เรื่องราวอาชญากรรมอุกอาจที่น่าเศร้า แม้จะดูเหมือนจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่บ้านเราก็ยังไม่ได้มีกระบวนการการแก้ไขให้ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเสียที จะเห็นก็แต่…เขาเรียกว่าอะไรนะ วัวหายล้อมคอกใช่ไหม
ก็ไม่รู้ว่าต้องมีวัวหายอีกสักกี่ตัว คอกถึงจะแข็งแรงปลอดภัยได้จริงๆ
ต่อประเด็นนี้ แน่นอนว่าทุกคนที่เห็นข่าวไม่ว่าจะทั้งเรื่องรถตู้ชนรถกระบะเมื่อไม่กี่วันก่อน หรือแม้กระทั่งเรื่องการปล้นทรัพย์จนกระทั่งมีผู้เสียชีวิตอย่างเมื่อคืนที่ผ่านมา บ้างก็คงสะเทือนใจ บ้างก็กลัวว่าสักวันมันจะเกิดขึ้นกับเรา บ้างก็เริ่มตั้งคำถามว่าเราจะทำอะไรกับเรื่องนี้ได้เพื่อที่จะแก้ไขให้อะไรๆ มันดีขึ้น
ใช่…เราทำอะไรกันได้บ้าง ในเมื่อรัฐเองยังไม่สามารถที่จะจัดหามาตรฐานความปลอดภัยที่เราจะสามารถเชื่อถือและพึ่งพิงได้อย่างวางใจเลย (โอเค อาจจะบอกว่าก็มีนโยบายนะ มีกฎหมายนะ แต่ถามถึงการบังคับใช้จริงแล้วก็นะ…)
กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช Research Student ที่ Kyoto University ได้ตั้งข้อสังเกตและเสนอถึงอีกหนึ่งแนวทางที่อาจช่วยให้การแก้ปัญหานี้มันขับเคลื่อนไปได้บ้าง เราจึงได้ขออนุญาตเพื่อนำมาเผยแพร่ต่ออีกทางหนึ่ง
ผมคิดว่า ตั้งแต่เรื่องรถตู้ จนมาถึงเรื่องแทงคนชิงทรัพย์แล้วเนี่ย เราคงต้องมาตั้งคำถามกับหลายๆ เรื่องจริงๆ จังๆ แล้วแหละ นอกจากเรื่องศีลธรรมจรรยา
แน่นอน ทั้งคนขับรถตู้ และโจรฆ่าชิงทรัพย์คนนี้ ‘เลว’ ด้วยมาตรฐาน ‘มนุษย์สมัยใหม่’ โดยไม่ต้องใช้คุณค่าทางศาสนาอะไรมาตัดสินเลย
แต่การด่าว่าไอ้เชี่ยนี่เลวคงไม่เกิดประโยชน์อะไรมาก
นอกจากการระบายความโกรธ ความเศร้าในระยะชั่ววูบ
การถามหาถึงเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยและความมั่นคงของมนุษย์ในฐานะประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่ในรัฐหนึ่งๆ และเป็นหน้าที่หลักสำคัญที่สุดของรัฐที่จะต้องรักษาไว้ (State’s promised security) นั้น ผมพูดถึงมาหลายครั้งแล้ว และในช่วงที่ผ่านมาหลายท่านก็พูดเรื่องนี้กันไปมากแล้ว ก็ไม่ขอพูดซ้ำ เพราะหลายท่านได้อภิปรายไปไกลมากแล้วด้วย ไปจนถึงการเรียกร้องระบบรางและการขนส่งสาธารณะที่ดีในกรณีรถตู้ หรือองค์กรตำรวจที่ดี ที่ทำหน้าที่เป็นระบบมากกว่าการตั้งด่านยามหิวเงิน ซึ่งก็ควรอภิปรายเพิ่มต่อไปอีกว่า เงื่อนไขของประเทศนี้ นอกจากมันจะเอื้อให้เกิดการทำแบบที่ว่าได้ง่ายแค่ไหนแล้ว ยังควรพูดถึงว่ามันบีบให้เหลือทางเลือกน้อยแค่ไหนในการใช้ชีวิตด้วย
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าอภิปราย และหลายท่านก็ได้พูดถึงไปแล้วเช่นกัน คือการลงลึกจากประเด็นแรกไปอีกขั้นหนึ่ง ด้วยการถามถึงโครงสร้างของประเทศโดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ ว่ามันชิบหายจนบีบให้คนเหลือทางเลือกน้อยมากๆ จนต้องมาทำอะไรแบบนี้หรือเปล่า? โหมสังขารตัวเองทำงาน จนไม่ต้องรับผิดชอบกับชีวิตคนอื่น ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับกรณีรถตู้ หรือในผู้ก่อเหตุในกรณีนี้ก็อาจถูกขับเคลื่อนด้วยกลไกเชิงโครงสร้างที่ใกล้เคียงกัน
อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเป็นกรณีใด หรือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างแค่ไหน
ก็ไม่ได้แปลว่าคนเหล่านี้ไม่ผิด ไม่เลว ไม่ไร้ความรับผิดชอบ
พวกเขายังคงผิด ยังคงเลว และยังคงไร้ความรับผิดชอบอยู่เช่นเดิม เพียงแต่พร้อมๆ กับการหาจุดบกพร่องในระดับบุคคล การมองหาปัญหาเชิงโครงสร้างที่ก่อให้เกิด ‘เงื่อนไขแห่งความเป็นไปได้ (Condition of Possibilities)’ ในการก่อเหตุ ในการขับเคลื่อนให้เกิดเหตุก็เป็นเรื่องจำเป็น และหลายท่านได้พูดกันไปพอสมควรแล้ว เท่าที่ผมได้ผ่านตาในสารพัดดราม่าในช่วงหลายวันมานี้ แต่ไม่มีเวลาเขียนเนื่องจากยุ่งมาก
ผมจึงอยากขออภิปรายเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย ในจุดที่คนอาจจะยังพูดถึงกันไม่มากนัก เอาจริงๆ มันเริ่มจากคำถามง่ายๆ ดูดราม่าๆ เลย ว่า “ทำไมคุณดูคลิปนี้แล้วคุณจึงเศร้า คุณจึงโกรธแค้นผู้ก่อเหตุ ทำไมคุณถึงเสียใจแทนครอบครัวของเหยื่อ?”
นั่นเพราะลึกๆ แล้ว (โอเค อาจจะไม่ต้องลึกมาก) คุณรู้ดีว่าเหตุเช่นนี้ เมื่อมันมีภาพออกมา มันอาจจะเกิดกับใครก็ได้ รวมถึงคุณ หรือคนที่คุณรักด้วย คุณอาจจะเกิดการตั้งคำถามว่า ถ้าคนที่โดนแทงอย่างในคลิปไม่ใช่ใครก็ตามที่คุณไม่รู้จัก แต่เป็นลูกชาย หรือพี่ชายคุณเล่า? เพราะสิ่งเหล่านี้มันฝังอยู่ในจิตสำนึกของเรา เราจึงอิน เราจึงรู้สึกเศร้ากับผู้ซึ่งจากไปจริงๆ
กล่าวคือ โดยพื้นฐานแล้ว ‘ท่านมองว่าชีวิตคือสิ่งที่มีค่าสูงสุด’
ชีวิตของเราก็ควรเป็นของเราเองที่จะได้กำหนดเส้นทางเดินให้มัน
ไม่ใช่มาถูกทำให้ยุติ หรือปฏิเสธการมีอยู่โดยใครอื่น
ที่ว่ามาทั้งหมดในย่อหน้าที่ผ่านมานั้น คือ ‘คุณค่าพื้นฐานสำคัญ’ ของสิทธิมนุษยชน เราเรียกมันว่าสิทธิในการมีชีวิต (Right to Life) และหากมองแบบกว้างขึ้นไปอีกสักนิดนั่นก็คือ สิทธิของปัจเจกในการครอบครองของที่เป็นของตน (Individual Self-Ownership) คุณค่าพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนนี้เอง เป็นคุณค่าที่ไม่อาจจะแยกออกได้เลยจากระบอบประชาธิปไตย ที่ในแง่หนึ่ง ‘กำเนิดขึ้นมาเพื่อยืนยันในหลักการขั้นพื้นฐานเหล่านี้’ หรือหากกล่าวอย่างถึงที่สุด เราอาจจะพูดได้ด้วยซ้ำว่า ระบอบประชาธิปไตย เป็นเพียง ‘ฟังก์ชั่นการทำงานที่กำเนิดตามขึ้นมาเพื่อทำให้คุณค่าของสิทธิมนุษยชนมันทำงานได้จริง’ (democracy as the following pragmatical function of human rights)
