ราคาน้ำมันแพงมากกกก! แพงจนเติมน้ำมันทีขนลุกที
ประโยคด้านบนน่าจะเป็นเรื่องในใจสำหรับผู้ใช้รถหลายคนในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะตอนนี้ (ที่ราคาพุ่งหนักมาก) สิ่งที่ตามมาแน่นอนว่าคือค่าครองชีพที่สูงขึ้น และประเด็น ‘เงินเฟ้อ’ ที่ถูกดันเพดานสูงขึ้น ซึ่งเราน่าจะเห็นได้จากพาดหัวข่าว และคำเตือนจากนักเศรษฐศาสตร์หลายคน
ทำไมต้องเตือน? เพราะปกติเงินเฟ้อสูง มักจะมาในจังหวะที่เศรษฐกิจดี แต่ตอนนี้เศรษฐกิจก็ดันไม่ดีอีก มันจึงกลายเป็นความย้อนแย้งทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่คนหวั่นว่าจะเกิดสภาวะ ‘Stagflation’ ซึ่งเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่แก้ยาก (และอาจจะเกิดขึ้นทั่วโลก เพราะเงินเฟ้อสูงกันทั่วโลก)
ทำไมจึงเกิดเงินเฟ้อทั่วโลก? เกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19 หรือเปล่า? แล้วราคาน้ำมันเกี่ยวกับเงินเฟ้อยังไง? มันเกี่ยวกับเราไหม? แล้วถ้าเงินเฟ้อด้วย เศรษฐกิจแย่ด้วย จะเกิด stagflation ไหม? มีสารพันคำถามเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน และสถานการณ์เศรษฐกิจในยุค COVID-19
The MATTER พาไปทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งขึ้นผ่านคำตอบของ ‘พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย’ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
วันนี้สถานการณ์เงินเฟ้อไทยเป็นยังไง
ถามว่ามีภาวะที่เงินเฟ้อสูงขึ้นใช่ไหม ต้องตอบว่า ใช่ เพราะถ้าเราดูประวัติของเงินเฟ้อเมืองไทย ปกติเราจะเจอปัญหาว่า เงินเฟ้อเมืองไทยต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ผมว่าในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมานี้ คนไทยไม่เคยได้ยินคำว่าเงินเฟ้อเลยนะ ต้องบอกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแบงก์ชาติประสบความสำเร็จในการควบคุมเงินเฟ้อมาก
มีอีกตัวแปรก็คือค่าเงินบาทแข็ง ในรอบปี ค.ศ.2015–2020 เราเห็นเงินบาทแข็งมาตลอด ซึ่งการที่เงินบาทแข็งมาตลอดก็ทำให้ราคาสินค้าในประเทศเนี่ยยิ่งถูกลงไปใหญ่ เพราะเมืองไทย เราใช้คำว่าเป็นประเทศเล็ก แล้วเป็นประเทศเปิด นั่นก็คือ all open economy ฉะนั้น ราคาสินค้าส่วนใหญ่ที่เราต้องซื้อกันก็จะมาจากราคาสินค้าตลาดโลกทั้งนั้นแหละ จนกระทั่งเจอ COVID-19
เงินเฟ้อในเมืองไทยก็เพิ่มขึ้นแล้วครับ แต่ว่าก็ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำมาก ต่ำกว่า 2% ซึ่งเงินเฟ้อ 2% ก็แทบจะไม่เห็นเลย แต่ว่าสิ่งที่ทำให้หลายคนกังวล มันเกิดจากแนวโน้มที่เราอาจจะเห็นเงินเฟ้อสูงขึ้น หรืออยู่ในระดับสูงไปอีกสักระยะหนึ่ง
ปัจจัยการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในไทยคืออะไร
ถ้าถามว่าอะไรมีผลมากที่สุด ก็คือ ‘ราคาน้ำมัน’ เพราะตระกร้าวัดเงินเฟ้อมันจะมีน้ำหนักของพวกน้ำมันอยู่ประมาณสัก 12–13%
คนปกติมีเงิน 100 บาท ที่ใช้แต่ละเดือน ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะวัดว่า ตะกร้าของทุกคนจะเป็นใบเดียวกัน ถูกไหมครับ แต่ว่าตะกร้าแต่ละใบมันจะมีน้ำหนักของน้ำมันหรือพลังงานอยู่ประมาณสัก 12–13% ถ้าเกิดใครที่ไม่เคยขับรถเลยก็อาจจะมีสัดส่วนนี้น้อยหน่อย ถ้าหากใครขับรถไกลๆ แต่ละวัน ขับรถเข้ามาทำงานเยอะ ก็อาจจะมีน้ำหนักของน้ำมันสูงกว่านั้น
ตะกร้าวัดเงินเฟ้อที่เป็นตะกร้ากลางจะมีส่วนแบ่งของน้ำมัน 10% กว่าๆ ซึ่งค่อนข้างสูง ทุกครั้งที่เราเห็นราคาน้ำมันขึ้นไปเยอะๆ ก็จะกระทบอัตราเงินเฟ้อเราค่อนข้างเยอะ เพราะว่าประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าสุทธิของน้ำมัน เรานำเข้าค่อนข้างเยอะ
สองคือ ‘ค่าเงินบาท’ เพราะว่าหลายอย่างก็เป็นสินค้าที่เรานำเข้าหรือส่งออก ค่าเงินบาทอ่อนก็อาจจะเห็นเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น
น้ำมันราคาสูงขึ้นเพราะอะไร และเกี่ยวกับเงินเฟ้อโดยตรงยังไง
น้ำมันเป็นสินค้าที่อยู่ในตะกร้าการบริโภค แต่ละเดือนเราต้องใช้ตังค์ไปทำอะไรบ้าง เกือบจะทุกคนต้องมีน้ำมันอยู่ในนั้น ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ถ้าทางตรงก็แปลว่า ใครขับรถ เติมน้ำมัน น้ำมันขึ้นก็ ตะกร้านี้ขึ้นแน่นอน น้ำมันที่ขึ้นก็จะเป็นภาระของเราที่แพงขึ้น
ทางอ้อม นอกเหนือจากมันอยู่ในตะกร้าของการบริโภคโดยตรงแล้ว มันยังเป็นต้นทุนของการผลิตสินค้าและบริการของประเทศไทยอย่างมาก เพราะว่า เมืองไทยขึ้นชื่อเลยนะว่า เป็นประเทศที่ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (efficient) มาก ลองนึกภาพว่า ประเทศอื่นเขามีรถไฟแล้ว ทุกคนก็จะขึ้นรถไฟกัน เมืองไทยนี่ขึ้นรถอย่างเดียว ขับรถอย่างเดียว
สมมติจากโตเกียวไปเกียวโต ทุกคนนั่งกันเต็มหมด แต่กรุงเทพฯ ไปโคราช ทุกคนขับรถหมด แปลว่า ประสิทธิภาพ (efficiency) ของการใช้พลังงานมันต่างกันเยอะมาก เพราะฉะนั้นถ้าผมมีโรงงานอยู่โคราชจะส่งของมาขายกรุงเทพฯ ถ้าน้ำมันขึ้น ชินคันเซ็นหรือว่าการขนส่งผ่านรถไฟอาจไม่ขึ้น แต่ผ่านรถบรรทุกขึ้นแน่นอน
สมมติผมขายข้าวผัดกะเพราอยู่ ทุกอย่างที่ผมใช้เพื่อการผลิตข้าวผัดกะเพรา ค่าข้าว ก็จะต้องขึ้น เพราะค่าขนส่งแพงขึ้น ราคาน้ำมันขึ้น หลายอย่างก็ขึ้นตามไปด้วย เพราะฉะนั้นราคาข้าวผัดกะเพรา ทั้งไข่ ข้าว หมู อะไรต่างๆ มันมีโอกาสที่จะขึ้นหมด
ซึ่งมันกระทบครัวเรือนทั้งทางตรงและทางอ้อม?
