“ไม่สามารถปล่อยผ่าน กรณีของน้องไข่เน่าได้ เพื่อจรรโลงความถูกต้องในศีลธรรมอันดีของประเทศไทย”
ข้อความข้างต้นคือประโยคหนึ่งจากปากของ พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) หรือผู้บัญขาการชุดจับกุมน้องไข่เน่าและแฟนหนุ่ม ครีเอเตอร์ 18+ จากแพลตฟอร์ม Onlyfans
ถ้าหากจะมีใครที่ได้ยินคำให้สัมภาษณ์นี้แล้วเกาหัวเหมือนผมก็คงไม่แปลกนัก แต่ถ้าหลายคนจำได้ สังคมไทยมักจะมีอะไรงงๆ และค้านสายตาแบบนี้อยู่เป็นประจำ อย่างก่อนหน้านี้ หลายคนคงจำได้กรณี พุทธิพงศ์ ปุณณกันต์ อดีตรัฐมนตรีไซเบอร์สั่งปิดการเข้าถึงเว็บไซต์ Pornhub เพราะให้เหตุผลว่ามีผู้ปกครองหลายท่านร้องเรียนมาว่าเป็นเว็บไซต์ที่ไม่สมควรจึงต้องปิด
บางทีนั่งนอนๆ อยู่ผมก็คิดนะว่า ปัญหามันอยู่ที่เว็บไซต์หนังผู้ใหญ่เหล่านี้ หรืออยู่ที่ทัศนคติของผู้มีอำนาจในสังคมกันแน่ที่ยังมองว่าเรื่องทางเพศยังเป็นเรื่องต้องห้าม และต้องปกปิดเพราะมันน่าอาย (โถ่)
ผมหอบคำถามไปคุยกับ จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์ด้านนิติศาสตร์ ภาควิชาสังคมและสุขภาพ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เขียนบทความ ‘สื่อโป๊: การแสดงความคิดเห็นต้องห้ามและประชาธิปไตย’ ปัญหาระหว่างสื่อโป๊กับสังคมเราอยู่ที่ตรงไหน กฎหมายที่ล้าหลัง หรือทัศนคติของสังคม แล้วต่างประเทศอย่างอังกฤษและญี่ปุ่นที่เขาเปิดกว้างเรื่องเพศมากกว่า เขามีปัญหาทางเพศอย่างที่เรามีไหม
และคำถามที่ผมสงสัยที่สุด พวกอำนาจนิยมเผด็จการนี่เขาไม่ดูหนังโป๊กันหรอ ?
จากกรณีการจับกุมน้องไข่เน่าและแฟนหนุ่ม อาจารย์มองอย่างไรบ้าง
ก่อนอื่นถ้าว่ากันตามกฎหมาย มันก็โอเคผิดจริงแหละ แต่ผมมองว่าประเด็นเรื่องนี้ เรากำลังมัวแต่ไปโฟกัสกับเรื่องว่าคุณไข่เน่าและแฟนหนุ่มเป็นผู้ผลิตสื่อโป๊ แต่จริงๆ แล้ว มันควรถกเถียงกันว่า หนึ่ง ในปัจจุบันสังคมเรายอมรับเรื่องเพศได้มากน้อยแค่ไหน สอง มีอะไรผลักดันให้เขาต้องเข้ามาสู้พื้นที่ของการเป็นผู้ผลิตสื่อโป๊ สาม ระหว่างการเปิดเผยทางเพศกับการก่ออาชญากรรม เช่น จี้ ปล้น ฆ่า อันไหนรัฐควรใช้อำนาจลงไปปราบปรามและจำกัดพื้นที่มากกว่า
และสี่คือเรื่องการตีตรา เช่น ผู้ที่เข้ามาเป็นผู้ผลิตหนังโป๊ เขาอาจอยู่ในวงการนี้ช่วงเวลานึง แต่พอเขาพ้นจากจุดเรื่องงานแล้ว ชีวิตเขาก็เหมือนกับเราปกติ ไม่มีอะไรต่างกันเลย คือเขาไม่สมควรถูกสังคมตีตราว่าเป็นคนผิดตลอดชีพ
แต่ผมก็คิดว่าจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรขนาดนั้น ผมสงสัยแค่ว่าทำไมเจ้าหน้าที่ไม่เอากำลังไปลงกับเรื่องอื่น แล้วสื่อเองทำไมไม่ไปให้ความสำคัญกับเรื่องอื่น ไม่ว่าสาธารณสุข เศรษฐกิจ ซึ่งตอนนี้เป็นเรื่องใหญ่กว่าในมุมผม
