เสาไฟฟ้าพร้อมสายพันระโยงระยางหน้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ถูกจัดเก็บลงใต้ดินแล้ว พร้อมกับเส้นจราจรที่ถูกทาสีใหม่จนเข้มเห็นได้ชัดเจนตามมาตรฐาน ทางม้าลายก็มีสีสดเห็นได้ชัดจากระยะหลายเมตร ทัศนียภาพรอบสถานที่ดูสวยเจริญหูเจริญตากันสุดๆ
พื้นที่ที่ถูกปรับปรุงนี้ เป็นผลมาจากวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้ จะมีงานประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) ที่กรุงเทพมหานครนี่เอง
ก็เข้าใจได้อยู่ว่า การปรับพื้นที่เพื่อทัศนียภาพที่สวยงามเป็นสิ่งที่ทำกันได้ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร แต่หลายคนก็อดถามไม่ได้ว่า ถ้าทำแบบนี้ได้ ทำไมไม่ทำเสียตั้งแต่แรก
เพราะงั้น เราเลยอยากจำลองสถานการณ์เล่นๆ ว่า ถ้า APEC ย้ายไปจัดที่อื่นๆ ตามที่เราหยิบยกขึ้นมา จะเป็นเรื่องดีขนาดไหนน้า?
จัดบริเวณถนนพระราม 2 เพื่อให้ถนนได้สร้างเสร็จสักที
สมฉายาถนน 7 ชั่วโคตร ที่สร้างมานานราว 50 ปี เริ่มก่อสร้างครั้งแรกในปี 2513 ยาวหลายต่อเนื่องหลายโครงการมาจนถึงปัจจุบัน ที่ยังมีอีก 3 โครงการที่ยังไม่เสร็จสิ้นเสียที ได้แก่
- โครงการก่อสร้างทางยกระดับทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี – ปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน – เอกชัย ช่วง กม.11+959 ถึง กม.20+295 ของกรมทางหลวง เป็นการก่อสร้างทางยกระดับจำนวน 6 ช่องจราจร ไป – กลับ ซึ่งรายงานเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ระบุว่า ภาพรวมโครงการมีความคืบหน้า 61% คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2566
- โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ซึ่เป็นการเชื่อมโยงทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก เริ่มสัญญาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีนี้ และสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 15 มกราคมปี 2568
- โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดของทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงบางโคล่ – สะพานพระราม 9 – ดาวคะนอง ซึ่งภาพรวมโครงการมีความคืบหน้า 24.32% และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2567
ไม่แน่ว่า ถ้าเอางานประชุม APEC ไปจัดบนเส้นทางที่ต้องผ่านโครงการเหล่านี้ การก่อสร้างอาจจะใช้เวลาเร็วกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้นะ
จัดที่เขตคลองสามวา ประเวศ หลักสี่ ลาดกระบัง บางแค ฯลฯ หมดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากรอบกรุง
ฝนตกทีไร เป็นต้องมีน้ำท่วมขังพื้นถนนมันทุกที แถมปัญหานี้ก็เป็นมานานหลายปี พื้นที่ไหนที่ท่วมหนักก็ท่วมมันซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น ยิ่งในช่วงปีสองปีที่ผ่านมานี้ มีหลายครัวเรือนเจอปัญหาน้ำท่วมขังนานหลายวัน เช่นเขตประเวศ ลาดกระบัง ที่น้ำท่วมขังเข้าในบ้านเรือนประชาชน แถมขังนานเกือบสัปดาห์ หรืออย่างคลองสามวา หลักสี่ บางแค ที่พอฝนเทหนักก็ท่วมกันชนิดที่ว่าขับรถลำบากแล้ว
จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ หรอก ปัญหาน้ำท่วมขังนานเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ทั้งภาคกลางตอนบนหรือภาคอีสานที่ก็เจอปัญหานี้หนักหน่วงเช่นกัน จนมันแอบสงสัยไม่ได้ว่า หากการประชุม APEC ได้ไปจัดในพื้นที่เหล่านี้ การเตรียมพร้อมรับมือห่าฝนขนาดใหญ่ของภาครัฐ จะดีขึ้นด้วยไหม
จัดบนทางเท้า แก้ปัญหาพื้นที่ทางเท้าผุพัง มีสิ่งกีดขวาง
สารภาพตรงนี้ว่า เราพยายามจะหาว่า ทางเท้าที่ไหน ที่เรียกได้ว่าเป็นที่สุดแห่งความทุเรศทุรังในเมืองไทย แต่ก็ต้องบอกตรงนี้เลยว่า ไม่สามารถจะจัดแรงค์ให้ที่ไหนได้เลย เพราะทุกที่ล้วนมีปัญหาที่ต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขเร่งด่วนทั้งสิ้น ทั้งเป็นหลุมเป็นบ่อ พื้นไม่เสมอกัน มีสิ่งขีดขวางทางจนทำให้เดินไม่ได้ หรือหนักกว่านั้นคือ บางพื้นที่ไม่มีไหล่ทางให้คนเดินด้วยซ้ำ ต้องร่วมเดินไปบนถนนกับรถยนต์และมอเตอร์ไซด์ที่สัญจรไปมา
รายงานจาก PPTV สรุปผลการสำรวจจากคนกรุงเทพจำนวน 150 คน พบว่าคนกรุงเทพต้องการแก้ปัญหาทางเท้าจำนวน 118 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 78.67% นั่นแปลว่า นี่คือปัญหาที่เป็นหนามทิ่มอกคนกรุงมานาน และต้องได้รับการแก้ไขเสียที
จัดบนทางม้าลาย จะได้ตีเส้นกันชัดๆ มีสัญญาไฟชัดเจน ไม่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
เรื่องราวของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย ที่เดินข้ามถนนบนทางม้าลาย แต่ก็ยังถูก ส.ต.ต. นรวิชญ์ บัวดก ที่ขับรถมอเตอร์ไซด์มาชนจนหมอกระต่ายเสียชีวิต บริเวณหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ เรียกกระแสให้เกิดการแก้ไขปัญหาโดยด่วน เพราะคุณหมอไม่ใช่ผู้เสียชีวิตรายแรก และก็คงไม่ใช่รายสุดท้ายด้วยเช่นเดียวกัน
ทางม้าลายที่น่ากังวลมีหลายจุดมากๆ ในกรุงเทพฯ เช่นที่ถนนเพลินจิต ถนนพระรามที่ 4 และถนนอโศกมนตรี ซึ่งสำหรับทางม้าลายตรงเส้นอโศกมนตรีนั้นช่วงกลางถนนไม่มีพื้นที่สำหรับให้คนข้ามได้ยืนหยุดรอรถอีกฝั่ง จึงเป็นจุดที่ข้ามได้ลำบาก ยิ่งกว่านั้น เมื่อปี 2557 ก็เคยมีเหตุการณ์ที่รถฝ่าไฟแดงพุ่งชนคนข้ามทางม้าลายเสียชีวิตไปแล้วเช่นกัน
ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2559-2561 ระบุว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นคนเดินถนน 6-8% หรือเฉลี่ย 800-1,000 คนต่อปี