ปกติถ้าเศรษฐกิจดีแล้วราคาขึ้นก็ไม่ว่ากัน แต่ว่าเศรษฐกิจแย่ แล้วต้นทุนการผลิตขึ้นเนี่ย คำถามคือ ถ้าผมอยากจะขึ้นราคาค่าผัดกะเพราจาก 50 บาทเป็น 60 บาท คนจะยังซื้ออยู่รึเปล่า? สมมติต้นทุนผมขึ้นจาก 20 บาทเป็น 30 บาท ถ้าอยากจะได้กำไรเท่าเดิม ผมก็จะต้องขึ้นจาก 50 บาทเป็น 60
แต่ถ้าขึ้น 60 บาทเนี่ยคนไม่กินแน่ คนไปที่อื่นแน่ ผมก็อาจจะขึ้นจาก 50 บาท เป็น 55 บาท เพราะฉะนั้นจากเดิมผมเคยกำไร 20 บาท ผมอาจจะเหลือกำไร 15 บาท ก็จะกลายเป็นกินเข้าไปในกำไรของผมเอง หรือบางคนก็อาจจะแบ่งกันว่า คนซื้อโดนหน่อย คนขายโดนหน่อย
พอถามว่า ทำไมคนถึงต้องกังวลว่าน้ำมันขึ้นจะโดนกระทบ ก็เพราะว่าต้นทุนในการผลิตสินค้าและบริการเกือบทุกชนิดมีพลังงานมาเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นถ้าราคาน้ำมันขึ้น เงินเดือนผมไม่ขึ้นไปด้วย แต่สินค้าทุกอย่างขึ้น ผมก็เดือดร้อนถูกไหม ภาระผมก็จะสูงขึ้น สมมติว่าเดิมผมได้เงินเดือน 100 บาท สินค้าที่ผมเคยใช้อยู่ที่ 50 บาท ซึ่งถ้าขึ้น 10% แสดงว่าจาก 50 บาท กลายเป็น 55 บาท เงินออมหรืออะไรก็ตามจะกระทบหมด ผมก็จะซื้อสินค้าอื่นได้น้อยลง มันก็จะกระทบหมดเลย
แต่สถานการณ์เงินเฟ้อโลกโดยรวมก็สูงขึ้น เกี่ยวข้องกับ COVID-19 ไหม
เราเริ่มเห็นเงินเฟ้อโลกเพิ่มสูงขึ้นนะ ถ้าเราไปดูในประเทศใหญ่อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ทุกวันนี้เงินเฟ้อขึ้นไปอยู่แถว 5% แล้ว ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ไม่เคยเห็นมานานแล้ว แล้วก็ถ้าไปดูในหลายๆ ประเทศอย่างอังกฤษ ยุโรป เงินเฟ้อก็เร่งตัวขึ้นนะ ค่อนข้างสูง ที่นี้ก็จะเกิดคำถามว่า อ้าว แล้วเงินเฟ้อมันมาจากไหน
ซึ่งการเกิดเงินเฟ้อรอบนี้มันแปลก คือ เงินเฟ้อเกิดจากฝั่งซัพพลาย ฝั่งอุปทาน หลายคนใช้คำว่า เป็นคอขวดของการผลิต บางคนใช้คำว่า มันเป็น supply disruption ภาวะที่เกิดกระตุกขึ้นมาในกระบวนการผลิตโลก
เพราะอยู่ดีๆ เมืองเปิด ถ้าเราไปดูในสหรัฐอเมริก ในยุโรป เมืองปิดไป 6 เดือน ระหว่างนั้นไม่มีใครขับรถ ไม่มีใครขึ้นเครื่องบิน เพราะฉะนั้นความต้องการน้ำมัน ความต้องการพลังงาน มันหายไปหมดเลย ถ้าเกิดจำได้ มีช่วงหนึ่งราคาน้ำมันติดลบเลย เพราะอะไร? เพราะว่าคนผลิตก็ผลิตมาเรื่อยๆ แต่คนใช้ไม่ได้ใช้ พอไม่มีใครใช้ ซัพพลายก็เหลือ พอซัพพลายเหลือก็ไม่มีใครอยากจะซื้อไปเก็บ ทุกคนทิ้งน้ำมันหมดเลย ไม่อยากจ่ายค่าเก็บ แต่พอเมืองเริ่มเปิดซัพพลายมันเริ่มไม่พอ
สอง มันมีเรื่องการขนส่งด้วย ได้ยินข่าวเรื่องเรือไม่พอ คอนเทนเนอร์หาย บางคนจะเรียกว่า ปัญหาship หาย คือเรือหายไป
สาม คอมพิวเตอร์ ชิป คอนดักเตอร์ ก็เป็นปัญหาใหญ่ มีผู้ผลิตไม่พอ ผลิตออกมาไม่ได้เพราะ คอมพิวเตอร์ชิปไม่มี
สี่ แรงงาน คือ แรงงานมันขาดจริงๆ ขาดไปหมดทุกมิติ อย่างถ้าเราฟังข่าว Amazon ก็จะบอกว่า กล่องก็จะไม่พอแล้ว ประเด็นพวกนี้มันเยอะขึ้นเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้นจากเดิม ที่ตอนเราเห็นเมืองเปิดใหม่ๆ สักเดือนสี่เดือนห้า ตอนต้นปี ธนาคารกลางส่วนใหญ่ก็จะออกมาแล้วบอกว่า เฮ้ย ไม่ต้องกลัว นี่มันแค่ปัญหาชั่วคราว เพราะว่าเดือนแรกๆ ที่เราเห็นราคาสินค้าที่ขึ้น มันมาจากพวกรถยนต์ใช้แล้ว ตั๋วเครื่องบิน โรงแรม ซึ่งมันเป็นการเปิดเมืองจริงๆ เปิดมาใหม่ๆ คนไม่เคยขับรถเลย อยู่ดีๆ อยากจะขับขึ้นมา ไปหาซื้อรถ รถใหม่ก็ผลิตไม่ทัน ต้องไปไล่ซื้อรถเก่า ราคารถเก่าก็ขึ้น ซึ่งทุกคนก็เชื่อว่าราคารถเก่ามันไม่มีทางขึ้นไปได้เรื่อยๆ เดี๋ยวก็ต้องลง ตอนแรกมันเป็นอย่างนั้น
