“อะไรๆ ก็เกิดได้ที่ญี่ปุ่น แต่เราอาจจะต้องตั้งคำถามว่า แล้วทำไม” นี่เป็นคำพูดที่ผู้ดำเนินรายการของงานเสวนาภารตะวิทยา ซี่งเป็นงานเสวนาประจำปีของทาง สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีเป้าหมายจะพูดถึงความเฟื่องฟูและผลพวงของวัฒนธรรมต่างๆ จากประเทศอินเดียที่กระจายตัวไปยังประเทศอื่นๆ
ในครั้งนี้งานสัมมนาได้รับความสนใจจากผู้คนไม่น้อยเพราะหัวข้อที่นำมาเสนอในวันนี้ เป็นเรื่องที่ฟังแล้วอาจจะทำให้รู้สึกดราม่าได้ หัวข้อนั้นก็คือ ‘ศาสดา (ไม่) ลาพักร้อนที่ไทย’ ซึ่งมีการทำภาพประกอบใบปิดเชิญชวนร่วมงานเสวนาด้วยการแปะภาพจากมังงะเรื่อง Saint Onii-San (Saint Young Men) หรือที่หลายคนอาจจะคุ้นกับชื่อไทยที่มีคนตั้งไว้เล่นๆ ว่า ‘สองศาสดาลาพักร้อน’ ซึ่งมีผู้รับชมส่วนหนึ่งเข้าใจผิดว่านี่เป็นภาพโปสเตอร์ที่ทางงานเสวนาสร้างขึ้นใหม่เอง เลยกลายเป็นดราม่าอ่อนๆ ขึ้นมา
กอปรกับในช่วงเวลาก่อนหน้าที่จะมีการประกาศเสวนาครั้งนี้ มีกระแสตอบรับรุนแรงหลังจากมีข่าวลือว่า มีสถานทีโทรทัศน์แห่งหนึ่งจะนำ Saint Onii-San ฉบับซีรีส์คนแสดงมาออกอากาศ ซึ่งเรื่องนี้มีกระแสต่อต้านขึ้นมาแบบชัดเจน และข่าวที่จะนำตัวซีรีส์มาฉายในไทยก็เงียบหายไป
แต่ในงานเสวนาครั้งนี้ ทางวิทยากรของงานเสวนา ดร. สรัญญา ชูโชติแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น ภาควิชาตะวันออก เจ้าของวิทยานิพนธ์ ‘มุมมองของคนญี่ปุ่นที่มีต่อพืช ผ่านการศึกษาอนุภาคการแปลงร่างของพืชในบทละครโน’ กับ ‘ ภาพลักษณ์ของพระพุทธเจ้าใจเกมสุโกะโระคุ (Sugoroku) สมัยเอโดะ’ และมี ดร. ชานปวิชช์ ทัดแก้ว ที่เป็นผู้ดำเนินรายการ ได้พูดอย่างชัดเจนว่า ที่จะมาชวนคุย ชวนคิดกันนั้น ไม่ใช่ประเด็นว่าทำไมถึงเกิดกระแสต่อต้านในไทย แต่เป็นการทำความเข้าใจว่า ทำไมพุทธศาสนาในญี่ปุ่น ถึงสามารถหลอมรวมอยู่กับวัฒนธรรมป๊อปได้มากกว่าหลายๆ ประเทศ
Saint Young Men / Saint Onii-San คืออะไรกันแน่ ? ทำไมจึงแลดูมีดราม่าเกี่ยวกับสิ่งนี้บ่อยนัก
Saint Young Men หรือ Saint Onii-San เป็นมังงะของสำนักพิมพ์โคดันฉะในญี่ปุ่น ที่เขียนโดย นาคามุระ ฮิคารุ นักเขียนมังงะชาวญี่ปุ่น ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Morning 2 มาตั้งแต่ปี 2006 จนถึงปัจจุบัน ณ วันที่มีงานเสวนานี้ มังงะเรื่องนี้วางจำหน่ายฉบับรวมเล่มมาแล้วทั้งหมด 16 เล่ม และได้รับรางวัล Tezuka Osamu Cultural Prize สาขามังงะสั้นยอดเยี่ยมประจำปี ค.ศ. 2009
ตัวมังงะได้รับความนิยมจากนักอ่านพอสมควร จึงมีการนำเอามังงะนี้ไปสร้างเป็นอนิเมะขนาดสั้นจำนวน 2 ตอน โดยทำการแถม (หรือจะใช้คำว่า ขายพ่วง ก็ไม่ผิดนัก) กับมังงะฉบับพิเศษ ก่อนที่จะมีการสร้างเป็นภาพยนตร์อนิเมะในปี 2013 และต่อด้วยการสร้างเป็นซีรีส์คนแสดง ซีซั่นแรกออกอากาศผ่านทางบริการรับชมรายการออนไลน์เมื่อเดือนตุลาคมปี 2018 และมีการประกาศสร้างซีรีส์คนแสดงซีซั่นที่สองที่จะออกอากาศในช่วงเดือนมิถุนายนปี 2019 รวมถึงยังมีข่าวลือว่าจะมีการสร้างซีซั่นที่ 3 ต่อไปในอนาคต
