เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กลุ่มเจริญ Porn เดินทางมาเพื่อยื่นหนังสือขอให้แก้ไขมาตรา 287 ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ทำหน้าที่ควบคุมและจำกัดสื่อลามกในประเทศไทย ซึ่งภาคการเมืองบางส่วนก็ออกมาแสดงความเห็นด้วย ขณะที่บางส่วนก็ออกมาค้านหัวชนฝา (เหมือนเดิม)
เป็นเรื่องจริง ที่ไม่ใช่มาตรา 287 เท่านั้นที่ระบุบทลงโทษทั้งในทางอาญาและทางแพ่งสำหรับผู้ผลิต นำเข้า ส่งออกหนังผู้ใหญ่ เพราะ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ก็เป็นอีกหนึ่งกฎหมายที่ถูกนำมาใช้ควบคุมสื่อลามก โดยเฉพาะในกรณีของ “น้องไข่เน่า” ซึ่งถูกแจ้งดำเนินคดีและต้องประกันตัวไปเกือบหนึ่งล้านบาท
ข้อถกเถียงเรื่องหนังผู้ใหญ่ยังคงเปิดกว้างในสังคม แต่วันนี้ The MATTER อยากชวนผู้อ่านมาทำความเข้าใจเสียก่อนว่า สำหรับเมืองไทย นิยามของคำว่า “สื่อลามก” เป็นอย่างไร อะไรที่เข้าข่ายบ้าง และแต่ละประเทศมองคำนี้แตกต่างกันอย่างไร
สื่อลามกไทย
ทั้งใน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปี 2560 และมาตรา 287 ในรัฐธรรมนูญต่างมีเนื้อหาที่คล้ายกันคือ ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก “สื่อลามก” จะมีโทษทางกฎหมายทั้งจำและปรับ ดังนั้น คีย์เวิร์ดสำคัญแรกคือ อะไรบ้างที่ถูกตัดสินว่าเป็นสื่อลามก?
สำหรับประเทศไทย มีคำตัดสินของศาลในปี 2492 ซึ่งถูกใช้เป็นมาตรฐานในการตัดสินว่าสิ่งไหนเป็นและไม่สิ่งไหนไม่เป็นสื่อลามกอยู่หลายครั้ง ซึ่งในเวลาต่อมาคำพากษาหลายครั้งก็ชี้ไปในทางเดียวกัน โดยจากคำตัดสินของศาล เกณฑ์จำแนกสื่อลามกมี ดังนี้
- เปิดเผยทางเพศอย่างโจ่งแจ้ง กล่าวคือเห็นอวัยวะเพศชัดเจน, เห็นหัวนมผู้หญิง โดยในคําพิพากษาฎีกา 978/2492 ศาลระบุว่าสมุดภาพที่จําเลยจําหนาย “เป็นภาพเปลือยการ เห็นของลับและถันอันเป็นของลามกอนาจาร”
- ถึงไม่เห็นอวัยวะเพศชัดเจน แต่มีท่าทางยั่วยุอารมณ์ทางเพศ เช่น นอนหงายถ่างขา
- แต่ถ้าภาพนั้นเผยให้เห็นสรีระเปลือยเปล่า เห็นหัวนมชัดเจน แต่ไม่มีท่าทางยั่วยุกามอารมณ์ให้ถือว่าไม่เป็นภาพลามก
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าสื่อทุกอย่างที่มีภาพของร่างกายเปลือยเปล่า, หัวนมของผู้หญิง รวมถึงมีการร่วมเพศจึงกลายเป็นสื่อลามกทั้งหมด ซึ่งนั้นเท่ากับว่าหนังผู้ใหญ่ทุกประเภทกลายเป็นสื่อลามกสำหรับสังคมไทย
ซึ่งต่อมาก็ต้องมาดูว่ามาตรา 287 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560 ระบุบทลงโทษถึงสื่อลามกไว้อย่างไรบ้าง ท้ังนี้ สรุปได้ง่ายๆ ว่า สำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์การครอบครองสื่อลามกถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อใดก็ตามที่ถูกนำไปส่งต่อ เผยแพร่ จำหน่าย นำเข้า ส่งออก จะมีความผิดทางอาญาตามมาในทันที
สำหรับงานศิลปะที่มีเนื้อหาตรงตามนิยามของ “สื่อลามก” ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลว่าตีความว่าเป็นสื่อลามกหรือไม่ โดยก่อนหน้านี้ ในคำพิพากษาฎีกาที่ 1856/2492 ศาลเองก็เคยตัดสินว่าภาพที่เผยให้เห็นสัดส่วนของผู้หญิงในท่าต่างก็ไม่ใช่สื่อลามกมาแล้ว เพราะมี “คุณค่าทางศิลปะ”
สื่อลามกญี่ปุ่น
หลายคนคงคุ้นเคยดีกับหนังผู้ใหญ่ที่มาจากแดนปลาดิบ ไม่ว่าจากค่าย JAV หรือ SOD ซึ่งสำหรับญี่ปุ่นแล้ว อันที่จริงถึงตอนนี้ก็ยีงมีกฎหมายควบคุมสื่อลามกอยู่ โดยผู้ใดครอบครองเพื่อแจกจ่าย ขาย หรือนำไปแสดงในที่สาธารณะจะมีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี ปรับสูงสุด 2,500,000 บาท (ประมาณ 719,000 บาท)
ทีนี้ต้องย้อนกลับมาดูว่านิยามสื่อลามกของญี่ปุ่นเป็นอย่างไร โดยมีบรรทัดฐานจากคำตัดสินของศาลสูงสุดของญี่ปุ่นในปี 1957 ซึ่งระบุว่าสื่อลามกอนาจารคือ
“ตั้งใจนำเสนอเพื่อกระตุ้นความต้องการทางเพศ หรือมีผลด้านลบต่อความเข้าใจเรื่องทางเพศของคนทั่วไป และขัดต่อศีลธรรมอันเหมาะสมทางเพศ (that which wantonly stimulates or arouses sexual desire or offends the normal sense of sexual modesty of ordinary persons, and is contrary to proper ideas of sexual morality.)”
