หลังจากร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง ถูกผ่านในที่ประชุม ส.ส. 3 วาระรวด เมื่อกลางดึกของปลายเดือน ต.ค. 2556 ท่ามกลางเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าได้รับ ‘สัญญาณ’ พิเศษ การเมืองไทยก็ไม่ได้มีวันกลับไปเหมือนเดิมอีก
สิ่งที่ตามมาทันทีก็คือการเกิดขึ้นของ ‘มวลมหาประชาชน’ กปปส. ที่ถูกเคลมว่าเป็นผู้ชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนมากที่สุด เรียกร้องให้ ‘ถอน’ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตามมาด้วยการบังคับให้รัฐบาลยุบสภา ขยายไปสู่การเรียกร้องให้ตระกูลชินวัตรวางมือทางการเมือง เปิดทางให้ ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’
เพราะเหตุผลเดียวคือมีการคุยในหมู่ชนชั้นนำว่า ไหนๆ มวลชนก็ออกมาแล้ว จุดติดแล้ว ก็น่าจะอาศัยนี้กำจัดสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบอบทักษิณ’ ไปเสีย
อาจดูเหมือนว่าทุกอย่างทำได้ง่ายดาย แต่ถ้าลองนึกย้อนกลับไป สิ่งที่ กปปส. ทำ และลงถนนนั้น ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
ผมจำได้ว่า หลายยุทธศาสตร์ ที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำมวลมหาประชาชนประกาศนั้นเป็นเรื่อง ‘แป้ก’ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศล้อมทำเนียบรัฐบาล ประกาศให้ประชาชนบอยคอตค่ายโทรศัพท์มือถือที่เกี่ยวข้องกับตระกูลชินวัตร เรียกร้องให้บรรดาข้าราชการ – รัฐวิสาหกิจ กระทำการอารยะขัดขืนไม่ไปทำงาน หรือเรื่องที่หวังจะ ‘ปิดเกม’ อย่างการเดินทางไปปิดสถานีโทรทัศน์ และ ‘การชัตดาวน์กรุงเทพฯ’ ก็ล้วนไม่ประสบความสำเร็จ มีแต่จะเพิ่มคดีให้แกนนำเท่านั้น
สิ่งเดียวที่กำนันสุเทพประสบความสำเร็จ
ก็คือการสร้างภาวะ ‘สุญญากาศ’ ให้ไม่มีสภา
ด้วยการระดมพล เรียกร้องให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยุบสภา เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการเสนอกฎหมาย และบีบให้รัฐบาลรักษาการค่อยๆ หมดอำนาจไปเรื่อยๆ
รวมถึงการทำให้เศรษฐกิจชะงักงันจากการไม่มีรัฐบาล การไม่สามารถเบิกจ่ายเงินคงคลัง จนทำให้บรรดา ‘อีลิต’ ทั้งหลาย ต้องสุมหัวคิดกันว่าถึงเวลาแล้วหรือยัง ในการที่จะแก้ปัญหาตามแนวทางของ กปปส. ด้วยการเปิดทางให้มีรัฐบาลใหม่โดยไม่ต้องอยู่ในระบบ
แต่นั่นก็แลกกับการที่ลุงกำนันต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากในการเดินหน้าให้ ‘การเมืองบนถนน’ ยังสามารถอยู่ต่อไปได้ แม้ในช่วงหลังๆ จะเงียบลงเรื่อยๆ เพราะมวลมหาประชาชนจำนวนมาก ไม่รู้ทางไป ไม่เห็นความเคลื่อนไหว และอีกส่วนหนึ่งก็กลัว ‘ระเบิด’
หนึ่งในแกนนำกปปส.เคยเล่าให้ผมฟังด้วยความชื่นชมว่า สุเทพ ต้องขายที่หลายแปลงในภาคใต้ เพื่อเอาเงินหลายล้านบาทมาหล่อเลี้ยงให้ม็อบยังคงอยู่ เพราะไม่ว่าค่าเช่าแสงสีเสียงบนเวที ค่าอาหาร หรือค่ารถบัสที่ขนคน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคใต้ ล้วนเป็นเงินเป็นทองทั้งนั้น แม้จะขอรับบริจาคเท่าไหร่ ก็ไม่มีทางเพียงพอ
หากจำกันได้ ก่อนสุเทพจะ ‘ลาบวช’ ที่สวนโมกข์นั้น เขาเปิดเผยกับผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่ง ซึ่งบางกอกโพสต์เอามาตีพิมพ์ในเวลาต่อมาว่าการลงถนนของกปปส.นั้น ใช้เงินเบ็ดเสร็จทั้งหมด 1,400 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินบริจาค 1,000 ล้าน และเงินแกนนำอีก 400 ล้าน
แต่ที่น่าสนใจมากกว่าก็คือการที่สุเทพเผยไต๋ว่าเขาคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็น ผบ.ทบ. ในเวลานั้น มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2553 และยังส่งไลน์คุยกันตลอดเวลาที่มีการชุมนุม นั่นหมายความว่า นอกจากมีบารมี มีเงินมากพอ แล้วยังต้องมี ‘เส้นสาย’ ที่พอจะพลิกเกมได้ด้วย…
หลังเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. พ.ศ. 2557 ล้มเหลว เพราะพรรคฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์บอยคอตไม่เอาด้วย ผมเริ่มได้ยินแล้วว่าอีลิตเริ่มขยับตัว ชักชวนกันเข้ามาเป็นรัฐบาล – วิ่งหาตัวนายกฯ หาตัวรัฐมนตรี และทีมเศรษฐกิจกันให้วุ่น ท่ามกลางเสียงที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ว่าทหารไม่เอายิ่งลักษณ์แล้ว แต่ยังไม่รู้หนทางว่าจะรัฐประหารอย่างไรดี
ถามว่าจุดหักเห ที่ทำให้กปปส.ขยับเข้าใกล้ ‘เป้าหมาย’ มากขึ้นนั้นคืออะไร? ผมคิดว่ามีปัจจัยสำคัญอยู่ 2 อย่าง หนึ่งคือการจัดเวทีนปช.บนถนนอักษะ ที่ยิ่งนานเข้า ก็ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้มีผู้บาดเจ็บ – เสียชีวิต
กระทั่งฟางเส้นสุดท้ายอย่างการกราดยิงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 พ.ค. จนมีคนตาย และผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง
ทั้ง 2 เรื่องนี้ สามารถทำให้ทหาร ‘ขยับ’ ได้ เพราะถือว่าอยู่ในปริมณฑลด้านความมั่นคง ที่ทำให้พวกเขาเห็นว่าเป็นภัยคุกคามสำคัญ และถึงเวลา (เสียที) ที่จะเข้ามาทำรัฐประหาร เพื่อยุติการชุมนุมที่ยืดเยื้อ ไม่มีทางไป และจำนวนคนเข้าร่วมเองก็น้อยลงเรื่อยๆ
สุดท้ายของสุดท้าย ไม่กี่วันก่อนรัฐประหาร ศาลรัฐธรรมนูญก็ทำหน้าที่ ‘ตุลาการภิวัฒน์’ อีกครั้ง ด้วยการทำให้คณะรัฐมนตรีเกินครึ่ง รวมถึงยิ่งลักษณ์ ต้องพ้นจากตำแหน่ง ‘รักษาการ’ เพราะเห็นชอบให้ย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งก็เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อีกเช่นกัน ที่คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะการตัดสินใจย้ายข้าราชการเพียงคนเดียว
อย่างไรก็ตาม การทำให้ ครม. พ้นจากตำแหน่งได้ จนเหลือปฏิบัติหน้าที่อยู่แค่ไม่กี่คน ก็เหมือนกับเป็นการเปิดทางให้ ‘ทหาร’ ต้องเข้ามาเป็น ‘คนกลาง’ ก่อนจะนำไปสู่การรัฐประหารในที่สุด
เล่ามาทั้งหมดนี้ เพื่อจะบอกว่า แม้แต่กปปส. ที่ทำอะไรก็ ‘ถูกต้อง’ ไปเกือบทั้งหมด มีเงินถุงเงินถังหนุนหลัง มีเส้นสายยุบยับ และดีลกับผู้นำระดับสูงของกองทัพตลอดมา ก็ยังต้องใช้เวลาชุมนุมนานเกือบ 7 เดือน ใช้เงินไปพันกว่าล้านบาท เพราะฉะนั้น การลงถนน จึงไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรได้ง่าย
ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมความเสียหายทางเศรษฐกิจ ความเสียหายจากผู้บาดเจ็บ – ผู้เสียชีวิต ซึ่งผลสุดท้าย การลงถนนก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ หากแต่เป็นการปูทางไปสู่การ ‘รัฐประหาร’ ซึ่งเป็นคำตอบสุดท้าย
เสียงรำพึงรำพันจากฝ่ายกปปส. และบรรดาชนชั้นนำที่ร่วมลงขันกันวันนั้น จึงสรุปบทเรียนตรงกันว่า ไม่ควรจะเปิดโอกาสให้มีการ ‘ลงถนน’ ชุมนุมแบบนี้อีกแล้ว และทางเดียวที่จะไม่ต้องลงถนนเพื่อต่อต้าน ‘ระบอบทักษิณ’ อีก ก็คือทำอย่างไรก็ได้ ให้พวกเขาอยู่ยาวนานต่อไปเรื่อยๆ
ไม่ว่าจะ ระบบการเมือง ระบบกฎหมาย หรืออะไรก็ตามที่หลังจากนั้นจะคอยหนุนเสริมพวกเขาโดยที่ไม่จำเป็นต้องเรียกร้องอะไรที่อยู่ ‘นอกระบบ’ อีกต่อไป และต้องทำอย่างไรก็ได้ให้การต่อต้านเกิดขึ้นยากที่สุด หรือเกิดขึ้นไม่ได้เลย…
