หลายคนคิดว่า ความโด่งดังของ Squid Game เป็นเรื่องที่เลียนแบบกันไม่ได้ บางคนบอกว่านี่คือโชคชะตาแบบหนึ่งที่คาดเดาไม่ได้หรอกว่าจะเกิดขึ้น แต่อีกหลายคนก็แย้งว่ามันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ทว่าเป็นผลพวงจากการ ‘สร้างสม’ อันยาวนานต่างหากเล่า
การถกเถียงนี้ทำให้ผมนึกถึงนิทานเซ็นที่ว่าด้วยเรื่องราวของแม่ชีชิโยโนะ แม่ชีที่ถือครุน้ำไปในค่ำคืนหนึ่งที่ดวงจันทร์เต็มดวง แล้วภาพสะท้อนของดวงจันทร์ก็ปรากฏอยู่บนผิวน้ำในครุน้ำนั่น ทว่าครุน้ำนั้นเก่าแก่ เมื่อเดินไปได้ไม่ไกลนัก ครุน้ำที่บอบบางนั่นก็พังทลายลง น้ำในครุหลุดร่วงลงสู่พื้นดินสลายหายไปหมด เงาของดวงจันทร์อันแสนงามนั่นก็ด้วย
เป็นวินาทีนั้นเอง, วินาทีที่ภาพสะท้อนของดวงจันทร์หายลับอย่างฉับพลัน – แม่ชีชิโยโนะก็บรรลุธรรม
มีผู้ตีความว่า การบรรลุธรรมของแม่ชีชิโยโนะอาจเป็นเหตุบังเอิญ เป็นอาการ ‘ซาโตริ’ ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้มีการเตรียมตัวอะไรมาก่อน แต่กระนั้นก็มีผู้รู้อีกหลายคนบอกว่า ที่จู่ๆ ณ วินาทีนั้นแม่ชีบรรลุธรรม เป็นเพราะท่านได้ ‘เตรียม-พร้อม’ ด้วยการฝึกจิตของตัวเองมาเนิ่นนานแล้วต่างหาก มันเหมือนการเตรียมเนื้อนาดินเอาไว้ให้พร้อมสำหรับเมล็ดพันธุ์ที่จะงอกงาม แต่เมล็ดพันธุ์นั้นจะงอกงามและผลิดอกสดสวยขึ้นเมื่อไหร่ เป็นเรื่องที่เราไม่อาจคาดเดาได้
มันเกิดขึ้นเอง
โดยเราต้อง ‘เตรียม-พร้อม’ เอาไว้เสมอ
เรื่องของแม่ชีชิโยโนะก็คล้ายวงการบันเทิงเกาหลีเหมือนกัน Squid Game ไม่ใช่ผลผลิตของวงการเกาหลีที่เป็นเพียงความบังเอิญหรือเป็นพลุหนึ่งลูกที่บังเอิญยิงได้ใหญ่โตสวยงาม แต่ดังที่รู้กัน – มันคือพลุหนึ่งในหลายหมื่นแสนลูก ที่ค่อยๆ ถูกพัฒนาขึ้นทีละเล็กละน้อย กินเวลายาวนานอย่างน้อยที่สุดก็ราวสี่สิบปี
แล้วเมื่อทุกอย่างพร้อม วันหนึ่ง ปรากฏการณ์ทำนองนี้ก็จะถือกำเนิดขึ้นโดยที่เราไป ‘บีบบังคับ’ หรือ ‘จัดต้ัง’ ให้มันเกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ว่าจะทุ่มเงินวูบเดียวลงไปมากมายแค่ไหนก็ตามที
รายงานฉบับหนึ่งของสถาบันพัฒนาเกาหลี (Korea Development Institute) ของสถาบันธนาคารโลก (World Bank Institute) ที่มีชื่อว่า Korea as a Knowledge Economy: Evolutionary Process and Lessons Learned ซึ่งศึกษาวิวัฒนาการของ ‘เศรษฐกิจฐานความรู้’ ของเกาหลี บอกเราชัดเจนว่าเกาหลีไม่ได้เพิ่งมาเริ่มบูมในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งอุตสาหกรรมบันเทิง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ เมื่อสิบหรือยี่สิบปีที่ผ่านมาเท่านั้น แต่พัฒนาการทั้งหมดที่เราเห็น มาจากการ ‘เตรียม-พร้อม’ ยาวนานอย่างน้อยก็สี่สิบปี
เศรษฐกิจฐานความรู้หรือ Knowledge Economy คือระบบเศรษฐกิจที่ใช้ความรู้เป็นตัวขับเคลื่อนหลักเพื่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมี ‘เสาหลัก’ ของระบบเศรษฐกิจแบบนี้อยู่ 4 ต้น ได้แก่
- ตัวสถาบันการปกครองเอง (Instutional Regime) จะต้องมีนโยบายทางเศรษฐกิจที่ดี และสร้างระบบที่ ‘จูงใจ’ ให้คนอยากลุกขึ้นมาทำอะไรๆ ด้วยตัวเอง ที่สำคัญก็คือ ‘สถาบันการปกครอง’ ที่ว่านี้ จะต้องจัดสรรทรัพยากรต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เปิดกว้าง รวมไปถึงมีการกระตุ้นให้เกิด ‘ความสร้างสรรค์’ ในรูปแบบต่างๆ โดยเมื่อสร้างสรรค์แล้วก็ต้องได้รับค่าตอบแทนต่างๆ ที่เหมาะสม จึงจะเกิดแรงจูงใจอยากสร้างสรรค์