หรือกล่าวได้ว่าคำตัดสินของศาลสูงของญี่ปุ่นเป็นนิยามกว้างๆ มากกว่าเป็นหลักการที่เน้นมาเป็นข้อๆ เหมือนของไทย
แต่หลังจากมีคำตัดสินนี้ของศาลสูงสุด วงการหนังผู้ใหญ่ญี่ปุ่นเริ่มตัดสินใจเซ็นเซอร์ภาพยนต์ของตนเองที่อวัยวะเพศทั้งชายและหญิง ทำให้หนังผู้ใหญ่ที่ขายในประเทศญี่ปุ่นจะไม่มีภาพของอวัยวะเพศ แต่ที่มีให้เห็นแบบโป๊เปลือยคืออีกเวอร์ชั่นที่ผู้ผลิตทำเพื่อส่งออกไปประเทศแถบยุโรป (ที่จริงก็ได้รับอานิสงฆ์กันถ้วนหน้า)
สำหรับแง่ของศิลปะ ถึงแม้เราจะเคยเห็นภาพถ่ายที่มีการมัดแบบชิบาริ (Shibari) หรือภาพถ่ายนู๊ดของชาวญี่ปุ่นอยู่บ้าง แต่บางครั้งศาลของญี่ปุ่นก็มีคำตัดสินที่ชวนงงเหมือนกัน เพราะเมื่อปี 2016 ศาลของญี่ปุ่นก็เพิ่งตัดสินให้ศิลปินที่ใช้อวัยวะเพศหญิงเป็นตัวละคร Megumi Igarashi หรือ Rokudenashiko ถูกปรับเงิน 400,000 เยน (ประมาณ 115,000 บาท) เพราะอาจทำให้ “ผู้ดูเกิดอารมณ์ทางเพศได้”
สื่อลามกอังกฤษ
สำหรับอังกฤษนั้น อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์สามารถครอบครองสื่อลามกได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และในอังกฤษเองไม่มีข้อกำหนดที่ระบุให้เซ็นเซอร์หนังผู้ใหญ่แต่ใดทั้งสิ้น
โดยกรอบนิยามของสื่อลามกในอังกฤษมาจาก Obscene Publication Act 1959 และ 1964 ซึ่งระบุว่าสิ่งใดจะเป็นสื่อลามกหรือไม่เป็นไม่ได้อยู่ที่ตัวสื่อเอง แต่ต้องดูว่ามันสร้าง ความเสื่อมเสียทางศีลธรรมให้คนดูหรือไม่ ยกตัวอย่าง ภาพผู้หญิงเปลือยอกหนึ่งภาพไม่ได้ถือว่าเป็นสื่อลามก แต่จะต้องมาดูต่อว่าว่าคนที่มาชมภาพนั้นเป็นใคร เด็กหรือผู้ใหญ่
นอกจากนี้ ล่าสุดทางการอังกฤษยังกำหนดกรอบของสื่อลามกที่ไม่ผิดกฎหมายไว้ ดังนี้
- แสดงถึงความสมยอมจากผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย
- ไม่มีความรุนแรงที่มากเกิน ไม่ว่าทางร่างกายหรือใดๆ
- ไม่เกี่ยวข้องกับอาชญกรรมรูปแบบอื่นๆ
- ผู้ชมต้องไม่มีแนวโน้มอายุต่ำกว่า 18 ปี
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ในปี 2012 เคยมีกรณีของ R. Vs Peacock ซึ่งทำหนังผู้ใหญ่แนว BDSM ถูกนำตัวขี้นศาล แต่ปรากฎว่าคณะลูกขุนตัดสินว่าหนังชายคนนี่ไม่เป็นสื่อลามกและไม่ทำลายศีลธรรมอันดีงาม เพราะคนที่ดูหนังแนวนี้ก็มีรสนิยมไปทางนี้อยู่แล้ว
ดังนั้น สำหรับเรื่องศิลปะก็เช่นกัน ศาลจะเป็นผู้ตัดสินว่าสื่อใดลามกหรือไม่เป็นโดยพิจารณาว่าใครเป็นผู้ชม และมันสร้างความเสื่อเสียทางศีลธรรมหรือไม่นั่นเอง
สื่อลามกเด็ก
สำหรับสื่อลามกเด็กนั้น ทุกประเทศมีกฎหมายคอบคุมไว้อยู่แล้ว ต่างกันที่ความหนัก-เบาของบทลงโทษ
