เมื่อวานนี้ (23 ตุลาคม) เป็นวันปิยมหาราช วันนี้ก็ยังเป็นวันหยุดอยู่ แน่นอนว่าหนึ่งในพระราชกรณียกิจสำคัญที่ส่งผลต่อปวงชนชาวไทยของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 คือ การเลิกทาส
พอพูดถึงคำว่า ‘ทาส’ มันฟังดูเป็นคำที่แสนจะโบราณ ฟังดูเป็นเรื่องที่จบสิ้นไปนานแล้ว เพราะเราเข้าสู่โลกสมัยใหม่กันแล้ว ในโลกสมัยใหม่เราเชื่อในความเป็นมนุษย์ และเชื่อในความเท่าเทียมของมนุษย์ ดังนั้น ไอ้แนวคิดเรื่องทาสที่มองว่ามนุษย์เป็นเหมือนทรัพย์สิน มีสถานะไม่ต่างอะไรกับสัตว์หรือสิ่งของที่ถูกขายหรือกำหนดราคาได้ เราที่อยู่ในโลกสมัยใหม่พอฟังแนวคิดนี้แล้วก็รู้สึกว่า โหว แย่อะ เพราะการเป็นทาส การค้าทาสอะไรนี่มันเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้อีกแล้ว
แต่ข่าวร้ายคือ แม้ว่าโลกใบนี้รวมถึงสังคมไทยเองจัดการเรื่องทาสไปแล้ว แต่เราก็ยังอยู่ในยุคที่ยังมีปัญหาเรื่องทาสกันอยู่ ซึ่งบางที สิ่งของหรือความสะดวกสบายที่เราเห็นๆ กินหรือใช้กันอยู่ อาจมาจากหยาดเหงื่อ แรงงาน ไปจนถึงเลือดเนื้อของการใช้แรงงานทาสก็ได้
แรงงานทาสร่วมสมัย ปัญหาระดับโลก
อับราฮัม ลินคอน ต้องร่ำไห้เพราะปัญหาเรื่องแรงงานทาสที่พยายามจะยุติกันเพื่อให้โลกนี้มีความอารยะ ยังคงเป็นปัญหาสำคัญหนึ่งของโลกใบนี้ แม้ว่าเราจะเข้าสู่โลกสมัยใหม่ที่เคารพความเป็นมนุษย์ แต่ส่วนการผลิตในโลกทุนนิยมก็ยังต้องดำเนินการผลิตต่อไป
โลกทุนนิยม ด้วยตัวมันเองก็เป็นที่น่าเศร้านะ มันเป็นโลกที่เราต้องขายแรงงานในส่วนของการผลิตและการใช้แรงงานอย่างโรงงาน ค่าแรงถูกมองว่าเป็นต้นทุนที่ควรจะเวรี่ถูก เพื่อจะได้นำไปสู่การสร้างกำไรสูงสุดตามหลักการของระบบ
ในตะวันตกก็เพราะระบบทุนนิยมนี่แหละที่ทำให้เกิดการค้าทาส เพื่อเอาไปใช้ในการผลิต ในภาคส่วนที่มันทรหดอดทน อย่างการทำไร่ฝ้าย ไปจนถึงอุตสาหกรรมน้ำตาล ซึ่งปัจจุบันเอง อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานอย่างหนักหน่วงก็ยังมีการใช้แรงงานทาสกันอยู่ เช่น การบังคับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ให้ทำงานในภาคเกษตรกรรม งานบ้าน หรือในโรงงาน ไปจนการบังคับให้ขายบริการทางเพศ
องค์กรแรงงานสากล หรือ International Labour Organisation (ILO) รายงานว่าในโลกมีแรงงานทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก ที่ตกอยู่ในสภาวะแรงงานทาสรูปแบบต่างๆ ประมาณ 21 ล้านคน การเป็นทาสยุคใหม่มีการนิยามลักษณะร่วมกันคือ ถูกบังคับให้ทำงานไม่ว่าจะทางร่างกายหรือทางจิตใจ มีลักษณะของการถูกถือครองหรือถูกควบคุมด้วยการใช้กำลังกดขี่ มีการลดทอนความเป็นมนุษย์ด้วยการทำให้กลายเป็นเพียงทรัพย์สินที่ซื้อมาขายไป รวมถึงมีการจองจำและจำกัดเสรีภาพ ฟังดูคล้ายๆ ละครไทยบางเรื่องอยู่เหมือนกัน
แรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมง ปัญหาสำคัญของไทย
อาหารทะเลเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของไทย ขณะเดียวกันก็มีปัญหามากๆ ด้วย เพราะการออกเรือจับสัตวน้ำเป็นการงานใช้แรงงานที่หนักและเต็มไปด้วยความเสี่ยง ระยะหลังมีรายงานว่าแรงงานบนเรือประมงทั้งหลายมีปัญหาเรื่องการใช้แรงงานทาส
ปัญหาแรงงานทาสบนเรือประมงนี่ก็โหดยังกะหลุดมาจากยุคโบราณ พอลงเรือไปแล้วจะหนีก็ไม่ได้ สภาพเหมือนคุกผสมกับนรกที่ต้องจำยอม โดยเฉพาะหนุ่มวัยแรงงานทั้งหลายที่ถูกหลอก ไปจนถึงการมอมเหล้าล่อลวงเพื่อให้ลงเรือไปเป็นแรงงานทาสบนเรือ แน่นอนว่าบนเรือเป็นดินแดนที่มีกฏเกณฑ์เป็นของตัวเอง แรงงานต้องทำงานอย่างหนัก ทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกทำร้าย เฆี่ยนตี ร้ายแรงที่สุดคือถึงแก่ชีวิต โดยผลตอบแทนของแรงงานนั้นเป็นค่าแรงอันน้อยนิด ไปจนถึงไม่ได้เลย
ปัญหาเรื่องแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงทำให้ไทยเราถูกจับตามองในเรื่องการค้ามนุษย์ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลก็พยายามที่จะแก้เรื่องภาพลักษณ์ตรงนี้อยู่ ผลก็ดูจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น เช่น สหรัฐปรับระดับการบังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทยจาก tire 3 มาสู่ระดับ tire 2 คือ แม้การจัดการปัญหาค้ามนุษย์ยังไม่สอดคล้องกับสหรัฐ แต่ก็ได้มีความพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว
เรื่องภาพลักษณ์ในสายตาชาวโลกก็เรื่องหนึ่ง แต่เรื่องมนุษยธรรมก็เป็นเรื่องที่สำคัญเนอะ
จะว่าไป ไม่ใช่แค่เหล่าอาหารทะเลที่เราบริโภคเข้าไปหรอก เสื้อผ้า อุตสาหกรรมสิ่งทอ อาหาร เกษตรกรรม หลายๆ ผลิตภัณฑ์ข้าวของที่เรากินใช้กันอยู่ทุกวัน ไม่ว่าสิ่งไหนก็ไม่ควรที่จะเป็นผลผลิตของการกดขี่ขูดรีดแรงงานที่ไม่เป็นธรรม