แต่หลายคดียังคาราคาซัง เราในฐานะพลเมืองจึงจำเป็นต้องติดตาม ตรวจสอบ และเรียนรู้จากเรื่องราวที่เกิดในอดีต เพื่อก้าวเดินไปในวันพรุ่งนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน
- สว.ทรงเอ พัวพันพ่อค้ายาเสพติด
เป็นหนึ่งในคดีที่น่าจับตาดูมากที่สุด สำหรับ อุปกิต ปาจรียางกูล สมาชิกวุฒิสภาที่ถูกกล่าวหาว่ามีความพัวพันกับพ่อค้ายาเสพติดและฟอกเงินชาวเมียนมา ทุนมินลัต ทำให้เขาถูกอัยการสั่งฟ้อง 6 ข้อหา ได้แก่
1. เป็น สว. สมคบกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด
2.ร่วมกันมียาเสพติดไว้เพื่อจำหน่าย
3.เป็นสมาชิกวุฒิสภา สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฟอกเงิน เพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน
4.เป็นสมาชิกวุฒิสภา ร่วมกันฟอกเงิน
5.เป็นสมาชิกวุฒิสภา ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดร้ายแรงอันเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ
6.มีส่วนร่วมกระทำการใดๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในกิจกรรมหรือการดำเนินการขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยรู้ถึงวัตถุประสงค์และการดำเนินกิจกรรม โดยรู้ถึงเจตนาที่จะกระทำความผิดร้ายแรง
ล่าสุด ศาลเพิ่งอนุญาตให้อุปกิตประกันตัวไปด้วยวงเงิน 10 ล้านบาท พร้อมเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล ทั้งนี้ ประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการพิเศษ ระบุว่า ศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 เวลา 9.00 น.
- สติกเกอร์ส่วยทางหลวง
เป็นอีกคดีหนึ่งที่ยังถูกพูดถึงอยู่เรื่อยๆ สำหรับ ‘ส่วยทางหลวง’ หรือส่วยสติกเกอร์ที่เป็นใบผ่านทางให้รถบรรทุกสามารถขนน้ำหนักเกินกำหนดของกฎหมายได้ ซึ่ง วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.ก้าวไกลระบุว่าเป็นปัญหาเรื้อรังมามากกว่า 30 ปี และมีเงินหมุนเวียนมากกว่า 20,000 ล้านบาท ด้านข้อมูลจาก อภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยเล่าว่าสติกเกอร์มีประมาณ 50 แบบทั่วประเทศ มีราคาตั้งแต่ 3,000 – 27,000 บาท/ เดือน และคาดว่ามีรถบรรทุกที่มีสติกเกอร์นี้ราว 150,000 – 200,000 คันทั่วประเทศ
ทางด้าน เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ออกมาแถลงเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ว่าปัญหานี้หมดไปแล้ว 80% แต่ยังเหลืออยู่ ซึ่งยังจับตาดูกันต่อไปว่าปัญหานี้จะวนกลับมาอีกหรือไม่
ขณะที่ สุริยะ จึงรุ่งเรือกิจ รมต.คมนาคม กล่าวเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ที่ผ่านมาว่า ในยุคที่ตนนั่งเป็น รมต.คมนาคมจะต้องไม่มีการทุจริตหรือมีส่วยสติกเกอร์ทางหลวงเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด ก่อนสั่งให้กรมทางหลวง (ทล.) แก้ไขกฎหมายให้มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 100,000-200,000 บาท แล้วแต่กรณีการกระทำความผิด จากเดิมมีโทษปรับในอัตราสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า
- หมูเถื่อนทะลัก 60 ล้านตัน