เนื้อเรื่องของมังงะเรื่องนี้เป็นการสมมติว่า สองศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ในโลก นั่นก็คือ บุดด้า กับ เยซู (อ้างอิงชื่อตามเสียงอ่านในมังงะ) ลาพักร้อนจากการปฏิบัติภารกิจบนสวรรค์ มาใช้ชีวิตแบบคนธรรมดาในกรุงโตเกียว ตัวเรื่องเป็นการ์ตูนตลกที่นำเอาประวัติ และคำสอนของศาสดาทั้งสองท่าน มาเทียบเคียงกับบริบทสังคมญี่ปุ่นปัจจุบัน
ซึ่งส่วนนี้อาจารย์สรัญญาได้กล่าวเสริมไว้ในช่วงต้นของงานเสวนาว่า “การที่จะอ่านการ์ตูนเรื่องนี้แล้วจะสนุกกับมันได้ หนึ่งคือคุณต้องรู้ภาษาญี่ปุ่น และสองคือคุณต้องรู้พื้นเพของศาสนาพุทธในญี่ปุ่น ซึ่งเรื่องนี้ความเข้าใจจะไม่ตรงกันกับศาสนาพุทธในประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศไทยจะถือว่า พระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และ ปรินิพพาน แต่สำหรับศาสนาในญี่ปุ่นจะนับทั้งสามเหตุการณ์นี้เกิดคนละวันกัน เพราะฉะนั้นถึงจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน แต่ตามขั้นตอนแผยแพร่ศาสนาสู่ประเทศที่ต่างกัน อาจมีเนื้อหาบางอย่างที่แตกต่างกันไป ส่งผลให้ภาพลักษณ์ให้ในแต่ละประเทศต่างกัน”
“ยกตัวอย่างมุกที่ใช้ในเรื่อง ก็คือฉากแรกของมังงะที่ บุดด้า บรรทมอยู่แล้วมีนกมาเกาะ ซึ่งส่วนนี้ชาวไทยอาจจะไม่เข้าใจนักว่ามีความหมายอย่างไร อาจจะพอเข้าใจได้ว่าท่าบรรทมท่านี้เป็นท่าเดียวกับที่ท่านเสด็จปรินิพพาน แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นจะเข้าใจมุกนี้ทันที เพราะในญี่ปุ่นจะมีรูป เนฮัน-ซุ (Nehan-Zu) หรือรูปตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ที่ใช้ประกอบในงานพิธี ซึ่งตัวรูปฉบับญี่ปุ่นจะมีสัตว์รายล้อมอยู่ในรูปมาก และถูกใช้เป็นรูปเพื่อการศึกษาการวาดรูปสัตว์ (ตามศิลปะแบบญี่ปุ่น) เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจการ์ตูนเรื่องนี้จำเป็นต้องมีความรู้ (ด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่น) พอสมควร”
หรือแม้แต่มุกที่เกี่ยวกับคริสตศาสนาก็เป็นมุกที่หยิบจับมาจากทั้งเรื่องเล่าในพระคัมภีร์ทั้งส่วนพันธสัญญาเก่า กับพันธสัญญาใหม่ หรือหลายครั้งก็มีการข้ามไปคุยเรื่องราวของทั้งฝั่งโรมันคาทอลิก กับ โปรเตสแตนต์ หรือบางเรื่องก็เป็นมุกอิงประวัติศาสตร์ (อย่างเช่นมุกที่เทียบการตรึงกางเขนของนักบุญแต่ละคนที่ไม่ต้องการถูกตรึงกางเขนท่าเดียวกันกับพระเยซูคริสต์) ที่ต้องใช้ความรู้ในการเข้าใจเรื่องที่ถูกมาเล่าในท้องเรื่องอีกทีจึงจะอินกับพล๊อตเรื่องได้
แต่การที่ต้องมีความรู้พอสมควรนี้เอง ทำให้หลายคนที่อาจจะไม่ทราบที่มาที่ไป เกิดความเข้าใจผิดและกลายเป็นดราม่าได้โดยง่ายนั่นเอง
ชาวญี่ปุ่นไม่มีกระแสต่อต้านใดๆ ในเรื่องที่เกี่ยวพันกับศาสนา?