ระหว่างการเปิดเผยทางเพศกับการก่ออาชญากรรม เช่น จี้ ปล้น ฆ่า อันไหนรัฐควรใช้อำนาจลงไปปราบปรามและจำกัดพื้นที่มากกว่า
ทำไมสังคมไทยเราถึงพยายามปิดกั้นการผลิตสื่อโป๊และวงการหนังผู้ใหญ่
เรื่องของเรื่องคือ ถ้าเราย้อนกลับไปดูสังคมไทยสมัยโบราณเนี่ย เราจะพบว่าสังคมไทยไม่ได้มองว่าเรื่องเพศน่ารังเกียจ ถ้าไปดูตามวรรณกรรม ขุนช้างขุนแผน ลิลิตพระลอ แม้กระทั่งสมัยใหม่กว่าอย่างพระอภัยมณี เราจะพบว่ามีการบรรยายเรื่องเพศกันเยอะมากในวรรณกรรมเหล่านี้
และมีแม้กระทั่งจิตรกรรมฝาผนังในวัดหลายแห่ง เช่น วัดบางยี่ขัน ในกรุงเทพฯ วัดเขียน จ.อ่างทอง มันจะมีการเพ้นท์ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เรียกว่า ‘ภาพกาก’ เป็นภาษาศิลปะไทย ซึ่งเป็นภาพจิตกรรมบนฝาผนังวัดที่แสดงให้เห็นถึงชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ซึ่งในชีวิตประจำวันมันก็มีภาพของเพศสัมพันธ์อยู่ด้วย
แต่พอประมาณร้อยกว่าปีที่ผ่านมา เมื่อประเทศตะวันตกเริ่มแผ่ขยายอำนาจเข้ามา ประเทศไทยหรือสยามในเวลานั้นก็ต้องพยายามปรับตัวเข้าสู่ความเป็นศิวิไลซ์แบบตะวันตก ซึ่งในการปรับเปลี่ยนนั้นคือการรับวัฒนธรรมและแนวคิดทางกฎหมายเข้ามาด้วย โดยในทางวัฒนธรรมเนี่ย ในสมัยวิคตอเรียเรื่องของศีลธรรมทางเพศยังอิงอยู่กับศาสนาคริสต์ ที่มองว่าเรื่องของเพศควรปกปิด เป็นเรื่องส่วนตัว แล้วการจะมีเพศสัมพันธ์ได้จะต้องอยู่ภายใต้กรอบของการแต่งงานที่ถูกต้องเท่านั้น
พอสังคมไทยรับเอาวัฒนธรรมที่ว่าเพศเป็นเรื่องลับแบบนี้เข้ามาเสร็จปุ๊บ มันก็กลายเป็นกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 แล้วก็ถ่ายทอดมาเป็นกฎหมายอาญา แล้วกลายมาเป็น พรบ.คอมฯ ในที่สุด
ขณะที่ต้นฉบับของเราอย่างสังคมอังกฤษเนี่ย เขาได้ก้าวข้ามไปสู่เรื่องของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แล้วลดกำแพงเรื่องทางเพศลงแล้ว คือสามารถนำเสนอได้แต่อยู่ในพื้นที่จำกัดนะ แต่ของไทยยังกดอยู่มิดเลยมาถึงปัจจุบัน เราจึงเห็นว่ากฎหมายที่ห้ามนำเสนอเรื่องเพศยังอยู่ และทัศนคติสังคมที่มองเรื่องเพศเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ เรื่องต้องปกปิดก็ยังอยู่
นิยามของสื่อลามกที่ถูกแช่แข็งไว้ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาในปี 2492 มันมีปัญหาอย่างไรบ้างเมื่อโลกหมุนเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แล้ว
อย่างที่คุยเมื่อครู่ว่าขณะที่เจ้าของแนวคิดเรื่องศีลธรรมกับเพศอย่างอังกฤษ เขาเปลี่ยนไปแล้ว แต่ประเทศไทยยังติดอยู่ในกับดักเดิมอยู่ ทั้งที่ สิ่งที่เราติดอยู่เนี่ย มันไม่ใช่ของไทยแต่ดั้งเดิมด้วยซ้ำไป
