การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม ที่เพิ่งผ่านมานั้น นอกจากจะหักปากกาเซียนในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการทั้งของพรรคพลังประชารัฐ และอนาคตใหม่ (อาจรวมถึงภูมิใจไทยด้วย) ที่ได้คะแนนเสียงเยอะเกินคาด ในขณะที่พรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งน้อยเกินคาด ปากกาของเหล่าเซียนต่างก็พาก็แตกร้าวซ้ำอีก
รวมถึงการมีความไม่ชอบมาพากลที่ยังแคลงใจหลายๆ คนกระทั่งในตอนนี้ ไม่ว่าจะจำนวนเปอร์เซ็นต์ผู้มาใช้สิทธิที่น้อยกว่าที่รับรู้และควรจะเป็นมาก คืออยู่เพียงแค่ 65-66% เท่านั้น, การมีบัตรเสียจำนวนมากมาย เกือบๆ 6%, บัตรจากต่างแดนมาไม่ทันและกลายเป็นบัตรเสียไป, กรณีบัตรเกินที่ดูจะมีปริมาณมากมายเหลือเกิน (ซึ่งรวมไปถึงจำนวนที่นั่ง ส.ส. พึงมีที่เกินเกณฑ์ด้วย), หรือกรณีข้ามคืนแล้วคะแนนเสียงผู้สมัครพรรคหนึ่งหายไปเป็นหมื่นๆ อันดับร่วงจากที่ 1 ไปเป็นที่สองหรือสามในบัดดล เป็นต้น แต่สิ่งหนึ่งที่แน่ชัดและต้องยอมรับกันก็คือ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมีความเป็นไปได้สูงที่ประชาชนฝั่งประชาธิปไตยเสรีจะพ่ายแพ้ (แม้อาจจะต้องนับว่าเป็นความพ่ายแพ้ที่ประชาชนมีต่อ กกต. ก็ตาม) และนั่นนำมาสู่การพยายามถอดบทเรียนในครั้งนี้
ที่ผมต้องเกริ่นแบบนี้ก็เพราะว่า ผมจะบอกว่าผมเองก็รับทราบถึงความไม่ชอบมาพากลและความน่าจะเป็นที่สูงมากที่น่าจะเกิดการโกงขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้เช่นเดียวกันกับทุกคนแหละครับ และดูจะเป็นกลโกงที่ก้าวเกินไปกว่าการซื้อเสียงแจกเงินอะไรไปไกลเลย โดยเฉพาะไอ้ตัวบัตรเกิน และคะแนนเสียงผู้สมัครหายเนี่ย ผมเองก็โกรธ ก็ฉงนใจดังเช่นทุกคน ทั้งประณามและไม่ยอมรับในการโกงนี้ด้วย ส่วนการตั้งแคมเปญฟ้อง กกต. ต่อให้แทบจะไม่ได้ผลอะไรในทางปฏิบัติ แต่อย่างน้อยก็ถือว่ามีบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ เป็นรอยแผลของความชอบธรรมที่ปลอมขึ้นมาของรัฐบาลตัวแทนฝั่งอำนาจนิยม
แต่ที่ตั้งใจจะพูดนั้น ผมตั้งใจจะจำกัดอยู่ที่การยอมรับในตัวผลลัพธ์ว่า หากนับเฉพาะตัวผลลัพธ์แล้ว ฝั่งประชาชนที่สนับสนุนประชาธิปไตยเสรีมีแนวโน้มสูงมากที่จะพ่ายแพ้ เพราะพรรคที่เป็นกำลังหลักพรรคหนึ่งของฝั่งนี้ได้คะแนนเสียงน้อยกว่าที่คาดไปมาก (จะเพราะโดนกลโกงอะไรที่ว่ามาก็ตาม) ในขณะที่พรรคซึ่งเป็นตัวแทนฝั่งตรงข้ามของอุดมการณ์กลับได้คะแนนมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เยอะ (เช่นกัน ไม่ว่าจะด้วยกลโกงแบบใดก็ตามที) ซึ่งผลลัพธ์นี้แปลว่า โดยรวมแล้วเราพ่ายแพ้นั่นเอง
เมื่อมันคือการพยายามจะถอดบทเรียน หรือทบทวนเหตุการณ์ที่ผ่านมา สิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้จึงไม่ใช่บทปลอบประโลม หรือพยายามให้กำลังใจแบบกรุ๊ปเธราพีอะไรใดๆ ทั้งสิ้น
มุมมองของการเขียนนั้นจะไม่ได้มองหรือวิพากษ์แต่ละพรรคอย่างเป็นธรรมบนหลักการด้วย เพราะการถอดบทเรียนนี้วางฐานอยู่บนการมองในเรื่องเชิงยุทธศาสตร์ เชิงวิธีการในการปฏิบัติจริง ไม่ใช่การทำความเข้าใจในเชิง ‘หลักการ’ หรือ ‘ทฤษฎี’ อะไร เมื่อเป็นเรื่องเชิงยุทธศาสตร์ ผมก็จำเป็นต้องมองมันผ่านแว่นของเงื่อนไขการต่อสู้จริง เช่น ในบางกรณี รู้อยู่แล้วว่าเสียเปรียบ แต่ก็ต้องสู้ และหาทางเอาชนะให้ได้ภายใต้เงื่อนไขที่เสียเปรียบนั้น (คือ รู้ตัวแต่ต้นอยู่แล้วว่าเสียเปรียบ) แต่สุดท้ายพ่ายแพ้ก็ต้องมาดูกันว่า การเตรียมตัวของเราในการรับมือในการต่อสู้ภายใต้ความเสียเปรียบที่รู้แต่แรกนี้ เราพลาดส่วนไหน เราเตรียมตัวบกพร่องจุดไหน หรืออีกฝั่งเขาแข็งแกร่งกว่าที่เราคาดการณ์ในเรื่องใดบ้าง ไม่ใช่หยุดอยู่แต่เพียงการพยายามปลอบใจในความพ่ายแพ้ของตน แล้วบอกว่าแพ้เพราะโดนรังแก แพ้เพราะความเสียเปรียบ ซึ่งก็พอจะรู้แต่ต้นอยู่แล้วว่าจะต้องเจอ ว่ากันโดยสรุปก็คือ มามองหาว่า “อะไรคือความเสียเปรียบที่เรารู้ว่าจะต้องพบเจอ แต่ไม่ทันได้คิดถึง หรือเตรียมตัวมา” นั่นเอง