คำถามนี้เป็นคำถามเปิดนำหลังจากอาจารย์ชานปวิชช์ ได้พูดเปิดงานเสวนา ซึ่งอาจารย์สรัญญา ได้ตอบอย่างรวดเร็วเกี่ยวกับเรื่องนี้
“เรื่องกระแสการต่อต้าน หากจะถามว่าในญี่ปุ่นมีไหม มีค่ะ คือตอนที่ดิฉันไปเก็บข้อมูลตามวัด(ญี่ปุ่น) และเก็บข้อมูลจากการเล่นเกม (สุโกะโระคุ) กับพระ ก็มีบางคนที่ต่อต้านออกมาแสดงความเห็นว่าการกระทำแบบนี้นั้นไม่ถูกต้อง และในหลายๆ สื่อ ตัวอย่างเช่น บาร์พระ (หมายถึงบาร์ที่พระเป็นมาสเตอร์หรือเจ้าของร้าน มีเปิดให้บริการหลายแห่งในญี่ปุ่น) ก็มีคนโทรศัพท์ไปต่อว่าที่ร้าน”
“หรือ เซนโตะคุง คาแรคเตอร์ที่เมืองนารา ใช้ในการประชาสัมพันธ์ในการท่องเที่ยว ที่จริงๆ แล้วเอาดีไซน์มาจากพระพุทธรูปไดบุทสึ (พระพุทธรูปสำคัญของเมืองนารา) ตอนที่ออกมาตอนแรกก็มีคนออกมาต่อต้านพอสมควรว่าทำไมเอาพระพุทธรูปมาทำแบบนี้ ดังนั้นการต่อต้านก็มีอยู่ในประเทศญี่ปุ่นค่ะ”
การที่คนญี่ปุ่นไม่ได้สนใจพิธีการทางศาสนา เพราะพวกเขาไม่ได้นับถือศาสนาพุทธกันมากนัก?
หลังจากแนะนำมังงะกันแบบคร่าวๆ กับการระบุว่าที่ญี่ปุ่นก็มีคนไม่เห็นด้วยอยู่เช่นกัน แล้วการเสวนาเข้าสู่ช่วงถัดมาที่ตั้งคำถามชวนให้ผู้ร่วมเสวนาคิดตามว่า ทำไมการลบหลู่ศาสนาในญี่ปุ่นถึงไม่เป็นประเด็นปัญหาดราม่ามากมายนัก (หากเทียบกับประเทศไทย เป็นอาทิ) หรือคนญี่ปุ่นไม่ค่อยนับถือศาสนากันกันแน่ ?
