จากปีที่แล้วที่ไวรัสระบาดกินเวลาตลอดทั้งปี ทำให้เศรษฐกิจเกือบทุกประเทศทั่วโลกหดตัวติดลบ แต่ดูเหมือนว่าปีนี้เราอาจจะได้เห็นตัวเลขบวกอีกครั้ง หากการวัคซีน roll out ได้รวดเร็วตามเป้าหมาย
องค์กรเศรษฐกิจโลกหลายเจ้าออกมาบอกตรงกันว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะดีหรือไม่ ปัจจัยสำคัญเลยคือเรื่องของการฉีดวัคซีน และการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) คนจะได้กลับไปใช้ชีวิตปกติกันเสียที
รีเสิร์ชล่าสุดจาก ADB หรือธนาคารพัฒนาเอเชีย ที่เพิ่งปล่อยออกมาเมื่อปลายเดือนเมษายนที่แล้วนี่เอง มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย
โดยมีสัญญาณบอกว่า เศรษฐกิจของทวีปเอเชียจะฟื้นตัวได้ไวกว่าฝั่งสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป เป็นอานิสงส์ต่อเนื่องจากที่เหล่าประเทศเอเชียรับมือ COVID-19 ได้ดีตั้งแต่เริ่มต้น ADB ระบุว่า เศรษฐกิจเอเชีย 46 ประเทศ (ไม่นับรวมญี่ปุ่นและออสเตรเลีย) จะโตขึ้น 7.3% ในปีนี้ และ 5.3% ในปี ค.ศ.2022 หลังจากที่ปีที่แล้วติดลบไป 0.2%
ขณะที่สหรัฐอเมริกาคาดการณ์ว่าจะโตราว 5% ส่วนโซนยุโรปรวมกันอยู่ที่ราว 3%
ตัวเลข GDP ปี ค.ศ.2020, GDP คาดการณ์ปี ค.ศ.2021 และ อัตราประชากรที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็มในเอเชีย
เกาหลีใต้
GDP ปี ค.ศ.2020: -1%
คาดการณ์ปี ค.ศ.2021: 3.5%
อัตราประชากรที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็ม: 0.5%
เวียดนาม
GDP ปี ค.ศ.2020: 2.9%
คาดการณ์ปี ค.ศ.2021: 6.7%
อัตราประชากรที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็ม: 0.5%
ไทย
GDP ปี ค.ศ.2020: -6.1%
คาดการณ์ปี ค.ศ.2021: 3%
อัตราประชากรที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็ม: 0.6%
อินเดีย
GDP ปี ค.ศ.2020: -8%
คาดการณ์ปี ค.ศ.2021: 11%
อัตราประชากรที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็ม: 2.1%
อินโดนีเซีย
GDP ปี ค.ศ.2020: -2.1%
คาดการณ์ปี ค.ศ.2021: 4.5%
อัตราประชากรที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็ม: 2.8%
สิงคโปร์
GDP ปี ค.ศ.2020: -5.6%
คาดการณ์ปี ค.ศ.2021: 4%
อัตราประชากรที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็ม: 14.9%
ทั้งนี้ทั้งนั้น การคาดการณ์ดังกล่าวก็ยังมีข้อควรระวังแนบท้ายมาด้วย เพราะตัวเลขการเติบโตสวยๆ ของเศรษฐกิจมวลรวมที่เราบอกไปจะเกิดขึ้นได้ หากภูมิภาคเอเชียสามารถดำเนินนโยบาย ‘ฉีดวัคซีน’ ได้อย่างรวดเร็วและครบตามเป้า
เวลานี้คงไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการสร้างภูมิคุ้มกันคน ที่จะกลายเป็นภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจไปโดยปริยาย
ว่าด้วยเรื่องของตัวเลข GDP กับการฉีดวัคซีน
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เอเชียกลายเป็นภูมิภาคที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ เพราะเอเชียมีประเทศที่มีจำนวนประชากรมหาศาลอย่างจีนและอินเดีย ขณะที่หลายประเทศเป็นตลาดเกิดใหม่ มีโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปทุ่มเงินลงทุนไม่รู้จบ ต่างจากอเมริกาหรือฝั่งยุโรปบางประเทศซึ่งเป็นประเทศที่ร่ำรวย และตลาดอิ่มตัว
ทำให้ในบางปี GDP ของทวีปเอเชียเติบโตก้าวกระโดด 2 หลัก พร้อมกับจำนวนชนชั้นกลางที่เพิ่มมากขึ้น กลายเป็น rising star ของเศรษฐกิจโลก
