รู้กันดีว่า ‘ตัดคะแนนความประพฤติ’ เป็นหนึ่งทางเลือกของการลงโทษ ที่มีอำนาจรองรับในสถานศึกษา แต่มักตามมาด้วยเสียงโอดครวญของเด็กๆ ว่าไม่แฟร์ แล้วจะเป็นยังไงถ้านักเรียนมีโอกาสจับปากกาตัดคะแนนดูบ้าง?
ยิ่งเข้าสู่บรรยากาศต้อนรับเปิดเทอมมากเท่าไหร่ ดูเหมือนดราม่าในรั้วโรงเรียนจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังพักหายใจหายคอไปนาน นับตั้งแต่ใช้มาตรการเรียนออนไลน์เต็มรูปแบบเพื่อสู้กับโรคระบาด ทั้งเรื่องคลาสสิคอย่างระเบียบทรงผมนักเรียน มาตรฐานเครื่องแบบ ซึ่งส่วนถูกควบคุมให้ปฏิบัติตาม ภายใต้เงื่อนไขของการตัดคะแนนความประพฤติ
เป็นที่มาของการตั้งคำถามว่า การเป็นนักเรียนที่ดีมีนิยามการตัดสินเช่นไร และการลงโทษลักษณะนี้คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของเด็กเพียงพอแล้วหรือไม่
เมื่อหัวใจสำคัญของการลงโทษก็เพื่อการอบรมสั่งสอน ให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น The MATTER จึงชวนมองอีกมุม ว่าหากนักเรียนและนักศึกษาลองเป็นผู้ตัดคะแนนดูบ้าง สิ้นเทอมนี้ ‘ระบบการศึกษาไทย’ จะผ่านเกณฑ์ หรือต้องเรียนซ้ำชั้นหรือไม่
หากใครพอจะจำได้ก่อนปิดเทอม จะมีฤดูกาลที่คุณครูทุกคนต่างแจกใบประเมินการสอน เพื่อให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งบางคนก็ประเมินอย่างตั้งใจ แต่มีไม่น้อยที่ก็ทำส่งๆ เหตุผลหนึ่งก็เพราะรู้ดีว่าหลายปัญหา ไม่สามารถโยนภาระไปที่ครูผู้สอนเพียงอย่างเดียว อีกทั้งการประเมินในหลายครั้ง จัดทำขึ้นก็เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาผ่านคะแนนการทดสอบ สวนทางกับเรื่องกวนใจในโรงเรียนที่ไม่ได้จบบนใบคะแนน
ในปัจจุบันระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย มีการประเมินผลใน 3 ส่วน คือ โรงเรียน ครู และนักเรียน ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เคยชี้ว่า การประเมินที่ไม่เชื่อมโยงครูกับนักเรียน มีแต่สร้างภาระต่อครูมากมาย ซึ่งมีผลในการดึงครูออกจากนักเรียนอีกด้วย
‘1579’ คือหมายเลขสายด่วนทางการศึกษา ที่เปิดมาเพื่อให้คำปรึกษา สอบถาม และรับเรื่องร้องเรียนทุกปัญหาของการศึกษา เพื่อหวังเป็นหนึ่งช่องทางที่ให้บริการประชาชน อย่างสถิติผู้ใช้บริการของเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา มี 818 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ร้องเรียนเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานสถานศึกษา คำถามคือช่องทางเหล่านี้เพียงพอแล้วหรือไม่
ตัดคะแนนความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา
สำหรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นของการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา กลับมาเป็นที่พูดถึงหลังมีการเผยแพร่เอกสารของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่ออกระเบียบการตัดคะแนนพฤติกรรมในลักษณะความผิดต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์
เช่น ไม่ร่วมเปล่งเสียงร้องเพลงชาติ เพลงสรรเสริญอย่างดัง ตัด 5 คะแนน ไม่เป็นนักเรียนที่ดีของโรงเรียนและประเทศ ตัดคะแนน 10 คะแนน กระทำการอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตัด 50 คะแนน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา ที่ประกาศ ณ วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548 ได้อธิบายนิยามของการ ‘กระทำความผิด’ เอาไว้ว่าเข้าข่ายก็ต่อเมื่อมีพฤติกรรมฝืนระเบียบข้อบังคับของสถานศึกษา หรือของกระทรวงศึกษาธิการ
สิ่งที่ตามมา คือบทลงโทษ 4 สถาน ได้แก่ ว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ และทำกิจกรรมเพื่อปรับพฤติกรรม โดยวิธีการตัดคะแนนความประพฤตินั้น ให้แต่ละสถานศึกษากําหนดแนวทาง และบันทึกข้อมูลไว้เป็นหลักฐาน
น้อยคนที่จะปฏิเสธว่าการตัดคะแนนความประพฤติ ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายที่ดี เพราะต่างก็ยอมรับและต้องการเห็นพัฒนาการของผู้เรียน แต่เมื่อเวลาผ่านไปวิธีการก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเช่นกัน เพราะดูเหมือนว่า การให้น้ำหนักการสั่งสอนมากกว่ารับฟัง จะไม่ค่อยเวิร์คเสียแล้วในยุคสมัยนี้