เรื่อง ‘เงินสินบนรางวัล’
ที่หักจากค่าปรับกรณีห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (มาตรา 32) ซึ่งบางส่วนจะเข้ากระเป๋าเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นหนึ่งในประเด็นที่คนจำนวนไม่น้อยคาใจกับ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกออฮล์ พ.ศ.2551 เพราะมองว่าเป็น ‘แรงจูงใจ’ ให้เจ้าหน้าที่รัฐทำคดีมากๆ เพราะจะได้ส่วนแบ่งมากๆ เข้ากระเป๋าของตัวเอง
แต่ 2 ร่างแก้ไขที่กำลังเปิดรับฟังความเห็นอยู่ในขณะนี้ มีเพียงร่างเดียวที่เสนอแก้เรื่องนี้คือให้ตัดออกไปเลยคือ ‘ฉบับประชาชน’ ส่วนร่างที่กรมควบคุมโรคเสนอ หรือ ‘ฉบับราชการ’ ไม่ได้แตะต้องเรื่องนี้ โดยอ้างว่า เพราะในกฎหมายนี้ไม่ได้เขียนเรื่องเงินสินบนรางวัลไว้ อยู่ในประกาศกระทรวงการคลังต่างหาก หากจะยกเลิกต้องไปคุยกับกระทรวงการคลังเอาเอง
แต่เราเคยรู้กันไหมว่า ในแต่ละปี เจ้าหน้าที่รัฐได้รับส่วนแบ่งจาก ‘เงินสินบนรางวัล’ จากค่าปรับกรณีห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันมากน้อยเพียงใด
The MATTER ไปหามาให้แล้ว เป็นข้อมูลตามที่ปรากฎใน infographic พร้อมกับคำอธิบายที่อยู่ในกฎหมายและจากปากคำผู้เกี่ยวข้อง
1.) พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ไม่ได้กำหนดส่วนแบ่งค่าปรับ กรณีทำผิดมาตรา 32 ‘ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์’ ไว้จริงๆ แต่ปรากฎในประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการกำหนดประเภทและอัตราการหักเงินค่าปรับก่อนนำส่งคลัง (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2554
2.) ถึงตอนนี้ มีกฎหมายราว 150 ฉบับที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐได้ส่วนแบ่งจาก ‘เงินสินบนรางวัล’ ที่ได้จากเงินค่าปรับจากการกระทำผิดกฎหมายนั้นๆ ทั้งระบุในตัวกฎหมายเอง และอยู่ในประกาศกระทรวงการคลัง
3.) สำหรับการทำผิดตามมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ได้กำหนดส่วนแบ่งเงินสินบนรางวัลจากค่าปรับไว้ 2 กรณี (ต้องเข้าใจนิยามของคำก่อนว่า ‘เงินสินบน’ ให้กับผู้แจ้งเบาะแส ‘เงินรางวัล’ ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ)
- กรณีมีการจับกุม 20% เข้าคลัง 80% นำไปแบ่งเป็นเงินสินบนรางวัล
- กรณีไม่มีการจับกุม 40% เข้าคลัง 60% นำไปแบ่งเป็นเงินสินบนรางวัล
สำหรับเงินสินบนรางวัลที่เหลือจะแบ่งเป็น ‘4 ส่วน’ โดย 1 ส่วนให้เป็นค่าดำเนินการ 2 ส่วนให้กับเจ้าหน้าที่เป็น ‘เงินรางวัล’ และอีก 1 ส่วนให้กับผู้แจ้งเบาะแสเป็น ‘เงินสินบน’ (แต่ถ้าไม่มีผู้แจ้งเบาะแสให้เปลี่ยนเป็นเงินรางวัล)
ดังนั้น เงินสินบนรางวัลจะอยู่ในอัตราส่วน 45-60% ของค่าปรับทั้งหมดเสมอ
4.) The MATTER พยายามติดต่อขอข้อมูลเงินค่าปรับกรณีห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ทั้งหมด โดยขอให้แยกตัวเลข ‘เงินสินบน-เงินรางวัล’ ด้วย
ทางสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งข้อมูลมาให้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556-2563 โดยมีข้อมูลเฉพาะใน กทม.เท่านั้น ไม่มีข้อมูลอีก 76 จังหวัดที่เหลือ ซึ่งต้องไปขอจากทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ เอาเอง และตัวเลขนี้ไม่ได้แยกเก็บ ‘เงินสินบน-เงินรางวัล’ ออกจากกัน
อย่างไรก็ตาม ก็พอทำให้เห็นแนวโน้มการดำเนินคดี ในข้อหาห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านตัวเลขค่าปรับ
5.) ข้อมูลตัวเลขเงินค่าปรับทั้งหมดและส่วนแบ่งเงินสินบนรางวัล จากการทำผิดฐานห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระหว่างปีงบประมาณ 2556-2563 จากสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีดังนี้
- ปีงบประมาณ 2556 / ค่าปรับทั้งหมด 492,000 บาท / เงินสินบนรางวัล 113,700 บาท (23%)
- ปีงบประมาณ 2557 / ค่าปรับทั้งหมด 543,000 บาท / เงินสินบนรางวัล 23,400 บาท (4%)
- ปีงบประมาณ 2558 / ค่าปรับทั้งหมด 1,009,000 บาท / เงินสินบนรางวัล 226,800 บาท (22%)
- ปีงบประมาณ 2559 / ค่าปรับทั้งหมด 2,239,000 บาท / เงินสินบนรางวัล 1,057,500 บาท (47%)
- ปีงบประมาณ 2560 / ค่าปรับทั้งหมด 1,905,000 บาท / เงินสินบนรางวัล 869,400 บาท (46%)
- ปีงบประมาณ 2561 / ค่าปรับทั้งหมด 1,697,000 บาท / เงินสินบนรางวัล 703,950 บาท (41%)
- ปีงบประมาณ 2562 / ค่าปรับทั้งหมด 2,105,001 บาท / เงินสินบนรางวัล 1,014,450 บาท (48%)
- ปีงบประมาณ 2563 / ค่าปรับทั้งหมด 11,826,800 บาท / เงินสินบนรางวัล 5,196,401 บาท (44%)
มีคำอธิบายเบื้องต้นว่า เหตุที่เงินค่าปรับเพิ่มสูงในปี 2563 ถึงกว่าห้าเท่า! เพราะคนอยู่บ้านเนื่องจาก COVID-19 ทำให้มาแจ้งเบาะแสกรณีโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านระบบให้แจ้งเบาะแสออนไลน์ TAS มากขึ้น
ยังมีอีกหลายๆ คำถามเกี่ยวกับตัวเลขที่ได้รับมานี้ เช่น ทำไมสัดส่วนเงินสินบนรางวัลถึงน้อยกว่าตามที่ปรากฎในระเบียบ (ระหว่าง 45-60%) ซึ่งเราจะหาคำตอบแล้วมานำเสนอต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ไปศึกษาร่างแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นกันอยู่ได้
– ร่างของกรมควบคุมโรค http://alcoholact.ddc.moph.go.th/act/ (ฟังความเห็นระหว่างวันที่ 25 มิ.ย. – 9 ก.ค.2564) ไม่แก้ไขเรื่องเงินสินบนรางวัล
– ร่างที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=146 (ฟังความเห็นระหว่างวันที่ 23 มิ.ย.2564 ถึงต้นเดือน ก.ค.2564) ให้ยกเลิกเงินสินบนรางวัลไปเลย
พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะถูกแก้ไขไปในทิศทางใด ยังต้องติดตามกันต่อไป