ผมจะเน้นไปที่พรรคสำคัญ 4 พรรค ที่ผลคะแนนนับว่าหักปากกาเซียนเป็นอย่างมาก คือ พลังประชารัฐ อนาคตใหม่ เพื่อไทย และประชาธิปัตย์ จริงๆ แล้วควรจะพูดถึงม้ามืดอย่างภูมิใจไทยด้วย แต่เนื่องจากเค้ามาแบบมืดจริง ผมเองเลยสุดจะประเมินแบบชัดเจนได้ในเวลานี้
1. ประเด็นเรื่อง ส.ส. เก่า โดนดูดหรือย้ายพรรค โดยเฉพาะจากเพื่อไทยไปพลังประชารัฐ
ประเด็นเรื่อง ส.ส. เก่าของเพื่อไทยย้ายพรรค หรือโดนดูดไปพรรคพลังประชารัฐ ทำให้ในหลายพื้นที่ คนหันมาเลือก ‘ส.ส. เก่าในพื้นที่’ เป็นหนึ่งในจุดที่หลายคนมองว่าเป็นปัจจัยที่อาจจะส่งผลให้เสียงของเพื่อไทยน้อยกว่าที่คิด และเสียงของพลังประชารัฐมากกว่าที่คิด เพราะ ส.ส. เก่าเหล่านี้ นอกจากจะมีเครือข่ายที่แข็งแกร่งและอาจจะแชร์ๆ กันอยู่กับเครือข่ายของเพื่อไทยเดิมแล้ว ต่อให้ไม่ชนะก็สามารถเรียกคะแนนเสียงในพื้นที่ได้ไม่น้อย โดยมากหากไม่ชนะก็มักจะขี่ๆ มาเป็นอันดับสองหรือสาม ซึ่งกลายเป็นคะแนนสำคัญสำหรับปาร์ตี้ลิสต์ในระบบการเลือกตั้งใหม่นี้และพลังประชารัฐเอง ที่ออกแบบการหาคะแนนเสียงมาให้เหมาะสมกับกลไกของรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่แล้ว ชัดเจนว่าได้ประโยชน์ไปไม่น้อยเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี การประเมินแต่เพียงว่าโดน ‘ซื้อตัว’ ส.ส. ไปแต่เพียงอย่างเดียวนั้น อาจจะเป็นการง่ายเกินไป และไม่ได้ช่วยให้หาทางแก้มือในครั้งต่อๆ ไปได้นัก เท่าที่ผมทราบมา การย้ายค่าย ของ ส.ส. เพื่อไทยนั้น มีมาจาก 5 รูปแบบหลักๆ ซึ่งบางรูปแบบอาจจะต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต มิเช่นนั้นในระยะยาว พรรคเพื่อไทยอาจจะล่มจมตามพรรคประชาธิปัตย์ไปได้
1) โดนซื้อตัวหรือใช้ผลประโยชน์ชักชวนข้ามไป อันนี้เป็นแบบที่หลายๆ คนมีการพูดมาแล้ว และก็ชัดเจนในตัว ไม่ขออธิบายอะไรมาก
2) ส.ส. กลุ่มที่เชื่อจริงๆ ว่าทางพลังประชารัฐมีสิทธิได้เป็นรัฐบาลมากกว่า (ซึ่งก็มีแนวโน้มจะเป็นแบบนี้แต่ต้นแล้ว) จึงยินดีไปอยู่ฝั่งนั้นเอง ด้วยคิดว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในทางการเมืองของตน กลุ่ม 1 และ 2 นี้ผมคิดว่าอาจจะจัดการแก้ไขอะไรได้ลำบากครับ
3) กลุ่ม ส.ส. ที่เป็น ‘อุปทานส่วนเกิน’ ของพรรคเพื่อไทยเอง สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับ ไม่ว่าเราจะรักหรือเกลียดพรรคเพื่อไทยก็ตาม เพื่อไทยเป็นพรรคที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการโดนเล่นงานมาเยอะมากตลอดประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย ผมคิดว่าจะพูดว่าโดนเล่นมาหนักที่สุดเท่าที่เคยมีมาก็ว่าได้ ‘ที่ยังคงอยู่รอดมาได้’ จนถึงตอนนี้ ทั้งการยุบพรรค และการตัดสิทธิทางการเมือง เจอทั้งบ้าน 111 และเป็นส่วนสำคัญของบ้านเลขที่ 109 ที่ ส.ส. ของพรรค (ไทยรักไทย) โดนตัดสิทธิ 111 คน และ (พลังประชาชน) 37 คน ตามลำดับ กระนั้นเพื่อไทยก็ยังคงเป็นพรรคใหญ่ที่คงความแข็งแกร่งตลอดมา จากความนิยมในตัวพรรคที่ทำให้สามารถหาผู้สมัคร ส.ส. มาแทนที่ได้ตลอด
แต่ ส.ส. ที่มาแทนที่นี้เอง ในท้ายที่สุดแล้วก็กลายสถานะมาเป็น ส.ส. เก่าในพื้นที่ (แทนคนเดิมที่ถูกตัดสิทธิ) ไปด้วย เมื่อถึงวันที่บ้านเลขที่ 111 และ 109 ถูกปลดล็อคทางการเมือง จำนวน ‘แคนดิเดต ส.ส.’ ของเพื่อไทยจึงมีปริมาณมากขึ้นมาก ในขณะที่พื้นที่เขตที่ลงสมัครคงที่หรือน้อยลง ต่อให้มีการตั้งพรรคเพื่อชาติขึ้นมาหรือกระทั่งพรรคไทยรักษาชาติ (ที่ถูกยุบไปแล้ว) แต่ทุกคนย่อมรู้ดีว่าในกรณีที่ 2 พรรคนี้ต้องชนกับพื้นที่ที่มีพรรคเพื่อไทยแล้ว ย่อมยากที่จะชนะได้ เป็นการลงเสียเปล่าไปโดยปริยาย และไปหวังเอาคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ที่ก็ไม่เกี่ยวกับพวกคนที่ลง ส.ส. เขตอีกด้วย