- มีการ ‘อัพเกรด’ แรงงานเพื่อให้มีความรู้ (educated) และมีทักษะ (skilled) อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งสามารถปรับทักษะเพื่อให้เกิดการสร้างและใช้ความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ซึ่งตรงนี้ก็ต้องเริ่มที่รัฐหรือสถาบันการปกครองอีกนั่นแหละ
- มีสถาบัน บริษัท องค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ ที่ทำหน้าที่เป็นหัวหอกในเรื่องความรู้ใหม่ๆ โดยเฉพาะความรู้ในระดับโลก (Global Knoledge) แล้วนำความรู้เหล่านั้นมาปรับแปลงให้เข้ากับความต้องการของท้องถิ่น โดยที่สถาบันหรือองค์กรเหล่านั้นต้องตามทันความรู้และ ‘การปฏิวัติทางความรู้’ (Knowledge Revolution) ใหม่ๆ ด้วย
- มีสาธารณูปโภคหรือโครงสร้างในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่สมัยใหม่และมากเพียงพอ รวมไปถึงการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ปิดกั้น และสนับสนุนให้เกิดการประมวลข้อมูลข่าวสารและความรู้ต่างๆ อยู่เสมอด้วย
จะเห็นได้ว่า แค่เสาหลักสี่ข้อที่เป็นเรื่องพื้นฐานนี้ ถ้าสังคมไหนไม่มี ก็ยากที่จะพัฒนาตัวเองไปเป็นสังคมที่มีระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ได้ ยิ่งถ้าตัว ‘สถาบันการปกครอง’ ใช้วิธีคิดแบบอำนาจนิยมที่เยิ่นเย้อยาวนาน สั่งอะไรก็ต้องทำ และเห็นความสร้างสรรค์เป็นศัตรู – เศรษฐกิจฐานความรู้ยิ่งยากจะเกิด หรือหากผู้นำไม่มีความรู้หรือไม่สนใจความรู้ ก็แล้วจะส่งเสริมสังคมให้มีความรู้ได้อย่างไร
ในบางกรณีที่สังคมย่ำอยู่กับอดีต การ ‘อัพเกรด’
ในทางความคิดและความรู้ใหม่ๆ ก็จะเกิดขึ้นได้ยากด้วย
เกาหลีเคยตกอยู่ในสภาพย่ำแย่อย่างที่ว่าในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนหลายฝ่ายมองไม่เห็นทางได้เลยว่าเกาหลีจะพัฒนาไปเป็นสังคมที่มีระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ได้อย่างไร ช่วงนั้น GDP ต่อหัวของประชากรเกาหลี เทียบได้กับระดับของประเทศยากจนในแอฟริกา ในปี ค.ศ.1960 GDP ต่อหัวของประชากรเกาหลีอยู่ที่ 1,110 เหรียญ ของประเทศในแอฟริกาเฉลี่ยอยู่ที่ 430 เหรียญ ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่ 9,137 เหรียญ
เกาหลีต้องใช้เวลาปรับเปลี่ยนตัวเองนานถึง 45 ปี เพื่อทำให้ GDP ต่อหัวของประชากรเพิ่มขึ้นมากกว่า 12 เท่า มาอยู่ที่ 13,000 เหรียญ ในปี ค.ศ.2005 (เทียบกับประเทศในแอฟริกาที่ 560 เหรียญ และประเทศพัฒนาแล้วที่พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 29,376 เหรียญ)
รายงานของธนาคารโลกฉบับนี้บอกว่า ช่วงปี ค.ศ.1950 – 1997 นั้น เป็นช่วง ‘ตามให้ทัน’ (Catch-Up Period) ของเกาหลี เพราะเกาหลียังตามหลังในทางเศรษฐกิจอยู่มาก แต่ด้วยการยึดเสาหลักสี่ข้อข้างต้น และพยายามพัฒนาไปในแต่ละเรื่องจนกระทั่งทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง เกาหลีจึงเริ่มมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้มีเป้าหมายจะเป็นสังคมที่มีระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ จนเมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี ค.ศ.1997 เกาหลีจึงตระหนักว่าจะต้องเปลี่ยนตัวเองเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่มี ‘ความรู้’ เป็นเครื่องนำทางอย่างจริงจัง
