เมื่อช่วงอาทิตย์ก่อนเกิดเป็นกระแสขึ้นมา (อีกครั้ง) หลังนักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์ Russell Crowe โพสต์ภาพเสาไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ที่มีสายระโยงระยางพันกันยุ่งเหยิง พร้อมแคปชั่น “ความฝันบางกอก (Bangkok Dreaming)”
หลายคนคงเคยผ่านหู ผ่านตามาบ้างแล้วว่า ขณะนี้หลายจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑลกำลังมีแผนจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ นำสายไฟที่ห้อยเตงบดบังทัศนียภาพของท้องฟ้าออกให้หมด และนำมาลงไว้ใต้ดินแทน
วันนี้ The MATTER อยากชวนมาทำความเข้าใจโครงการนำสายไฟฟ้า-สัญญาณในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลลงสู่ใต้ดิน ภาครัฐดำเนินการถึงไหนแล้ว มีกี่โครงการ และเมื่อไหร่จะแล้วเสร็จกันแน่
สายบนเสาไฟฟ้ามีอะไรบ้าง
เสาไฟฟ้าเมืองไทยเต็มไปด้วยสายสีดำที่พันกันมั่วซั่วไปหมด แต่ที่พันๆ กันอยู่นั้นประกอบไปด้วยสายอะไรบ้างล่ะ และเสาไฟฟ้าจริงๆ มันมีแบบไหนบ้าง
สำหรับเสาไฟฟ้าจะมีทั้งหมด 4 ขนาด ได้แก่ต้นที่มีความสูง 22 เมตร, 12 เมตร, 10 เมตร และ 8.5 เมตร โดยเสาไฟฟ้าที่อยู่ในซอยส่วนมากจะมีขนาด 12 เมตร และ 8.5 เมตร
สำหรับสายสีดำที่ระโยงระยางประกอบด้วย
- สายไฟฟ้าแรงสูง หรือสายที่อยู่ด้านบนที่สุด มีระดับไฟ 69,000 และ 115,000 โวลต์ และระดับ 12,000 และ 24,000 โวลต์ สายไฟฟ้าลักษณะนี้มักทำจากอะลูมิเนียมที่ไม่มีฉนวนหุ้ม หรือมีฉนวนหุ้มบางๆ เท่านั้น จึงมีโอกาสเกิดอันตรายหาใครไปสัมผัส แต่ก็คงเบาใจได้หน่อย เพราะสายไฟฟ้าแรงสูงมักจะอยู่ในที่โล่งกว้างนอกเขตชุมชน และอยู่สูงจากพื้นดิน 10 เมตรขึ้นไป
- สายไฟฟ้าแรงต่ำ สายเหล่านี้จะอยู่ต่ำลงมาจากสายไฟฟ้าแรงสูง และมีหน้าที่สำคัญในการจ่ายไฟให้แก่บ้านเรือนต่างๆ โดยมีระดับไฟ 230 หรือ 400 โวลต์
- สายสื่อสาร ส่วนสายที่เห็นว่าพันกันมั่วซั่ว ขดเป็นวงกลมเหมือนงูนั้นเรียกรวมๆ ว่า สายสื่อสาร ซึ่งประกอบไปด้วย อาทิ สายอินเทอร์เน็ต, สายเคเบิลโทรศัพท์, สายเคเบิลทีวี, สายควบคุมสัญญาณจราจร หรือสายสื่อสารกล้องวงจรปิด เป็นต้น
ทางการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้ตั้งกฎสำหรับระยะห่างในการตั้งไฟฟ้ากับบ้านเรือนหรือป้ายโฆษณาต่างๆ ไว้ ดังนี้
- ขนาดแรงดันไฟฟ้า 115,000 โวลต์ ห่างจากอาคารระเบียง และป้ายโฆษณา 2.30 เมตร
- ขนาดแรงดันไฟฟ้า 69,000 โวลต์ ห่างจากอาคารระเบียง 2.13 เมตร ป้ายโฆษณา 1.80 เมตร
- ขนาดแรงดันไฟฟ้า 12,000 – 24,000 โวลต์ ห่างจากอาคารระเบียง 1.80 เมตร ป้ายโฆษณา 1.50 เมตร สะพานลอย 2.40 เมตร
โครงการนำสายไฟฟ้าลงดินของ กทม. และปริมณฑล