หลังจากมีการปกปิดความจริงเรื่องการระบาดของอหิวาต์สุกรเมื่อต้นปี 2565 ในปีนี้ คดีใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับหมูก็วนมาอีกครั้ง เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนรวม 2,385 ตู้ แบ่งเป็น 2 ช่วงทั้งหมด 10 คดี
ช่วงแรก ตรวจพบกลุ่มนายทุนนำเข้าหมูหลีกเลี่ยงภาษี ก่อนพบว่าด้านในตู้ที่นำเข้าจำนวน 161 ตู้ เป็นเนื้อหมูแช่แข็งหนักประมาณ 4.5 ล้านกิโลกรัม สำหรับกรณีนี้ ทาง DSI เพิ่งส่งสำนวนให้ ปปช.เพื่อแจ้งข้อกล่าวหากับเจ้าหน้าที่รัฐ 2 ราย
ช่วงที่ 2 มีการดำเนินคดีกับเอกชน 9 บริษัท หลังพบหลักฐานการนำเข้าซากหมูจำนวน 2,385 ตู้ น้ำหนัก 59,625 ตัน
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในคดีนี้ เกิดขึ้นช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน หลังกระทรวงยุติธรรมมีคำสั่งย้าย พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดี DSI ไปเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ทำให้บางคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการ ‘เจอตอ’ หรือไม่ หลังจากนำกำลังเข้าตรวจค้นสำนักงานใหญ่ของบริษัทสยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หลังตรวจพบว่าเคยซื้อขายกับบริษัทเว้ลท์ซี่ แอนด์ เฮ็ลธ์ซี ฟูดส์ จำกัด เครือข่ายหมูเถื่อนที่ได้ถูกจับกุมดำเนินคดีไปก่อนหน้า
สำหรับกรณีข้างต้น ทางแม็คโครออกมายอมรับว่าเคยซื้อเนื้อหมูและเครื่องในจากบริษัทดังกล่าวจริง แต่ภายหลังเลิกซื้อขายไปตั้งแต่ปี 2565 เนื่องจากสินค้าไม่ได้คุณภาพ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน นายกฯ เคยเรียก พ.ต.ต.สุริยาเข้าพบและกล่าวกับเจ้าตัวว่า “.. จัดการให้มันเร็วๆ หน่อยได้ไหม มันจับมาได้ตั้งเยอะแยะแล้ว ทำไมไม่สั่งการสักทีนึง ผมสั่งการไปแล้วก็ไม่ทำ ไม่หาตัวรายใหญ่ เข้าถึงตัวไม่ได้สักที..”
ทั้งนี้ DSI แถลงเมื่อวันที่ 17 ธันวาคมเตรียมบุกค้นห้องเย็นอีก 2 จุดที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าหมูเถื่อนในปี 2564 ราว 10,000 ตู้
- คดีโกดังปะทัดระเบิด จ.นราธิวาส
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม เกิดเหตุโกดังเก็บปะทัดระเบิดในตลาดมูโนะ จ.นราธิวาส ทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 ราย บาดเจ็บ 209 ราย บ้านเรือนประชาชนเสียหายกว่า 427 หลัง จุดคำถามว่าทำไมโกดังเก็บปะทัดถึงไปตั้งอยู่ใจกลางชุมชนได้
จากการตรวจสอบของ Thai PBS ในช่วงที่เกิดเหตุพบว่า โกดังแห่งนี้ดำเนินกิจการมาได้ 5 เดือน มีการขออนุญาตเก็บสินค้าของชำถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม โกดังดังกล่าวตั้งอยู่กลางชุมชนและมีการลักลอบนำดอกไม้เพลิงไปเก็บไว้ ซึ่งผิดตามประกาศกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2547 ที่กำหนดให้สถานที่ใช้ผลิตดอกไม้เพลิงต้องไม่ตั้งอยู่ในย่านชุมชน และต้องมีระยะห่างจากแนวเขตที่ดินอย่างน้อย 20 เมตร อยู่ห่างจากอาคารไม่มีสิ่งขวางกั้น 32 – 55 เมตร และห่างจากอาคารแต่มีสิ่งขวางกั้น 17 – 28 เมตร
