การทำงานของ กกต. ในวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าท็อปฟอร์มจนทำให้แฮชแท็ก #กกตมีไว้ทำไม ติดเทรนด์โลกโซเชียลมีเดียต่อเนื่องมาหลายวัน
ด้วยความสงสัยว่างานใหญ่ขนาดนี้ ทำไม กกต. ถึงผิดพลาดได้มากมาย หรือบางทีเป็นเพราะงบประมาณที่ไม่พอหรือเปล่า? The MATTER เข้าไปสืบค้นในเว็บไซต์ของ กกต. ว่าวางงบประมาณในการเลือกตั้งไว้เท่าไหร่ และถูกแจกแจงเป็นเงินส่วนไหนบ้าง
งบประมาณ กกต.
ในเอกสารค่าใช้จ่ายในการควบคุมและจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สรุปงบประมาณในการควบคุมและจัดการเลือกตั้งปี 2566 ไว้ทั้งหมด 4,657,431,150 บาท โดยแยกออกเป็น
- จัดการเลือกตั้ง ส.ส. จำนวนเงิน 2,812,120,300 บาท
- ตรวจสอบปฏิบัติงานเลือกตั้งและการกระทำผิดกฎหมาย จำนวนเงิน 355,465,500 บาท
- ติดตามการเลือกตั้ง ให้คำปรึกษาแนะนำผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการเลือกตั้ง ทั้งในและนอกราชอาณาจักร จำนวนเงิน 55,855,000 บาท
- เตรียมความพร้อมบุคลากร วิทยากร และพนักงานเลือกตั้งทุกระดับ จำนวนเงิน 368,986,900 บาท
- สนับสนุนการหาเสียงและตรวจสอบค่าใช้จ่ายการเลือกตั้ง จำนวนเงิน 473,991,640 บาท
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วม รณรงค์เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง จำนวนเงิน 509,221,250 บาท
- ควบคุม สอดส่อง สืบสวนสอบสวน ไต่สวน วินิจฉัยชี้ขาด จำนวนเงิน 28,585,000 บาท
- ตรวจติดตาม นิเทศ และประเมินผลการจัดเลือกตั้ง 3,774,000 บาท
- อำนวยการ และสนับสนุนการเลือกตั้งโดยสำนักงาน กกต. จำนวนเงิน 43,140,360 บาท
- สังเกตการณ์เลือกตั้งของ คกก.กกต. ทั้งใน นอก และองค์กรระหว่างประเทศ จำนวนเงิน 3,840,000 บาท
- รับรายงานจากผู้ตรวจการเลือกตั้ง และตรวจติดตามการเลือกตั้ง จำนวนเงิน 2,451,200 บาท
กกต. คือใครบ้าง
กกต. ก็เช่นเดียวกับองค์กรอิสระทั่วไป กล่าวคือเป็นองค์กรทางการเมืองที่มีที่มาจากคัดเลือกตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดย กกต. ชุดปัจจุบันมีทั้งหมด 7 คน ซึ่งล้วนถูกแต่งตั้งขึ้นโดย สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ที่ถูกเลือกมาอีกทีด้วยมือของ คสช.
โดย กกต. ชุดปัจจุบันทั้ง 7 คน รับตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2561 และเคยผ่ายการเลือกตั้งปี 2562 มาแล้ว โดยกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย
- อิทธิพล บุญประคอง ประธาน คกก.กกต. ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2561
- สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ กกต. ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2561
- ธวัชชัย เทอดเผ่าไทย กกต. ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2561
- ฉัตรไชย จันทร์พรายศรีกกต. ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2561
- ปกรณ์ มหรรณพกกต. ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2561
- เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะกกต. ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2561
- ฐิติเชฎฐ์ นุชนาฎกกต. ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2561
สำหรับ อัตราเงินเดือนประจำตำแหน่งของ คกก. กกต. อยู่ที่
- ประธาน กกต. เงินเดือน 81,920 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท รวมได้รับ 131,920 บาท/ เดือน
- กกต. เงินเดือน 80,540 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท รวมได้รับ 123,040 บาท/ เดือน
หรือถ้าคิดระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 7 ปี
- ประธาน กกต. จะได้รับเงินเดือน 11,081,280 บาท
- กกต. จะได้รับเงินเดือน 10,335,360 บาท
กกต. มีไว้ทำไม กับนานาปัญหาในวันเลือกตั้งล่วงหน้า
เมื่อวันเลือกตั้งล่วงหน้าที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากได้โพสต์ประสบการณ์ไปเลือกตั้งล่วงหน้าอย่างหลากหลาย แต่ที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือ การจัดการเลือกตั้งของ กกต. ที่เต็มไปด้วยปัญหามากมาย
โดย iLaw ซึ่งติดตาม #เลือกตั้งล่วงหน้า ได้สรุปรวมปัญหาที่เกิดขึ้นในวันดังกล่าวเอาไว้ ที่น่าสนใจ (และไม่น่าให้อภัย) อาทิ
- ลงทะเบียนแล้วแต่ไม่มีรายชื่อ
จากการเก็บข้อมูลของ iLaw มีอย่างน้อย 6 กรณีที่ประชาชนลงใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า แต่เมื่อไปถึงหน้าคูหาเลือกตั้งกลับไม่มีชื่อ เช่น ประชาชนรายนึงในจังหวัดนนทบุรีซึ่งได้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า และพิมพ์เอกสารเรียบร้อย แต่เมื่อไปถึงวันจริงปรากฎว่าข้อมูลในเอกสารเปลี่ยนไปเป็นว่า เขายกเลิกการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ทำให้เขาไม่สามารถออกเสียงล่วงหน้าได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยได้บันทึกเหตุการณ์ไว้ในแรงงาน แต่บอกในตอนนั้นว่าไม่สามารถแก้ไขอะไรได้
ที่อาคารเฉลิมพระระเกียรติ 72 พรรษา จังหวัดเชียงราย ประชาชนรายหนึ่งพบว่าตัวเองไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้ ทั้งที่ลงทะเบียนไว้ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาแล้ว โดยประชาชนคนดังกล่าวคาดว่าคงไม่ได้ใช้สิทธิอีกแล้ว เนื่องจากภูมิลำเนาเดิมอยู่ในจังหวัดตรัง
- เขียนเขต/รหัสหน้าซองเลือกตั้งผิด
จากการเก็บข้อมูลของ iLaw มีอย่างน้อย 19 กรณีที่เขียนเขต/ รหัสเลือกตั้งผิด โดยแบ่งเป็นในพื้นที่กรุงเทพฯ 9 กรณี และต่างจังหวัดรวม 10 กรณี โดยส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ประจำเขตเลือกตั้งเขียนรหัสหน้าซองเป็นรหัสไปรษณีย์ แทนที่จะเป็นรหัสเขตเลือกตั้ง
- ข้อมูลผู้สมัครไม่ครบหรือสร้างความสับสน
จากการเก็บข้อมูลของ iLaw พบว่า มีกรณีที่รายชื่อผู้สมัคร ส.ส. หายทั้งหมด 3 กรณี และมีกรณีจัดเรียงรายชื่อผู้สมัครไม่เป็นระเบียบ 1 กรณี ที่จุดเลือกตั้งโรงเรียนนามนราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดกาฬสินธุ์
โดยกรณีรายชื่อผู้สมัครหายมี 2 กรณีที่คล้ายกันคือ จุดเลือกตั้งหอประชุมอำเภอสูงเนิน จ.นครราชสีมา และ สำนักงานเขตหนองแขม พบว่ารายชื่อผู้สมัครก้าวไกลหายทั้งสองจุด ส่วนอีกกรณีที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเชียงใหม่พบว่า มีรายชื่อผู้สมัครแค่ 1 เขตจากทั้งหมด 2 เขต
- ปิดผนึกซองไม่ถูกต้อง
จากการเก็บข้อมูลของ iLaw มีอย่างน้อย 8 กรณีที่มีการปิดผนึกซองไม่ถูกต้อง เช่น ที่สำนักงานเขตบางแค เจ้าหน้าที่ให้ผู้ออกเสียงลอกกาวปิดซองเลือกตั้งเอง หรือที่เทศบาลเมืองพิมลราช ตำบลพิมลราช จังหวัดนนทบุรี ประชาชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่เซ็นชื่อปิดซองโดยไม่คร่อมบริเวณผนึกซอง
นอกจากนี้ ยังมีรายงานความผิดปกติในการเลือกตั้งครั้งนี้อีกมาก อาทิ เปลี่ยนสถานที่เลือกตั้ง, QR โค้ดใช้ไม่ได้, เจ้าหน้าที่ไม่ตรวจสอบปล่อยให้ผู้มีสิทธิคนอื่นเซ็นชื่อผิดช่อง, ไม่ให้อาสาสมัครถ่ายภาพเหตุการณ์ รวมถึงยังมีการแชร์คลิปใครบางคนเข้าไปในห้องเก็บหีบเลือกตั้ง และเปิดหีบในพื้นที่สายไหมอีกด้วย
เชื่อว่าการทำงานของ กกต. ในวันที่ 7 พ.ค. อาจเกิดขึ้นด้วยความประมาทเลิ่นเล่อมากกว่าความตั้งใจทุจริต แต่สำหรับประชาชนที่ต้องการเป็นหนึ่งในอาสาสมัครติดตามการเลือกตั้งครั้งนี้ สามารถสมัครได้ผ่านเว็บไซต์ vote62 ได้อยู่
มาร่วมเป็นอีกแรงที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ สุจริต โปร่ง เป็นธรรม ตามคำขวัญของ กกต. กันเถอะ