เรียกว่าเป็นมหากาพย์ก็ไม่ผิดนัก เพราะครั้งแรกที่ประเทศไทยพูดถึงเรื่องการนำสายไฟลงดินคือ เมื่อ 37 ปีที่แล้ว หรือ พ.ศ.2527 (ก่อนผมเกิดเสียอีก) โดยตัวละครหลักที่รับผิดชอบสายๆ ต่าง ประกอบไปด้วย หน่วยงานในพื้นที่ เช่น กทม. หรือท้องถิ่น, การไฟฟ้า สำหรับสายไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เป็นหน้าที่ของ กฟน., กสทช. คอยดูแลสายสื่อสารทั้งหลาย
โดยมาถึงตอนนี้ โครงการนำสายไฟลงดินในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีทั้งหมด 3 โครงการ รวมเป็นระยะทาง 236.1 กิโลเมตร
แผนดั้งเดิมปี 2527-2557
สำหรับแผนนี้เริ่มต้นขึ้นในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ โดนวางแผนให้มีการนำสายไฟฟ้าระยะทาง 88.3 กม. ลงสู่ใต้ดิน โดยพื้นที่ที่ระบุในโครงการประกอบด้วย สีลม, จิตรลดา, ปทุมวัน, พญาไท, สุขุมวิท, พหลโยธิน, นนทบุรี, พระราม 3, รัชดา-อโศก และรัชดา-พระราม 9
อย่างไรก็ตาม มาถึง พ.ศ. 2557 หรือครบ 30 ปีตามที่ระบุไว้ในกรอบระยะเวลา กฟน. สามารถดำเนินการนำสายไฟลงดินไปได้เพียง 35 กิโลเมตร หรือประมาณ 30.9% เท่านั้น
โครงการรองรับมหานครอาเซียน ปี 2558
ภายหลังที่ คสช. ยึดอำนาจได้ปีกว่าๆ วันที่ 1 ก.ย. 2558 รัฐบาลทหารได้อนุมังติงบประมาณ 48,717.2 ล้านบาท สำหรับโครงการรองรับมหานครอาเซียน และนำสายไฟลงดินเพิ่มอีกใน 39 พื้นที่ คิดเป็นระยะทาง 127.3 กม. แบ่งเป็นพื้นที่ในกรุงเทพฯ 88.1 กิโลเมตร, นนทุบรี 13.5 กิโลเมตร และสมุทรปราการ 25.7 กิโลเมตร
แผนนำสายไฟฟ้าลงดิน ฉบับปฏิบัติการเร่งรัด ปี 2562
ต่อมาในปี 2562 ครม. ได้อนุมัติงบประมาณ 3,673.4 ล้านบาท ให้มีการนำสายไฟฟ้าลงดินเพิ่มอีก 20.5 กิโลเมตร โดยเส้นทางท่ี ครม. อนุมัติประกอบด้อย
- เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถนนรัตนาธิเบศร์ (ถนนราชพฤกษ์ – ถนนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 4.4 กิโลเมตร
- เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี – ถนนติวานนท์ ระยะทาง 10.6 กิโลเมตร
- เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถนนสุขุมวิท (ซอยสุขุมวิท 81 – ซอยแบริ่ง) ระยะทาง 5.5 กิโลเมตร
โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้แถลงถึงความคืบหน้าการนำสายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลลงใต้ดินระยะทางทั้งหมด 236.1 กิโลเมตร แล้วเสร็จ 48.6 กิโลเมตร ประกอบด้วย
- โครงการถนนสีลม ปทุมวัน และจิตรลดา 16.2 กิโลเมตร,
- โครงการพหลโยธิน พญาไท และสุขุมวิท 24.4 กิโลเมตร
- โครงการปทุมวัน จิตรลดา พญาไท และบางส่วนของโครงการนนทรี 8 กิโลเมตร
ดังนั้น ยังเหลือระยะทางที่ต้องดำเนินการอีกรวม 187.5 กิโลเมตร ภายใต้กรอบระยะเวลากำหนดในปี 2567 (เลื่อนมาแล้วจากปี 2557)
โครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่ กทม.
ก่อนหน้านี้ ได้เกิดประเด็นถกเถียงหลัง กฟน. นำสายไฟลงดินแล้ว แต่ยังเหลือสายสื่อสารที่ห้อยเต่งไม่ถูกเก็บลงดินอยู่ ต่อมาในปี 2559 กฟน., กทม., กสทช., ตำรวจ และภาคเอกชนเจ้าของสายสื่อสารทั้งหลายจึงได้จับมือกันเซ็น MOU ร่วมมือทำให้สายทั้งหมดที่ห้อยบนเสาไฟฟ้าลงมาใต้ดินเสียที
ต่อมาในเดือนมิถุนายน ปี 2562 พล.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้บริษัทลูก หรือบริษัทกรุงเทพธนาคม (กรุงเทพมหานครถือหุ้น 99.98%) จำกัดจับมือกับ กสทช. จัดการปัญหาสายสื่อสารทั้งหมดในกรุงเทพฯ ให้ลงมาอยู่ในท่อใต้ดิน โดยได้เริ่มดำเนินการในระยะนำร่องไปแล้ว 4 พื้นที่ รวมระยะทาง 7.252 กิโลเมตร ได้แก่
- ถนนวิทยุ (ถนนเพชรบุรี – แยกเพลินจิต) ระยะทาง 1.337 กิโลเมตร
- ถนนรัชดาภิเษก (MRTศูนย์วัฒนธรรมประตู 2 – หน้าซอยรัชดาภิเษก 7) ระยะทาง 2.060 กิโลเมตร
- ถนนวิทยุ (แยกเพลินจิต – หน้าซอยร่วมฤดี) 2.185 กิโลเมตร
- ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (ถนนสาทรเหนือ/ใต้ – ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 10) ระยะทาง 1.670 กิโลเมตร
ทั้งนี้ในระยะยาว กทม. เตรียมที่จะนำสายสื่อสารลงดินอีกครั้งรวมระยะทาง 2,450 กิโลเมตร (ระยะทางเท้า) หรือ 1,260 กิโลเมตรตามระยะถนน โดยแบ่งพื้นที่โครงการออกเป็นทั้งหมด 4 ส่วน ได้แก่
- กรุงเทพตอนเหนือ ระยะทาง 620 กม. ตามระยะทางเท้า หรือประมาณ 335 กม, ตามระยะถนน ในบริเวณพื้นที่เขตดุสิต, พญาไท, บางซื่อ, ลาดพร้าว, บางเขน, หลักสี่, ดอนเมือง, สายไหม, บึงกุ่ม, คันนายาว
- กรุงเทพตะวันออก ระยะทางรวมประมาณ 605 กม. ตามระยะทางเท้า หรือประมาณ 315 กม. ตามระยะถนน ในบริเวณพื้นที่เขตดินแดง, วัฒนา, ห้วยขวาง, สะพานสูง และหนองจอก
- กรุงธนเหนือ ระยะทางรวมประมาณ 605 กม. ตามระยะทางเท้า หรือประมาณ 315 กม. ตามระยะถนน ในบริเวณพื้นที่เขตบางรัก, สาทร, ยานนาวา, บางคอ แหลม, ราษฎร์บูรณะ, ทุ่งครุ, บางขุนเทียน, พระโขนง, บางนา
- กรุงธนใต้ ระยะทางรวมประมาณ 620 กม. ตามระยะทางเท้า หรือประมาณ 330 กม. ตามระยะถนน ในบริเวณพื้นที่เขตพระนคร, สัมพันธวงศ์, ป้อมปราบศัตรูพ่าย, ปทุมวัน, ธนบุรี, คลองสาน, บางพลัด, บางกอกน้อย, บางกอกใหญ่, ตลิ่งชัน, ทวีวัฒนา, ภาษีเจริญ, บางแค, หนองแขม
เพื่อให้สอดรับกับการก่อสร้างท่อใต้ดินไร้สาย กทม. ยังได้ออกกฎระเบียบใหม่ให้ผู้ประกอบกิจการสื่อสาร หรือผู้ที่จำเป็นต้องต่อสายสัญญาณสื่อสารต้องติดต่อนำสายลงดิน แทนที่จะวางไว้บนเสาไฟฟ้าเหมือนเดิม
แน่นอนว่าการนำสายทั้งหลายลงดินย่อมมีแง่บวกในหลายด้าน ไม่ว่าทัศนียภาพ เพิ่มความปลอดภัยในแง่อุบัติเหตุ รวมถึงลดโอกาสเกิดไฟดับ แต่ยังต้องติดตามกันต่อไปว่ามหากาพย์โครงการที่ดำเนินมามากกว่า 30 ปีจะสำเร็จลุล่วงลงเมื่อใด
และหนึ่งข้อสังเกตที่น่าสนใจสำหรับตัวผู้เขียนเองคือ อาจด้วยความบังเอิญหรือจงใจ แต่แผนนำสายไฟลงดินถึงมักเกิดในยุครัฐบาลทหารทุกครั้งไป ทำไมหนอ ?
อ้างอิง:
https://thestandard.co/underground-cable-project/
https://www.condonewb.com/talk/1036/สายไฟลงดิน
https://today.line.me/th/v2/article/rLMWY0’
https://www.thaich8.com/news_detail/99300
https://www.dailynews.co.th/bangkok/781605/
https://www.thairath.co.th/business/economics/1701636
https://www.thanakom.co.th/17484219/ความคืบหน้าโครงการ
https://www.checkraka.com/condo/article/125571/