กฎหมายไทยได้แก้ไขล่าสุดในปี 2558 และระบุนิยามของสื่อลามกเด็กไว้ว่า “วัตถุหรือสิ่งที่แสดงให้รู้หรือเห็นถึงการกระทำทางเพศของเด็กหรือกับเด็ก ซึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปี โดยรูป เรื่อง หรือลักษณะสามารถสื่อไปในทางลามกอนาจาร ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของเอกสาร ภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี สิ่งพิมพ์ รูปภาพ ภาพโฆษณา เครื่องหมาย รูปถ่าย ภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ หรือรูปแบบอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน และให้หมายความรวมถึงวัตถุหรือสิ่งต่างๆ ข้างต้น ที่จัดเก็บในระบบคอมพิวเตอร์หรือในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นที่สามารถแสดงผลให้เข้าใจความหมายได้”
โดยกฎหมายระบุโทษของผู้ที่ครอบครองสื่อลามกคือจำคุกสูงสุด 5 ปี หฝปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าส่งต่อให้คนอื่นมีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าหากมีการผลิตเพื่อขายในเชิงพาณิชย์มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท
จอมพล พิทักษ์สันติโยธิน
The MATTER เคยพูดคุยกับจอมพล พิทักษ์สันติโยธิน ผู้เขียนบทความ “สื่อโป๊: การแสดงความคิดเห็นต้องห้ามและประชาธิปไตย” เขาชี้ว่า อันที่จริงรากแต่เดิมของสังคมไทยไม่ได้มองว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องไม่ดี แต่เมื่อชาติตะวันตกเริ่มเข้นมาในประเทศไทยในยุคอาณานิคม ก็เริ่มมีการเผยแพร่แนวคิดเรื่องเพศที่อิงกับคริสต์ศาสนา ทำให้เรื่องเพศในประเทศไทยถูกปกปิดมากขึ้น
ซี่งปัญหาใหญ่ไม่ใช่การควบคุมสื่อลามก แต่มันคือการให้คำนิยามและความเข้าใจต่อสื่อลามกที่แข็งทื่อไม่มีพลวัตรไปกับโลกมากกว่า
จอมพลเสนอ 2 แนวทางที่จะทำให้หนังผู้ใหญ่มีที่ทางมากขึ้นในสังคมไทย หนึ่งคือด้านกฎหมาย ซึ่งเขาเสนอ 3 ประเด็น
- จัดที่จัดทางไม่ให้เยาวชนเข้าถึงโดยง่าย จอมพลมองว่าตรงนี้ควรเป็นหน้าที่ของเจ้าของแพลตฟอร์ม
- แก้แนวทางคำพิพากษาในอนาคต เปลี่ยนให้มีแนวคล้ายกับของอังกฤษคือ “ไม่สนใจว่าภาพโป๊แค่ไหน แต่เราจะสนใจว่ามันทำให้คนดู โดยเฉพาะเยาวชน เกิดความเสื่อมทรามทางศีลธรรมหรือเปล่า ให้มีบรรทัดฐานการตัดสินเหมือนในประเทศอังกฤษคือ ถ้าคนที่เข้าไปดูเป็นเด็กหรือเปล่า แล้วเด็กดูแล้วจะเสื่อมเสียศีลธรรมทางเพศต่อไปหรือเปล่า”
- แก้ไขหรือวางแนวทางอื่นให้การเปลี่ยนแปลงนี้กระจายไปถึงกฎหมายข้ออื่นๆ ด้วย
และด้านที่สองซึ่งเขายังมองว่าควบคู่ไปกับกฎหมายคือ การสร้างความเข้าใจที่ดีต่อเรื่องเพศให้เกิดขึ้นในสังคม เพื่อทำให้สังคมยอมรับเสียทีว่า เซ็กส์และเพศเป็นกิจกรรมปกติตามธรรมชาติของมนุษย์
อ่านบทสัมภาษณ์ จอมพล พิทักษ์สันติโยธิน หรือเผด็จการไม่ดูหนังโป๊ ? ได้ที่:
https://thematter.co/social/interview-jompon-pitaksantayothin/155840
อ่านบทความ สื่อโป๊: การแสดงความคิดเห็นต้องห้ามและประชาธิปไตย ของจอมพล ได้ที่:
https://so01.tci-thaijo.org/index.php/CMUJLSS/article/view/64631/53016
อ้างอิง: