พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 กลายมาเป็นประเด็นในสังคมอีกครั้ง หลังจากมีประชาชนจำนวนมาก ถูกเรียกไปเสียค่าปรับ เป็นเงิน 50,000 บาท โดยบางคนตั้งข้อสงสัยว่า สิ่งที่ตัวเองทำนั้นมีความผิดตามกฎหมายนี้จริงๆ หรือ
กระทั่งมีบางเพจยกข้อความที่อ้างว่ามาจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ ว่าพฤติกรรมเหล่านี้คือการ ‘โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์’ อันถือว่ามีความผิดตามกฎหมายนี้ก่
- ห้ามโพสต์เห็นยี่ห้อ
- ห้ามโพสต์ขวดที่ทำให้รู้ว่ายี่ห้อไหน
- ห้ามโพสต์ชวนให้ดื่ม
- ห้ามโพสต์สรรพคุณ
- ห้ามโพสต์ชมหรือเชิญชวนให้ลอง
- ห้ามโพสต์แก้วเบียร์ที่มียี่ห้อ
- ห้ามแปลข่าว เขียนเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ ถึงแม้ว่าจะไม่มีขายในบ้านเราแต่ก็เป็นเหตุแรงจูงใจในการบินไปหาซื้อบริโภคได้
- เวลาไปเที่ยวห้ามถ่ายภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่มีขายในไทยมาลง เพราะอาจจะทำให้เกิดความอยากกินและบินไปซื้อได้
- ห้ามถ่ายของแถมที่มีโลโก้แอลกอฮอล์ ถึงแม้ว่าจะไม่เห็นแอลกอฮอล์ก็ตาม เพราะถือว่าถ้าซื้อของแถมก็ต้องซื้อสุราหรือเบียร์อยู่ดี
- โพสต์เก่าผ่านไปกี่ปี ถ้ายังมีภาพแอลกอฮอล์ก็โดนหมด และเป็นความผิดได้
คำถามก็คือ ข้อห้ามเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เขียนไว้ในกฎหมายจริงๆ หรือเป็นผลจากการตีความของเจ้าหน้าที่กันแน่
และนี่ก็คือปัญหาของกฎหมายที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 ในยุคสมัยที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย แต่ถูกนำมาปรับใช้อย่างกว้างขวาง จนเกิดเป็นคำถามอันลือลั่นอยู่ทุกวันนี้
เนื้อหากฎหมายคลุมเครือ (เปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจมาก)
เนื้อหา พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่ว่าด้วยการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะอยู่ในมาตรา 32 ที่ตัวอักษรเป๊ะๆ กำหนดไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใด 1 โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ 2.1แสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2.2อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ 2.3หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม”
โดยมาตรา 3 ให้คำอธิบายของคำว่า “โฆษณา” หมายถึงการกระทําไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยินหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงการสื่อสารการตลาด
อย่างที่เราใส่ตัวเลขเข้าไป ความผิดตามมาตรา 32 จะมี 2 แบบ 1.) ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่โยงกับเรื่องผลประโยชน์ทางการค้าด้วย และ 2.) ห้ามแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบของการ ‘อวดอ้างสรรพคุณ’ และ ‘ชักชูงใจให้ผู้อื่นดื่ม’ ด้วย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีการตีความเนื้อหามาตรานี้ไว้อย่างกว้างขวาง จนบางครั้งชวนให้สงสัยว่า เอ๊ะ! มันตรงกับเนื้อหาในกฎหมายจริงๆ เหรอ เช่น ตัวแทนเครือข่ายรณรงค์งดเหล้าคนหนึ่งพยายามจะบอกว่าแค่โชว์โลโก้ก็ผิดแล้ว ไม่รวมไปถึง 10 ข้อห้ามข้างต้นที่พอได้มาอ่านข้อกฎหมายแล้วเต็มๆ แล้วก็ชวนขมวดคิ้วว่า มันอยู่ตรงไหนในมาตรา 32 กัน
โทษปรับสูงมาก ได้สัดส่วนความผิดจริงหรือ?
การละเมิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32 มีอัตราโทษคือจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่มีการกำหนดให้สามารถจ่ายค่าปรับแล้วยุติการดำเนินคดีไม่ต้องไปถึงชั้นศาลได้
นอกจากนี้ ยังกำหนดขั้นบันไดของค่าปรับตามจำนวนครั้งที่กระทำความผิดด้วย ครั้งแรก ไม่เกิน 50,000 บาท ครั้งที่สอง ไม่เกิน 200,000 บาท ครั้งที่สาม ไม่เกิน 500,000 บาท (หากยังฝ่าฝืนอยู่โทษปรับเพิ่มเติมวันละ 50,000 บาท) สรุปง่ายๆ คือ ค่าปรับ 50,000-500,000 บาท
อย่างไรก็ตาม มีผู้ตั้งคำถามว่าโทษปรับตามกฎหมายนี้ ‘สูงเกินไป’ หรือไม่ หลังมีผู้นำไปเทียบกับโทษของการเมาแล้วขับ ซึ่งบางกรณีสร้างความเสียหายร้ายแรงกว่าด้วยซ้ำ อาทิ
– เมาแล้วขับ 10,000-20,000 บาท
– เมาแล้วขับ เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตราย 20,000-100,000 บาท
– เมาแล้วขับ เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 60,000-200,000 บาท
เป็นต้น
มี ‘ส่วนแบ่ง’ เงินสินบนเงินรางวัล
เงินค่าปรับที่ได้มาตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จะมีการแบ่งจ่ายให้เป็นเงินสินบนและเงินรางวัลแก่ผู้เกี่ยวข้อง ทำให้บางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่านี่เป็น ‘แรงจูงใจ’ ให้เกิดการใช้อำนาจตามกฎหมายนี้บ่อยครั้งหรือไม่
สำหรับเงินสินบนรางวัล จะแบ่งเป็น “เงินสินบน” ให้กับผู้แจ้งเบาะแส และ “เงินรางวัล” ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ
โดยค่าปรับจะถูกแบ่งจ่ายดังนี้
- ถ้ามีการจับกุม ส่งเข้าคลัง 20% คงเหลือ 80%
- ถ้าไม่มีการจับกุม ส่งเข้าคลัง 40% คงเหลือ 60%
เงินที่เหลือจะถูกแบ่งเป็น 4 ส่วน
1 ส่วน เป็นค่าดำเนินการ
2 ส่วน ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ (เงินรางวัล)
1 ส่วน ให้กับผู้แจ้งเบาะแส (เงินสินบน) ถ้าไม่มี ให้เจ้าหน้าที่รัฐ
เราลองคำนวณตัวเลขดูว่า สมมุติ ค่าปรับ 50,000 บาท เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะได้เงินรางวัลอย่างน้อย 15,000-30,000 บาท ต่อกรณี
เราเห็นถึงเจตนาดีของผู้ออกกฎหมาย เพื่อมาควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นอีกในวิธีการที่รัฐบาลในหลายๆ ประเทศใช้จำกัดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกเหนือจากการจำกัดเวลาขาย อายุผู้ซื้อ ราคา ไปจนถึงสถานที่ขาย
คำถามก็คือ กฎหมายที่ใช้มาเกินทศวรรษนี้มีปัญหาจริงหรือไม่ ถึงเวลาควรหยิบมาทบทวนแล้วหรือยัง
Illustration by Kodchakorn Thammachart