นั่นแปลว่า การที่เราจะสร้างเงื่อนไขที่ประกันความปลอดภัยให้กับชีวิตของประชาชนในรัฐได้อย่างแท้จริง ต้องการระบบการคุ้มครองความมั่นคงของมนุษย์ที่ดี แบบที่อภิปรายกันไปมากแล้ว หรือต้องการโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ดีเพื่อให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตได้อย่างสมค่าในฐานะมนุษย์อย่างที่อภิปรายไปในย่อหน้าถัดมานั้น เงื่อนไขเริ่มต้นแรกสุด (prerequisite) ของท่านก็คือ ‘การต้องอยู่ในรัฐที่เป็นประชาธิปไตยให้ได้ก่อน’
เพราะรัฐที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น จึงจะเห็นค่าในฐานะมนุษย์
ในตัวคนตัวเล็กตัวน้อย เช่นผมหรือคุณ
รัฐเผด็จการ และรัฐบาลเผด็จการ ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อ ‘เชิดชูคุณค่าในฐานะมนุษย์’ ของท่านแต่แรกอยู่แล้ว เพราะรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ด้วยฟังก์ชั่นของมันเอง ก็คือ การไม่สนใจหรือปฏิเสธการตัดสินใจในการเลือกทางเดินในฐานะมนุษย์ (โดยองค์รวม) ของพวกเราตั้งแต่แรก รัฐแบบนี้เกิดมาเพื่อชุดความคิดหรือวัตถุประสงค์จำเพาะบางประการเท่านั้น และโดยมากมักจะเป็นไปเพื่อประกันความมั่นคงทางอำนาจของ ‘พวกตน’ ไม่ใช่การประกันความมั่นคงของ ‘ทุกคน’
เพราะฉะนั้น ต่อให้ท่านกรีดร้องให้ตาย จนเสียงแหบแห้งหมดร่างท่าน มันก็ไม่เกิดประโยชน์ จนกว่าท่านจะได้มาซึ่งประชาธิปไตย อันเป็น ‘เงื่อนไขเริ่มต้นแรกสุด’ ในการจะได้เป็นมนุษย์อย่างที่มนุษย์ควรจะได้เป็นก่อน และแน่นอน ผมพยายามที่จะเน้นคำว่า ‘เงื่อนไขเริ่มต้นแรกสุด’ เพราะไม่ใช่ว่าเป็นประเทศในระบอบประชาธิปไตยปุ๊บ จะแปลว่าทุกอย่างดีเลย เพอร์เฟคเลย เปล่าครับ เรายังต้องก้าวเดินอีกยาว แต่อย่างน้อยข้อเรียกร้องที่ท่านอยากให้เห็น อยากให้ฟัง มันจะถูกรับฟังมากขึ้น
และที่สำคัญระบอบมันจะเปิดโอกาสให้ท่าน ‘ก้าวเดินไปได้’
แม้จะเป็นการเดินที่ยาว แต่อย่างน้อยก็มีโอกาสได้เริ่มเดิน
ผิดกับที่เป็นอยู่ ในเงื่อนไขที่เราอยู่กันตอนนี้ ต่อให้คิดอยากเดิน ท่านก็จะถูกกำแพงปิดล้อมและชนเปิงกับผนังไป ท่านจะไม่มีทาง ‘ก้าวเองได้’ อย่างดีที่สุดหากวันไหนเผด็จการเกิดใจดี อารมณ์ดีขึ้นมา ก็อาจจะ ‘ลากพา’ ประเทศไปในทิศทางที่ท่านชอบบ้าง แต่สุดท้ายมันก็คือการบังคับลากพาตามใจผู้นำเผด็จการนั่นเอง และท่านก็ไม่ได้เป็นคนอะไรอีกต่อไป แต่เป็นเพียงฝูงปศุสัตว์ทางการเมือง ที่โดนลากจูงไปนั่นไปนี่ ในฟาร์มที่เรียกว่าประเทศก็เท่านั้น
ผมอยากให้ท่านลองนึกย้อนกลับดูดีๆ
…และหากวันหนึ่งที่เราได้ประชาธิปไตยมาจริง และได้เริ่มเดินเรื่องนี้กันจริงๆ ผมไม่อยากให้เรามองเห็นแค่เหตุการณ์อย่างรถตู้เกิดอุบัติเหตุ หรือการจ้วงแทงอย่างคลิปนี้เลย ยังมีปัญหาอีกมากมายที่เราควรจะมองไปพร้อมๆ กัน เพราะผมบอกแต่ต้นแล้วว่า ประชาธิปไตยเป็นเพียง ‘ฟังก์ชั่นตาม’ ของสิทธิมนุษยชน
สิทธิมนุษยชน มันไม่ถูกตรึงด้วยเส้นพรมแดนใดๆ หรืออยู่ในกำแพงของประเทศใดๆ ครับ มันคือเงื่อนไขพื้นฐานสั้นๆ ง่ายๆ นี่แหละว่า ‘ทุกคนคือคน’ โดยไม่ได้สนใจเชื้อชาติ พรมแดน เหง้าหน้า หรือชาติตระกูลคุณ ทุกคนเหมือนกันหมดว่า ‘ทุกคนคือคน’ ก็เท่านั้นเอง