ส่วนนี้อาจารย์สรัญญา มีทั้งคำตอบจากประสบการณ์ส่วนตัว และคำตอบเชิงวิชาการมาให้รับฟังกันหลายส่วนทีเดียว
ในประสบการณ์ส่วนตัวอาจารย์ได้ตอบว่า “ตอนที่เริ่มทำวิจัยเรื่องนี้ก็รู้สึกเหมือนกับทุกคน และเราตกใจ ตอนนั้นเราไปญี่ปุ่นที่เมืองคามาคุระ ที่อยู่ทางใต้ของเมืองโตเกียว ที่เมืองนั้นจะมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่อยู่ ที่เมืองนั้นจะมีของที่ระลึกขายอยู่ ก็รู้สึกสะดุดใจกับคนญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ถืออมยิ้มรูปพระพุทธเจ้า ตอนเราเห็นภาพตอนนั้นเราก็รู้สึกว่าเราช็อก เรารู้สึกว่า ทำไมเขาทำแบบนี้ได้ คือพระพุทธรูปที่เรากราบไหว้ทุกวัน ทำไมมาอยู่ญี่ปุ่นแล้วถึงกลายเป็นขนมแบบนี้ คือเราก็พยายามที่จะไม่ตัดสิน และพยายามที่จะทำความเข้าใจ
และเมื่อเริ่มโปรเจกต์ทำวิจัย เราก็มีเพื่อนญี่ปุ่นหลายๆ คนถาม (เกี่ยวกับงานวิจัย) แล้วก็รู้สึกว่าเขาไม่ได้ลบหลู่อะไร แค่คนญี่ปุ่นมีภาพลักษณ์ของพระพุทธเจ้าในอีกคอนเซ็ปต์หนึ่งที่เราไม่เข้าใจ ที่ต่างจากของคนไทย”
ส่วนคำตอบเชิงวิชาการนั้น อาจารย์สรัญญาก็เล่าในหลายส่วน ตั้งแต่การหยิบเอาแบบสำรวจการนับถือศาสนาของทางกระทรวงวัฒนธรรม ในปี ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมา มีการสำรวจข้อมูลว่า มีชาวญี่ปุ่นนับถือศาสนาพุทธ 78% ศาสนาชินโต 14% ศาสนาคริสต์ 2% และศาสนาอื่นๆ อีก 6% กระนั้นอาจารย์สรัญญาก็เสริมข้อมูลจากคนท้องถิ่นให้เราฟังเพิ่มเติมดังนี้
“แต่เวลาไปถามคนญี่ปุ่นว่านับถือศาสนาอะไร คนญี่ปุ่นก็มักจะตอบว่า เราไม่ได้นับถือศาสนาอะไร แต่ … เอาล่ะ… ในวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นนั้นมีการนับถือศาสนาเยอะมาก ในชีวิตของคนหนึ่งคนจะมีพิธีกรรมของศาสนาเยอะมาก ไม่ใช่เฉพาะพิธีของศาสนาพุทธเท่านั้น อย่างตอนเกิด ก็จะมีการนำทารกแรกเกิดไปไหว้ที่ศาลเจ้า ที่เรียกว่าพิธี มิยะไมริ (Miyamairi) พอช่วงแต่งงาน ต่อให้ไม่ใช่ชาวคริสต์ก็มักจะจัดงานแต่งงานที่โบสถ์คริสต์ แต่ตอนที่เสียชีวิตมักจะทำพิธีศพที่วัดพุทธ”
“เนื่องจากโดยพื้นฐานศาสนาชินโต มักจะถือว่าการทำการใดที่เกี่ยวกับเลือดนั้นจะเป็นมลทิน ศาสนาพุทธจึงมักจะรับบทบาทตรงนี้แทน ชาวญี่ปุ่นหนึ่งคนมักจะมีความเกี่ยวข้องกับหลายศาสนามาก ดังนั้นเขาอาจจะไม่สามารถระบุได้เลยว่าเขานับถือศาสนาอะไร แต่ถ้าถามว่าตัวเลขนี้ (ในแบบสำรวจของกระทรวงวัฒนธรรม) มาจากไหน จริงๆ แล้ววิธีการสำรวจของกระทรวงวัฒนธรรมจะไปสำรวจตัวเลขจากวัด (ศาสนสถาน) หรือที่ประชาชนเคยกรอกระบุไว้ ดังนั้นตัวเลขอาจจะไม่สะท้อนความเป็นจริงเท่าใดนัก”