ในแง่นี้เอง จุดแข็งของเพื่อไทยในฐานะที่เป็นพรรคซึ่งเป็นสถาบันทางการเมืองด้วยนั้น จึงดูจะย้อนกลับมาแว้งกัดเพื่อไทยเองอยู่บ้าง เพราะแคนดิเดต ส.ส. เก่าที่ถูกปลดล็อค กับ ส.ส. เก่าที่มาแทนที่คนเคยโดนล็อคนั้นต้องมาแบ่งสรรปันส่วนกันให้ได้ลงตัวมากพอ หากไม่ได้ก็ต้องแยกจากกันไป ไปหาพรรคที่มีแนวโน้มจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งมากกว่าพรรคสาขาเพื่อไทย ซึ่งก็คือพลังประชารัฐ
4) กลุ่มที่ถูกตัดขาดทางการเมืองโดยเพื่อไทยเอง ว่าง่ายๆ ก็คือ ส.ส. ในมุ้ง ‘ทิ้งเพื่อน’ และถูกอัปเปหิจากพรรค คือในช่วงพรรควิกฤติ ไม่ว่าจะตอนโดนยุบพรรค หรือตอนโดนรัฐประหารก็ตาม คนในพรรคซวยบ้าง ต้องหนีไปต่างแดนบ้าง มุ้งนี้ใช้วิธีหนีหายเข้ากลีบเมฆ ไม่ช่วยเหลือ ไม่หือไม่อืออะไรเลย เมื่อเพื่อไทยกลับมาตั้งหลักได้ใหม่ กลุ่มทิ้งเพื่อนนี้ก็ถูกบีบให้ ‘ไปไกลๆ’ ซึ่งก็หนีไม่พ้นพลังประชารัฐเป็นหลัก
5) รูปแบบหลักสุดท้ายเท่าที่ผมทราบคือ อดีต ส.ส. เก่าของเพื่อไทย ที่ ‘ไม่ได้อยากย้ายพรรค’ แต่โดนกลยุทธ์ข่มขู่ให้ต้องย้าย ไม่เช่นนั้น จะโดนเล่นงานในกลวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะในทางกฎหมาย ตัดสิทธิ์ หรืออื่นๆ ทั้งในเกมและนอกเกม กลุ่มที่ทนแรงกดดันไม่ไหว หรือกลัวเกินกว่าจะต้าน ก็ต้องจำใจยอมจากลา กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มักจะร่ำลาจากเพื่อไทยด้วยดี และรอวันกลับมา แต่พร้อมๆ กันไปก็เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะเรียกคะแนนเสียงได้มากที่สุดด้วย เพราะมักเป็นแคนดิเดต ส.ส. ที่มีอิทธิพล หรือเป็นที่รักในพื้นที่นั้นๆ สูง
ในหลายๆ กรณีอาจจะมีสาเหตุยิบย่อยแบบอื่นๆ อีก หรือในบางกรณีก็อาจจะหลายเหตุผลผสมปนเปกันไป แต่ผมคิดว่า การย้ายพรรคในกรณีข้อ 3–5 นั้น ทางพรรคเพื่อไทยเองน่าจะสามารถหากลวิธีในการรักษาพันธมิตรไว้ได้มากกว่านี้ด้วย อย่างไรก็ดี ผมเพียงแต่ต้องการจะบอกว่า มันไม่ใช่แค่เพียงเรื่อง ‘การโดนซื้อตัวข้ามพรรค’ แล้วจบอยู่แค่นั้นน่ะครับ
2. การช่วงชิงที่นั่งระหว่างพรรค
จุดนี้เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีการพูดถึงกันเยอะ และ 2 พรรคที่ดูจะตกเป็นเหยื่อของเคสนี้มากที่สุดคือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ส่วนพรรคที่ดูจะดึงคะแนนเสียงจาก 2 พรรคนี้ไปได้เห็นจะหนีไม่พ้นพรรคอนาคตใหม่ และพรรคพลังประชารัฐ ตามที่หลายๆ คนวิเคราะห์กันอยู่แล้ว
พรรคประชาธิปัตย์ดูจะโทรมหนักสุดในกรณีนี้ เพราะคะแนนเสียงน่าจะถูกแบ่งให้กับทั้งพรรคอนาคตใหม่และพลังประชารัฐ ก่อนหน้านี้พรรคประชาธิปัตย์ปฏิเสธผลโพลที่บอกว่าพรรคตนจะได้ที่นั่งต่ำกว่าร้อย (ประมาณ 80–90 ที่นั่ง) เพราะไม่เชื่อว่าจะได้น้อยปานนั้น แต่เมื่อผลคะแนนใกล้เคียงความจริงมากแล้วอย่างตอนนี้ พรรคประชาธิปัตย์เองนี่แหละที่อาจจะอยากให้ผลเป็นไปตามโพลเสียยิ่งกว่าใคร เพราะที่นั่งหายหดจนหน้าเจื่อนกันทั้งพรรค ส่วนหนึ่งผมคิดว่าต้องยอมรับว่ามาจากตัวพรรคประชาธิปัตย์เอง ที่สมญา NATO (No Action, Talk Only) นั้นไม่ได้มาด้วยโชคช่วยในสายตาของคนจำนวนมาก ฉะนั้นการเลือกประชาธิปัตย์ในการเมืองที่แข่งนโยบายกันอย่างเขี้ยวลากดินนี้ จึงเสมือนการกำตด ที่ดูจะไม่ได้อะไรกลับคืนมา