แต่พอมาเดือนหลังๆ เราเริ่มเห็นแล้วครับว่า ราคารถเก่ามันลงนะ แต่ราคาสินค้าอย่างอื่นมันขึ้นไปแทน แปลว่า เงินเฟ้อที่เราคิดว่าน่าจะชั่วคราวเนี่ย มันดันอยู่ได้ยาวนานกว่าที่มองไว้ก่อนหน้านี้
เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่ปัญหาของเมืองไทยอย่างเดียว มันเป็นปัญหาของโลกเลย แล้ววันนี้ถ้าเกิดเราไปคุยกับผู้ประกอบการ สมมติว่า ใครที่ต้องนำเข้าสินค้าจากจีนจะบอกว่า โอ้โห สินค้าหาไม่ได้ ราคาแพง ตู้คอนเทนเนอร์ไม่มี เพราะฉะนั้นต้นทุนหรือราคาสินค้าเหล่านี้เริ่มขยับขึ้นจริง เพียงแต่ว่ายังไม่สามารถส่งผ่านไปถึงผู้บริโภคระดับสุดท้ายได้ ราคาสินค้าอาจจะยังไม่ได้แพงขึ้นนะครับ แต่ต้นทุนเริ่มแพงขึ้นแล้ว ถ้าถามว่าภาระอยู่กับใคร ก็อาจจะอยู่กับผู้ประกอบการใช่ไหม แต่หลังๆ มันอาจจะต้องลามไปว่า ภาวะแบบนี้อยู่นานก็อาจจะส่งผ่านไปยังราคาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ได้
โดยปกติแล้วเราจะเห็นว่าเงินเฟ้อเพิ่มเมื่อเศรษฐกิจดี แต่รอบนี้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น เงินเฟ้อมาเสียแล้ว?
เมื่อราคาข้าวผัดกะเพรา ทั้งไข่ ข้าว หมู มีโอกาสที่จะขึ้นหมด ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจมันยังไม่ดี ตรงนี้แหละเป็นปัญหา สิ่งที่เราเรียกว่า stagflation มันคือภาวะที่ stagnation + inflation เศรษฐกิจไม่ดี แต่เงินเฟ้อดันสูง
stagflation คือ เศรษฐกิจแย่ แล้วราคาสินค้าแพงขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นคนเลยไม่ค่อยชอบ เพราะชีวิตลำบากขึ้นเยอะ และที่เราคุยกันทั้งหมดคือเงินเฟ้อไม่ได้เกิดจากดีมานด์ <ความต้องการผู้บริโภค> เงินเฟ้อเกิดจากซัพพลายเพราะซัพพลายมีของออกมาน้อย
Stagflation เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจไหม
ในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ ถามว่ารัฐบาลหรือธนาคารกลางทำอะไรได้บ้าง ทำได้ 2 อย่าง คือ นโยบายการคลัง กับ นโยบายการเงิน ซึ่งทั้งสองอย่างเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า นโยบายเพื่อควบคุมดีมานด์หมดเลย คือ เศรษฐกิจไม่ดีก็กระตุ้น เศรษฐกิจดีก็แตะเบรก เพราะฉะนั้น ถ้าอยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจดีแล้วเงินเฟ้อสูง ผมก็แตะเบรก <เพิ่มดอกเบี้ย> เศรษฐกิจก็จะแผ่วลง เงินเฟ้อก็จะเบาลง หรือถ้าเกิดเจอเศรษฐกิจที่เงินเฟ้อต่ำ เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ผมก็จะไปกระตุ้น ภาวะเช่นนั้น มันก็ตรงไปตรงมา ก็คือเศรษฐกิจร้อนแรงแตะเบรก เงินเฟ้อลดลง
แต่ภาวะ stagflation มันอยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี เงินเฟ้อดันสูง เกิดปัญหาอะไร ลองนึกภาพว่า เครื่องมือของรัฐบาลมี 2 อย่าง คือ ไม่เร่งก็เหยียบเบรก ทีนี้ในภาวะที่เกิด stagflation ผมเหยียบเบรก เงินเฟ้อรึเปล่าไม่รู้ เช่น น้ำมัน ถ้าผมไปแตะเบรกมากๆ แต่ว่าราคาน้ำมันมันไม่ลง เพราะราคาน้ำมันมันเกิดจากปัญหาต้นทุน ปัญหาซัพพลาย เศรษฐกิจอาจจะแย่ลง โดยที่เงินเฟ้ออาจจะไม่ช่วยอะไร นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมคนถึงค่อนข้างกังวล stagflation เพราะ stagflation มันแก้ไม่ง่าย ครั้งสุดท้ายที่เศรษฐกิจโลกเจอภาวะ stagflation คือวิกฤติน้ำมันปี ค.ศ.1970–1980 ซึ่งใช้เวลานานมากนะกว่าที่จะดันเงินเฟ้อกลับมาได้
มันจึงเป็นความท้าทายใหญ่มากของรัฐบาลและธนาคารกลางว่า ขืนแตะเบรกไป เผลอๆ เศรษฐกิจจะแย่เอา เผลอๆ จะเข้าสู่ recession <เศรษฐกิจถดถอย> โดยที่ราคา(สินค้า)อาจจะไม่ได้ลง
เห็นหลายประเทศเลือกขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดระดับเงินเฟ้อ?