เกาหลียึดวิธีการที่เรียกว่า Knowledge Assessment Methodology หรือ KAM อันเป็นเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นโดยธนาคารโลกเพื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ในมิติความก้าวหน้า เครื่องมือที่เรียกว่า KAM นี้ ช่วยวิเคราะห์ตัวแปรต่างๆ ในสังคมหลากหลายด้าน ตั้งแต่เรื่องเงินเดือนของผู้คน จำนวนงานวิจัย คุณภาพการทำงานของภาครัฐ กำแพงภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ ไล่ไปจนถึงเรื่องของ Rule of Law หรือความเป็นนิติรัฐที่ ‘ยุติธรรม’ จริงๆ ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่า ความเป็นนิติรัฐเกี่ยวอะไรกับเศรษฐกิจฐานความรู้ด้วยหรือ
คำอธิบายในเรื่องนี้ก็คือ ถ้าประเทศไหนปราศจากความยุติธรรม ประเทศนั้นย่อมไม่อาจเป็นประเทศที่มี ‘ความรู้’ เป็นฐานได้ เนื่องจากจะยุติธรรมเป็น ก็ต้องมีความรู้เสียก่อน และต้องเป็นความรู้ที่หลากหลายรอบด้านด้วย ความยุติธรรมคือ ‘ธรรม’ ที่ต้องเกิดขึ้นทุกหนแห่งกับทุกผู้คนอย่างเสมอหน้ากัน พูดได้ว่า สังคมที่ปราศจากความยุติธรรมเป็นสังคมที่ ‘โง่เขลา’ (ในความหมายของ Ignorant) และจะนำไปสู่วงจรความโง่เขลาที่พอกพูนไปเรื่อยๆ ดังนั้น การวัดค่าความเป็นนิติรัฐหรือมีการปกครองที่ยุติธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก และเกี่ยวพันไปถึงระบบเศรษฐกิจอย่างแนบชิด
แล้วถามว่า เกาหลีทำอย่างไรบ้าง?
เรื่องแรกก็คือการออกแบบกรอบของระบบเศรษฐกิจมหภาคใหม่หมด ซึ่งการทำอย่างนี้ ไม่ใช่แค่รัฐบาลชี้นิ้วสั่งแบงค์ชาติหรือเอกชน แต่ตัวรัฐบาลเองนั่นแหละ ที่ต้องย้อนกลับไป ‘นิยาม’ ตัวเองใหม่หมดด้วย มีการย้อนกลับไปดูว่า บทบาทของรัฐบาลควรจะเป็นอย่างไรกันแน่ แล้วเปลี่ยนจาก ‘ผู้สั่ง’ มาเป็น ‘ผู้สร้าง’ สนามใหม่ๆ ให้ผู้เล่นหน้าใหม่ต่างๆ ได้เข้ามาเล่น รวมทั้งคิดค้นระบบการเงินใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพ ทันสมัย ยืดหยุ่น พูดง่ายๆ ก็คือ – ย้อนกลับไปเร่ิมที่ ‘สมอง’ และ ‘สภาพทางจิต’ ของรัฐเสียก่อน ไม่อย่างนั้นเรื่องเชิงมหภาคจะเกิดขึ้นได้ยาก
เรื่องถัดมาเป็นเรื่องที่สอดรับกับยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่แล้วอย่างมาก นั่นคือการสร้างสาธารณูปโภคในเรื่องข้อมูลข่าวสารอย่างจริงจัง โดยเกาหลีมองเรื่องนี้มาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990s และเริ่มลงมือสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ทำให้ก้าวสู่การเป็นประเทศที่อยู่ในระดับท็อปๆ ของโลก ในเรื่องอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และเมื่อถึงปี ค.ศ.2000 เมืองหลักๆ มากถึง 144 เมือง ก็มีการเชื่อมต่อกันด้วยอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เรียบร้อยแล้ว นั่นเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างชาติผ่านระบบเศรษฐกิจฐานความรู้
อย่างไรก็ตาม การสร้างสาธารณูปโภคก็ยังเป็นเพียงเรื่องของโครงสร้างภายนอก เรื่องสำคัญที่ต้อง ‘เติมเต็ม’ ลงไปในโครงสร้างเหล่านี้ ก็คือการสร้างทักษะและทรัพยากรมนุษย์ใหม่ๆ ซึ่งก็คือการสร้าง ‘ความรู้’ ด้วยวิธีการต่างๆ