อีกสาเหตุหนึ่งที่อาจารย์สรัญญาเห็นว่าเป็นจุดที่ทำให้คนไทยมีความไม่เข้าใจคนญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาพุทธมากเสียหน่อยก็คือการที่ชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาพุทธมหายาน ซึ่งพระสงฆ์ในดินแดนตะวันออกไกลนี้ ได้รับการยกเว้นพระธรรมวินัยบางข้อ อย่างเช่น พระสงฆ์ญี่ปุ่นสามารถดื่มเหล้า หรือสามารถสมรสได้ รวมถึงทำงานอื่นร่วมกับการทำกิจของสงฆ์ได้ แต่อาจารย์สรัญญาได้เสริมข้อมูลว่าเหตุการณ์เหล่านี้เริ่มขึ้นในสมัยเมจิ หรือประมาณศตวรรษที่ 19 นี่เอง ในยุคก่อนหน้านั้นพระสงฆ์ญี่ปุ่นก็ไม่สามารถแต่งงานหรือดื่มเหล้า เฉกเช่นเดียวกับพระสงฆ์ในประเทศไทย
จากเรื่องนี้เองก็ทำให้อาจารย์สรัญญานำพาการเสวนาเข้าไปยังส่วนต่อไปที่พูดถึงเส้นทางการเดินทางของศาสนาพุทธที่และประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่นโดยสังเขป
ประวัติศาสตร์และการอยู่ร่วมกันของพุทธศาสนาและชาวญี่ปุ่นโดยสังเขป
อาจารย์สรัญญาเปิดข้อมูลและบอกเล่าเกี่ยวกับเส้นทางการแผยแพร่ของศาสนาพุทธที่มาจากประเทศอินเดีย และมีการแบ่งเส้นทางเผยแพร่ไปสู่ประเทศอื่นๆ ได้เป็นสองเส้นทางใหญ่ เส้นทางแรกก็คือการเผยแพร่ศาสนาพุทธมาทางฝั่งใต้ของโลก หรือฝั่งที่มาจากฝั่งศรีลังกา พม่า ไทย หรือเรียกว่า ศาสนาพุทธหินยาน ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งก็คือ การเผยแพร่ของศาสนาพุทธในทางซีกเหนือของโลก ผ่าน ธีเบต จีน เกาหลี ญี่ปุ่น หรือเรียกว่า ศาสนาพุทธมหายาน
ซึ่งชาวญี่ปุ่นนั้น รับศาสนาพุทธเข้ามาในประเทศประมาณช่วงศตวรรษที่ 6 ที่กษัตริย์ของเกาหลีในยุคดังกล่าวได้ส่งพระพุทธรูปและพระคัมภีร์ให้กับทางญี่ปุ่น และทางราชสำนักของญี่ปุ่นก็ใช้เวลาระยะหนึ่งในการรับศาสนาพุทธเข้ามา เพราะว่าในสมัยนั้นที่ญี่ปุ่นยังนับถือแบบศาสนาชินโต ที่เชื่อว่าทุกสรรพสิ่งมีเทพสิงสถิตอยู่ จนเวลาผ่านไประดับหนึ่ง ศาสนาพุทธก็เริ่มแพร่หลายในญี่ปุ่น และมีอิทธิพลกับความเชื่อของศาสนาชินโตพอสมควร จากเดิมที่ชินโตไม่มีรูปเคารพ หรือศาลเจ้ามากนัก พอศาสนาพุทธเข้ามาก็เริ่มมีการพัฒนาศาลเจ้ามากขึ้น จากเดิมที่เคยกราบไหว้ภูเขาทั้งลูกเป็นเทพเจ้า ก็เริ่มมีการสร้างศาลเจ้าไว้ในบริเวณภูเขา
เวลาผ่านไปอีกระยะ ก็เริ่มมีการผสมผสานระหว่างศาสนาชินโตกับศาสนาพุทธ หรือที่เรียกว่า ชินบุตสึชูโกะ (Shinbutsu-shugo) โดยเชื่อว่าเหตุนี้เริ่มเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 8 และความเชื่อก็ได้เปลี่ยนเป็นว่า เทพเจ้าของศาสนาชินโตมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองพุทธศาสนา จนเกิดธรรมเนียมการสร้างศาลเจ้าของเทพผู้พิทักษ์ศาสนาต่างๆ ภายในบริเวณใกล้เคียงวัดพุทธขึ้น อย่างเช่น ในภูเขาฮิเอะนอกจากจะเป็นที่ตั้งของวัดเอ็นเรียคุจิ แต่ในบริเวณภูเขาก็จะมีศาลเจ้าฮิเอะ (หรือศาลเจ้าฮิโยชิ) ตั้งอยู่ หรืออย่าง วัดคิโยะมิซุ หรือที่คนไทยชอบเรียกว่าวัดน้ำใส ในจังหวัดเกียวโต ก็จะมีศาลเจ้าจิชุอยู่ในบริเวณเดียวกัน