มองย้อนกลับไปในช่วง 30 ปีหลังมานี้ เทียบกับการชุมนุมก่อนหน้าของฝ่ายต้าน ‘ระบอบทักษิณ’ อย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็จะเห็นความ ‘ทับซ้อน’ ที่คล้ายกัน คือพันธมิตรฯ นั้น ต่อให้ใครจะเรียกว่าเป็น “ม็อบมีเส้น” อย่างไร ก็ยังใช้เวลายาวนานกว่า 193 วัน แม้แต่การปิดสนามบิน 2 แห่ง หรือยึดทำเนียบรัฐบาล ก็ยังไม่สามารถที่จะล้ม รัฐบาลพรรคพลังประชาชนได้สำเร็จ
ที่สำเร็จ อาจเป็นแค่การกดดันไปยัง ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ให้เป็นผู้ปิดเกมด้วยการ ‘ยุบพรรค’ พลังประชาชน และตามมาด้วยการใช้กำลังภายในของทหารด้วยการรัฐประหาร โดยที่ไม่ต้องรัฐประหาร แต่ใช้กำลังช่วยตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีประชาธิปัตย์เป็นแกน โดยมี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ
หรือกลับไปก่อนหน้านั้นอีก การชุมนุมขับไล่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร การ ‘ลงถนน’ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ แม้จะปลุกชนชั้นกลาง ปลุกคนจำนวนมากมาขับไล่รัฐบาลได้แล้ว แต่ในที่สุดก็เป็นเพียงการ ‘ซ้อนแผน’ ยั่วยุให้เกิดการปะทะกัน จน พล.อ.สุจินดา ต้องลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้ว่ามีการนิรโทษกรรมทหารทั้งหมด และการ ‘สั่งฆ่า’ ในเวลาต่อมา
ส่วนชะตากรรมของ นปช. ที่เป็นฝ่ายเดียวที่ไม่มีเส้น
เราต่างก็รู้กันดีว่าจบอย่างไร…
เพราะฉะนั้น การ ‘ลงถนน’ เพื่อต่อสู้กับอำนาจรัฐ โดยเฉพาะเมื่อทหารถือครองอำนาจนั้น จึงไม่ใช่เรื่องสวยงาม หรือขำขัน อย่างที่พูดกันว่าร่างกายอยากปะทะ ‘แก๊สน้ำตา’ หรือถ้ามีคนเรือนหมื่นเรือนแสนมารวมกันแล้ว ‘เขา’ จะยอมลาออกแล้วตามมาด้วยการเปิดช่องให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ง่ายๆ
การอยู่ตรงข้ามอำนาจรัฐ จึงมีความเสี่ยง ตั้งแต่เรื่องคดีความ การดึงมวลชน การเลี้ยงกระแสม็อบให้ยาวนาน หรือความรุนแรงกับทั้งแกนนำ ทั้งผู้ชุมนุม ซ้ำยังต้อง ‘ลุ้น’ ตลอดเวลาให้กระบวนการยุติธรรม ‘หันหัว’ กลับ ไม่ปกป้องฝ่ายอำนาจรัฐบ้าง ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะองค์กรอิสระยุคนี้ ทั้งตัวบุคคล ทั้งตัวกติกา ผู้ที่เป็นคนเขียนและเลือก ล้วนเป็นรัฐบาล ‘รัฏฐาธิปัตย์’ จากชุดที่แล้ว ซึ่งเผอิญมีหน้าตาคล้ายๆ กับรัฐบาลชุดนี้
แต่ในที่สุดแล้ว เมื่อกติกาไม่เอื้อให้สู้ในรัฐสภา ซ้ำยังถูกบีบให้เสียพื้นที่ และอำนาจต่อรองในระบบไปเรื่อยๆ การลงถนน ย่อมเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ และอาจเป็นเรื่องจำเป็น
คำถามก็คือ การที่ไม่มีเส้น ไม่พร้อมดีล และไม่มีทหารอยู่ในมือ จะสามารถเปลี่ยนอำนาจรัฐกลับมาให้เป็นของประชาชน เปลี่ยนกติกาให้ฟรีแอนด์แฟร์ ให้เหมือนกับประชาธิปไตยในโลกสากลได้หรือไม่?
น่าเศร้าที่คำตอบในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ก็คือ ‘ไม่มี’ และ ‘ไม่เคยมี’ เสียงของประชาชนในการลงถนนอาจสำคัญในการสร้าง ‘ความชอบธรรม’ ก็จริง แต่ลำพังเพียงตัวผู้ชุมนุมอาจไม่สำคัญเท่ากับว่าในที่สุดแล้วคนที่จัดการและผู้ให้การสนับสนุนใหญ่ของการชุมนุมจะสามารถลากเอา ‘อำนาจพิเศษ’ ลงมาจบการชุมนุมอย่างยืดยาวเหมือนกับที่ สุเทพ เคยทำกับการชุมนุมกปปส. หรือ สนธิ ลิ้มทองกุล ทำในการชุมนุมพันธมิตรฯ ได้หรือไม่
การเมืองบนท้องถนนแบบไทยๆ เรื่อง ‘กฎหมาย’ จึงไม่สำคัญเท่ากับว่าใครจะสามารถดีลกับ ‘ผู้ที่ปิดเกม’ ได้มากกว่ากัน…