แม้ว่าปัญหาจริงๆ จะไม่ใช่แค่การตีเส้นทางม้าลายให้ชัดเจน หรือการเพิ่มสัญญาณไฟให้คนข้ามถนน แต่ยังต้องอาศัยการบังคับใช้กฎจราจรอย่างเข้มงวดและจริงจัง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะอดคิดไม่ได้ว่า จะเป็นยังไง ถ้า APEC มาจัดบนทางม้าลายให้รู้แล้วรู้รอดไปเสีย การรักษาความปลอดภัยบนทางม้าลายคงจะดีมากแน่ๆ เลย
จัดใต้เสาไฟฟ้า เพื่อให้ปัญหาสายไฟ-สายสื่อสาร พันกันยุ่งเหยิงหมดไป
“Bangkok dreaming…” คือแคปชั่นในตำนานที่สั่นสะเทือนหน่วยงานรัฐไม่น้อย เพราะรัสเซล โคลว์ (Russell Crowe) นักแสดงชื่อดังเป็นคนทวีตข้อความนี้ พร้อมด้วยรูปสายไฟที่ยุ่งเหยิงระหว่างอยู่ในกรุงเทพฯ ที่แทบจะกลายเป็นสิ่งที่ Amazing Thailand ไปแล้ว
จริงๆ แล้ว เจ้าเส้นสีดำที่อยู่บนเสาไฟนั้นไม่ได้มีแต่สายไฟหรอกนะ มันประกอบไปด้วย สายไฟฟ้าแรงสูง สายไฟฟ้าแรงต่ำ สายสื่อสาร ซึ่งประกอบด้วย สายอินเทอร์เน็ต, สายเคเบิลโทรศัพท์, สายเคเบิลทีวี, สายควบคุมสัญญาณจราจร สายสื่อสารเนี่ยแหละ ที่มักมีปัญหาพันกันมั่วซั่ว ขดเป็นวงกลม และที่ผ่านมา ในทุกยุคสมัยก็จะมีโครงการนำสายไฟ-สายสื่อสารลงดินกันอยู่เสมอ แต่สำเร็จไปมากน้อยแค่ไหน ให้ประชาชนตัดสินกันเองละกันนะ
นอกจากนี้ การนำสายต่างๆ ลงดิน ยังไม่ใช่แค่เรื่องของความสวยงามเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนด้วย เพราะที่ผ่านมา เราจะเห็นข่าวไฟไหม้สายไฟ-สายสื่อสารกันอยู่บ่อยครั้ง
จัดที่รัฐสภา ปัญหาปัญหาน้ำรั่ว-ไหลซึม จะได้หมดไป
อาคารสัปปายะสภาสถาน ที่สุดของรัฐสภาแห่งใหม่ของประเทศไทย กับงบงบประมาณในการก่อสร้าง 12,280 ล้านบาท แต่กลับพบเจอปัญหาน้ำรั่วซ้ำซากตลอด 3 ปี ซึ่งหากรวบรวมเหตุการณ์น้ำรั่วสภาเท่าที่เป็นข่าว จะพบว่ามีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น 5 ครั้ง ในช่วงตลอดเวลาที่รัฐภาแห่งใหม่เปิดใช้งาน
- วันที่ 1 กันยายน 2563 ท่อระบายน้ำภายในห้องเซิฟเวอร์ระบบกล้องวงจรปิด ตึกวุฒิสภาชั้น 1 เกิดรูรั่วขนาดใหญ่เท่าฝ่ามือ จนทำให้น้ำไหลทะลักออกมาท่วมเจิ่งนองตั้งแต่เวลาตี 3 จนถึงเวลาเริ่มงาน
- วันที่ 18 กันยายน 2564 มีน้ำรั่วไหลลงมาจากฝ้าเพดานลงมายังโถงอาคารรัฐสภาชั้น 1 ฝั่งวุฒิสภา ขณะที่ฝั่งสภาผู้แทนราษฎรเองก็ปัญหานี้เช่นกัน
- วันที่ 14 ตุลาคม 2564 ในห้องประชุมใหญ่ของสภา กลับต้องมีการเอาถังน้ำรองน้ำฝนที่รั่วซึมมาจากฝ้าเพดาน
- วันที่ 3 มีนาคม 2565 เกิดเหตุน้ำฝนรั่วซึมลานจอดรถชั้นใต้ดินของอาคาร เนื่องจากท่อของระบบรถน้ำต้นไม้แตก
- วันที่ 25 เมษายน 2565 เกิดเหตุน้ำจำนวนมาล้นแทงก์ จากกรณีลูกลอยไม่ทำงาน ส่งผลให้น้ำทะลักไหลลงมายังลานจอดรถชั้นใต้ดินของอาคารเช่นเดิม
- วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เกิดเหตุน้ำฝนเทกระหน่ำจนบูธจัดงานที่โถงอาคารชั้น 1 พังเสียหาย เกิดคำถามต่อการออกแบบอาคาร
แหม่ เห็นปัญหาบ้านเมืองได้รับการแก้ไขเร็วขนาดนี้ ก็อดไม่ไหวที่จะลองเล่นๆ ว่า จะเป็นยังไงน้า ถ้า APEC ไปจัดในที่เหล่านี้
อ้างอิงจาก