นอกจากในมุมการแข่งขันเชิงนโยบายที่ประชาธิปัตย์ดูจะพ่ายแพ้แล้ว ท่าทีที่อึนๆ ไม่ชัดเจน ดูไม่ออกว่าจะเอาเสรีนิยม หรือจะอนุรักษ์นิยมดูจะใช้การไม่ได้เสียแล้ว คนที่เคยเลือกประชาธิปัตย์ด้วยว่าเกลียดทักษิณ แต่ใจเอนเอียงมาทางเสรีนิยมมากกว่าก็หันไปเลือกอนาคตใหม่ ในขณะที่อีกกลุ่มที่เชียร์หรือชื่นชอบวิธีคิดอนุรักษ์นิยมนั้นเลือกที่จะกาให้กับพรรคที่ชัดเจนไปเลยว่า “ฉันคือตัวแทนของอนุรักษ์นิยมนะ แบบไม่แอบๆ ซ่อนๆ ด้วย” อย่างพลังประชารัฐไป ฟังก์ชั่นของประชาธิปัตย์ในฐานะตัวเลือกทางอุดมการณ์จึงหมดไปอีก
ว่าง่ายๆ ประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ทั้งในมุมนโยบาย และในมุมอุดมการณ์เสียสิ้น คะแนนที่ได้จึงดูจะเหลือเพียงจากแฟนพรรคที่ยังคงเหลืออยู่ แต่ก็ดูจะร่อยหรอไปตามวัย หากยังคงเป็นเช่นนี้ ไม่คิดจะปรับบทบาทและสร้างความชัดเจนให้กับแบรนด์ของตนเอง พรรคประชาธิปัตย์ก็คงจะเหลือเป็นเพียงซากปรักหักพังแห่งอดีต
ส่วนพรรคเพื่อไทยต้องยอมรับว่า ในหลายพื้นที่โดนแบ่งคะแนนไปพรรคอนาคตใหม่ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครที่ดูจะเห็นได้ชัดที่สุด เขตที่เป็นพรรคไทยรักษาชาติลง คะแนนเสียงดูจะโอนไปให้อนาคตใหม่อย่างชัดเจนและเป็นหนึ่งเดียว ในขณะที่เขตที่เพื่อไทยลงเองกลับต้องแย่งฐานคะแนนกับอนาคตใหม่ จนโดนพรรคพลังประชารัฐมาคาบไปกินได้ (หากรวมคะแนนอนาคตใหม่กับเพื่อไทยในเขตแบบนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าฝั่งเสรีนิยมนั้นชนะอนุรักษ์นิยม) ส่วนหนึ่งอาจจะต้องยอมรับว่าด้วยกระแสของทั้งสองพรรค โดยเฉพาะในเขตเมืองนั้นมาแรงพอๆ กัน และในแง่นโยบายก็ดูจะ ‘ขายได้’ ทั้งคู่ เพื่อไทยดูจะเด่นกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น อนาคตใหม่ดูจะเน้นกับระยะกลางและยาว ต่างเป็นที่สนใจทั้งสิ้น ไม่นับจุดยืนไม่เอาเผด็จการที่แข็งแกร่งไม่แพ้กัน (ถ้านับจริงๆ เรื่องนี้อนาคตใหม่ต้องนับว่าเด่นกว่าสักหน่อยด้วย)
นอกจากนี้เสียงที่ได้ในเขตที่พ่ายแพ้ก็ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อได้อีก เพราะโค้วตา ส.ส. เขตที่ได้นั้นแทบจะเต็มตามปริมาณ ส.ส. พึงมีแล้ว คะแนนเหล่านี้จึงไม่ได้ถูกส่งไปนับเป็นส่วนปาร์ตี้ลิสต์เลย เลยกลายเป็นขาดทุนไม่น้อยทีเดียว
3. อนาคตใหม่ในฐานะตัวเลือกทางยุทธศาสตร์…ที่อาจจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว
ราวๆ สองถึงสามสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ผมเคยเขียนในเฟซบุ๊กส่วนตัวของผมเองว่า จริงๆ แล้วในการเลือกตั้งครั้งนี้ หากฝั่งนิยมในเสรีประชาธิปไตยจะเลือกในเชิงยุทธศาสตร์จริงๆ การเลือกพรรคอนาคตใหม่ อาจจะถูกต้องมากกว่าการเลือกเพื่อไทยก็เป็นได้ จนถึงตอนนี้ผมก็ยังมองเช่นนั้นอยู่
ที่ผมบอกเช่นนั้นก็เพราะว่า ผมคิดว่าเป็นที่แน่ชัดประจักษ์กับทุกคนอยู่แล้วว่าตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ศัตรูหลักของฝั่ง คสช. หรือพลังประชารัฐก็คือพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นตัวแปรทางการเมืองเดียวจริงๆ ในเวลานั้นที่มีพลังพอจะสั่นคลอนพวกเค้าได้ในวันที่เกิดการเลือกตั้ง ว่าง่ายๆ ก็คือ เพื่อไทยคือตัวแปรหลักในสมการการเมือง
จะบอกว่าระบบการเมืองหลังรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นระบบการเมืองที่สร้างขึ้นเพื่อกำจัดเพื่อไทยโดยตรงก็ไม่ผิด
เพราะฉะนั้น ตัวผมเองจึงไม่เคยมองเลย (กระทั่งถึงตอนนี้) ว่ายุทธศาสตร์การแตกแบงก์พันของเพื่อไทยนั้นเป็นเรื่องที่ผิด ผมยังยืนยันว่าเป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดมากภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำลายเพื่อไทยเป็นการเฉพาะ แต่การโดนยุบพรรคไทยรักษาชาติไปนั้น แม้จะต้องนับว่าเป็นแผลที่ใหญ่มาก อาจจะใหญ่ยิ่งกว่าที่เพื่อไทยเคยจะคาดการณ์ไว้ แต่นั่นไม่ได้ทำให้ ‘ความถูกต้อง’ และ ‘ความฉลาดแก้เกม’ ในการแตกพรรคตอนแรกหายไป การโดนสั่งยุบพรรคในเรื่องที่ กกต. เองเคยยืนยันว่าไม่ผิดคงต้องนับว่าเหนือกว่าความสามารถในการคาดการณ์ใดๆ ของใครได้