ซึ่งในทางกฎหมาย ประเทศไทยเป็นประเทศที่บอกว่าตัวเองใช้กฎหมายแบบตามลายลักษณ์อักษร (Civil Law) หมายความคำพิพากษาหนึ่ง กับคำพิพากษาต่อมาอาจจะไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกันก็ได้ ขณะที่ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา หรืออังกฤษเขาใช้คอมมอนลอว์ (Common Law) คือยึดตามคำพิพากษาแรกเป็นบรรทัดฐาน
แต่แม้ว่าประเทศไทยจะบอกว่าตัวเองใช้แบบลายลักษณ์อักษร และไม่จำเป็นต้องตัดสินตามคำพิพากษาก่อนหน้า แต่ในทางปฏิบัติเราก็ยังยึดตามแนวที่คำพิพากษาเดิมอยู่ สุดท้ายคำนิยามและการตีความเรื่องสื่อลามกแบบคำพิพากษาปี 2492 เลยยังถูกใช้มาถึงปัจจุบัน
อาจารย์พูดถึงปัญหาข้อหนึ่งของนิยามสื่อลามกในคำตัดสินศาลฎีกา 2492 ว่า ติดอยู่กับการใช้สายตามองมากเกินไป จนลืมดูบริบทรอบข้าง ตรงนี้มันมีปัญหาอย่างไร
ในความเห็นของผมนะ แนวทางคำพิพากษาของศาลไทยที่กลายเป็นบรรทัดตัดสินว่าอะไรลามกและไม่ลามก มันยึดติดกับตัววัตถุมากจนเกินไป
ขณะที่เปรียบเทียบกับกฎหมาย Obscene Publication Act 1959 และ 1964 ของอังกฤษ เขาเขียนบัญญัติไว้ชัดเจนว่าการจะตัดสินว่าสิ่งใดลามกหรือไม่ลามก มันไม่ต้องดูที่ตัววัตถุ แต่ต้องดูว่าผลที่จะเกิดขึ้นกับคนที่จะดูสิ่งนั้นว่า มันทำให้เขาเนี่ยเสื่อมเสียศีลธรรมหรือเปล่า ถ้าเสื่อมเสียศีลธรรมถือว่าเป็นสิ่งลามก แต่ถ้าไม่ ก็ไม่เป็น
ยกตัวอย่าง สมมติมีภาพหญิงเปลือยกายอยู่ภาพหนึ่ง ถ้าผมซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่ดูหนังโป๊อยู่แล้วไปดูภาพนี้ และผมไม่รู้สึกว่ามันทำให้ศีลธรรมเสื่อมเสียอะไร ภาพนี้จะไม่เป็นสื่อลามกตามกฎหมายอังกฤษ ขณะเดียวกัน ถ้าให้เด็กอายุ 8-10 ขวบดูภาพเดียวกันนี้ และถ้าดูแล้วมันมีความไปได้ที่เด็กจะเสื่อมเสียทางศีลธรรม จะถือว่าภาพนั้นสื่อเป็นลามก กล่าวคือเขาไม่ได้ดูที่ตัวภาพ เขาดูที่ผลลัพธ์ที่จะตามมาทีหลังของบุคคล
ผมมองว่าในอนาคตประเทศไทยน่าจะลองพิจารณาแนวทางนี้ดูเหมือนกัน คือไม่จำเป็นจะต้องไปดูว่าสื่อนั้นนำเสนออย่างไร จะแหวกขาบัดสีบัดเถลิงหรือทำให้เกิดกามอารมณ์แค่ไหน แต่ให้ดูว่าใครเป็นคนดูสื่อนั้น ใครมีแนวโน้มจะดูบ้าง และดูแล้วมันจะทำให้เขาเสื่อมเสียศีลธรรมหรือเปล่า
จากกรณีน้องไข่เน่าและแฟนหนุ่ม เจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบคดีน้องให้สัมภาษณ์ว่าจำเป็นต้องดำเนินคดีเพราะ ต้องรักษาศีลธรรมอันดีงามของสังคมไทย คำอธิบายแบบนี้มันมีปัญหาอย่างไรบ้าง
ศีลธรรมอันดีงามมันถูกระบุไว้ในกฎหมายของแทบทุกประเทศ แต่ในประเทศที่เขาให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน การตีความตามศีลธรรมอันดีงามจะต้องทำให้แคบที่สุดเพื่อไม่ให้ไปกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไป
ผมเพิ่งคุยกับนักศึกษาในกรณีของคุณไข่เน่าว่า คลิปของเธอและแฟนหนุ่มไม่ได้มีประเด็นเรื่องพวกนี้เลย ไม่มีความรุนแรง ไม่ได้ทำกิจกรรมทางเพศที่แย่อะไร และเท่าที่ผมทราบเขาก็ทำกิจกรรมทางเพศกับแฟนเขา ซึ่งมันก็เป็นไปตามบรรทัดฐานศีลธรรมของสังคมไทยเรื่องการมีผัวเดียวเมียเดียวหรือเปล่า มันอาจจะละเมิดศีลธรรมแค่นำเรื่องเพศมาเปิดเผยในที่สาธารณะเท่านั้นเอง มีแค่ประเด็นนี้เองที่น่าจะผิดต่อศีลธรรมปัจจุบัน
แต่ยังไงก็ตามสังคมไทยเรายังมีปัญหาตรงนี้อยู่ตลอด ก่อนหน้ากรณีคุณไข่เน่าก็จะมีกรณีของคุณบลู แล้วก็จะมีคนมาสัมภาษณ์ผมประเด็นนี้แทบทุก 2-3 ปีเลย มันวนซ้ำไปซ้ำมาอยู่แบบนี้ ซึ่งปัญหาคือสื่อโป๊มันอยู่ของมันอย่างนั้นแหละ เพียงแต่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐเขาจะดำเนินการช่วงไหนเท่านั้นเอง พูดปลงๆ ว่าเป็นเคราะห์หามยามร้ายของคุณไข่เน่ามากกว่า
และถ้าเราไม่ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสื่อลามก เราก็จะวนเวียนกันอยู่แบบนี้ไปอีกนั่นแหละ
นอกจากมิติด้านกฎหมายแล้ว การปกปิดเรื่องเพศยังเกี่ยวกับที่สังคมเรามีลักษณะอำนาจนิยมด้วยไหม
เกี่ยวครับ ไม่ใช่เฉพาะสังคมไทยนะ แต่สังคมที่มีลักษณะของอำนาจนิยม เช่น ในเกาหลีเหนือ กฎหมายเขายังระบุว่าสื่อลามกเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และยังมีโทษร้ายแรงมากถึงขั้นประหารชีวิต
คือถ้าไม่ใช่นักบวช เรื่องเพศมันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ทั่วไปอยู่แล้ว แล้วการที่กฎหมายหรือสังคมพยายามกำหนดกรอบให้มันเยอะๆ มันคือการใช้อำนาจควบคุมและแทรกซึมเข้ามาในชีวิตประจำวันและความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในสังคม
ขณะที่ในสังคมที่เสรีมากกว่า มีประชาธิปไตยสูงกว่า เขาจะค่อนข้างเปิดเผยเรื่องเพศมากกว่า ซึ่งก็ไม่ได้เปิดแบบอีเหละเขะขะ แต่เขาจะมีกฎหมายอีกชุดที่มีกรอบอ่อนกว่า เช่น กำหนดอายุของผู้ดู ผู้ซื้อ ผู้ขายหนังโป๊เหล่านี้ มันเป็นความพยายามจัดที่จัดทางให้เรื่องเพศมากกว่า กดมิดแบบสังคมที่เป็นอำนาจนิยมทั้งหลาย
ถ้าไม่ใช่นักบวช เรื่องเพศมันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ทั่วไปอยู่แล้ว แล้วการที่กฎหมายหรือสังคมพยายามกำหนดกรอบให้มันเยอะๆ มันคือการใช้อำนาจควบคุมและแทรกซึมเข้ามาในชีวิตประจำวันและความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในสังคม
อาจารย์มองว่าในโลกยุคศตวรรษที่ 21 ที่เทคโนโลยีเติบโต และเรื่องเพศเปิดกว้างขึ้นมากแบบนี้ รัฐยังควรควบคุมสื่อลามกอยู่ไหม