ทางด้านช่อง 7 ได้ลงไปติดตามคดีนี้ ก่อนสืบไปพบว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าเคยตรวจค้นโกดังแห่งนี้ครั้งหนึ่งในปี 2559 และยึดดอกไม้เพลิงมากกว่า 60 ตัน แต่อัยการกลับสั่งไม่ฟ้องคดี ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ให้ข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่รัฐเปิดทางให้การขนส่งดอกไม้เพลิงดังกล่าว โดยตลอดเส้นทางจากโกดังอีกแห่งใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีด่านตรวจรวมเกือบ 10 ด่าน แต่ไม่เคยมีการยึดของกลาง จึงเชื่อว่าเป็นไปได้ที่มีการจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่ตลอดทาง
เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ออกมาตั้งคำถามถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่พิเศษ มีการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ดังกล่าว ทำไมถึงปล่อยให้รถบรรทุกขนดอกไม้ไฟจำนวนมากเข้ามาในชุมชนได้
ต่อมาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งฟ้องเจ้าของโกดังทั้ง 2 คนใน 4 ข้อหา ได้แก่ กระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัส และได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ, ร่วมกันทำ สั่ง นำเข้า หรือค้าดอกไม้เพลิงโดยไม่ได้รับอนุญาต, ฝ่าฝืนในคำสั่งเจ้าพนักงานตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และร่วมกันก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต
ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กันยายน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.แถลงผลการสอบสวนเพิ่มเติม มีเจ้าหน้าที่รัฐ 16 รายเกี่ยวข้องกับการละเลยการตรวจสอบโกดังเก็บพลุ แบ่งเป็น เจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 ราย, เจ้าหน้าที่ อบต. 4 ราย, เจ้าหน้าที่ศุลกากร จำนวน 7 ราย และเจ้าหน้าที่ทหาร 1 ราย โดยบางส่วนเรียกรับสินบนด้วยเช่นกัน
- กำนันนกสั่งยิงตำรวจ – ฮั้วประมูล
เป็นอีกคดีน่าสลดที่พัวพันกับวงการสีกากี เมื่อวันที่ 6 กันยายน หน่อง หมั่นมาก (ต่อมาถูกวิสามัญ) ได้ก่อเหตุใช้ปืนยิง พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว หรือ ‘สารวัตรแบงค์’ เสียชีวิตในงานเลี้ยงแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม โดยภายหลังได้มีการเปิดเผยว่า งานเลี้ยงดังกล่าวมี ประวีณ จันทร์คล้าย หรือ ‘กำนันนก’ กำนัน ต.ตาก้อง จ.นครปฐมเป็นเจ้าภาพ และได้มีข้าราชการตำรวจ ข้าราชการหน่วยงานอื่น รวมถึงพลเรือนเข้าร่วมงาน
เหตุการณ์ดังกล่าวสั่นสะเทือนไปทั่วสังคม เพราะมีทั้งประเด็นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยกำนันนกหลบหนี ความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ตลอดจนความร่ำรวยผิดปกติของกำนันนก ซึ่งน่าสงสัยว่ามาจากการฮั้วประมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐหรือไม่
ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามได้นำสำนวนคดีส่งให้อัยการแล้ว โดยแบ่งเป็นคำฟ้อง 2 คดี
- คดีแรกฟ้องกำนันนกในข้อหาใช้ให้ผู้อื่นพยายามฆ่าผู้อื่น