เป้าหมายสำคัญของธนาคารกลาง คือ คุมเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไป ตอนนี้เราเริ่มเห็นหลายๆ ประเทศ เริ่มขึ้นดอกเบี้ย ส่วนหนึ่งก็คือเขาไม่มีทางเลือก ประเทศอื่นเวลาเงินเฟ้อสูง สิ่งที่ตามมา คือ ค่าเงินจะอ่อน พอค่าเงินอ่อน เงินเฟ้อจะสูงขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น วิธีที่จะตัดวงจรนี้ก็คือต้องขึ้นดอกเบี้ยไม่ให้ค่าเงินเขาสูงขึ้นเร็วเกินไป จะได้คุมเงินเฟ้อได้ แต่ถ้าถามว่าขึ้นไปแล้ว เศรษฐกิจจะแย่ไหม ก็อาจจะแย่ แต่ก็เป็นต้นทุนที่ต้องจ่ายเพื่อที่จะคุมเงินเฟ้อ
อย่างเกาหลีใต้ ถามว่าทำไมเขาทำได้ เขาห่วง financial stability ห่วงเรื่องความเสี่ยงของเสถียรภาพของระบบการเงิน เขาก็บอกเขายอมจ่าย ยังไงก็เป็นต้นทุนที่ต้องยอมจ่าย
อย่างของอังกฤษ เขาดูแล้วปรากฏว่าเงินเฟ้อกำลังสูงขึ้น แล้วตัวนโยบายเขาเป็นนโยบายที่อิงเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นสำคัญ
ถ้าปกติเศรษฐกิจร้อนแรง ก็ต้องเหยียบเบรกให้เบาลง แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่ได้ดีมากแต่เงินเฟ้อสูง ก็อาจจะต้องเหยียบเบรกเหมือนกัน เพราะไม่รู้ว่าจะทำยังไงแล้ว ไม่มีทางเลือกอื่น
แล้วสำหรับประเทศไทย ทางออกจะเป็นยังไงต่อไป
เราเจอภาวะที่เศรษฐกิจแย่แล้วเงินเฟ้อสูงรึเปล่า หลายคนบอกว่า มันยังไม่มาหรอก stagflation เงินเฟ้อยังอยู่ระดับต่ำอยู่เลย <ประมาณ 2%> แล้วเศรษฐกิจไม่ค่อยดี
ถ้าระดับเงินเฟ้อตอนนี้ เขา (ธนาคารกลาง) ก็อาจจะยังไม่ได้เดือดร้อนอะไรมาก อาจจะโชคดีนิดหนึ่งตรงที่แรงกดดันเงินเฟ้อยังไม่ได้เยอะมาก เพราะว่าเศรษฐกิจแย่ แต่ว่าถ้าปีหน้าเกิดนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา เศรษฐกิจเริ่มกลับมาดีขึ้น ผมว่าปัญหานี้ก็อาจจะมีเหมือนกัน ลองนึกภาพว่าถ้านักท่องเที่ยวกลับมาจริงๆ เราต้องเอาคนมาทำงานโรงแรม แรงงานต่างชาติก็ไม่มีแล้ว พวกนี้ก็จะทำให้ต้นทุนของการผลิตสินค้าแพงขึ้น