ประการแรก เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สื่อโป๊ไม่ได้หมายความว่าจะต้องลามกทุกกรณี ตรงนี้เราไม่พูดถึงสื่อลามกเด็กนะ ผมคิดว่าในปัจจุบันสื่อโป๊ปกติทั่วไป ที่ไม่ได้มีการใช้ความรุนแรง ล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น และอยู่ภายใต้ความยินยอมพร้อมใจ เราควรต้องปล่อยไปเพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้คนมีเสรีภาพบ้าง
แล้วที่สำคัญคือจริงๆ คือ สื่อโป๊มันเป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแบบที่ไม่เป็นทางการ คือในสื่อโป๊เรามักจะพบเห็นประเด็นความสัมพันธ์ทางอำนาจซ่อนอยู่ เช่น ระหว่างชายกับหญิง หรือคนเพศเดียวกัน ดังนั้น ถ้ามันเป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแล้ว ตามหลักการควรต้องได้รับการปกป้องสูงสุด
เพียงแต่ในปัจจุบันของประเทศไทย เรื่องของการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมันยังมีข้อจำกัดเยอะ และยังไม่ค่อยมีการพูดถึงสื่อโป๊ในมิติขอการเป็นสื่อที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองเลย มันเลยมีแต่ความรู้สึกว่า เฮ้ย มันเป็นแค่สื่อโป๊น่าอุจาด บัดสีบัดเถลิงแล้วก็ปัดให้มันไปอยู่ไกลๆ
สื่อโป๊เป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแบบที่ไม่เป็นทางการ เรามักจะพบเห็นประเด็นความสัมพันธ์ทางอำนาจซ่อนอยู่ในนั้น ดังนั้น ถ้ามันเป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแล้ว ตามหลักการควรต้องได้รับการปกป้องสูงสุด
เมื่อกี้อาจารย์พูดถึงเรื่องสื่อที่ละเมิดสิทธิบุคคล สื่อที่ละเมิดศีลธรรม มีตัวอย่างไหม
ง่ายๆ คือพวกสื่อที่ไปปรักปรำคนอื่น หรือสื่อที่ทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงในกรณีของการหมิ่นประมาท หรือล่วงละเมิดคนอื่น หรืออย่างคลิปแอบถ่ายใต้กระโปรงหรือในห้องน้ำ มันเป็นสื่อที่คุกคามสิทธิคนอื่นเช่นกัน ซึ่งอันนี้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง
อย่างในอังกฤษ มาตรฐานของสื่อที่ละเมิดศีลธรรมอันดีมีอะไรบ้าง
จริงๆ มันมีเยอะมากนะครับ ซึ่งเป็นสิ่งที่อัยการสูงสุดเขาตั้งเป็นบรรทัดฐานไว้ เช่น คนมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์ หรือมีการใช้สิ่งปฎิกูลขับถ่ายจากร่างกายอยู่ในภาพ แต่ตรงนี้อัยการเขาก็ตั้งบรรทัดฐานไว้เฉยๆ พอเกิดคดีขึ้นจริงๆ คนที่จะตัดสินก็คือศาลและคณะลูกขุนอยู่ดี
อย่างเช่น ในปี 2012 มันมีคดีหนึ่งชื่อ ‘R. Vs Peacock’ คือคุณคนนี้เขาเป็นคนทำภาพยนตร์โป๊ เกี่ยวกับชายรักชาย และภายในเรื่องก็มีการใช้อุปกรณ์ทำให้เกิดบาดแผลตามร่างกาย คือเป็น ‘BDSM’ แล้ววันหนึ่งเขาก็ถูกตำรวจจับ แต่พอเรื่องไปถึงศาลและคณะลูกขุน พวกเขาพิจารณากันว่า คนที่ดูหนังของคุณคนนี้ยังไงก็เป็นคนที่มีรสนิยมทางเพศแบบนี้อยู่แล้ว ฉะนั้นมันก็ไม่น่าจะทำให้คนดูเสื่อมเสียทางศีลธรรมต่อไปอีกและหนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้ไปเร่ขายเด็กเยาวชนทั่วไปเสียหน่อย ดังนั้น คุณ Peacock ก็เลยชนะคดี แล้วถือว่าหนังที่เขาทำเนี่ยไม่ใช่สื่อลามก นี่คือการตัดสินตามกฎหมายของอังกฤษ
ในประเทศอื่น การเข้าถึงสื่อลามกหรือสื่อโป๊ มันง่ายหรือยากขนาดไหน
สำหรับในอังกฤษ ยุคก่อนที่จะมีอินเตอร์เน็ตแพร่กระจาย สินค้าพวกนี้จะขายอยู่ในร้านโดยเฉพาะเท่านั้น และเขาก็จะเขียนชัดเจนว่าห้ามคนอายุไม่ถึง 18 ซื้อ
พอมาในยุคอินเตอร์เน็ต เราไม่จำเป็นต้องเข้าร้านพวกนั้นแล้ว อังกฤษก็พยายามสร้างกลไกในการคัดกรองอายุผู้ชม เช่น ต้องใส่เลขประจำตัวหรือรหัสอะไรก็ว่าไป เพื่อที่จะยืนยันว่าเรามีอายุเกินเกณฑ์แล้ว หรือในเกาหลีใต้ ถ้าอยากเข้าไปในเว็บไซต์ Pornhub นี่ต้องกรอกเลขบัตรประชาชนเพื่อยืนยันตัวตน ซึ่งในเกาหลีใต้ต้องมีอายุเกิน 19 ปีถึงจะเข้าถึงเนื้อหาเหล่านี้ได้ แต่ทั้งสองประเทศก็ยังทำไม่ได้ทั้ง 100% นะ
อันนี้สงสัยเอง ผมเคยได้ยินว่าในญี่ปุ่น ทางช่องฟรีทีวีมีฉายหนัง X จริงไหม
ถ้าผมจำไม่ผิดหนังที่ฉายในช่องฟรีทีวีของญี่ปุ่นมันไม่ถึงขนาดหนัง X หรือหนัง AV เห็นอย่างมากก็แค่หน้าอกเท่านั้น เพราะกฎหมายญี่ปุ่นระบุว่าหนัง AV ต้องเซ็นเซอร์อวัยวะเพศชายและหญิง และถ้าเห็นอวัยวะเพศถึงจะถือว่าเป็นสื่อลามก
แปลว่าหนังโป๊ที่ไม่เซ็นเซอร์อวัยวะเพศผิดกฎหมายในญี่ปุ่น
ใช่ผิดในญี่ปุ่น คือเท่าที่ทราบข้อมูลญี่ปุ่นมีการผลิตหนังทั้งแบบเซ็นเซอร์กับไม่เซ็นเซอร์ หนังเซ็นเซอร์จะสำหรับขายในประเทศญี่ปุ่น ส่วนที่ไม่เซ็นเซอร์จะส่งออกไปประเทศอื่น เช่น สหรัฐฯ ฉะนั้น บนอินเทอร์เน็ตเราจะเห็นหนังญี่ปุ่นทั้งแบบเซ็นเซอร์และไม่เซ็นเซอร์
ในสังคมเรามีความเชื่อว่า หนังโป๊นี่แหละที่ทำให้เกิดคดีข่มขืนมากขึ้น อาจารย์คิดว่าอย่างไร
ตอนผมทำวิทยานิพนธ์และได้ค้นสถิติรายงานอาชญกรรมทางเพศกับการจับกุมสื่อลามกระหว่างปี 2001-2010 และผมค้นพบว่าสองอย่างนี้มันไม่มีความสัมพันธ์กันเลย มันแปลว่าสื่อลามกไม่ได้เท่ากับข่มขืน แต่มันเป็นปัจจัยอื่นอีกร้อยแปดพันเก้าต่างหากที่ทำให้คนข่มขืน
ผมเลยมีข้อโต้แย้งในวิทยานิพนธ์ว่า ในเมื่อสถิติไม่ชัดเจนขนาดนั้น แล้วเราจะจับกุมดำเนินคดีกับสื่อลามกไปเพื่ออะไร เพราะสองอย่างนี้มันอาจไม่เกี่ยวข้องกันเลยด้วยซ้ำไป