ต่อมาเกิดแนวคิดว่า เทพเจ้าของศาสนาชินโต เป็นเทพเทวาองค์หนึ่งในศาสนาพุทธ จึงมีการสร้างศาลเจ้าจิงงูจิ ที่เป็นศาลเจ้าที่ทำพิธีแบบพุทธถวายให้เทพเจ้าชินโต (ซึ่งในสมัยนี้ วัดแบบพุทธ กับ ศาลเจ้าแบบชินโต จะค่อนข้างแยกห่างออกจากกันพอสมควรแล้ว อย่างที่สามารถแยกได้ง่ายๆ คือ ถ้าศาสนาสถานใดมี โทริอิ หรือ ซุ้มประตู้ที่มักจะมีสีแดง โดยส่วนใหญ่จะเป็น ศาลเจ้าชินโต ส่วนฝั่งวัดพุทธอาจจะมีการสร้างเจดีย์ห้าชั้นขนาดย่อมเพื่อบอกเขตว่าเป็นวัดเอาไว้)
เวลาผ่านไปจนถึงปลายศตวรรษที่ 8 หรือต้นสมัยเฮอันของญี่ปุ่น ก็เกิดความคิดที่ว่าเทพเจ้าของญี่ปุ่นนั้นเป็นร่างจำแลงของพระโพธิสัตว์ ทำให้เทพเจ้าหลายองค์ผสมผสานปนเปกันระหว่างความเชื่อพื้นบ้านของชาวญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น อย่างเช่น ตุ๊กตาดารุมะ ที่มักจะถูกใช้ในเชิงเครื่องรางที่นำพาสู่ความสำเร็จนั้น หรือใช้เป็นเครื่องรางของเล่นสำหรับเด็กที่ป่วย ก็เป็นความเชื่อที่ดัดแปลงมาจากพระโพธิธรรม (หรือ ปรมาจารย์ตั๊กม้อ)
‘จิโซโบะซัตสึ’ ที่มักจะพบเห็นได้ในญี่ปุ่นเป็นลักษณะพระพุทธรูปองค์เล็กตามสถานที่ต่าง ที่ถูกนับถือเหมือนเทพคุ้มครองเด็ก หรือ คุ้มครองคนเดินทาง และมักจะปรากฏในนิทานพื้นบ้านของญี่ปุ่น ซึ่งก็มีที่มาจาก พระกษิติครรภโพธิสัตว์ เป็นอาทิ
ศาสนาพุทธในประเทศญี่ปุ่น เริ่มเกี่ยวข้องกับการปกครองอย่างชัดเจนในช่วงยุคเอโดะ (หรือราวปี ค.ศ. 1603-1868) เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นช่วงนั้นมีมิชชันนารีเข้ามาทำการค้าขายและมีการชักชวนให้เข้ารีต จนทำให้ไดเมียว หรือ เจ้าเมืองหลายแห่ง ผันตัวเองเป็นคริสตชน โชกุนในยุคนั้นจึงได้ออกกฎหมายให้ประชาชนทุกคนเข้ารีตเป็นพุทธศานิกชนและมีการลงทะเบียนคนในท้องที่กับวัด หากจะเดินทางไปพื้นที่อื่น จำเป็นต้องขอหนังสืออนุญาตจากทางวัด จึงทำให้ศาสนาพุทธและวัดมีอำนาจมากยิ่งขึ้น
และในยุคนั้นมีการพิสูจน์ว่าใครนับถือศาสนาคริสต์ด้วยการมาเหยีบแผ่นภาพฟุมิเอะ หรือแผ่นภาพที่ทำการสลัก/เขียน รูปพระเยซูหรือพระแม่มารีเอาไว้ ในทางกลับกัน คริสตศาสนิกชนในญี่ปุ่นที่ไม่ต้องการเปลี่ยนรีตกลับ ก็จะปวรณาตนเป็น ‘คริสตังลับ’ และสร้างเทวรูปอย่าง มารีย์คันนง (Maria Kannon) หรือรูปเคารพของพระแม่มารีย์ที่ทำทรงให้ใกล้เคียงกับเจ้าแม่กวนอิม เป็นอาทิ
