ผ่านมาจะสองสัปดาห์แล้ว ผลการเลือกตั้งทั่วไปในไทยเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมายังไม่มีความชัดเจน เรายังไม่รู้ว่าใครจะได้เป็นรัฐบาลใหม่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ยอมเปิดเผยคะแนนดิบระดับหน่วยเลือกตั้งต่อสาธารณะ ไม่เคยเอ่ยปากขอโทษประชาชนที่จัดการเลือกตั้งบกพร่องขนาดหนักอย่างไม่น่าให้อภัย และบอกว่า “ยังไม่มีมติ” เรื่องสูตรการคำนวณ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ ทั้งที่การคำนวณดังกล่าวได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แล้ว
ความไม่โปร่งใสและปัญหาต่างๆ ของการเลือกตั้งครั้งนี้ส่งผลให้คนไทยจำนวนมากไม่ไว้วางใจ กกต. ไม่เชื่อถือผลการเลือกตั้ง และทำให้คนจำนวนไม่น้อยเริ่มมองเห็น ‘ความไม่เป็นธรรม’ ที่ฝังอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 และมองย้อนไปถึงปัญหาของการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก่อนหน้านั้น ซึ่งก็ ‘ไม่เป็นธรรม’ ในหลากหลายลักษณะด้วยกัน ตั้งแต่การไม่ยอมเปิดเผยว่า ถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติแล้วจะเกิดอะไรขึ้น จะเอาฉบับเก่าฉบับไหนมาใช้ (เท่ากับ ‘มัดมือชก’ ประชาชน) ไปจนถึงการข่มขู่คุกคาม จับกุมผู้ที่ออกมารณรงค์ ‘ไม่รับ’ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กว่า 200 คน ในข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่องการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และขัดกฎหมายประชามติ
เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามต่อ ‘กฎหมาย’ มากขึ้น สงสัยมากขึ้นว่า ‘กฎหมายที่ดี’ ควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร
ประสบการณ์ทั่วโลกที่ผ่านมาในสังคมสมัยใหม่ อันหมายถึงสังคมที่คนพยายามอยู่ร่วมกันภายใต้กฎหมายเดียวกัน บอกเราว่า ‘กฎหมาย’ หรือกติกาที่ดีควรมีคุณสมบัติพื้นฐานอย่างน้อยห้าข้อต่อไปนี้
1. กฎหมายที่ดีต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความผาสุกแก่ประชาชนที่กฎหมายอยากกำกับให้มีพฤติกรรมไปทางใดทางหนึ่ง กฎหมายฉบับไหนก็ตามที่ลิดรอนประโยชน์สาธารณะไม่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นกฎหมายที่ดี (แต่แน่นอน ผลกระทบของกฎหมายต่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งด้านบวกและด้านลบ ย่อมเป็นเรื่องที่เห็นต่างกันได้ก่อนที่กฎหมายจะออก และหลายครั้งเวลาต้องผ่านไประยะหนึ่งก่อนที่เราจะมองเห็น)
2. กฎหมายที่ดีต้องไม่เลือกปฏิบัติ ทุกคนต้องอยู่ใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ได้รับการปฏิบัติเหมือนกัน ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย ไม่เกี่ยงว่าจะเป็นคนจนหรือรวยล้นฟ้าหรือมีอำนาจขนาดไหน
3. กฎหมายที่ดีต้องมีเหตุมีผล (reasonable) กฎหมายที่ดีคือกฎหมายที่ไม่เคร่งครัดหรือเข้มงวดจนเกินไป เข้มจนทำให้คนปฏิบัติตามยากมาก บทลงโทษสำหรับผู้ที่ละเมิดกฎหมายควรสมเหตุสมผล ได้ส่วน (proportionate) กับระดับความร้ายแรงของการละเมิดหรือพฤติกรรมของผู้กระทำผิด
4. กฎหมายที่ดีต้องบังคับใช้ได้จริง (enforceable) กฎหมายที่เขียนมาอย่างสวยหรูดูดี แต่บังคับใช้ไม่ได้ในทางปฏิบัติย่อมไม่อาจเป็นกฎหมายที่ดี เพราะมันดูดีแต่บนกระดาษเท่านั้น
5. กฎหมายที่ดีต้องเปิดเผยและชัดเจน เปิดช่องให้ตีความน้อยที่สุด กฎหมายที่มุมมิบกันเขียนและผ่านออกมาอย่างเงียบๆ โดยที่ผู้ได้รับผลกระทบไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่าต้องทำตามกฎหมาย พอรู้แล้วก็ต้องมาตีความให้วุ่นวายว่าอะไรเรียกว่า ‘การกระทำผิด’ ตามกฎหมายบ้าง เนื้อหาเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจตีความได้กว้างไกล – กฎหมายฉบับไหนที่มาจากกระบวนการไม่โปร่งใส ไม่เปิดเผย และเปิดช่องให้ตีความกว้างเป็นทะเล ย่อมไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นกฎหมายที่ดีได้เลย และจากประสบการณ์การติดตามกฎหมายราว 30 ฉบับในไทย รวมทั้ง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ. มั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ผู้เขียนก็อยากเสริมด้วยว่า กฎหมายฉบับไหนยิ่งเปิดช่องให้ใช้ดุลพินิจกว้างขวาง กฎหมายฉบับนั้นยิ่งมีแนวโน้มจะถูกตีความอย่างลุแก่อำนาจในทางที่เป็นโทษแก่ประชาชน ทำให้คนปกติกลายเป็น ‘อาชญากร’ โดยไม่รู้ตัว
ในภาวะที่ปัญหาการเลือกตั้งทำให้เราตั้งคำถามต่อกฎกติกา ตัวบทกฎหมาย และผู้บังคับใช้กฎหมาย การได้เล่นเกม Baba Is You สุดยอดเกมพัซเซิล (แก้ปริศนาตรรกะ) ก็เป็นความบันเทิงที่ทั้งรื่นรมย์ ทั้งมาถูกที่ถูกเวลาอย่างยิ่ง
ในระดับพื้นฐานที่สุด Baba Is You เป็นเกมเลื่อนบล็อก (sliding block) ไปมาบนจอ คล้ายกับเกม Sokoban บรรพบุรุษของเกมแนวนี้ทั้งหมด เราควบคุมสัตว์ประหลาดหน้าตาน่ารักชื่อ บาบา ต้องหาทางเลื่อนสิ่งต่างๆ บนจอไปมาเพื่อเดินไปให้ถึงธง ถึงธงเมื่อไรก็แปลว่าพิชิตฉากนั้นได้ แต่ความฉลาดของเกมนี้อยู่ที่การเติม ‘คำ’ ทั้งคำนามและคำกริยาต่างๆ เข้ามาเพื่อสร้าง ‘กฎ’ ของแต่ละฉาก บล็อกคำเหล่านี้เมื่อวางติดกันจะบอกเราว่ากฎคืออะไร
เช่น ฉากหนึ่งอาจมีบล็อกเริ่มต้นเขียนว่า ‘กำแพง’ คือ ‘หยุด’ / ‘ประตู’ คือ ‘ปิด’ / ‘กุญแจ’ คือ ‘เปิด’ / ‘บาบา’ คือ ‘คุณ’ / ‘ธง’ คือ ‘ชนะ’ ถ้าเราไปเลื่อนบล็อกมาเรียงกันใหม่ ให้สะกดว่า ‘ประตู’ คือ ‘เปิด’ เราก็จะเดินผ่านประตูได้โดยไม่ต้องใช้กุญแจ หรือถ้าไปแยกคำว่า ‘กำแพง’ ออกมาจากคำว่า ‘หยุด’ กำแพงก็จะไม่อาจหยุดเราอีกต่อไป เราเดินทะลุมันไปได้ เป็นต้น
การหาทางเปลี่ยนลำดับบล็อกคำต่างๆ เพื่อสร้างกฎใหม่ขึ้นมาหรือทลายกฎเดิม คือหนทางสู่ชัยชนะในเกมนี้ ซึ่งก็แน่นอนว่ามันจะยากขึ้นเรื่อยๆ
เราสามารถเปลี่ยนกฎกติกาได้ทุกอย่างในเกมนี้ เพราะไม่มีกฎอะไรที่เกมซ่อนจากสายตาเรา กฎทุกอย่างในเกม (รวมทั้งกฎง่ายๆ เช่น กำแพงคืออุปสรรค และ ธงคือชนะ) ล้วนถูกสะกดออกมาให้เราเห็นบนจอ ในรูปของบล็อกคำต่างๆ ดังนั้นเราจึงคิดนอกกรอบได้เต็มที่ ยกตัวอย่างเช่น เรามองเห็นก้อนหินวางอยู่ใกล้กับธง ไม่เห็นทางเดินไปหาธง แต่ถ้าสามารถเปลี่ยนประโยค ‘บาบา’ คือ ‘คุณ’ เป็น ‘ก้อนหิน’ คือ ‘คุณ’ เราก็จะบังคับก้อนหินแทน ขยับก้อนหินไปหาธง เท่ากับชนะฉากนั้นได้สำเร็จ หรือบางทีเราอาจเลื่อนบล็อกผสมคำเป็น ‘บาบา’ คือ ‘ชนะ’ เพื่อให้เราชนะฉากนั้นได้ทันทีโดยไม่ต้องเดินไปหาธง หรือเราอาจผสมคำใหม่เป็น ‘กำแพง’ คือ ‘ชนะ’ แล้วก็ชนะฉากนั้นทันทีที่ไปแตะกำแพง หรือไม่อีกที เราอาจผสมคำเป็น ‘กำแพง’ คือ ‘คุณ’ เพื่อสามารถขยับกำแพงได้ทั้งฉาก! (ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งของกำแพงแตะธงก็แปลว่าชนะ)
ทั้งหมดนี้ไม่ง่ายเลย และมีหลายทางที่เราจะต้อนตัวเองไปจนมุมจนต้องเริ่มต้นใหม่ เช่น ถ้าดึงคำว่า ‘คุณ’ ออกมาจากประโยค ‘บาบา’ คือ ‘คุณ’ ตั้งแต่เนิ่นๆ เราก็จะไม่อาจบังคับอะไรบนจอได้อีก ดนตรีในฉากจะหยุดเล่น มีทางเดียวคือต้องรีสตาร์ทฉากนั้นใหม่หมด (ซึ่งก็ง่ายมากด้วยการกดปุ่มปุ่มเดียว)
Baba is You ไม่ต่างจากเกมพัซเซิลเจ๋งๆ ทั่วไปตรงที่ฉากจะยากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อมีคำใหม่ๆ และกฎใหม่ๆ มาให้เรียนรู้และพลิกแพลง ในฉากแรกๆ บล็อกคำ ‘คือ’ (is) แปลว่าหมายถึงสิ่งเดียวเท่านั้น เช่น ‘น้ำ’ คือ ‘จม’ (sink) แปลว่าถ้าผลักอะไรเข้าไปในน้ำ มันจะจมหรือถูกทำลาย ส่วน ‘ไฟ’ คือ ‘ร้อน’ และ ‘น้ำแข็ง’ คือ ‘หลอมละลาย’ แปลว่าถ้าเราผลักน้ำแข็งเข้าไปในไฟ มันจะหลอมละลายไป ส่วน ‘กะโหลก’ คือ ‘แพ้’ แปลว่าถ้าเราเดินไปแตะหัวกะโหลก เราจะแพ้ฉากนั้นทันที เป็นต้น
ไม่นานเราจะต้องรับมือกับความยากทวีคูณ เมื่อเราต้องเลื่อนบล็อกเพื่อสร้างประโยคซับซ้อนที่มีคำว่า ‘และ’ หรือ ‘มี’ (has) ซึ่งแปลว่า ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งกำลังแบกของอย่างอื่นไปกับตัว และมันจะทิ้งของนั้นลงกับพื้นเมื่อมันถูกทำลาย นอกจากนี้ยังมีคำใหม่ๆ ที่สร้างคุณสมบัติใหม่ๆ เช่น ‘ดึง’ ซึ่งทำให้เราดึงบล็อกแทนที่จะผลัก คำว่า ‘เทเล’ (tele) ซึ่งทำให้ของสองอย่างวาร์ปไปที่อื่น (teleport)
เกมนี้มีแม้แต่คำน่าปวดหัว สร้างฝันร้ายอย่าง ‘ไม่ใช่’ (not) และ ‘คำ’ (word) ซึ่งแปลงร่างสิ่งของต่างๆ เป็นคำที่หมายถึงตัวมันเอง เปิดทางให้เราใช้ของเหล่านี้ในประโยคสร้างกฎได้ เช่น ธง (ตัวธงเอง) คือ ‘ชนะ’ ไม่ใช่ ‘ธง’ (คำว่า flag) คือ ‘ชนะ’ เป็นต้น
ปวดหัวขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็สนุกสนานและท้าทายขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน นอกจากนี้ ความฉลาดของการให้เราสร้างกฎต่างๆ ยังเท่ากับ ว่า Baba Is You กำลังสอนเราเรื่องพื้นฐานของการเขียนโค้ด(คอมพิวเตอร์) โดยที่เราไม่รู้ตัวว่ากำลังเรียนรู้เรื่องนี้อยู่
การแสดงกฎทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเกมอย่างเปิดเผยเป็นบล็อกคำบนหน้าจอ การจัดวางบล็อกคำเหล่านั้นตอนเปิดฉากในทางที่เราเข้าถึงมันไม่ได้ง่ายๆ และดูเหมือนจะเอาชนะไม่ได้เลย แต่เปิดทางเลือกมากมายให้เราหาทางเปลี่ยนกฎ สร้างกฎใหม่เพื่อชัยชนะ คือเสน่ห์ที่น่าทึ่งของ Baba Is You อีกฟีเจอร์ที่ผู้เขียนชอบมากก็คือ เกมนี้แบ่งออกเป็น ‘โลกย่อย’ หลายใบ แต่ละใบมีจำนวนฉากขั้นต่ำที่เราต้องเอาชนะ แปลว่ามีฉากเสริมและฉากลับหลายฉากที่เราไม่จำเป็นต้องเล่นก็ไปโลกใบต่อไปได้
แต่ถ้าพยายามเอาชนะให้ครบทุกฉากก็จะ ‘ฟิน’ และได้ความภาคภูมิใจในตัวเองเป็นของแถม
ผู้เขียนพบว่า Baba Is You เป็นเกมที่วิธีเอาชนะมักไม่ได้มาจากการนั่งปวดหัวอยู่หน้าจอ (คอมพิวเตอร์ หรือ Nintendo Switch) ทึ้งผมตัวเองเป็นชั่วโมงๆ ติดต่อกัน แต่มาจากการไปเดินเล่น ทำงาน หรือทำกิจกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเกมนี้ แล้วอยู่ดีๆ วิธีเอาชนะก็จะปิ๊งเข้ามาในหัวเอง เป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างดีว่าเกมนี้ให้รางวัลกับการคิดนอกกรอบขนาดไหน
Baba Is You เป็นเกมที่สอนตรรกะ กติกา และกฎเกณฑ์ที่ดีที่สุดที่ผู้เขียนรู้จัก ความเปิดเผยโปร่งใสชัดเจน (แม้บางทีอาจไม่ชัดเจนในตอนแรก ต้องทดลองดูก่อนว่ากฎคืออะไร) ของกฎทั้งหมดในเกมนี้ยังทำให้มัน ‘ยุติธรรม’ เพราะเราสามารถเปลี่ยนกฎทั้งหมดนี้ได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าเกมจะซ่อนอะไรไว้หรือริบชัยชนะจากเราไปดื้อๆ
ทำให้เราได้ตระหนักว่า คนที่มีอำนาจเหนือคนอื่นอย่างแท้จริงนั้นไม่ใช่คนที่เขียนกติกาให้ฝ่ายตัวเองได้เปรียบเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถออกแบบกติกาที่คนอื่นมองไม่เห็นแต่ต้องเล่นตาม ปรับเปลี่ยนกฎกติกาหรือตีความมันอย่างไรและเมื่อไรก็ได้ตามอำเภอใจ และเล่นงานคนที่ออกมาชี้ปัญหาของกฎกติกา โดยที่คนอื่นได้แต่นั่งมองตาปริบๆ
สังคมที่ปกครองด้วยกฎหมาย เรียกสั้นๆ ว่า ‘นิติรัฐ’ (rule of law) กับสังคมที่ปกครองด้วยคน แตกต่างกันตรงนี้เอง.