และถ้าเราไปดูคำพิพากษาหรือข่าว เราจะพบว่าคนที่เมาเหล้าต่างหากที่มีสถิติในการก่ออาชญากรรมทางเพศมากกว่าคนดูสื่อลามก บางคนข่มขืนโดยไม่เคยดูหนังสือโป๊เลยด้วยซ้ำ ซึ่งผมคิดว่าประเทศอื่นน่าจะเป็นลักษณะเดียวกัน พูดง่ายๆ ว่า มันไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องเชิงสาเหตุ-ผลเท่าไหร่
เรียกว่าเป็นมายาคติอย่างหนึ่ง
ถ้าพิจารณาและวิเคราะห์สถิติกันแล้ว มันไม่สามารถที่จะบอกได้เลยว่าสื่อโป๊และการข่มขืนสัมพันธ์กัน แต่แม้กระทั่งคำพิพากษาของศาลต่อคดีสื่อลามกเอง นอกจากเรื่องศีลธรรมก็จะมีเรื่องของอาชญากรรมทางเพศ โดยเฉพาะการข่มขืนเข้ามาเกี่ยวข้องตลอด
อาจารย์มีข้อเสนออย่างไร เพื่อแก้ไขให้กฎหมายสื่อลามกบ้านเราสอดรับกับความเป็นจริงของสังคมและยุคสมัย
ผมอยากพูดใน 2 มิติ คือเรื่องของทัศนคติสังคมกับกฎหมาย
ผมขอพูดเรื่องทัศนคติของคนในสังคมก่อน เพราะตัวนี้มันเป็นตัวหลักที่ทำให้กฎหมายขับเคลื่อนหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ คือ ตั้งแต่อดีตเรานำเข้าแนวคิดของประเทศตะวันตกมาและปล่อยให้มันหยั่งรากลึกในสังคมไทย จนทำให้เรามองว่าสื่อทางเพศเป็นเรื่องผิดและไม่ควรเปิดเผยในที่สาธารณะ ซึ่งหากเราจะเปลี่ยน เราอาจต้องเริ่มต้นที่คำถามว่า เราอยากอยู่กับสังคมที่ไม่ยอมรับเรื่องเพศ หรือจะค่อยๆ พูดคุยกันและเปลี่ยนมาเปิดพื้นที่ให้มันทีละนิด
ตรงนี้ รวมถึงตัวของคนที่ประกอบอาชีพหรืออยู่ในอุตสาหกรรมแบบนี้ด้วย สังคมต้องมองว่าถ้าเขาพ้นจากความเป็นเด็กและเยาวชนแล้ว เขาควรจะมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกงานของเขาได้ เพียงแต่ต้องมีข้อจำกัดสำหรับอายุของผู้เข้าชมนิดนึง
ส่วนแง่กฎหมาย ประเด็นแรก ผมมองว่ากิจกรรมทางเพศเป็นเรื่องปกติ และถึงแม้มีการเปิดเผยก็ควรเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่จัดที่จัดทางไม่ให้เด็กหรือเยาวชนเข้าถึงได้โดยง่าย ซึ่งอันที่จริง ตรงนี้ผมอยากให้เป็นหน้าที่ของผู้ผลิตหรือเจ้าของแพลตฟอร์มมากกว่า
ประเด็นที่สอง เราอาจไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมาย แต่ต้องแก้แนวทางคำพิพากษาในอนาคต อาจจะมีผู้พิพากษาสักคนที่คิดว่า ต่อไปนี้เราจะไม่สนใจแล้วว่าภาพโป๊แค่ไหน แต่เราจะสนใจว่ามันทำให้คนดู โดยเฉพาะเยาวชน เกิดความเสื่อมทรามทางศีลธรรมหรือเปล่า ให้มีบรรทัดฐานการตัดสินเหมือนในประเทศอังกฤษคือ โป๊แค่ไหนไม่สน แต่คนที่เข้าไปดูเป็นเด็กหรือเปล่า แล้วเด็กดูแล้วจะเสื่อมเสียศีลธรรมทางเพศต่อไปหรือเปล่า
ประการที่สาม อาจต้องมีการแก้ไขหรือวางแนวทางอื่นให้การเปลี่ยนแปลงนี้กระจายไปถึงกฎหมายข้ออื่นๆ ด้วย
มองว่ายังอีกไกลไหมกว่าสังคมเราจะเปิดกว้างเรื่องเพศและสื่อโป๊