จนถึงตอนนี้ที่คะแนนการเลือกตั้งจริงใกล้รู้ผลแล้วนั้น (ยังต้องรอ กกต. ประกาศผลอย่างเป็นทางการในอีกหลายสัปดาห์นะครับ) เห็นได้ชัดว่ากลไกที่สร้างขึ้นมานี้ล็อคเพื่อไทยได้อย่างค่อนข้างอยู่หมัด เพราะคะแนนเสียงในเขตที่แพ้ก็แทบจะไม่เกิดผล โดยจำนวน ส.ส. เขต ‘เต็ม’ โควต้า ส.ส. พึงมีไปแล้ว ในแง่นี้ผมจึงเห็นต่างจากแทบทุกคนที่มองว่าหากจะเลือกในเชิงยุทธศาสตร์ ต้องเลือกเพื่อไทย
ตรงกันข้ามกับเพื่อไทย อนาคตใหม่คือตัวแปรที่อยู่นอกสมการโดยแท้
ในช่วงที่มีการจัดวางระบบถล่มเพื่อไทยนี้ พรรคอนาคตใหม่ยังไม่ทันถือกำเนิดขึ้นมาเลย ไม่มีฝ่ายอนุรักษ์นิยมใดๆ ที่ได้เตรียมกลไกการรับมือกับอนาคตใหม่ไว้ และเมื่ออนาคตใหม่ตั้งพรรคขึ้น—ดังเช่นพรรคใหม่ๆ อีกมากมาย ‘เป็นพรรคนอกสายตา’ ที่แม้แต่เพื่อนๆ อย่างผมยังเคยปรามาสคิดว่าจะได้ไม่เกิน 10 นั่งอยู่เลย (อย่าว่าแต่ฝั่งตรงข้ามอย่าง คสช. เลย)
นอกจากจะเป็นตัวแปรนอกสมการแล้ว อนาคตใหม่ที่เกิดขึ้นมาภายหลังรัฐธรรมนูญ 2560 และได้ศึกษารัฐธรรมนูญนี้อย่างดี ก็อาศัยกลไกที่รัฐธรรมนูญเขียนขึ้นเพื่อให้เป็นประโยชน์กับ คสช. (พลังประชารัฐ) มาทำให้เป็นประโยชน์กับตัวเองด้วย ด้วยการไม่มุ่งชนะ ส.ส. เขตอะไรนัก เล็งที่ปาร์ตี้ลิสต์ในฐานะพรรคขนาดกลางล้วนๆ (ในตอนต้นนี่ แม้แต่พรรคอนาคตใหม่เองก็ไม่คิดนะครับว่าตัวเองจะได้ ส.ส. เขต อย่าว่าแต่เพื่อนๆ แบบผมเลย) คะแนนเสียงที่แพ้ในแต่ละเขตของอนาคตใหม่เป็นกำลังสำคัญที่จะมาคานอำนาจกับพลังประชารัฐได้ นั่นคือบทสรุปของผม และมันเป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะสถานะ ‘นอกสายตา’ ของอนาคตใหม่เองนี่แหละ
แต่สถานการณ์แบบนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว เพราะในครั้งต่อๆ ไปที่จะมีการเลือกตั้ง พรรคอนาคตใหม่จะไม่อยู่ในสถานะนอกสายตาอีก เช่นนั้นแล้ว ในระยะเวลานี้ ผมคิดว่าสิ่งที่อนาคตใหม่พึงต้องทำที่สุด นอกเหนือไปจากการพยายามให้พ่อหยุดใช้คำว่า “จ๊าบ” และฝึกสกิลการพูดให้กับ แคนดิเดต ส.ส. ของพรรคที่ได้รับเลือกเข้ามาในสภาแล้วก็คือ การทำให้พรรคอนาคตใหม่เองเป็นสถาบันทางการเมืองที่แข็งแกร่งให้ได้ เพราะตอนนี้ผมบอกตามตรงในฐานะเพื่อนที่คอยเชียร์อยู่เลยว่า พรรคอนาคตใหม่ยังเป็นกระแส เป็นไวรัลอยู่เท่านั้น ยังต่อสู้กับการแข่งขันในทางการเมืองได้ด้วยความชื่นชมบุคคลอยู่เป็นหลัก ฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่จะทำให้คนได้เห็นว่าในพรรคไม่ได้มีแต่เอก แต่ปิยบุตร มีแต่ช่อที่ ‘มีกึ๋น’ พอจะเชียร์ได้
4. ส.ว. 250 คน และไพบูลย์ นิติตะวัน ในฐานะตัวแทงก์ (tank)
มาถึงวันนี้ สิ่งที่ตัวผมเองในฐานะคนที่ติดตามการเมืองคนหนึ่งโดนหลอกล่อหัวคะมำที่สุดเลยก็ดูจะเป็นเรื่องนี้แหละครับ และผมคิดว่าไม่ใช่แค่ผมด้วย แทบทุกคนในสนามการเมืองก็เช่นกัน
ส่วนที่ว่าคือเรื่อง ส.ว. 250 คนนี่แหละครับ คือ ส.ว. 250 คนนี่มันเป็นอะไรที่โหดมากๆ แน่นอนแหละครับ และไม่แปลกเลยที่ทุกฝ่ายจะพุ่งความสนใจไปหา ไม่พอยังมีตัวแทงก์ (ตัวรับการโจมตีแทนคนอื่น) ชั้นดีอย่างไพบูลย์ นิติตะวันมาคอยดึงความสนใจให้อีกต่างหาก ทำให้ฝั่งเสรีประชาธิปไตยคิดแต่ว่าเค้าต้องการ 126 เสียง ไปรวมกับ ส.ว. ก็พอแล้ว ว่าง่ายๆ ก็คือ เราเชื่อและคิดมาโดยตลอดว่า ทิศทางการเดินเกมที่ฝั่งอนุรักษ์นิยมจะมุ่งไปนั้น ไม่ได้มุ่งสนใจที่จะหา ‘ที่นั่งในสภา’ ให้ได้มากมาเป็นเสียงข้างมากโดยชอบธรรมในสภา แต่เค้าหาเสียงมาแต่พอสมควร แล้วเดี๋ยว ส.ว. จะส่งขึ้นหิ้งไปให้เอง
เราจึงประเมินคะแนนเสียงที่พลังประชารัฐมุ่งจะได้อยู่ที่กลุ่มต่ำร้อยมาโดยตลอด ส่วนใหญ่จะประเมินกันที่ 60–80 ที่นั่งเสียด้วยซ้ำ เพราะ ส.ว. 250 คนดึงให้เราไปคิดเตรียมการ คิดแก้เกม ขึ้นการ์ดสูงกับทางฝั่ง ส.ว. จนว่ากันตรงๆ เราดูจะหลงละเลย กกต. ไปเลยโดยเปรียบเทียบ (ไม่ได้ลืมหรอก แค่สนใจน้อยกว่ามาก เมื่อเทียบกับ ส.ว.) ทั้งๆ ที่เราเองก็รู้กันดี และคิดหาสารพัดวิธีแบบหัวแทบแตกตลอดนะครับว่า หลังจากพลังประชารัฐได้เป็นรัฐบาลด้วยการมี ส.ว. ดันแล้ว จะขับเคลื่อนสภาอย่างไรให้มีประสิทธิภาพได้ ต่างๆ นานา บลาๆๆ
นั่นแสดงให้เห็นเลยว่า เราพุ่งความสนใจไปที่ ส.ว. เป็นหลัก และประเมินตลอดจริงๆ ว่าเกมที่พลังประชารัฐจะเล่น คือมีเสียงไม่ต้องมากนัก
แต่มาจนถึงตอนนี้ ผมกลับคิดว่า ส.ว. ทำหน้าที่ดึงความสนใจของเราให้เรามาสนใจแต่ทิศทางเกมแบบนี้ และลดการ์ดต่ำกับความเป็นไปได้แบบอื่นๆ อย่างการที่พลังประชารัฐจะมุ่งทำคะแนนเสียงสูงๆ ด้วยกลวิธีอื่นไปเลย เพื่อจะได้ไปมีที่นั่งในสภาอย่างหนาแน่นและมั่นคงได้ อย่างน้อยๆ ก็ระดับที่จะขับเคลื่อนสภาได้โดยไม่ลำบากนัก
ก่อนหน้านี้ มีผู้สมัคร ส.ส. เพื่อไทยท่านหนึ่งคุยกับผมว่า “ดีแล้ว ที่โพลต่างๆ ก่อนหน้านี้มันพากันบอกว่าคนนิยมลุงตู่เป็นอันดับ 1 เค้าจะได้ตัวลอยหลงเชื่อแบบนั้น เพราะถ้าโพลมันสะท้อนความจริง เดี๋ยวพาลแกจะไม่ปล่อยให้มีเลือกตั้งแต่แรกเอา เพราะรู้ว่าลงแล้วจะแพ้ ให้เค้าประเมินเราต่ำไว้ดีกว่า” …มาตอนนี้ผมคิดว่าคนที่ประเมินต่ำ หรือไม่ก็ตั้งการ์ดผิดที่อาจจะเป็นเราแทน (ไม่เชิงตั้งการ์ดผิดที่ แต่ตั้งการ์ดไม่ครบทุกที่จะถูกต้องกว่า)
5. เมื่อเทียบกับอนุรักษ์นิยมและอำนาจนิยม วิธีคิดแบบเสรีนิยมไม่เอื้อกับการโหวตในทางยุทธศาสตร์
เรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อนครับ คือ แนวคิดแบบประชาธิปไตยเสรี หรือเสรีนิยมนั้น มันให้คุณค่ากับเสรีภาพและความเป็นปัจเจกสูงมาก ฉะนั้นต่อให้เราจะคุยกัน จะชักชวนกันปานใด สุดท้ายมันก็หักใจเลือกแบบที่ใจเราไม่อยากเลือกไม่ได้ง่ายๆ อยู่ดี คือเรามองสิทธิในฐานะปัจเจก รสนิยมการเมืองในทางส่วนตัวของเรา และอื่นๆ ในฐานะความจำเป็น (necessity) ไม่ใช่ของฟุ่มเฟือย (luxury) ที่อาจจะละทิ้งได้ในยามจำเป็น
ตรงกันข้าม แนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมและอำนาจนิยมเคยชินอย่างมากกับวิธีคิดแบบ ‘ยอมจำนน’ (submissive) และ ‘เป็นปึกแผ่น’ (uniformed) ซึ่งทำให้ง่ายต่อการโหวตให้เป็นทิศทางเดียวกันได้มากกว่ามาก เมื่อเทียบกับค่ายเสรีนิยม ดังจะเห็นได้จากผลการเลือกตั้งนี้ ที่ฝั่งค่ายอำนาจนิยม แม้จะมีหลายพรรค แต่คะแนนโหวตเทมาที่พรรคเดียวเป็นหลักคือพลังประชารัฐ ส่วนพรรคอื่นๆ อย่างรวมพลังประชาชาติไทย หรือน้อมนำคำสอน แทบจะหายไปจากโลกกันเลย และอาจจะรวมไปถึงประชาธิปัตย์ด้วย ในขณะที่คะแนนของฝั่งเสรีนิยมประชาธิปไตยนั้น ดูจะกระจายมาก ทั้งให้เพื่อไทย อนาคตใหม่ แล้วยังมีหลุดไปที่เศรษฐกิจใหม่ เสรีรวมไทย หรือกระทั่งสามัญชนก็มีในบางเขต
มันก็เป็นแบบนี้แหละครับ อย่างที่เรารู้กันดี ฝ่ายที่ซ้ายกว่ามักจะตีกันเองบ่อยกว่าฝั่งที่ขวากว่าเกือบจะเสมอ ในการเลือกตั้งก็ไม่ต่างกัน เรามักจะโหวตแบบตีๆ กันนี่แหละ
6. นโยบายประชารัฐอาจจะได้ผลกับชาวบ้านมากกว่าที่เราคิด
ส่วนนี้มีการพูดกันไม่น้อยแล้ว จริงๆ พูดมาตลอดช่วงการหาเสียงเลือกตั้งเรื่องการแจกเงินผ่านนโยบายประชารัฐ หรือกระทั่งสองสามวันก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลยังอนุมัติงบประมาณ 3.6 หมื่นล้านให้กับโครงนี้แบบหน้าตาเฉยอยู่เลย แต่พร้อมๆ กันไป เราก็ยังคิดว่ามันไม่น่าจะมีผลในการเบี่ยงเบนให้คนหันมารักมาชอบพรรคพลังประชารัฐได้มากขนาดนี้ เมื่อเทียบกับความลำบากทนทุกข์ที่ต้องเผชิญในยุคของรัฐบาล คสช.
แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาก็อาจจะต้องยอมรับข้อเท็จจริงนี้ด้วยแล้วว่า นโยบายส่วนนี้คงจะมีผลไม่น้อย และยากจะประเมินให้แน่ชัดด้วย เราอาจจะต้องรอข้อมูลของคะแนนเสียงเลือกตั้งที่อิงกับกลุ่มประชากรก่อน ว่ากลุ่มอาชีพไหน พื้นใด อายุเท่าไหร่ ที่เลือกโหวตพลังประชารัฐ เป็นคนที่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับนโยบายนี้มากน้อยเพียงใด
แต่เราสามารถหาตัวคนที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากนโยบายเหล่านี้ได้ไม่ยาก เช่น อสม. เป็นล้านคน, กอ.รมน., กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ ซึ่งอาจจะพูดได้ว่าทุกรัฐบาลก็มีคนได้ประโยชน์จากนโยบายทั้งสิ้นแตกต่างกันไป แต่ไม่มีรัฐบาลใดเช่นกันที่ยังคงอัดฉีดได้อยู่กระทั่งระหว่างช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เพราะเค้าเป็นเพียงแค่รัฐบาลเฉพาะกาล ผิดกับรัฐบาลนี้
7. อคติของการคัดกรองในระบบของโซเชียลมีเดีย ที่อาจทำให้เราประเมินกำลังด้วยความลวงตามากเกินไป
เป็นที่ต้องยอมรับว่าคนส่วนใหญ่ที่อ่านบทความของผมมักจะติดโลกโซเชียลด้วยกันทั้งนั้น และเราก็ย่อมรู้กันดีว่าระบบคัดเลือกคัดกรอง (algorithm) ของโซเชียลเน็ตเวิร์กไม่ว่าจะเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม กระทั่งยูทูบนั้นมีไบแอสหรืออคติของมันอยู่ คือมันมักจะให้เราได้เห็นในสิ่งที่เราอยากเห็น ได้พบกับคนประเภทที่น่าจะคอเดียวกัน ได้รับรู้ข่าวสารที่ถูกต้องตามจริตรสนิยมเรา
แต่เช่นนี้เองก็ทำให้เราอาจจะตกอยู่ในภาพลวงตาของความนิยมที่สูงหรือต่ำอย่างเกินจริงได้แบบมากๆ ด้วย
เราจะเห็นคนหรือความเห็นที่มีทิศทางเดียวกับเราฟลัดอยู่เต็มหน้าจอไปหมด ในขณะที่ความเห็นฝั่งตรงข้ามจะมีน้อยจนน่าใจหาย ผมคิดว่ามุมมองที่ถูกคัดกรองโดยอคติของระบบที่หยิบยื่นสารต่างๆ ให้เราเสพนี้ มีผลไม่น้อยกับการประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาดไปจากที่ควรจะเป็นของฝั่งเราเอง
8. อนาคตใหม่กับโซเชียลมีเดีย
เมื่อพูดเรื่องโซเชียลมีเดียในข้อก่อนหน้าแล้ว ผมก็คิดว่าเราต้องพูดด้วยว่า อนาคตใหม่ได้พิสูจน์แล้วจริงๆ ว่าการหาเสียงด้วยวิธีการใหม่ ผ่านสื่อเป็นหลัก และพูดคุยผ่านโซเลียลมีเดียเป็นวิธีการที่ได้ผลจริง แน่นอนว่าฝั่งประชาธิปไตยเสรีย่อมได้เสพสื่อที่เกี่ยวกับอนาคตใหม่เรื่อยๆ อยู่แล้ว และอาจจะไม่ถึงกับเซอร์ไพรส์กับผลงานนัก (แต่ผมก็เซอร์ไพรส์อยู่นะ และก็ยินดีกับความสำเร็จของอนาคตใหม่ด้วยจริงๆ)
ผมคิดว่าพรรคเก่าๆ พรรคอื่นๆ อาจจะต้องลองมองผลงานส่วนนี้ของอนาคตใหม่ในฐานะโมเดลหนึ่งที่จะทำตามแล้วล่ะครับในการจะเลือกตั้งในอนาคต
แต่ผมคิดว่าในเวลาเดียวกัน คนที่เซอร์ไพรส์เผลอๆ จะมากกว่าเราก็คือฝั่งอำนาจนิยมนั่นแหละครับ เพราะไบแอสของระบบที่ว่าไปในข้อที่ 7 นั้น ผมคิดว่าเขาก็คงจะประเมินอนาคตใหม่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นด้วย และส่งผลให้ไม่ได้ประเมินกำลังและคะแนนเสียงที่อนาคตใหม่จะได้รับอย่างแม่นยำนัก (อย่าว่าแต่เค้าเลย ผมเองก็เหลือเชื่อทั้งๆ ที่เชียร์มาตลอด ไม่นับเซียนที่ช็อกจากการปากกาหักอีกทั่วไทย) ในแง่ความเหลื่อมของความรับรู้นี่เองที่ดูจะสร้างสถานการณ์อันเป็นประโยชน์ให้กับฝั่งประชาธิปไตยเสรีด้วย ไม่ใช่แต่โทษ
กระนั้นผมก็คิดว่าผมช็อกกับคะแนนพลังประชารัฐมากกว่าคะแนนอนาคตใหม่อยู่ดีอะนะ
9. สิ่งที่ต้องทำ ต้องเจอในอนาคต และข้อดีข้อเสียของปัจจุบันนี้
ส่วนนี้อาจจะไม่เชิงเป็นการถอดบทเรียนนัก แต่อยากจะย้ำให้เห็นว่า ผมคิดว่าเราต้องสร้างความชัดเจนให้มากด้วยว่า ความเซ็ง ความผิดหวังที่อาจจะเกิดขึ้นกับเราเป็นความโกรธ ความเซ็งคนละชุด คนละแบบกับการโดนรัฐประหารนะครับ อันนั้นเราโกรธเคืองกับการโดนข่มขืน โดนกระทำชำเรา โดนฉีกผ้าอาภรณ์แล้วเอาปืนขู่จี้หัว
แต่ครั้งนี้ เรากำลังเศร้ากับการแพ้ในเกมกีฬาที่เสมือนไปแข่งฟุตบอลใน ‘บ้านคนอื่น’ ในสนามของเค้าที่กรรมการทุกคนดูจะเข้าข้างทีมอีกฝั่งเต็มที่ เราเตะอยู่ดีๆ ตามกติกาเป๊ะๆ แต่กรรมการเป่าฟาวล์ ในขณะที่อีกฝั่งพุ่งเสียบเปิดสตั๊ดหรา หรือพุ่งล้มมันเสียทุกรอบ แต่กรรมการปล่อยผ่าน และดูท่าเราจะได้แต่ด่ากรรมการและผู้เล่นฝั่งตรงกันข้าม เราโกรธแค้นที่ทีมเราแพ้อย่างไม่สวยงามนัก มีข้อน่ากังขาเต็มไปหมด เราอาจจะถึงขั้นหาทางฟ้องกรรมการบ้าๆ พวกนี้ หรือกระทั่งหาทางขอให้การแข่งขันเป็นโมฆะไป แล้วแข่งใหม่ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าอาจจะไม่มีผลอะไร และเราก็ต้องก้มหน้ากัดฟันต่อไป แต่ความโกรธ เศร้า เซ็งนี้ เป็นคนละอย่างกันกับตอนที่เราโดนฉุดคร่าข่มขืนด้วยรัฐประหาร ในท้ายที่สุดแล้วผมคิดว่าเราต้องกัดฟันทนผ่านมันไปให้ได้ อะไรที่ต้องฟ้องก็ฟ้อง อะไรต้องสู้ก็สู้ แต่เมื่อสุดแล้วก็ต้องเก็บเอาความโกรธนี้ไปสู้ในศึกใหม่ที่จะต้องมีอีกแน่ๆ ในอนาคต และนี่คือความงดงามของระบอบประชาธิปไตยนะครับ ที่ต่อให้เราเซ็งกับมันปานใด แต่อย่างน้อยเราก็รู้ว่า “เรายังมีโอกาสแก้มือ แข่งกับมันใหม่อีกครั้ง”
วันนี้เราดึงเค้ามาเล่นในเกมของเราได้แล้ว เราควรจะดีใจที่จะได้มีโอกาสอัดกระหน่ำฝั่งอำนาจนิยมอย่างเต็มที่ต่อหน้าสาธารณชน ถือเสียว่าเราจ่ายเงิน (ภาษี) ไปดูโชว์เผด็จการโดนกระทืบกลางสภาสักสี่ปี ก็อาจจะรู้สึกดีขึ้นได้สักนิด
ในวันนี้สิ่งหนึ่งที่เราเห็นแล้วว่าสร้างความฉิบหายพังทลายให้กับเรามากๆ ก็คือ ‘องค์กรอิสระ’ ที่ดูจะอิสระจากทุกอย่างโดยเฉพาะความเป็นธรรม ทั้ง ปปช. และ กกต. อาจจะรวมไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ และ ส.ว. แต่งตั้งด้วย ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งแรกที่เราจะต้องเตรียมหาทางจัดการให้เรียบร้อยก่อนจะเกิดการสู้ศึกใหม่ในอนาคต
มีเรื่องหนึ่งที่ผมไม่เห็นด้วยกับพี่แขก คำ ผกา ที่ผมเคารพรักเท่าไหร่นักและมันโยงกับเรื่องนี้ด้วย คือ แม้พี่แขกจะนับถือใจคุณเอก ธนาธร ที่ทำเรื่อง Blind Trust แต่พร้อมๆ กันไปพี่แขกก็ไม่เห็นด้วยนักในการเรียกร้องให้เป็นคุณค่ามาตรฐาน เพราะเสมือนเป็นการตอกย้ำวาทกรรมเรื่องนักการเมืองต้องเป็นคนดี ใสสะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่อง ซึ่งจะยิ่งมาเพิ่มพลังให้กับองค์กรอิสระเหล่านี้ ที่กลไกหลักมีขึ้นเพื่อการ “ตรวจสอบและสร้างความโปร่งใส”
ในกรณี Blind Trust ผมกลับเห็นตรงกันข้าม เพราะการทำ Blind Trust นั้นทำให้คนที่ทำงานการเมือง “ไม่ต้องและไม่สามารถไปจับเงิน” ที่เป็นทรัพย์สินของเขาได้เลย นั่นแปลว่า ตัวนักการเมืองหมดความเกี่ยวข้องชั่วคราวต่อทรัพย์สินที่เขาถือครองและไม่มีสิทธิรับรู้ด้วย การทำแบบนี้สำหรับผมแล้วมันไม่ใช่การย้ำวาทกรรมคนดีใสสะอาดและเพิ่มอำนาจให้กับองค์กรอิสระ แต่เป็นการทำลายความจำเป็นขององค์กรเหล่านี้ทิ้งไปเสียหมด คือ เมื่อทำ Blind Trust แล้ว คุณจะต้องมาตรวจสอบอะไรอีกเล่า ในเมื่อไม่มีอะไรจะต้องตรวจสอบ และเมื่อไม่ต้องทำอะไร องค์กรแบบนี้ก็ไร้ความชอบธรรมที่จะมีอยู่ต่อไป ผมจึงคิดว่าในระยะยาวแล้ว การสร้างมาตรฐานลักษณะนี้ และด้วยวิธีการแบบอื่นๆ หรือกับกรณีแบบอื่นๆ นั้นอาจจะจำเป็นต้องทำเพื่อลดบทบาทองค์กรอิสระลง และเหลือแต่เพียงการคานอำนาจกันของสามสถาบันการเมืองหลักไป (แต่ศาลอาจจะต้องคิดเรื่องการเปลี่ยนระบบด้วยแล้ว และควรยกเลิกศาลทหารด้วย)
ผมทราบดีว่าวาทกรรมคนดีเป็นเรื่องมีปัญหา และผมไม่ได้อินกับวาทกรรมนักการเมืองต้องใสซื่อมือสะอาด แต่ผมเห็นต่างกับในมุมมองกรณี Blind Trust อีกจุดด้วย (ส่วนนี้อาจจะไม่เกี่ยวนักแล้ว แต่ขออธิบายเพิ่ม) นั่นคือเราต้องประเมินเรื่อง ‘ช่วงเวลา’ ด้วย ผมเห็นด้วยว่าช่วง ‘ก่อนเข้ามาสภา’ และ ‘หลังจากออกจากสภาไปแล้ว’ คนเป็นนักการเมืองจะเป็นอย่างไร สกปรกโสโครกแค่ไหน หรือผิดมาตรฐานความเป็นคนดีของสังคมปานใด ผมไม่มีปัญหาเลย หากประชาชนเลือกเค้าเข้ามา ฉะนั้นผมถึงรังเกียจทุกครั้งเวลาได้ยินคนวิจารณ์คุณชูวิทย์ว่า “คนทำอ่าง มาเป็น ส.ส. ได้ไง” เพราะ สส. ไม่ได้ต้องการคนใสสะอาด ปลอดมนทิลอะไร แต่พร้อมๆ กันไป ในช่วงระหว่างที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีอำนาจในการบริหารจัดการภาษีของประชาชนนั้น ผมก็คิดว่าการตรวจสอบและความโปร่งใสก็จำเป็นอยู่ ซึ่งในกรณีนี้ผมกลับคิดว่า Blind Trust ยิ่งตอบโจทย์ เพราะไม่ว่าก่อนมายุ่งกับการเมืองคุณจะโสโครกหรือผิดศีลธรรมปานใด เราไม่ต้องสนมันได้ เพราะเมื่อเข้าสู่ Blind Trust ทรัพย์สินก็ถูกตัดขาดจากอำนาจในการตัดสินใจของเจ้าไปแล้ว แบบนี้ใครก็สามารถเข้าสู่สภาได้ โดยไม่ต้องมาสนใจแยแสเรื่องวาทกรรมความดีอะไรอีกต่อไป และสามารถทำงานสร้างผลงานเพื่อตอบสนองคนที่เลือกเค้าเข้าสภาได้ตามที่ควรจะเป็น องค์กรอิสระก็ไม่ต้องมายุ่งวุ่นวายอีก และควรยุบหายไป
ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่เราอาจจะต้องตระเตรียมกันในอนาคตนะครับ