เคยมีคนที่ศึกษาการสร้างความรู้ในอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีเล่าให้ฟังว่า เกาหลีสร้าง ‘ฐานข้อมูล’ ในเรื่อง ‘บท’ ทั้งของซีรีส์ ละคร ภาพยนตร์ ฯลฯ เอาไว้แข็งแกร่งมาก เขายกตัวอย่างให้ฟังว่า หากนักเขียนบทอยากเขียนบทเลิฟซีน เพียงเข้าไปในฐานข้อมูลดังกล่าวก็สามารถสืบค้นได้ว่าที่อื่นๆ ในโลกมีการเขียนบทในรูปแบบคล้ายคลึงกันเอาไว้อย่างไรแล้วบ้าง และหากต้องการจะสร้างบทแบบใหม่ๆ ต้องทำอย่างไรให้แตกต่าง เป็นต้น
นอกจากนี้ เรื่องของ ‘ข้อมูลพื้นฐาน’ ทางด้านวิทยาศาสตร์ก็เป็นอีกเรื่องที่เกาหลีให้ความสำคัญมาก ข้อมูลพื้นฐานอาจเป็นเรื่องที่มองยากว่าจะนำมาใช้ประโยชน์ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยตรงได้อย่างไร โดยประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาจำนวนมากมักมองข้ามข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ เพราะคิดว่าข้อมูลที่จำเป็นคือข้อมูลประเภทที่นำมาประยุกต์ใช้ได้เลยหรือข้อมูลทางเทคนิค แต่เกาหลีไม่คิดอย่างนั้น การย้อนกลับไปให้ความสำคัญกับข้อมูลพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้เกิดความ ‘แน่น’ ในความรู้ขึ้นมา นำไปสู่พัฒนาการทางอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ก้าวกระโดด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนตร์ และอื่นๆ
หากย้อนกลับไปดูการ ‘ฟูมฟัก’ ตัวเองของเกาหลี
เราจะพบว่าแต่ละทศวรรษมี ‘คีย์แฟกเตอร์’ ที่แตกต่างกันออกไป
ในทศวรรษ 60 เกาหลีมุ่งพัฒนาฐานการผลิตสำหรับส่งออก พอมาถึงยุค 70 เปลี่ยนไปเป็นการสร้างฐานการเติบโตแบบพึ่งตัวเอง ในทศวรรษ 80 เริ่มขยายฐานอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี ถึงยุค 90เริ่มก้าวเข้าไปสู่นวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และเมื่อเข้าสู่ปี ค.ศ.2000 ก็พยายาม ‘เปลี่ยนผ่าน’ ไปสู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้เต็มตัว
มันจึงเป็นการเตรียมพร้อม ฟูมฟัก และบ่มเพาะตัวเองที่ยาวนานผ่านการวางแผนอย่างรอบคอบและพร้อมเปลี่ยนแผนเมื่อพบกับอุปสรรคต่างๆ
Squid Game เกิดขึ้นมาในท่ามกลางเนื้อนาดินและบรรยากาศแบบนี้ ท่ามกลางความพยายามจะปรับเปลี่ยนประเทศขนานใหญ่ในทุกมิติ มีตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านจากการปกครองที่เป็นเผด็จการมาสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ฟูมฟัก ‘ความรู้’ ไปจนถึงการให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเปิดกว้างรับความคิดใหม่ๆ
หากปราศจากการ ‘เตรียม-พร้อม’ ในทุกๆ มิติเสียแล้ว เมื่อสิ่งที่มีศักยภาพเดินทางมาถึง สังคมนั้นๆ อาจไม่มีความสามารถมากพอที่จะเข้าใจสิ่งใหม่ที่อาจพาสังคมนั้นทะลุไปสู่สภาวะใหม่ก็ได้
บางทีเมื่อดวงจันทร์ลับหายไป เราอาจเห็นแค่การลับหายไปของดวงจันทร์ แต่ไม่มีขอบเขตของสติปัญญามากเพียงพอที่จะรับรู้ได้ว่า – การลับหายไปนั้นมีความหมายลึกซึ้งมากเพียงใด ไม่ว่าจะในทางเศรษฐกิจหรือทางธรรม
เพราะเราไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะเปิดรับปัญญาใหม่ไว้ล่วงหน้านั่นเอง