อย่างที่ผมเล่าให้ฟังว่า ประเด็นนี้มันจะเวียนมาทุก 2-3 ปี เหมือนเช่นหลายๆ เรื่องที่ยังวนอยู่ในอ่าง จะไปทางไหนก็ไม่ไปสักทาง โดยเฉพาะทางที่ทำให้สังคมมีสิทธิเสรีภาพอย่างสมเหตุสมผลมากขึ้น ฉะนั้น ผมคิดว่าน่าจะอีกไกล
หรือพูดได้ว่าถ้าการเมืองดี ประเทศมีประชาธิปไตย เราจะมีหนังโป๊ให้ดูได้เปิดเผยขึ้น
ประชาธิปไตยมันเป็นกลไกสำคัญที่จะรับฟังเสียงของประชาชนและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่เหมือนอำนาจนิยมที่ผู้มีอำนาจเป็นคนคิดและตีกรอบยัดสังคมลงไป ประชาธิปไตยมันเป็นเสียงจากประชาชนข้างล่างที่ส่งขึ้นไปสู่องค์กรที่มีอำนาจ และออกมาเป็นกฎหมาย
ถ้าในมิตินี้ ผมว่าถ้าประเทศมีความเป็นประชาธิปไตย มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มันก็มีแนวโน้มว่าเราจะเปิดเสรีได้มากขึ้นเท่าที่สังคมในช่วงเวลานั้นๆ ยอมรับได้ และในอนาคตเราอาจะมี สื่อโป๊ หนังโป๊ ที่ยอมรับได้ในที่สาธารณะสำหรับสังคมในช่วงเวลานั้นๆ
แล้วแบบนี้ พวกอำนาจนิยม เผด็จการเขาไม่ดูหนังโป๊กันหรอ
จริงๆ อันนี้เป็นคำถามที่ผมก็นั่งคิดอยู่ (หัวเราะ) ผมอาจตอบแทนเขาไม่ได้นะ แต่ผมเชื่อว่าตราบเท่าที่เรายังเป็นมนุษย์ธรรมดา ไม่ใช่นักบวช และไม่ว่าเราจะอยู่ในสังคมแบบไหน ผมคิดว่าทุกคนมีความต้องการในการดูสื่อทางเพศ
เพียงแต่ว่าสื่อทางเพศมันเป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ถ้าสังคมที่เป็นอำนาจนิยมสามารถควบคุมสื่อทางเพศได้ พวกเขาก็จะควบคุมมิติอื่นๆ ได้ ผมเลยคิดว่า มันไม่ได้หมายความว่าเขาจะดูหรือไม่ดูหนังโป๊ แต่มันแปลว่าถ้าเขาสามารถควบคุมในมิติเล็กๆ อย่างสื่อโป๊ได้แล้ว เขาจะสามารถควบคุมมิติอื่นๆ ไปได้เรื่อยๆ
ในทางกลับกัน ถ้าเรามีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นประชาธิปไตย คนในสังคมก็จะหาทางออกได้เองว่า สื่อโป๊ที่ยอมรับได้เป็นอย่างไร
สรุปคือ ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมแบบไหน อำนาจนิยมหรือประชาธิปไตย ตราบเท่าที่เราเป็นคนธรรมดาเนี่ย คนเรายังมีความต้องการบริโภคหรือเข้าถึงสื่อที่เป็นเนื้อหาทางเพศ
ในสังคมที่เรากดเรื่องเพศลงไปแบบนี้ มันสัมพันธ์กับปัญหาเรื่องเพศอื่นๆ ด้วยไหม
ผมเชื่อว่ามันสัมพันธ์กัน ถ้าเราปิดเรื่องเพศกันเยอะๆ คนจะไม่สามารถหาข้อมูลที่ถูกต้องในเรื่องเพศได้ แล้วมันจะนำไปสู่การหาข้อมูลใต้ดิน ข้อมูลไม่ถูกต้อง หรือการไปปลดปล่อยทางเพศที่ไม่ปลอดภัย และมันจะนำไปสู่การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ หรือรวมไปถึงเรื่องการไปทำอาชญากรรมทางเพศอื่นๆ ด้วย
ดังนั้น ถ้าสังคมเปิดเรื่องเพศภายใต้การยอมรับของสังคมในช่วงเวลาน้ันได้ ผมคิดว่าสิ่งที่ผลักให้คนไปทำเรื่องทางเพศผิดๆ จะลดลง
Photograph From Mathichon
Illustrator By Waragorn Keeranan