- คดีสองฟ้องตำรวจ 21 นายฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และพลเรือน 7 รายฐานสนับสนุนให้เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งคดีนี้มีกำนันนกรวมอยู่ด้วย
อีกคดีหนึ่งที่น่าจับตามองคือ คดีฮั้วประมูล 19 โครงการก่อสร้าง ซึ่งทาง DSI และตำรวจสอบสวนกลางกำลังร่วมกับตรวจสอบอยู่ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่เชื่อว่าสาวไปถึงต้นตอที่เป็นระดับ ‘บิ๊ก’ และ ‘นักการเมือง’ ได้แน่นอน
- เสี่ยแป้ง นาโหนดหนีเข้าป่าทึบ
หนึ่งในคดีที่อลหม่านที่สุดในรอบปีนี้ และดูเหมือนจะยังไม่จบง่ายๆ เมื่อ เชาวลิต ทองด้วง หรือ ‘เสี่ยแป้ง นาโหนด’ ผู้ต้องหาความผิดร้ายแรงหลายคดีหนีการควบคุมตัวจากโรงพยาบาลนครศรีธรรมราช และเข้าป่าหายไปในที่สุด
เสี่ยแป้งเป็นผู้กว้างขวางใน จ.พัทลุง และเคยพัวพันกับความผิดหลายกระทง ทั้งใช้อาวุธปืนยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจ, ค้ายาเสพติด, ฟอกเงินแต่ที่โด่งดังที่สุดคือคดีชิงตัวผู้ต้องหาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวน กองบังคับการสืบสวนตำรวจภูธรภาค 8 ขณะจับกุมคดียาเสพติด
โดยภายหลังหลบหนีจากโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แกะรอยสัญญาณโทรศัพท์และพบว่าเสี่ยแป้งอยู่บริเวณเทือกเขาบรรทัด จึงนำกำลังบุกเข้าพื้นที่ป่าเป็นเวลากว่า 1 เดือนแต่ไม่สามารถจับตัวเสี่ยแป้งได้
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ทนายความของเสี่ยแป้งได้ส่งจดหมายระบุข้อเรียกร้อง 7 ข้อถึงนายกฯ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยเรื่องแรกระบุว่าศาลไม่มีความยุติธรรมในการให้ผู้ต้องหาได้รับการประกันตัว เรื่องที่ 2 และ 3 กล่าวถึงการเรียกรับเงินและยักยอกทรัพย์สินของตำรวจบางนาย เรื่องที่ 4 และ 5 กล่าวถึงการขายสินค้าในราคาที่ไม่เป็นธรรมของเรือนจำสองแห่งและการทรมานนักโทษ เรื่องที่ 6 ให้มีการรื้อคดีของอัยการท่านหนึ่งกับพรรคพวก และเรื่องที่ 7 ระบุว่าอัยการระดับสูงเรียกรับเงินจากนายแป้งเป็นเงิน 500,000 บาท แต่นายแป้งไม่ได้จ่ายเงินจึงถูกฟ้องดำเนินคดีเพียงคนเดียว โดยเสี่ยแป้งระบุว่าถ้าตนได้รับความเป็นธรรมก็ยินดีจะกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอีกครั้ง
- พรรคก้าวไกลลุ้นคำตัดสินคดียื่นแก้ไข ม.112
*แก้ไขข้อความจากในภาพ ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. ศาลรัฐธรรมนูญนัดวันพิจารณากรณีนี้แล้ว เป็นวันที่ 31 ม.ค. พ.ศ. 2567
เปรียบดั่งระเบิดเวลาในมือก้าวไกล เพียงแต่คนที่จะถอดสลักหรือสั่งให้มันระเบิดได้คือ ศาลรัฐธรรมนูญ
พรรคก้าวไกลยังต้องลุ้นกับการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญกรณี พรรคก้าวไกลและ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่ากระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่ จากกรณีที่มีการหาเสียงว่าจะยื่นแก้ไขร่าง พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมาย ม.112 ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญนัดวันพิจารณแล้วเป็นวันที่ 31 ม.ค. พ.ศ. 2567 เวลา 14.00 น.
สำหรับผลคำตัดสินคดีดังกล่าวออกได้ 2 ทาง ทางแรกศาลรัฐธรรรมนูญยกฟ้อง ทางสองศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าผิด และถ้าประเมินจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ผ่านมา มีแนวโน้มว่าอาจถูกสั่งยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด
- ทักษิณนอน รพ.ตำรวจ
ถึงแม้คดีจะสิ้นสุดไปแล้ว แต่ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีที่ถูกจับตามองที่สุดสำหรับการกลับมาบ้านของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โดยภายหลังกลับมาเหยียบแผ่นดินไทยครั้งแรกในรอบ 17 ปี เขาก็ถูกพาตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเพื่อควบคุมตัว
แต่ไม่ถึง 1 วัน (ราว 12 ชั่วโมง) ก็มีรายงานว่ากรมราชทัณฑ์ย้ายตัวทักษิณไปที่โรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากมีอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอก ความดันโลหิตสูง ระดับออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ พร้อมระบุว่าทางราชทัณฑ์ไม่มีเครื่องมือดูแลที่ดีพอ และนับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ทักษิณก็ยังอยู่ที่ห้องรับรองพิเศษบนชั้นสูงสุดของโรงพยาบาลตำรวจ
และล่าสุด กรมราชทัณฑ์เพิ่งประกาศใช้ระเบียบฉบับใหม่ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ซึ่งเนื้อหาหลักๆ พูดถึงเกณฑ์ในการพิจารณาให้ผู้ต้องขังออกมาควบคุมตัวนอกเรือนจำ เพื่อลดปัญหาความแออัดในเรือนจำ
ถึงแม้ หลายคนมองว่าทักษิณไม่ควรมีคดีความและต้องอยู่ในเรือนจำตั้งแต่แรก แต่จังหวะ เวลา และการดำเนินไปของกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ก็เลี่ยงไม่ได้จะถูกมองว่าเป็นไปเพื่อใครคนใดคนหนึ่งหรือไม่
ทั้ง 8 คดีนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ‘ความยุติธรรม’ จะเกิดขึ้นไหมและจะมีหน้าตาอย่างไร อยากให้ทุกคนติดตามดูกันต่อในปีหน้า.. สวัสดีปีใหม่ครับผู้อ่านทุกท่าน
อ้างอิงจาก:
- สว.ทรงเอ พัวพันพ่อค้ายาเสพติด
https://thematter.co/social/politics/what-happen-to-a-senator-case/198964
https://www.thaipbs.or.th/news/content/334913
https://prachatai.com/journal/2023/12/107256
- สติกเกอร์ส่วยทางหลวง
https://www.thairath.co.th/news/crime/2698110
https://www.komchadluek.net/news/crime/550753
https://thestandard.co/police-not-found-truck-tribute-stickers/
https://mgronline.com/business/detail/9660000109544
- หมูเถื่อนทะลัก 60 ล้านตัน
https://www.isranews.org/article/images/2022/south/2023/7/fireworksbomb29071.jpg
https://www.thairath.co.th/news/crime/2748460
https://thestandard.co/illegal-pork-101/
- คดีโกดังปะทัดระเบิด จ.นราธิวาส
https://news.ch7.com/detail/662674
https://www.matichon.co.th/local/news_4110530
https://www.thaipbs.or.th/news/content/330158
https://www.dailynews.co.th/news/2597728/
- กำนันนกสั่งยิงตำรวจ – ฮั้วประมูล
https://thematter.co/brief/212940/212940
https://www.thaipbs.or.th/news/content/333934
https://www.thaipbs.or.th/news/content/333950
- เสี่ยแป้ง นาโหนดหนีเข้าป่าทึบ
https://www.amarintv.com/news/detail/192811
https://www.thaipbs.or.th/news/content/334344
- พรรคก้าวไกลลุ้นคำตัดสินคดียื่นแก้ไข ม.112
https://www.prachachat.net/politics/news-1454118
- ทักษิณนอน รพ.ตำรวจ
https://thematter.co/brief/219009/219009
https://www.bbc.com/thai/articles/cv2v6m8v4lyo
https://www.posttoday.com/politics/domestic/703083
https://www.thaipbs.or.th/news/content/334528