ในช่วงการระบาดของ COVID-19 มีหลายประเทศที่จัดการรับมือกับการระบาดใหญ่ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ เวียดนาม ซึ่งทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวไม่นาน เมื่อควบคุมโรคได้ กำลังซื้อภายในประเทศก็กลับมาเดินต่อเนื่อง จึงไม่แปลกที่หลายประเทศในภูมิภาคเอชียคาดการณ์ว่าจะยังเติบโตต่อได้ในปี ค.ศ.2020
แต่ ADB ก็ยังบอกจุดที่น่าเป็นห่วง ณ วันนี้ อย่างการระบาดใหญ่ระลอกล่าสุดใน ‘อินเดีย’ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลักพันคนต่อวัน อินเดียถูกคาดการณ์ว่า ปี ค.ศ.2020 เศรษฐกิจจะกลับมาโต 11% กรณีที่พวกเขาสามารถจัดการการระบาดที่ลุกลามได้ แต่หากไม่ ก็อาจจะไม่ได้เลขสองหลักนี้
นอกจากอินเดียแล้ว ฟิลิปปินส์กับไทยเป็นอีกสองประเทศ ที่กำลังเจอโรคระบาดรอบใหม่ที่หนักขึ้นในพื้นที่ของตัวเองเช่นกัน ซึ่งชะตากรรมอาจไม่แตกต่างกับอินเดียนัก หากปัญหาวัคซีนล่าช้ายังไม่ถูกแก้ไข
Abdul D. Abiad ไดเร็กเตอร์ของแผนกวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของ ADB ได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร TIME ว่า ตอนนี้ทั่วเอเชียอยู่ระหว่างการต่อสู้ระหว่างโรคระบาดระลอกใหม่ และการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศ
“ถ้าโรคระบาดชนะ การฟื้นตัวของประเทศก็พ่ายแพ้” Abiad กล่าว
แน่ล่ะว่าการประกอบสร้างของ GDP ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยของโรคระบาดอย่างเดียว เพราะอาจจะมีหลายกิจการที่ยังดำเนินการต่อไปได้ในระหว่างนี้ แต่โรคระบาดก็เป็นปัจจัยตัดสินสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
เราขอลองยกตัวเลขจาก IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) มาให้ดูกันดีกว่า ในเวลาไล่เลี่ยกัน IMF ได้ออกคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจของหลายประเทศ ปี ค.ศ.2021 ออกมาแล้ว ที่น่าสนใจคือสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ซึ่งปีก่อนทั้งสองประเทศนี้นับว่าได้รับผลกระทบหนักจากการระบาด เชื้อลุกลามรวดเร็วจนมีตัวเลขคนติดเชื้อหลักหมื่นเรือนแสนต่อวัน
วันนี้ทั้งสองประเทศอยู่ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจากเมื่อปีก่อนแล้ว
มาดูตัวเลขคาดการณ์ GDP จาก IMF กันสักหน่อย
สหรัฐอเมริกา
Real GDP ปี ค.ศ. 2020: -3.4%
คาดการณ์ GDP ปี ค.ศ.2021: 5.1%
อัตราการฉีดวัคซีนของสหรัฐอเมริกา
อัตราประชากรที่ได้รับเข็มแรก: 45.1%
อัตราประชากรที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็ม: 32.3%
สหรัฐราชอาณาจักร
Real GDP ปี ค.ศ. 2020: -10%
คาดการณ์ GDP ปี ค.ศ.2021: 4.5%
อัตราการฉีดวัคซีนของสหรัฐราชอาณาจักร
อัตราประชากรที่ได้รับเข็มแรก: 52.1%
อัตราประชากรที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็ม 23.8%
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจจะยังไม่เห็นชัดเจนในวันนี้ แต่แน่นอนว่าวัคซีนคือรูปธรรมที่สุดของการกลับมาเป็น ‘ปกติ’ ที่คนทั่วโลกรอคอยมานานกว่าหนึ่งปี
ล่าสุดที่อังกฤษ อนุญาตให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ สามารถออกมาใช้ชีวิตกลางแจ้งแล้วโดยไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย และทดลองจัดคอนเสิร์ตแบบปกติที่มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 3,000 คน นำร่องเพื่อนำไปจัดทำนโยบายที่จะทำให้ผู้คนกลับมาใช้ชีวิต human contact ได้เหมือนก่อนโรคระบาดเกิดได้เร็วที่สุด
แน่นอนว่า ทั้งหมดทั้งมวลการจัดการวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ
อ้างอิงข้อมูลจาก
รายงานฉบับเต็มของ ADB: www.adb.org