ต่อมาในช่วงต้นของสมัยเมจิ ได้มีการปฏิรูปศาสนาครั้งใหญ่ ที่ต้องการให้ศาสนาชินโตมีบทบาทมากขึ้น จึงมีการแยกศาสนาพุทธกับศาสนาชินโตให้ขาดออกจากกัน หรือที่เรียกว่า ชินบุทสึบุนริ (Shinbutsu Bunri) มีการทำลายพระพุทธรูปจำนวนมากและมีการบังคับให้พระที่อาศัยอยู่ในศาลเจ้าชินโตทำการสึกออก และในช่วงนี้เองที่ศาสนาพุทธเริ่มเสียอำนาจในญี่ปุ่นอย่างมาก แล้วก็เป็นช่วงที่พระสงฆ์ญี่ปุ่นสามารถดื่มเหล้า แต่งงาน และทำงานอื่นร่วมกับการทำกิจของสงฆ์ได้ จนมีความใกล้เคียงกับศาสนาพุทธของญี่ปุ่นในปัจจุบันมากขึ้น
เวลาข้ามผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ที่มีการปรับตัวให้สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่มากขึ้น ด้วยกฎหมายปัจจุบันนี้ รัฐไม่สามารถสนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งได้ ดังนั้นวัดและศาสนสถานของศาสนาต่างๆ ที่ไม่มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ หรือ พื้นที่ที่กว้างมากนัก จึงต้องปรับตัว หารายได้ให้ศาสนสถานของตนเองอยู่รอดได้ อย่างเช่น วัดบางแห่งก็ต้องเปิดโรงเรียนสอนศาสนาควบไปด้วย บางแห่งก็เปิดโรงพยาบาลควบด้วย บางแห่งก็เปิดให้เช่าที่จอดรถ หรือการตั้งชื่อเพื่อให้ใช้หลังความตายของผู้คน (ตามความเชื่อคนญี่ปุ่นที่เห็นว่าการเสียชีวิตไปนั้นเป็นการเข้าสู่อีกภาวะหนึ่งจำเป็นต้องมีชื่อใหม่ที่ต่างจากเดิม) ก็มีการคิดค่าใช้จ่ายเพื่อมาใช้บำรุงอุดหนุนวัด
และนั่นก็ทำให้วัดหลายแห่งมีการปรับตัว พระสงฆ์ผู้จะมาบริหารวัดนั้นจำเป็นต้องมีการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่ดีเพื่อสร้างความมั่นใจต่อลูกวัดที่มาใช้บริการว่าวัดแห่งนี้จะมีการดำเนินการที่เหมาะสมกับตนเอง พระสงฆ์บางท่านก็ปรับตัวตามกระแสโลก อย่างเช่น มีพระสงฆ์ญี่ปุ่นที่พัฒนาบอร์ดเกมขึ้นมา เพื่อใช้ฝึกสอนพระสงฆ์และคนทั่วไปเข้าใจในการบริหารวัด พระสงฆ์ที่เปิดบาร์เพื่อให้คำปรึกษาชีวิต พระสงฆ์ที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในงานบุญ อย่างการที่มีหุ่นยนต์สวดมนต์ มีการใช้เทคโน Projection Mapping เพื่อให้คนรุ่นใหม่สนใจมารับชมคำสอนมากขึ้น พระสงฆ์ที่นำพระหฤทัยสูตรมาขับกล่อมผู้คน หรือแม้แต่การจัดทำไอดอลสายบุญวง Tera Borumusu หรือ Tera Palms ขึ้นมา (ใช่ครับไอดอลวงนี้ มีงานจับมือ มีแท่งไฟ มีแกรดด้วย แต่เนื้อหาของเพลงนั้นยังเกี่ยวกับธรรมะอยู่)
ด้วยเหตุที่ศาสนาพุทธเคยรุ่งเรือง จนกลมกลืนกับวัฒนธรรมท้องถิ่นไปในยุคหนึ่ง ก่อนที่จะถูกลดบทบาทไปในอีกยุคหนึ่ง และด้วยกฎระเบียบที่ถูกสร้างขึ้นมาในประเทศญี่ปุ่น อย่างการออกกฎหมายไม่ให้รัฐสนับสนุนศาสนาใดเป็นพิเศษ เลยทำให้ชาวญี่ปุ่นน้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และเข้าใจได้กับการปรับตัวที่ต้องขยับให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไปเช่นกัน